โภคิน ชูโมเดล ส.ส.ร. ไขกุญแจ-เดินหน้าประเทศ

หมายเหตุ – นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ มติชน ถึงปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองของปี 2563 จะส่งผลต่อทิศทางและการเมืองในปี 2564 อย่างไร

มองปัจจัยการเมืองในปี 2563 จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองปี 2564 อย่างไร

ถ้าจะให้ผมมองแบบทางตัน 15 ปีที่ผ่านมา เริ่มแรกมองแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการ ตั้งแต่การยึดอำนาจของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2549 จนมาถึงวันนี้ความขัดแย้งได้ขยายวงมาเรื่อยๆ มาถึงวันนี้ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่นไปแล้ว กลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการแล้ว กลายเป็นเรื่องระหว่างคนหลายรุ่นที่มองวิถีชีวิต มองการอนาคต มองการเมืองต่างกัน จนยากที่จะหาจุดร่วมกันได้ ถ้าเทียบกับสมัยก่อนหลัง 14 ตุลาฯ จะเป็นแค่กลุ่มอำนาจนิยมที่ไม่อยากเห็นแนวประชาธิปไตย ความขัดแย้งในยุคนั้นชัดเจนว่าอยากเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่เอาแบบสังคมนิยม

แต่พอมาวันนี้ ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งทางชนชั้นเหมือนแต่ก่อน ความขัดแย้งทางชนชั้นมีอยู่แล้ว คือ รวยกับจน รวยกระจุกจนกระจายยังมีอยู่ ความเหลื่อมล้ำเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ของโครงสร้างทางสังคม ส่วนตัวผมมอง
เจเนอเรชั่นของประเทศเป็น 4 รุ่นใหญ่ คือ 1.อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 2.อายุ 18-35 ปี 3.อายุ 35-65 ปี และ 4.อายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างรุ่นพวกผมคืออายุ 65 ปีขึ้นไป ถ้าดูจากผลวิเคราะห์จะพบว่าช่วงอายุที่ได้เปรียบที่สุด คือ คนรุ่น 65 ปีขึ้นไป เพราะได้อยู่กับระบบเศรษฐกิจ ทำมาหากินมาก่อน ได้ใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปมากมายมาก่อน ความเหลื่อมล้ำ อย่างรวยกระจุก จนกระจาย คนรุ่นอายุ 65 ปีขึ้นไปถือว่าได้เปรียบมากที่สุด ดังนั้นช่วงอายุหลังๆ จะเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโอกาสที่จะเข้าสู่ความร่ำรวยจะยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาจะมองไม่ออกเลยว่าอนาคตของพวกเขาจะอยู่ตรงไหน

Advertisement

ยกตัวอย่างผมได้คุยกับเด็กอายุ 16 ปี คนหนึ่งบอกว่าเห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เพราะถ้าปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้อนาคตก็จะอยู่กันอย่างไร เรื่องที่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากที่สุด คือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้ากติกาไม่เป็นของพวกเราทุกคน คนอื่นๆ ก็ไม่ได้มีโอกาสที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

สิ่งที่ผมอยากบอกคือ บล็อกเรื่องแรกของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ ถ้าทะลุบล็อกอันแรกนี้ไม่ได้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้ ผมมองเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 วันนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเอาชนะคะคานกัน จะเถียงกันว่าใครดีกว่ากัน ไม่ใช่เรื่องที่ตอบโจทย์อะไร

สิ่งที่ผมเสนอก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. คือ ทางออกทางเดียวจากทุกแบบความขัดแย้งที่เราเห็น คือ ต้องมีกติกาที่เขียนโดยประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชนเท่านั้น สรุป คือ โยนทุกปัญหาให้ประชาชนได้ตัดสิน เขาตัดสินแบบไหน เรายอมรับแบบนั้น ก็จะจบแบบไม่ต้องไปโทษใคร แต่การจัดทำกติกาต้องบนพื้นฐานของความเสรีและความเป็นธรรม (Free and Fair) อย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผมเสนอ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน เพราะถ้าไม่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะเป็นปัญหาอีกว่า ทำไมต้องเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้อีก เลือกตั้งก็ไม่ได้แปลว่าดีที่สุด แต่เป็น
กระบวนที่อธิบายได้ดีที่สุด

ปัญหาของประเทศไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ คนต้องการกระบวนการที่ชอบธรรมและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทางออกที่สำคัญคือเรื่องนี้ ถ้าเนื้อหาดีอย่างไร แต่กระบวนการที่มา มาอย่างไม่ชอบก็จะเป็นปัญหาไม่จบสิ้น

เด็กและเยาวชนในสมัยนี้กว่า 90% เมื่อเขาได้รับข้อมูลเรื่องใดมา เขาก็ไปหาข้อมูลต่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีเหตุผลและหลักการที่น่าเชื่อถือหรือไม่ คนอีกเจเนอเรชั่นก็จะไม่เข้าใจว่าเด็กและเยาวชนสมัยนี้เขาเชื่ออะไรและถูกชักจูงได้ง่าย ถ้าวันหนึ่งคนที่เขาชื่นชอบทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เขาก็จะไม่เลือกเหมือนกัน เด็กและเยาวชนรุ่นนี้ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยเหตุผลและพิสูจน์ได้ด้วยความจริง ไม่ใช่เรื่องที่จะมาหลอกให้เชื่อได้ง่ายๆ

โดยสรุปเรื่องที่เคยเชื่อว่าคนนั้น คนนี้เป็นคนดีแล้วจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ประเด็นนี้ต้องล้างออกไปก่อน ต้องยึดกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วยการเลือกตั้งทั้งหมด มาเขียนกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ สมมุติเลือกตั้ง ส.ส.ร.มา 200 คน ก็ต้องมาตั้ง กมธ. 45 คน มาจาก ส.ส.ร. 30 คน ที่เหลือก็มาจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อมาช่วยกันจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งให้ ส.ส.ร. 200 คน ให้ความเห็นชอบ เมื่อ ส.ส.ร.เห็นชอบแล้ว

ถ้าเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐธรรมนูญก็ส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่ผมมองว่ามันจะยุ่งเพราะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แม้จะผ่านความเห็นชอบก็อาจมีรอยด่างได้

แต่ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อ ส.ส.ร.เห็นชอบแล้วก็ไปทำประชามติสอบถามประชาชน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ฟรีแอนด์แฟร์ ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนก็ต้องจบแบบนั้น ผมเชื่อว่าทุกเจเนอเรชั่นยอมรับได้หมด ผมมองว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำประเทศหลุดจากกับดักความขัดแย้งได้

เรื่องที่ 2 ต้องแก้ระบบรัฐราชการ ไม่ว่าเนื้อหาจะดีอย่างไร ถ้านำเข้าไปสู่ระบบราชการก็เดินต่อไปลำบาก ระบบราชการถูกสร้างขึ้นมาให้แข็งแกร่ง อย่างยุค คสช.เข้ามาก็มาสร้างระบบราชการครอบระบบราชการให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นอีก ยุคไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นประชาชนต้องอยู่นอกกรอบทั้งหมด คนประกอบธุรกิจยิ่งตัวเล็กเท่าใดก็ยิ่งลำบากที่สุดจากระบบราชการ ไม่ใช่วันสต๊อปเซอร์วิส แต่ต้องเจอกับระบบราชการที่โยงใยไปทุกหน่วยงานกว่าจะดำเนินการในแต่ละเรื่องเสร็จ ระบบราชการกลายเป็นภาระให้กับประชาชนที่จะทำมาหากิน ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของโลกที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ระบบราชการทำให้ทุกอย่างช้าลงแล้วคนทำธุรกิจจะไปแข่งขันกับใครได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมด

กฎหมายที่จะออกมาเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้ทำธุรกิจได้ง่าย กลับออกยากมาก แต่กฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อประชาชนกลับยกเลิกได้ยาก มีแต่ไปออกกฎหมายให้เพิ่มมากขึ้น

