ส่อง‘คะแนน-ข้อเสนอแนะ’ มาตรการ รบ.แก้โควิดรอบใหม่

ส่อง‘คะแนน-ข้อเสนอแนะ’ มาตรการ รบ.แก้โควิดรอบใหม่

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการ-ภาคเอกชน ให้คะแนนมาตรการป้องกันการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ของรัฐบาล รวมทั้งข้อเสนอแนะ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

Advertisement

หากต้องให้คะแนนรัฐบาลในเรื่องการใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น เกณฑ์คะแนนเต็ม 10 คะแนน คงให้ได้ประมาณ 7 เต็ม เนื่องจากมาตรการที่ออกมายังช้ากว่าความเสียหายที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนต้องประสบ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังพอทำความเข้าใจได้ที่รัฐออกมาตรการในการช่วยเหลือช้า เพราะในช่วงแรกของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังจับต้นชนปลายได้ยากว่าเชื้อมาจากแหล่งใด กลุ่มใด อีกทั้งมาตรการที่ค่อยๆ ทยอยออกมานี้ยังถือว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้ยาแรงในการกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอาจส่งผลเสียกับธุรกิจที่กำลังจะฟื้นตัวจากการระบาดในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

มองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในตอนนี้คือ การออกมาตรการทั้งเบาและแรงควบคู่กันไป

ส่วนคะแนนที่ตัดไปประมาณ 3 คะแนนนั้นมาจากการที่รัฐบาลคุมธุรกิจสีเทาไม่ได้ อาทิ การลักลอบเข้าเมือง และการเปิดบ่อนการพนันแบบผิดกฎหมาย เป็นต้น

ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ไทยคุมไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ระบาดในประเทศได้ยาวนานถึง 8-9 เดือน

ทั้งนี้ หากจะให้ประเมินว่ารัฐสอบผ่านเรื่องการควบคุมโควิด-19 ในครั้งนี้หรือไม่ มองว่ายังเร็วไปที่จะสรุป

จากการคาดการณ์เบื้องต้นเชื่อว่าการระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จะสามารถควบคุมได้ภายใน 2 เดือน หรือไม่เกินกุมภาพันธ์ แต่ใช่ว่าการระบาดจะไม่กลับมาอีก

และในรอบนี้จะมีบางธุรกิจล้มหายตายจากเพิ่มขึ้นจากรอบแรกอีกด้วย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่กำลังจะฟื้นตัว แต่ต้องกลับมาสะดุดอีกครั้งจากการที่ประชาชนมีความกังวลและออกมาใช้จ่ายน้อยลง

ดังนั้น ภาครัฐต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้โดยตรงเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ยังอยู่ได้ต่อไป

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความกังวลของภาคเอกชนที่มองข้ามไปอีกช็อตหนึ่งคือ ถึงแม้ว่าไทยจะสามารถนำเข้าวัคซีนรักษาโรคเข้ามาได้ แต่ใช่ว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั้งประเทศ

และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอีกครั้งกังวลว่าถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจไม่มีทางแก้ไขแล้ว เนื่องจากต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าวัคซีนต้านไวรัสจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น ระหว่างทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนข้อเสนอแนะนั้น ภาครัฐจะต้องหาวิธีทำให้เกิดการหมุนเวียนทางระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก และรายที่ยังสามารถประคองธุรกิจได้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเร็ว

จากการบริหารงานในปัจจุบันของรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนคาดหวังว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 1/2564 และเชื่อมั่นว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 ยังมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้

แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้ จะได้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนมากขึ้นต่อไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หากต้องให้คะแนนในการดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ของภาครัฐ ณ ตอนนี้ให้ 6-7 คะแนนเต็ม 10 คะแนน อาจเป็นคะแนนที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดกระจายตัวไปกว่า 57 จังหวัดแล้ว

และการระบาดเริ่มใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ โดยสาเหตุของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่างจากการระบาดในช่วงแรก

โดยในรอบนี้เกิดจากปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาจำนวนมากอย่างเป็นขบวนการ บ่อนการพนัน ถือเป็นธุรกิจสีเทา ที่ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข้อเท็จจริงของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ถูกต้องได้เลย

