มหันตภัย‘ไวรัส’ ‘โควิด-19’ เขย่าโลก

ดู เหมือนว่าโรคเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 จะส่งผลกระทบกระเทือนกับโลกนี้รุนแรงกว่าเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ถือว่าเป็นมหันตภัยโจมตีมนุษยชาติ และยังไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน

‘ไวรัสอู่ฮั่น’ต้นกำเนิดโควิด-19

โควิด-19 เริ่มต้นเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2562 ด้วยการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุชื่อ หรือที่มาของการติดเชื้อได้ จึงเรียกกันตามที่มาของโรคว่า ไวรัสอู่ฮั่นŽ คาดว่าเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการติดเชื้อจากคนสู่คนหรือไม่

จากนั้นประเทศไทยรับทราบข่าวคราวของไวรัสร้ายดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) งัดมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ รวมทั้งมีการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนมกราคม 2563 พบผู้ป่วยรายแรกนอกประเทศจีน เป็นผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่นมายังประเทศไทย ทำให้ไทยกลายเป็น ประเทศที่ 2 ของการติดเชื้อ และรู้จักไวรัสตัวนี้ในชื่อของ โควิด-19Ž

หลังจากรู้จักกับไวรัสมากขึ้นปลายเดือนมกราคม ความจริงเรื่องการติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คนเริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นไป สธ.ไทยเร่งวางแผนรับมือโดยแบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ ระยะที่ 2 เริ่มมีคนไทยติดเชื้อจากผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ แต่ไม่มีการติดต่อเนื่อง และระยะที่ 3 ผู้ที่อยู่ในประเทศ ติดเชื้อมาจากผู้ที่มาจากประเทศ และเริ่มแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศจำนวนมาก จึงมีมาตรการป้องกันโดยให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ป้องกันการรับเชื้อจากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา ไอ จาม แนะนำการหลีกเลี่ยงไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความแออัด จนทำให้หน้ากากอนามัยที่คนไทยแทบไม่เคยหยิบจับมาสวมใส่นั้น กลับมีราคาสูงทะลุเพดาน โรงพยาบาลหลายแห่งเข้าสู่การขาดแคลนขั้นวิกฤต สธ.ไม่รอช้าเร่งดำเนินทดสอบประสิทธิภาพของการใช้หน้ากากผ้าเพื่อมาทดแทน และรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้า และสงวนหน้ากากทางการแพทย์ไว้เพื่อบุคลากรสาธารณสุขรวมถึงผู้ป่วยทุกโรค

ไทยเจอคลัสเตอร์แรก‘ทองหล่อ’

สถานการณ์ในประเทศไทย เริ่มไม่แน่นอนหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศและดูท่าทีจะกระจายไปในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่พบการระบาดในประเทศ แต่แนวโน้มการระบาดในประเทศต่างๆ มีมากขึ้น อาจส่งผลต่อการระบาดของประเทศไทยได้ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สธ.จึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14 มีผลบังคับใช้ในการมอบอำนาจให้กับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สั่งกักกันโรค ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานกักกันโรคเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

กระทั่งวันที่ 12 มีนาคม 2563 ประเทศไทยได้พบจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในประเทศ เป็นเหตุการณ์ติดเชื้อกลุ่มก้อน (Cluster) แรกจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ขณะนั้นความรู้ ความเข้าใจโรคของคนไทยยังมีไม่มากนัก มีเพียงความตระหนกและตกใจ ต่อมาไม่ถึงสัปดาห์การระบาดในกลุ่มก้อนที่ 2 จากสนามมวยลุมพินี โดยหลังจากเกิดเรื่องขึ้น ประชาชนต่างเดินทางกลับบ้านที่ภูมิลำเนา ทำให้เชื้อโควิด-19 จากที่พบเพียงเมืองหลวง ก็ได้กระจายเข้าสู่ต่างจังหวัด และทำให้ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นหลักร้อยรายต่อวัน และสูงสุดในตอนนั้นที่ 188 รายต่อวัน

3 เม.ย.‘ล็อกดาวน์ประเทศไทย’

และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม สธ.เสนอมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องมีใบรับรองแพทย์และต้องถูกกักตัว 14 วัน รวมทั้งงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวเกิน 100 คนขึ้นไป การย้ายคนข้ามจังหวัด และให้ปิดสถานบันเทิงทุกชนิด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร ฟิตเนส หรือร้านนวดแผนโบราณ นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นไป โดยขอให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวด

ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้มาตรการสูงสุดด้วยพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พร้อมตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)Ž หรือ ศบค. โดยแต่งตั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นั่งแท่นโฆษกประจำศูนย์ ต่อมาไม่นานในวันที่ 3 เมษายนรัฐบาลตัดสินใจใช้ยาแรงในการควบคุมโควิด-19 ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวและสั่งปิดสถานประกอบการอย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศ มาตรการทำงานที่บ้าน (work from home) หรือที่ประชาชนเข้าใจตรงกันว่าการ ล็อกดาวน์ประเทศไทยŽ

พ.ค.คลายล็อกสู้ชีวิตวิถีใหม่

ภายหลังการใช้มาตรการสูงสุดภายในประเทศ พร้อมดำเนินการกักกันโรคผู้เดินทางจากต่างประเทศให้อยู่ในการจัดสถานกักกันที่ราชการกำหนด (State Quarantine) ทำให้ผู้ป่วยจำนวนน้อยลง จากเดิมคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1 หมื่นราย แต่ในขณะนั้นก็พบป่วยเฉลี่ยวันละเพียง 10 ราย จึงมีการพิจารณาเร่งปรนผ่อนมาตรการล็อกดาวน์ แบ่งความเสี่ยงออกเป็นระยะ โดยจะมีการประเมินทุก 14 วัน แต่ทางเลือกนี้แลกมาด้วยความเศรษฐกิจที่บอบช้ำเหมือนคนสิ้นไร้ลมหายใจ

ในระยะเวลาการกักตัวของประชาชนเพียง 1 เดือน มาตรการคลายล็อกดาวน์ก็เริ่มทยอยเกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ประเทศไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ยึดคาถาป้องกันโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง แต่รัฐบาลไม่ลืมที่จะมองไปข้างหน้าสำหรับการป้องกันโควิด-19 ด้วยวัคซีนใน 3 แนวทาง คือ เร่งพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดย 1.วิจัยพัฒนาเอง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย 2.ไทยไปร่วมมือกับต่างประเทศในการวิจัยพัฒนา โดยเราจับมือกับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยมอบให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.ไม่ต้องทำอะไร รอซื้ออย่างเดียว ทางเลือกข้อนี้จะเจอปัญหา เพราะประเทศที่ผลิตเองได้

ก็จะฉีดให้ประเทศของเขาก่อน และมักจะมาพร้อมราคาที่สูงลิบลิ่ว

สมุทรสาครระบาดรอบใหม่

กลับมาที่สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต่อมานับแต่เดือนพฤษภาคม เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 กันอย่างสงบสุข ท่ามกลางไฟรอบบ้านที่ร้อนระอุ มาถึงเดือนพฤศจิกายน ไทยพบเหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นเมื่อสะเก็ดไฟข้างบ้านกระเด็นเข้าประเทศ พบผู้ป่วยลักลอบข้ามจากสถานอโคจรวันจีวัน จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ทำให้ทุกคนกลับมากระชับพื้นที่มากยิ่งขึ้น หวังดับไฟไม่ให้ลามทุ่ง กระนั่นก็ตามหากเป็นเพียงสะเก็ดไฟ ก็ไม่ยากที่จะดับ เหตุการณ์สงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนได้กลับมามีความหวังว่าสิ้นปีนี้เราจะได้ต่อลมหายใจด้วยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะคึกคักในปีใหม่ 2564

แต่แล้วความหวังดูเหมือนจะดับลง เมื่อไทยกลับพบกองไฟขนาดใหญ่ภายในประเทศเสียเอง โควิด-19 ประกาศศักดาอีกครั้งใน จ.สมุทรสาคร พื้นที่ของแหล่งแรงงานข้ามชาติที่มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย นับว่าเป็นงานหนักของทีมสาธารณสุขที่จะต้องรีบดับไฟไม่ให้ลุกลามไปในจังหวัดอื่น ตามนิยามแล้วครั้งนี้เป็นการระบาดรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัด ทยอยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และพื้นที่การระบาดต่อมาคือ จ.ระยอง ที่เริ่มจากบ่อนการพนัน ดูเหมือนเหตุการณ์ทั้งสอง มีผลต่อการสอบสวนโรค เพราะส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่งผลต่อการปิดบังข้อมูล ไวรัสคืบคลานไปในหลายจังหวัด พบผู้ป่วยติดเชื้อเล็กน้อย แต่ไม่พอให้มีคำสั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