เพราะฉะนั้นต้องปลดปล่อยประชาชนออกจากระบบราชการ ระบบราชการต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับมีความยุ่งยากและมีขั้นตอนเยอะมาก ถ้าทำไม่ถูกก็จะเจอกับการคอร์รัปชั่นอีก

ยกตัวอย่าง การจะขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดก็ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือน เพราะต้องผ่านหลายหน่วยงานก็จะรับรองให้ประกอบอาชีพหมอนวดที่ถูกต้องได้ เพราะประชาชนต้องวิ่งหาระบบราชการ แม้รัฐบาลจะบอกว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล แต่ในสภาพความเป็นจริงยังเป็นภาระของประชาชน

ผมจึงเสนอว่าควรจะออกกฎหมายกลางขึ้นมา 1 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้พักการขออนุญาตการประกอบกิจการต่างๆ 3 ปี โดยให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพไปก่อน แล้วค่อยมาอนุญาตภายหลัง โดยต้องตั้งสมมุติฐานว่าประชาชนมีความสุจริต เพราะไม่มีประชาชนคนไหนแน่นอนที่อยากทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ส่วนยกเว้นกฎหมายที่มีความจำเป็นที่ต้องมีอยู่ เช่น อาชีพนักบิน แพทย์ ก็ต้องคงไว้

รวมทั้งต้องปรับปรุงระบบภาษีที่เอื้อให้ประชาชน นักธุรกิจตัวเล็กๆ สามารถเข้ามาแข่งขันและอยู่รอดในการประกอบธุรกิจได้ นอกจากนี้กลุ่มเอสเอ็มอี ต้องรวมตัวสร้างความเข้มแข็งกันได้ นอกจากผมเสนอตั้ง 3 กองทุน กองทุนละ 1 แสนล้านบาท ให้ตัวแทนเอสเอ็มอีแต่ละระดับเข้ามาบริหารกองทุน มีตัวแทนของรัฐเข้ามากำกับให้น้อยที่สุด ถ้าจะออกเป็นกฎหมายมา
บริหารกองทุนหากตั้งใจจริงใน 3 เดือนก็สามารถดำเนินการได้ ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก. โดยการบริหารของกองทุนก็เหมือนรูปแบบ กลุ่มสหกรณ์หลายที่ก็ยังไม่มีที่ไหนที่บริหารเจ๊ง เพราะสมาชิกเขายึดประโยชน์ของสหกรณ์สูงสุด ไม่มีใครอยากให้สหกรณ์เจ๊งแน่นอน

ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่ๆ คนรุ่นกลางๆ ขึ้นมาบริหารประเทศ โดยคนรุ่นผมก็เป็นผู้สนับสนุน ช่วยคิด ช่วยผลักดัน ไม่ต้องไปเป็นตำแหน่งใดๆ
แต่ต้องมาร่วมกันคิดว่าจะส่งต่ออนาคตให้ลูกหลานรุ่นต่อไปให้ดีได้อย่างไรจะเหมาะสมกว่า

กลุ่มการเมืองใหม่ที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เตรียมก่อตั้งขึ้นจะเข้าเป็นมีบทอย่างไร

ผมช่วยได้ในเชิงความคิด การยกร่างกฎหมายต่างๆ ผมสามารถช่วยได้ ตอนนี้ก็ยกร่างไว้หลายฉบับ อย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พท. ทุกฉบับผมก็เป็นคนร่าง

เรื่องพรรคการเมืองเป็นแค่กลไก แต่วันนี้ต้องตกผลึกความคิดของคนทุกฝ่ายให้มาเดินร่วมกันให้ได้ โดยทำให้เป็นรัฐของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เช่น กรรมการบริหารพรรคต้องมีคนทุกเจเนอเรชั่นเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ถ้าไปฟังเพียงใครคนใดคนหนึ่ง ตกลงทุกอย่างแล้วก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้มันเดินหน้ากันลำบาก

พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาต้องอาศัยคนที่มีทั้งบารมี มีศักยภาพ มีเครือข่าย สมัยก่อนเป็นแบบนี้ แต่สมัยนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างมากและต้องฟังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ให้คนมาฟังเพียงคุณคนเดียว หากเป็นเช่นนี้ก็แพ้อีก พลังจะไม่มี คุณค่าจะไม่มี ถ้ามีคุณค่าคนสนับสนุนจะมาเอง ถ้าตอบโจทย์ ตอบความคิด ตอบอนาคตได้ คนจะสนับสนุนให้คุณมีคุณค่าเอง ถ้าใช้แต่เงินแต่ไม่ตอบโจทย์ถึงความมีคุณค่า ยุคนี้มันก็ไปไม่ได้ เพราะปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปหมดแล้ว

หลายอย่างในข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่คนรุ่นพวกผมไม่มีใครกล้าพูด แต่วันนี้กลุ่มเยาวชนกล้าพูด บางเรื่องอาจจะเรียกร้องแล้วไม่ได้ชนะในวันเดียว เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับฟังซึ่งกันและกัน เด็กๆ ก็ไม่ควรมองว่าคนรุ่นไดโนเสาร์เป็นพวกตกยุค เป็นคนไม่ดี เพราะทุกคนล้วนมีส่วนดีและไม่ดีด้วยกันทั้งสิ้น จึงต้องฟังซึ่งกันและกัน คุณต้องเปลี่ยนคนรุ่นไดโนเสาร์ไม่ให้เป็นไดโนเสาร์ แม้จะเปลี่ยนไม่ได้มากก็ยังดี อย่าไปสร้างวาทกรรมโยนใส่อีกฝ่ายจนเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะสังคมนี้ต้องฟังซึ่งกันและกันถึงจะเดินหน้าร่วมกันไปได้

สถานการณ์แฟลชม็อบ ผลการเคลื่อนไหวต่างๆ จะส่งผลต่อสถานการณ์ในปี’64 อย่างไร

อย่างหนึ่งที่ผมตกผลึก คือ การจัดตั้ง ส.ส.ร. จากที่ผมไม่มีความหวัง ที่ผมพยายามเสนอมาตลอด วันนี้เด็กและเยาวชนพูดตรงกันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีก่อน เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดี เรื่องปากท้องมันจะแก้ไขไม่ได้ และถ้าทุกฝ่ายตกผลึกในเรื่องนี้ได้ อย่างน้อยก็เริ่มเห็นแสงสว่างว่าวิธีนี้ไปได้ ผมจึงเชื่อว่าถ้าไม่มีแอ๊กซิเดนต์อะไร ผมมองว่าปีž64 จะเป็นปีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าได้ โดย ส.ส.ร.ต้องเลือกตั้งทั้งหมด ถ้ายังมีติ่งตรงนั้น ตรงนี้ก็จะไม่จบอีก ถ้าเลือกตั้งทั้งหมดทุกอย่างคำตอบคือมาจากประชาชน สมมุติ กมธ.พิจารณาเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็ไปเลือก ส.ส.ร.ต่อไป เดือนเมษายนได้ ส.ส.ร. ก็ไปเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าร่างฝ่ายค้านก็ใช้เวลา 4 เดือนเสร็จ ถ้าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้เวลา 8 เดือน ถ้ายึดตามร่างฝ่ายค้าน 4 เดือนจบได้ ความหงุดหงิดจะน้อยลง ทุกอย่างมีโมเดลอยู่แล้ว โจทย์ใหญ่มีไม่กี่ข้อ ไม่ต้องไปลงรายละเอียดมาก ตั้งหลักให้ได้ว่าต้องออกกฎหมายให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันให้ได้ แล้วก็ไปเขียนกฎหมายให้สอดคล้องตามนี้

ถ้า ส.ส.ร.เดินไม่ได้อย่างเดียว ปีž64 ผมคิดว่าทุกอย่างไปหมด ความหวังในเชิงกติกาก็ไม่มีแล้ว อย่างอื่นจะไปตามหมด ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ใครจะมาเป็นรัฐบาล ถ้าเห็นด้วยกับผมก็แก้รัฐราชการให้ได้ คนก็จะรู้สึกได้ปลดปล่อย และมีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะทุกคนจะได้เห็นอนาคตและรู้ว่าตัวเองสามารถจะทำมาหากินและร่ำรวยได้