รอบแรกยังรู้ว่าจุดเริ่มต้นการระบาดเกิดจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย แต่ช่วงนั้นเอาอยู่เพราะได้รับข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ตลอดระยะเวลา 8-9 เดือน

แต่รอบนี้ไม่รู้เลยว่ามาจากไหน ประกอบกับไวรัสกลายพันธุ์จึงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเยอะขึ้นอีกด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลในการให้คะแนนในครั้งนี้ไม่ดีเท่าที่ควร และเกรงว่าหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมสถานการณ์ไม่เข้มข้นอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกครั้งได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำในตอนนี้คือ การระบุจำนวนคนติดเชื้อให้ได้ว่ามีเท่าไหร่ หาต้นตอของปัญหาให้เจอ

อีกทั้งภาครัฐต้องเข้มงวดในเรื่องของการจำกัดพื้นที่เพื่อลดความเสียหาย หากสามารถคุมสถานการณ์ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้างได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เชื่อว่ายังไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากเกินรับไหว

แต่ในกรณีที่คุมสถานการณ์ไม่อยู่อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,000-10,000 รายต่อวัน อาจยากต่อการรับมือ เนื่องจากปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 2.3 หมื่นเตียงเท่านั้น

และถ้าไม่สามารถคุมได้จะส่งผลต่อตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 ทันที ซึ่งจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับแนวทางการรับมือคือ เนื่องจากตอนนี้แรงงานที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเริ่มกระจายตัวไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มขึ้นแล้ว

รวมถึงเอกชนบางรายกลัวความผิดจึงไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริง จึงทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยากมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องรู้สาเหตุให้ได้ว่าการระบาดเกิดขึ้นจากที่ใดเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม

ส่วนข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน มองว่ารัฐต้องเร่งจัดทำมาตรการที่สอดรับกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ การเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการโดยเร็ว การติดตามแรงงานที่ผิดกฎหมายต้องปราบให้สิ้นซาก

รวมทั้งรัฐบาลต้องสแกนให้ทั่วจะต้องเอาจริงเอาจังจากต้นตอ โดยเฉพาะบ่อนพนันที่เป็นแหล่งระบาดสำคัญให้ได้

ทั้งนี้ ต้องเร่งหาสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยนำงบประมาณที่มีอยู่ 2 แสนล้านบาท มาดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” เนื่องจากเป็นโครงการที่ดีและได้ผลต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือหาบเร่ แผงลอย

โดย กกร.เสนอให้เพิ่มวงเงินจาก 3,500 บาท เป็น 5,000 บาท รวมถึงหาแนวทางเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

หรือนำมาตรการเดิมที่เคยออกมาช่วยเหลืออย่างมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่งบประมาณยังเหลือกว่า 3.8 แสนล้านบาท มาหาแนวทางให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กเข้าถึงแหล่งเงินนี้ให้ได้อีกครั้ง

ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ และประกันสังคม เป็นต้น

รวมถึงการเพิ่มการพักชำระหนี้เพิ่มเติม 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องรีบดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้

รัฐบาลต้องรีบหามาตรการแก้ไข และเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ และมีผลกระทบด้านลบต่อประเทศได้

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ส่วนตัวคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องให้เวลา ให้เวทีในการพูด และชี้แจงต่อสาธารณชนให้มากกว่านี้ เป็นรายสัปดาห์ ไม่ควรมอบให้เป็นหน้าที่ของโฆษก ศบค.โดยลำพัง

เราเห็นแล้วว่าบทบาทของโฆษก ศบค.รอบนี้ผลตอบรับในภาพบวกไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนปีที่แล้ว เท่ากับว่าภาระที่หลายฝ่ายกำลังตระหนกและตระหนักจากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะเห็นว่ามีปัญหา เช่น บ่อนการพนัน

ซึ่งส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องช่วยชี้แจง อธิบายให้เห็นความคืบหน้าในการเฝ้าปราบปราม ติดตามผู้ที่ลักลอบเปิดบ่อนการพนัน