ศบค.มีบทเรียนจากเมื่อครั้งก่อน เศรษฐกิจช่วงเดือนธันวาคมกำลังล่อแล่ รัฐบาลใจถึงไม่พอที่จะตัดความหวังต่อลมหายใจของประชาชน ในการระบาดที่ปะทุขึ้น แต่ยังไม่มีวี่แววของการล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 เพียงแต่กำหนดพื้นที่ควบคุม 4 ความเสี่ยง โยนอำนาจบริหารให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งควบคุมปิดเปิดสถานที่ตามความเหมาะสม ภาวนาหวังว่าการระบาดรอบใหม่จะยุติลงโดยเร็ว
ระดมสำรองเวชภัณฑ์รับมือ

ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขไทยไม่นิ่งนอนใจ ตั้งหลักรับมือกับโควิด-19 โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยของตัวเอง กำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือมากกว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี ตั้งเป้าว่าจะผลิตหน้ากากอนามัยชนิด N95 ด้วย พร้อมทั้งสั่งซื้อสารตั้งต้นในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นของการทดลองสรรพคุณ และรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบมาตรฐานเพื่ออนุมัติในการผลิตระดับอุตสาหกรรม คาดว่าจะทันใช้ในเดือนมิถุนายน 2564

นอกจากนี้ ส่วนของการสำรองเวชภัณฑ์ไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งหน้ากากอนามัยที่มีถึง 50 ล้านชิ้น หน้ากากชนิด N95 อีกราว 5 ล้านชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 488,200เม็ด ได้รับคำยืนยันว่ายายังไม่หมดอายุแน่นอน และเตียงอีกกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ ทั่วประเทศสามารถรองรับได้ 1,000-1,740 รายต่อวัน ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ขยายขีดความสามารถห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่สามารถตรวจหา
โควิด-19 ได้ทั่วประเทศ กระจายในทุกหัวเมืองมากกว่า 240 แห่ง จะเห็นได้ว่า สธ.ได้มอบความเชื่อมั่นให้กับคนไทยทุกคน เหลือเพียงความร่วมมือในการป้องกันโรค การรักษาอนามัยส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้พบผู้ป่วยเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขขณะนี้

วัคซีนดีที่สุดหน้ากากอนามัย

ความหวังของวัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มสัมฤทธิผลในการป้องกันโรค มีการทดลองในคนระยะที่ 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึงร้อยละ 70 กระจายฉีดให้กับประชากรในประเทศแล้ว และแน่นอนว่าการจะผลิตวัคซีน เพื่อทุกชีวิตบนโลกเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ช่วงแรกจะเน้นหนักไปในบุคลากรด้านหน้าต่อสู้โควิด-19 ไปจนถึงกลุ่มเสี่ยง ประเทศไทยเองก็เตรียมแผนรับมือจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย โดยความร่วมมือของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทยร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน ผู้บริหารระดับสูงต่างให้ความมั่นใจที่หนักแน่นกับคนไทยว่า หากวัคซีนดังกล่าวสำเร็จ คนไทยจะมีวัคซีนใช้ทันที และจะเป็นประเทศลำดับแรกๆ เข้าถึง โดยการจองซื้อ จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย เพื่อให้ผลิตได้เองภายในประเทศ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งและความเสียหาย ที่สำคัญวัคซีนที่สำเร็จต้องผ่านกระบวนการรับรองต่างๆ มีความปลอดภัยสำหรับผู้รับวัคซีน ล่าสุดข้อมูลได้รับการยืนยันจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่า ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยจะได้ฉีดในคนไทยคนแรกอย่างแน่นอน แต่จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำว่าวัคซีนที่ป้องกันโควิด-19 ได้อย่างดีที่สุดขณะนี้ ยังเป็นหน้ากากอนามัย หากทุกคนร่วมใจกันยกการ์ดสูง ก็เสมือนว่าเราทุกคนได้ฉีดวัคซีน
โควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image