สุดท้ายเรื่องความยุติธรรม ความแตกแยกของประเทศ คือ ความเป็น 2 มาตรฐาน ถ้าแก้ไม่ให้เกิดระบบ 2 มาตรฐานได้ ส.ส.ร.เดินหน้าต่อได้ ผมเชื่อว่าเรื่องความยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐานจะผ่อนคลายลง และต้องทำให้คนเห็นว่าคนที่จะมาอำนวยความยุติธรรมไม่ว่าจะระดับไหน ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ผมจึงเสนอว่าศาลทุกคนต้องแสดงทรัพย์สินต่อสาธารณะ เราต้องมีระบบที่ตรวจสอบคนที่ตรวจสอบประชาชนอีกชั้นหนึ่ง ผมจึงเสนอว่าอย่างเรื่องการละเมิดอำนาจศาลควรจะยกเลิก แต่สามารถวิจารณ์คำพิพากษาได้ตามหลักวิชาการเหมือนกับของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไปก่อกวน ก่อความวุ่นวายต่อศาลอันนี้ก็ต้องคงไว้ รวมทั้งต้องมีกลไกในการตรวจสอบศาลให้มีความสุจริตด้วย

เราต้องทำให้ระบบดี จนคนต้องกลัวระบบ แม้คนจะมีคนไม่ดีเข้ามาแต่ถ้าระบบดี คนก็จะกลัวระบบไม่กล้าทำสิ่งไม่ดี แต่พอระบบไม่ดีด้วยต่อให้ได้คนดีเข้าไปก็จะเป๋ไปตามระบบที่ไม่ดีไปด้วย อย่างลักษณะของคดีถ้าเหตุเหมือนกัน ผลก็ต้องเหมือนกันด้วย

ต้องทำให้คนเกิดความเชื่อถือว่ามาที่นี่ได้รับความยุติธรรมแล้วทุกอย่างจบ ถ้าไม่มีความเชื่อมั่น ต่อไปคนก็ไปจัดการกันเอง ไปส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันอีก

ผมเชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ความขัดแย้งต่างๆ น่าจะผ่อนคลายลง ถ้ามีกลไกในการตรวจสอบความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมจะตามมาทันที

เหมือนอย่างการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้น ก็เพราะศาลฎีกาไปตีความว่าการยึดอำนาจคือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ อย่างไรก็ไม่ผิด แม้คณะรัฐประหารจะหมดอำนาจแล้วก็ไม่ผิด ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปเขียนรัฐธรรมนูญรับรองว่าการกระทำของ คสช.ให้ถือว่าชอบด้วยทั้งทางอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

ผมจึงคิดว่าถ้ามี ส.ส.ร.ขึ้นมา ผมจะเสนอด้วยว่าการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารจะกระทำมิได้ และถือเป็นประเพณีการปกครองที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ให้เป็นเครื่องมือศาลไว้ หากมีศาลที่มีความกล้าในอนาคตไว้ดำเนินการได้

หากตัดสินคนที่ยึดอำนาจได้สำเร็จสักรายเดียวว่าเป็นกบฏ ผมเชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าเข้ามายึดอำนาจอีก จึงไม่ต้องไปหาวิธีอื่น เพราะไม่มีทางจะไปหยุดให้คณะรัฐประหารมาฉีกรัฐธรรมนูญได้ ถ้าดำเนินการตามนี้ หากมีคนมาฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างยังเป็นประเพณีการปกครองของประเทศก็จะสามารถเอาผิดคนที่มาฉีกรัฐธรรมนูญได้

ข้อห่วงใยที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในปีž64

ผมเชื่อว่าหลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดความรุนแรง แต่มีบางฝ่ายที่อยากให้เกิดความรุนแรง ตรงนี้ต้องระวัง เช่น ในประเทศฝรั่งเศสมีการประท้วงกัน แต่ก็มีบางฝ่ายที่ไปเผารถ ทำลายร้านค้า ตำรวจก็ต้องไปเข้าไปจัดการ ตรงนี้เราจึงต้องระวังให้มาก คนกลุ่มพวกนี้รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลให้ได้ ถ้ารัฐบาลดูแลได้เหตุการณ์จะไม่บานปลาย

