เจาะแผนจัดงบ’65 ‘3.1ล้านล้าน’

เจาะแผนจัดงบ’65 ‘3.1ล้านล้าน’

หมายเหตุความคิดเห็นฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ต่อกรอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของรัฐบาล จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ผอ.ศูนย์นโยบายและวิชาการพรรค พท.

Advertisement

การจัดสรรงบประมาณ อันดับแรกต้องโยนทิ้งหลักคิดฐานงบประมาณเดิมแล้วบวกเงินเฟ้อ ฐานเดิมบวกลบตามกรอบงบประมาณประจำปี รวมทั้งวัฒนธรรมการเพิ่มลดงบประมาณเป็นเปอร์เซ็นต์ ต้องโยนหลักคิดเหล่านี้ทิ้งไปให้หมดก่อน แล้วนำหลักจัดสรรงบประมาณอิงศักยภาพของหน่วยรับงบประมาณตามเป้าหมายของ “วัฏจักรเศรษฐกิจ” ในช่วงนั้นมาใช้ ต้องตอบโจทย์ที่ว่า ตอนนี้ประเทศอยู่ช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ เราเผชิญกับภาวะวิกฤตหรือไม่ เรากำลังอยู่ในช่วงตกเหว ปีนขึ้นจากเหว วิ่งขึ้นเขา หรือลงจากเขา การจัดสรรงบประมาณต้องปรับเปลี่ยนตามวัฏจักรเหล่านี้

ช่วงไตรมาส 2-3 ปี 63 อยู่ในช่วงตกเหว งบประมาณต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อการเยียวยา ประคองการจ้างงาน ป้องกันธุรกิจล้ม ป้องกันผลลามถึงสถาบันการเงิน ตรงนี้คือโจทย์หลัก ไตรมาส 4 ปี 63 เราอยู่ในช่วงปีนขึ้นจากเหว ระบบงบประมาณต้องขยับจากโหมด “รองรับ” สู่โหมด “ผลักดัน” หรือ “กระตุ้น” ทั้งด้านกำลังซื้อและด้านให้เอกชนเริ่มลงทุน ไตรมาส 1 ปี 64 การระบาดรอบใหม่ทำให้งบประมาณตั้งปรับกันอีกครั้ง เพราะเรากำลังเตรียมตกเหวกันอีกรอบ จึงต้องกลับมาโหมดรองรับอีกครั้ง

การตัดเสื้อโหลในระบบงบประมาณจึงเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤต ซึ่งสถานการณ์แปรผันรายไตรมาส แตกต่างจากสถานการณ์ทั่วไปที่วัฏจักรเศรษฐกิจกินเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะเห็นว่าในช่วงวิกฤตนี้ มันมี 2 ขา ช่วง “รองรับ” ในช่วงตกเหว และช่วง “ผลักดัน” ในช่วงขึ้นจากเหว เพราะฉะนั้นการจัดสรรงบประมาณต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ใน 2 ขานี้ ถามว่างบ 64 ยืดหยุ่นตรงนี้ไหม คำตอบคือไม่ แถมยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบไม่รู้หนาวว่าเกิดอะไรขึ้น ถามว่าถึงวันนี้ยังทำอะไรได้ไหม คำตอบคือ ได้ โดยใช้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เหมือนที่เคยทำกันในปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้ต้องไม่ทำเหมือนเดิม ซึ่งเหมือนแค่ได้ทำตามข้อเรียกร้อง ลดแรงกดดัน ได้จำนวนเงินเพิ่มมาเพียงน้อยนิด ครั้งนี้ต้องทำแบบจริงจัง ต้องตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ

