รายงาน : วิถี แห่ง ‘ม็อบ’ เดือนมกราคม2564 จะมี ‘คำตอบ’

ทําไมจึงมีบทสรุปว่า เมื่อคนของคณะก้าวหน้าใน 42 จังหวัดไม่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.แม้แต่คนเดียว
จะทำให้การเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” ฝ่อลง

คำตอบ 1 เพราะมองว่าคนของคณะก้าวหน้าอยู่เบื้องหลังการชุมนุม

เป็นความเชื่ออันปรากฏผ่านขบวนการ IO มาอย่างต่อเนื่องพุ่งเป้าไปยัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พุ่งเป้าไปยัง นายปิยบุตร แสงกนกกุล พุ่งเป้าไปยัง น.ส.พรรณิการ์ วานิช

คำตอบ 1 เพราะเชื่อในทุกการเคลื่อนไหวต้องมี “ผู้นำ”

Advertisement

หากมิใช่ผู้นำในลักษณะที่เป็นนักปราศรัยบนเวทีอย่าง นายอานนท์ นำภา ก็ต้องเป็นผู้นำในมุมลับๆ อย่างที่เชื่อกันว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แม้จะมีการเผยแพร่แนวคิด “ทุกคน” เป็น “แกนนำ” ก็ไม่เชื่อ

การที่ม็อบจะอึกทึก เกรียงไกร การที่ม็อบจะฝ่อลง แผ่วลง จึงมีจุดเริ่มต้นว่าใครมีบทบาท ใครเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับม็อบ

Advertisement

เหมือนที่มองม็อบของ “ราษฎร”

ความเชื่อในเรื่อง 1 คนบงการม็อบ 1 ท่อน้ำเลี้ยงของม็อบ เป็นความเชื่อที่ทั้งหล่อเลี้ยงและปลอบประโลมคนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับ “ราษฎร” มาอย่างต่อเนื่อง

ขอให้ดูจากกรณีเมื่อวันที่ 24 กันยายน ณ ศิริราชพยาบาล

บรรดานักคิดในกลุ่มต่อต้าน “เยาวชนปลดแอก” ต่างประเมินเป็นเสียงเดียวกันนับจากนั้นเป็นต้นมาสภาพฝ่อและแผ่วลงจะต้องเกิดขึ้น

เพราะเห็นว่าสัมพันธ์กับ พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

เพราะประเมินว่าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมอย่างคึกคัก

แต่แล้วปรากฏการณ์ในเดือนตุลาคมก็แจ่มชัด

ไม่ว่าการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีเมื่อวันที่ 24 กันยายน แทบไม่มีผลสะเทือนเลย

เพราะคนยังเข้าร่วมอย่างมหึมา มหาศาลเหมือนเดิม

ตราบใดที่ยังประเมินลักษณะของม็อบนับแต่เดือนกรกฎาคมกระทั่งเดือนธันวาคมว่าดำรงอยู่ดำเนินไปเหมือนกับม็อบในกาลอดีต

ตราบนั้นจะไม่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะเมื่อประเมินตามแนวทฤษฎีแบบเก่าก็ย่อมต้องนำเอาวิธีการในยุค “สงครามเย็น” ที่ใช้ในการต่อสู้กับ “คอมมิวนิสต์” มาใช้

ทั้งๆ ที่ม็อบ ณ วันนี้ คือม็อบในยุคใหม่โดย “ชนเผ่าดิจิทัล”

คำถามก็คือ การเลือกจัดการกับบุคคลที่ประเมินว่าเป็น “แกนนำ” ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา ไม่ว่าจะเป็น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือแม้กระทั่ง น.ส.ทราย เจริญปุระ

ทำให้กระแสของ “ม็อบ” ฝ่อและแผ่วลงหรือไม่

คำตอบที่ปรากฏให้เห็นเป็นลำดับนับแต่เดือนกันยายน ตุลาคม กระทั่งทะลุเดือนธันวาคม เด่นชัดว่าไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อที่หวังปลอบประโลมใจเช่นนั้น

ไม่เชื่อก็ขอให้รอดูสถานการณ์ในเดือนมกราคมก็จะประจักษ์

ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ นับแต่หลังวันที่ 20 กันยายนเป็นต้นมา ม็อบได้ก้าวพ้นไม่เพียงแต่
นายทักษิณ ชินวัตร ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

หากแม้กระทั่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นักการเมืองอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่แน่ใจว่าจะรับรู้และเข้าใจต่อวิถีแห่งม็อบมากน้อยเพียงใด

การเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อ “วิถีแห่งม็อบ” จึงสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image