ขณะเดียวกัน ในส่วนอื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงาน จะต้องพูดถึงการลักลอบเข้ามาของแรงงานที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งฝ่ายปกครอง อย่างมหาดไทยด้วย ไม่ควรมอบหน้าที่ให้กับโฆษก ศบค.โดยลำพังอีก

ดังนั้น ในฐานะผู้นำทางการเมือง นายกรัฐมนตรีควรที่จะใช้เวลาบนเวทีให้มากยิ่งขึ้นเหมือนผู้นำในต่างประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง ของสิงคโปร์ ที่ออกมาให้ความเห็นและชี้แจงกับประชาชน

สิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนต้องการคือ อยากทราบความคืบหน้าของการรับวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ผู้นำประเทศจะต้องมีความชัดเจนแบบนี้ อย่างวันก่อน ลี เซียน หลุง ก็ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรก แม้นายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง จะยอมรับว่าวัคซีนอาจจะไม่สามารถรับรองผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยในทางจิตวิทยาทำให้คนรู้สึกว่าปลอดภัย

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องทำให้รู้สึกว่ามีมาตรการเชิงรุกให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยว่าจำนวนวัคซีนที่จะได้รับเข้ามานั้นเพียงพอ

ขณะเดียวกัน จะต้องมีวัคซีนเผื่อสำหรับแรงงานข้ามชาติด้วยตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่ลดความวิตกกังวลได้ กิจกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิมหากรัฐบาลประกาศเรื่องความชัดเจน หรือระยะเวลาการรับ และส่งมอบวัคซีนเข้ามาสู่ประเทศไทย

สำหรับสิ่งที่กังวลที่สุด แน่นอนว่าประชาชนเห็นแววว่าเกิดความสับสนกับภาวะการให้ข้อมูลที่กลับไปกลับมา หรือขาดการประสาน-บูรณาการข้อมูลของฝ่ายรัฐ อย่างเช่น กทม. ฝ่าย ศบค. หรือรัฐบาลก็ดี ที่เปลี่ยนแปลงคำสั่งกลับไปกลับมาจากกระแสหรือความไม่พอใจของประชาชนที่แสดงออกมา

ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจะต้องมีความเฉียบขาด และไม่ต้องระมัดระวังเรื่องคะแนนนิยมมากเกินไปจนเลยเถิดเรื่องความเหมาะสม และความถูกต้อง

ปีที่แล้วที่เรารับมือได้เต็ม 10 ผมให้ 8 คะแนน แต่คราวนี้ผมให้ตกลงมาเหลือแค่ 6 คะแนน เพราะว่าเราเคยเจอโจทย์ที่เคยรับมือได้

แต่ไม่สามารถที่จะเฝ้าระวัง จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อที่บ่อนการพนัน ซึ่งนำไปสู่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างจุดแพร่เชื้ออีกหลายพื้นที่ แต่ไม่สามารถจัดการเจ้าของบ่อนได้เลย มีแต่ย้ายผู้บังคับการตำรวจ ผู้ปฏิบัติงาน มันทำลายขวัญและกำลังใจเพราะคนกระทำผิดไม่สามารถดำเนินการได้สักราย ตรงนี้ทำให้เห็นว่าเราหย่อนยานเรื่องการดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดหรือไม่

ในแง่หนึ่ง การสื่อสาร เปลี่ยนคำสั่งที่กลับไปกลับมา อย่างการให้โหลดแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ซึ่งเดิมมีการวางมาตรการลงโทษขั้นหนักหน่วง

แต่เมื่อกระแสสังคมไม่เอาด้วยก็พร้อมปรับ โอนอ่อน ผ่อนตามกระแสความไม่สบายใจของสังคม

จุดนี้ทำให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองต้องมองถึงความจำเป็นและเหมาะสมมากที่สุด มากเกินกว่าเสียงสะท้อน ที่บางครั้งอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่รัฐบาลปรารถนาจะดำเนินการป้องกันได้

ที่ผ่านมาสังคมไทยปรับตัวในภาวะ “ต้องอยู่เป็น” กับรัฐบาลนี้ แต่ว่าปี 2564 ฝ่ายการเมือง หรือผู้รับผิดชอบกำลังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่ “หลบเป็น” ไม่มีฝ่ายไหนออกมาแสดงตัวตน ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image