Advertisement

ส่วนงบปี 65 ต้องเริ่มคุยกันก่อนว่าปี 65 เรากำลังอยู่ช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ หากกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” อยู่ในช่วงระบาดของโรค ธุรกิจเลิกกิจการ แรงงงานถูกปลดด้วยอัตราเร่ง ต้องอุดช่องตรงตลาดแรงงาน ตรงผู้ประกอบการ ต้องมองไปว่าหน่วยรับงบประมาณไหนตอบโจทย์และมีอัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงต่องบประมาณมากกว่าในวัฏจักรนี้ หากมองว่าอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ฟื้นตัว โลกเข้าสู่ภาวะการมีวัคซีน กำลังซื้อของโลกทะยานขึ้น เริ่มแข่งขันกันส่งออก เริ่มมีการชิงห่วงโซ่การผลิตที่ขาดไปในช่วงโควิด งบประมาณก็ต้องมุ่งไปสู่หน่วยงานที่สร้างศักยภาพด้านนั้น ซึ่งมุมมองว่าเป็น “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง” นี้จะนำไปสู่หน้าตาของงบประมาณปี 65 ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ผมมองว่าก่อนจะไปเริ่มกระบวนการจัดสรรงบประมาณ เราตอบโจทย์ตรงนี้กันก่อนดีไหม ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงไหน และประเทศกำลังต้องการอะไร

ส่วนเรื่องข้อเสนอ การโยกงบเงินกู้ขาฟื้นฟูมาอยู่ในขาเยียวยาทั้งหมด ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมันมีการลงทุนบางส่วนของการฟื้นฟู ที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 ขา เช่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก ซึ่งส่งผลทั้งในแง่ขาเยียวยา คือ มันสามารถซึมซับแรงงานที่ตกงานในตลาดแรงงานได้ มีห่วงโซ่อุปทานที่กว้าง สร้างกำลังซื้อและการหมุนเวียนเม็ดเงินในพื้นที่ได้ และยังส่งผลในขาฟื้นฟู คือ มันสามารถสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างสินทรัพย์คงทนทิ้งไว้ให้กับประเทศได้

ถ้าจะโยกบางส่วน ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าโยกไปแล้วใช้อะไร เราต้องมองให้ขาดว่าตอนนี้อะไรคือจุดเปราะบาง ตรงไหนถ้าพังแล้วเป็นโดมิโน แล้วโยกงบไปอุดตรงนั้น การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลไปยังภาคเอกชน (ปิดตัว ล้มละลาย) ส่งผลต่อไปยังตลาดแรงงาน (ตกงาน เลิกจ้าง) และส่งผลไปยังระบบสถาบันการเงิน (ปัญหาทั้งหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ) เราต้องป้องกันอย่างยิ่งยวดไม่ให้ผลมันลามไปถึงสถาบันการเงิน ถ้าถึงคือพังทั้งระบบ ถามว่าทำอย่างไร คำตอบมีอยู่ 2 ประการ 1.ป้องกันธุรกิจล้ม ผ่านมาตรการด้านสินเชื่อ (ตรงนี้เป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ไม่ขอพูดตรงนี้) และ 2.ป้องกันตลาดแรงงานพัง ตรงนี้สำคัญ เพื่อไทยเสนอมาตรการคงการจ้างงาน (Job Retention Scheme) อุดหนุนค่าจ้าง ผ่านนายจ้างไปยังลูกจ้างเป็นขั้นบันได (50-60%) โดยนายจ้างคงการจ้างงานอยู่ที่ 90% มาตรการนี้สามารถป้องกันทั้งธุรกิจล้มและภาวะการตกงาน ถ้าจะโยกงบบางส่วน เพื่อไทยเสนอให้โยกไปใช้ตรงนี้ อุดรอยรั่วสำคัญก่อนผลกระทบจะถึงสถาบันการเงิน จึงต้องชัดเจนตรงนี้ก่อนจะคุยกันเรื่องโยกงบ

เรื่องการกู้เงินเพิ่ม ผมเฉยๆ เรื่องกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีร้อยละ 60 ในระยะสั้น หากกู้เพิ่มแต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จีดีพีขยายตัวสัดส่วนนี้ก็ลดในที่สุด หากจำเป็นมากๆ แต่ไม่กู้และไม่มีเงินมารองรับเศรษฐกิจยามจำเป็นแล้วทำจีดีพีหดตัวแรง สัดส่วนตรงนี้ก็จะพุ่งขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่ได้กู้ โจทย์ตรงนี้จึงไม่ใช่คำว่า “กู้หรือไม่” แต่หากเป็นคำว่า “กู้มาแล้วใช้ทำอะไร”