ผมได้ยินเยาวชนหลายคนพูดว่าพวกเขาไม่ต้องการความรุนแรง การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนแบบแฟลชม็อบนั้นยึดอำนาจรัฐบาลไม่ได้ ได้แต่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยรัฐบาล แล้วก็ขยายวิธีคิดแนวคิดออกไป ดังนั้นรัฐบาลไม่ต้องคิดจะไปปราบปรามพวกเขา เพราะพวกเขาไม่อาจจะเป็นกบฏที่ใช้กำลังมายึดอำนาจรัฐบาลได้

อยู่ที่ฝ่ายรัฐต้องพยายามจัดการกลุ่มคนที่จะพยายามเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้ได้ ถ้าจัดการได้ กลุ่มเยาวชนจะจัดแฟลชม็อบอีกสักร้อยครั้งก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีเงื่อนไขของความรุนแรง และผมเชื่อว่า ส.ส.ร.จะเป็นกุญแจของทุกประตู ถ้าไขกุญแจตรงนี้ได้ ประตูอื่นๆ ก็จะเปิดตามมาเอง ต้องทำให้คนรู้สึกว่าตัวเท่ากันแล้วมาคุยกัน ความยุติธรรมถึงจะเกิดขึ้นได้

เหมือนกันคณะกรรมการปรองดองและความสมานฉันท์ที่รัฐสภากำลังดำเนินการนั้น ผมเสนอว่า 1.ควรออกเป็นกฎหมายมารองรับ เพราะจะได้เป็นเวทีที่ปลอดภัย มีกฎหมายที่คุ้มครองว่าใครที่มาพูดทุกเรื่องในเวทีนี้จะปลอดภัย จะได้ลดการพูดจากเรื่องที่ไม่ดีจากข้างนอก แต่ถ้าไม่มีกฎหมายรับรอง ต่อให้พูดที่รัฐสภาก็ไม่ปลอดภัย 2.คนที่ถูกดำเนินคดีต้องปล่อยให้เขาได้มีโอกาสมาพูดคุยในเวทีนี้ ไม่เช่นนั้นถ้าคนมีคดีเต็มไปหมดมาพูดคุยกับอีกฝ่ายก็คุยกันไม่รู้เรื่องแน่นอน

3.ข้อตกลงที่ได้จากการพูดคุยของคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับผลการศึกษาของคณะกรรมการปรองดองทุกคณะที่ผลการศึกษาถูกเก็บไว้บนหิ้ง ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้

การเลือกตั้ง อบจ.จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองอย่างไร

ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งคงไม่ได้ส่งผลต่อการเมืองในภาพใหญ่มากนัก บางกลุ่มก็อยากสังกัดกับคณะก้าวหน้า เพราะเชื่อว่าจะได้กระแสและคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ บางกลุ่มก็อยากสังกัดพรรค พท. เพราะยังเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นฐานเสียงของพรรค พท.ยังแข็งแรง ดังนั้นผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะชี้ได้รับหนึ่งถ้าอยู่บนพื้นฐานของฟรีแอนด์แฟร์ จะชี้ให้เห็นถึงความนิยมของคนว่าจะเอาอำนาจนิยมต่อไป หรือไม่เอาอำนาจนิยม จะเอาเผด็จการ หรือไม่เอาเผด็จการ

ถ้าชี้ว่าคนยังสนับสนุนอำนาจนิยมต่อก็ต้องไปดูต่อว่าการเลือกตั้งฟรีแอนด์แฟร์จริงหรือไม่ และก็ต้องเอาผลคะแนนมาดูด้วยว่ากลุ่มที่เป็นของฝ่ายรัฐบาลเท่าใด ของฝ่ายประชาธิปไตยเท่าใด เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อได้ถึงทิศทางการเมืองในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image