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เท่าที่ฟังเหมือนกับว่ารัฐบาลพยายามจะเดินตามแนวทางของปีที่แล้ว ก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ไทยยังมีสถานการณ์ใหม่ๆ ที่รัฐบาลต้องเผชิญด้วย ผ่านมาแล้ว 1 ปี สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่ม คือ ประสบการณ์ในการบริหารจัดการงบประมาณเหล่านี้ ต้องดูไปที่เรื่องของความโปร่งใส และธรรมาภิบาล เป็นหลัก

แนวทางที่นายกฯกล่าวออกมานั้น โดยรวมๆ ก็ดูเป็นเชิงบวก เพียงแต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือ ความคิดที่โปร่งใสเป็นสำคัญ เราทราบดีว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเพิ่งแล้วเสร็จ ยังอยู่ในช่วงการรับรองผลจาก กกต. มีเฉพาะ อบจ. ยังไม่รวมถึงเมืองพัทยา และ หน่วยเล็กที่สุด อย่าง อบต. และเทศบาล จึงต้องพิจารณาในเรื่องของความโปร่งใสพอสมควร

สำหรับแนวคิดถือว่าโอเค ที่จะให้งบกระจายไปยังท้องถิ่น ส่วนตัวได้ยินข่าวว่า อปท.บางแห่งจะมีการจัดตั้งงบประมาณเอง เพื่อดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี่คือตัวอย่างที่ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทจัดการแก้ปัญหา ดังนั้น รัฐบาลต้องอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า จะมีแนวทางตรงนี้อย่างไรบ้าง สุดท้ายหนีไม่พ้น 1.การพิจารณาเรื่องกระบวนการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ในรูปแบบอื่น ให้ครบถ้วน ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีไทม์ไลน์อย่างไร 2.ที่น่าเป็นห่วงคือเอสเอ็มอี เพราะอาการย่ำแย่ไปทั่วประเทศ ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีทิศทางอย่างไรในการดูแลผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพราะต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ค่อนข้างเป็นวิกฤตที่เพิ่มเติมพอสมควร และ 3.ส่วนที่บอกว่าจะดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก ส่วนนี้เห็นด้วย ทั้งนี้ จากที่ฟังยังไม่มีมาตรการในเชิงรูปธรรม ที่มีรายละเอียดเน้นแค่แนวทางเบื้องตั้นเท่านั้น

สำหรับงบประมาณปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท จะพอเพียงหรือไม่นั้น ต้องดูรายละเอียดว่าจะใช้อะไรเป็นตัววัด เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดในเชิงเศรษฐศาสตร์และมิติทางเศรษฐกิจด้วย คือ เพียงพอต่อผู้ส่งออก เพียงพอต่อเอสเอ็มอีเพียงพอต่อทุกภาคส่วนในสังคม ต้องมีการแจกแจงว่าเพียงพอสำหรับคนกลุ่มไหนแต่จะต้องมีความครอบคลุม เป็นโจทย์ที่ยากเช่นกัน และจะต้องตอบโจทย์เรื่องที่มาที่ไปที่โปร่งใสอยู่ตลอดเวลาด้วย เรามักจะเห็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหลายจุดที่ไม่มีคำตอบและปล่อยให้ผ่านไป จะเห็นข่าวเรื่อยๆ ว่าบางเรื่องรัฐบาลไม่สามารถอธิบายได้ ล่าสุดเรื่องสายสัมพันธ์อิทธิพลบ่อน เป็นจุดที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบางจังหวัด ไม่ได้มีแนวทางเป็นรูปธรรม ยังคงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาอย่างจริงใจและจริงจังในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบอุปถัมภ์

ดังนั้น เรื่องงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท จึงต้องพิจารณาความโปร่งใสมากกว่า แม้นโยบายจะกำหนดไว้ดูดี แต่สุดท้ายไม่ตอบโจทย์กระบวนการระหว่างทางที่เอางบประมาณออกมาใช้ ก็แสดงถึงความล้มเหลวอยู่ดี

การคิดแบบแยกส่วน คิดเฉพาะกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือเป็นกลุ่มกระทรวงนั้น น่าจะไม่เหมาะสมกับสถานกาณ์ มองว่าหน่วยงานราชการจะต้องมีการประชุมร่วมกันในทุกกระทรวงนำเสนองบประมาณ โดยนำมาโต้กันให้เห็นเลยว่าในแต่ละกระทรวงมีงบตรงไหนบ้างที่จะปรับลดลง เพื่อช่วยเรื่องการลงทุนเพิ่มมากขึ้นหรือเอาไปลงส่วนใด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ยอมเปิดใจและกล้าลดส่วนกระทรวงของตนเองลง

ในยามนี้หลายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหมช่วงนี้ไม่มีศึกสงคราม และอนาคตไม่ต้องกังวลอาจจะปรับลดส่วนของทัพให้ลดน้อยลงมาหน่อยได้หรือไม่ ผมว่าก็จะได้คะแนนบวกไปด้วย ไม่ได้มีอะไรเสียหาย ยกเว้นอ้างงบประมาณผูกพัน

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของคณะรัฐมนตรี จากที่นายกรัฐมนตรีออกแนวทางการจัดสรรงบปี 2565 ได้เห็นแนวโน้มที่ดีในหลายๆ เรื่อง คือเรื่องงบปี 2565 มีการตั้งงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปี 2564 เล็กน้อย เรื่องนี้นายกฯได้บอกไปแล้ว แต่เรื่องที่อาจจะยังไม่ได้บอกกับประชาชนคือเรื่องของการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล ในการตั้งขาดดุล 7 แสนล้าน เป็นการตั้งขาดดุลแบบเต็มแมกซ์ เพราะการตั้งชดเชยขาดดุลที่จะสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายบวก 80% ของเงินคืนต้นเงินกู้ สิ่งที่เห็นคือวงเงินที่จะสามารถกู้เพื่อเอามาใช้เพื่อชดเชยขาดดุลอยู่ที่ 7 แสนล้าน และในปี 2565 ก็ตั้งชดเชยไว้ที่ 7 แสนล้านเท่ากัน เท่ากับว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่เข้าเป้าแม้แต่บาทเดียว หรือแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว เราก็จะเกิดภาวะชอร์ตเงิน ไม่มีเงินไปใช้จ่ายตามงบประมาณที่วางแผนไว้ทันที เพราะไม่มีส่วนที่จะเป็นเงินกู้ได้อีก ทำให้เห็นถึงสภาวะทางการคลังของประเทศที่มีความตึงตัวค่อนข้างสูง และรัฐบาลก็มีปัญหาในการจัดเก็บรายได้ ในทางหนึ่งก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นปัญหาในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ปกติ แต่อีกทางหนึ่งก็อยากจะเห็นมาตรการในการจัดสรรงบประมาณที่มีความชัดเจนกว่านี้ว่าจะจัดสรรงบประมาณที่มีความน้อยลงในปีนี้ได้เป็นอย่างไร

ทางนายกรัฐมนตรีมีการให้แนวทางมาทั้งหมด 4 แนวทางว่าบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุมทางออนไลน์ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการกระจายอำนาจ และจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ซึ่งเป็นนโยบายแบบกว้างๆ ที่ยังไม่เห็นว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณที่ดีขึ้นได้อย่างไร

จึงขอเสนอแนวทางของเราแล้วกันว่าจะสามารถที่จะจัดการงบประมาณปี 2565 ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร ประการแรกคือตอนนี้ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤต ซึ่งจะจัดงบประมาณให้เป็นปกติไม่ได้แล้ว มันไม่ใช่แค่การตัดเล็กตัดน้อยในรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่จะต้องเป็นเหมือนการเทกระเป๋าแล้วจัดใหม่ หรือที่ทางพรรคเน้นกันเสมอว่ามันคือการทำงบประมาณแบบ Zero-based budgeting จัดลำดับความสำคัญใหม่หมดว่าอะไรที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต้องให้ Parity สูงสุดแล้วต้องได้งบประมาณครบถ้วนหรือมากกว่าเดิม เช่น งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและงบประมาณที่เกี่ยวกับด้านสวัสดิการประชาชน ต้องได้งบประมาณมากขึ้นด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ต้องจัดลดเหมือนกันหมด

ขณะเดียวกันงบประมาณที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่า ก็ต้องมีการลดลำดับความสำคัญลง มีการตัดลดหรือว่าไม่ใช่แค่การตัดลดแต่ว่าต้องชะลอหรือยกเลิกโครงการไปเลยสำหรับปีนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คืองบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในส่วนของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ หากชะลอได้ก็ต้องชะลอทั้งโครงการไปเลยไม่ใช่แค่การตัดวงเงินงบประมาณเฉยๆ และยังมีโครงการอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการไปกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอย่างของกระทรวงวัฒนธรรมหรือว่าโครงการประเภทส่งเสริมต่างๆ ที่อาจมีการยกเลิกโครงการไปก่อนเพื่อนำเอาเงินงบประมาณนี้ไปใช้ในส่วนที่มีความจำเป็นมากกว่า ที่สำคัญคือต้องจริงจังในเรื่องของงบผูกพันมากขึ้น ในส่วนนี้เป็นปัญหาที่ผูกพันงบประมาณไปในอนาคต ถ้าดูการวางแผนงบประมาณในระยะปานกลางของรัฐบาล จะเห็นว่างบประมาณในระยะปานกลางก็จะยังไม่กลับไปสูงถึง 3 ล้านล้านบาทในอีก 2-3 ปีด้านหน้าเลยทีเดียว

สิ่งที่ต้องเร่งรื้อและพิจารณาใหม่คืองบผูกพันที่อาจจะมีการผูกพันมาแล้วแต่อาจจะไม่ได้มีการก่อหนี้ แต่อาจจะยังมีโครงการที่ล่าช้า ยังไปไม่ถึงไหน อาจจะมีการรื้อขึ้นมาเพื่อพิจารณากันใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าจะยังดำเนินโครงการต่ออีกหรือไม่ หรือจะมีวิธีการใดที่จะตัดลดงบ ชะลอหรือยกเลิกโครงการไปได้เลย ต้องย้อนกลับมาในเรื่องของงบของกระทรวงกลาโหมในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ หลายโครงการอาจจะมีการทำสัญญาผูกพันกันไว้ คือไปเซ็นข้อตกลงกันไว้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเซ็นสัญญากัน ยกตัวอย่างเช่นเรือดำน้ำลำที่สองและสาม ซึ่งแน่นอนว่าต้องกลับมาให้ทางรัฐสภาพิจารณาในปี 2565 อีกแน่

อยากจะพูดไว้เลยว่าระหว่างที่ตอนนี้เป็นการจัดทำงบประมาณกันอยู่ของหน่วยงานรัฐ จะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังว่าเรือดำน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้กันอยู่หรือไม่ ประการสุดท้ายคือเรื่องของการกระจายเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้เมื่อวานนี้ด้วย จะเห็นว่านายกฯพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการกระจายอำนาจและส่งเสริมให้มีการจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยากขอฝากในเรื่องของการลดภาษีหรือค่าธรรมเนียมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผ่านมารัฐบาลออกนโยบายจากส่วนกลางโดยไม่ได้ชดเชยรายได้ให้กับ อปท. เช่น การปรับลดอัตราภาษีที่ดินในปี 2563 ที่ปรับลดถึง 90% เช่นจากเดิมต้องจ่าย 100 บาท ก็จ่ายแค่ 10 บาทส่งผลกระทบให้ อปท.ในระดับเทศบาลและ อบต. รวมถึงกรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้ได้ลดลงอย่างมากและกำลังรองบประมาณที่จะมาชดเชยรายได้ที่หายไปในปีงบประมาณ 2565 เพราะในปี 2564 ไม่ได้ทำชดเชยไว้

ดังนั้นปี 2565 ถึงแม้ว่าจะมีปัญหามากแค่ไหนในการที่จะจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่น้อยลงให้มีประสิทธิภาพต้องไม่ไปปรับลดทอนในส่วนที่จะชดเชยภาษีที่ดินที่หายไปของ อปท. เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องชดเชยให้และเพื่อให้ อปท.สามารถบริหารต่อไปได้โดยที่ไม่ขาดเงิน ก็ต้องไม่ไปปรับลดเงินที่จะใช้ชดเชยให้สำหรับอัตราภาษีที่ดินที่จะหายไปในปีงบประมาณ 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image