คณะกรรมการสมานฉันท์ ตอบโจทย์-แก้ปัญหาขัดแย้ง?

คณะกรรมการสมานฉันท์ ตอบโจทย์-แก้ปัญหาขัดแย้ง?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์มีมติเลือกนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธาน และความคาดหมายการทำงานของคณะกรรมการจะนำไปสู่การเป็นทางออกคลี่คลายปัญหาขัดแย้งได้มากน้อยเพียงใด

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ในโผเดิมผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานมี 2 ราย ที่มาจากตัวแทนของรัฐบาล หรือจะมีใครมาทำหน้าที่ก็ต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาล หากพิจารณาตามหลักอาวุโสและประสบการณ์ทางการเมือง เห็นว่านายเทิดพงษ์มีแต้มเหนือกว่า แล้วต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ค่อยไว้ใจฝ่ายทหารที่มีอำนาจต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ถ้านำทหารมาทำหน้าที่เรื่องความสมานฉันท์เสียงตอบรับก็อาจจะน้อยกว่า ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่ประธานก็น่าจะทำงานเพื่อหาทางออกที่ดีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

ถ้าประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าคณะกรรมการจะใช้เวลามากกว่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพราะปัญหาที่จะต้องถกเถียงมีมากพอสมควร เรื่องแรกต้องตีความก่อนว่าความสมานฉันท์จะมีกรอบวิธีคิดอย่างไร เพราะการตั้งกรรมการชุดนี้มีที่มาจากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ประท้วงฝ่ายรัฐและต้องการหาทางออก แล้วเสนอคณะทำงาน 7 ฝ่ายแต่เอาจริงก็มีเพียง 4 ฝ่าย ในเร็วๆ นี้เข้าใจว่าจะมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน สำหรับองค์ประกอบของกรรมการถูกกำหนดในการประชุมรัฐสภาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 มาถึงปัจจุบันเชื่อว่าคงไม่เร่งรีบเพราะให้เห็นผลโดยเร็ว

ส่วนตัวต้องการเห็นแนวทางความสมานฉันท์ในระยะยาว จะต้องมีการแปรเปลี่ยนสังคมการเมือง จากความขัดแย้ง กรรมการต้องมีข้อเสนอแนะให้สังคมการเมืองไทยทำอะไรบ้างในการใช้กระบวนการ มากกว่าผลลัพธ์ บางเรื่องอาจทำได้เร็ว หรือทำได้ช้า สำหรับการแปรเปลี่ยนจะเริ่มต้นทบทวนปัญหาตั้งแต่ในอดีตสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งกรรมการเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสังคมการเมืองไทยมีทั้งแนวทางสมานฉันท์ ปรองดอง ปฏิรูป

Advertisement

กระทั่งต่อมามีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและมีคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ต้องดูว่ามีอะไรที่เสนอไว้แล้วนำมาใช้ได้จริง หรือไม่ได้ใช้ เพื่อนำมาศึกษาต่อยอด และในอนาคตการแปรเปลี่ยนอาจจะไม่เน้นเรื่องการเมือง แต่ขอให้ดูเรื่องสังคม วัฒนธรรมการศึกษา ควบคู่ไปด้วย รวมทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าหากไม่ทำควบคู่ เพราะไปเน้นเฉพาะมิติทางการเมือง ถ้าเดินหน้าไประยะหนึ่ง ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปจุดเดิม ดังนั้น เมื่อมีโอกาสแล้วควรทำให้ครบ ต้องเข้าใจว่าการประท้วงของคนรุ่นใหม่ชนวนสำคัญ ต้องการให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อให้เปิดกว้างตามพัฒนาการของโลก ไม่ควรตีกรอบเก่าๆ แบบเดิม

สำหรับนักการเมืองฝ่ายค้าน หรือผู้แทนนักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการเข้ามาร่วมในระดับคณะกรรมการแล้ว แต่ในคณะทำงานหรืออนุกรรมการคู่ขัดแย้งก็อาจจะได้รับเชิญมาให้ความเห็น อาจจะพอเป็นไปได้ ถ้าหากผู้เกี่ยวข้องต้องการเปิดใจรับฟัง หรือให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เมื่อประเทศเกิดความขัดแย้งและสถานการณ์แห่งวิกฤต กรรมการสมานฉันท์ หรือ กรรมการที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นๆ ที่มีบทบาทในการเป็นเวทีเพื่อหารือแนวทางในการจัดการปัญหาและสร้างความปรองดองในชาติ มักจะถูกตั้งขึ้นจากรัฐโดยรวบรวมนักวิชาการ นักการเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาเข้ามาเป็นกลไกแห่งความสมานฉันท์ดังกล่าว การตั้งกรรมการสมานฉันท์ในช่วงเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะนอกจากจะเป็นเวทีหารือข้อขัดแย้งในสังคมแล้ว กรรมการชุดนี้ยังเป็นเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ และได้ลงมติให้ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.พรรค ปชป. นั่งประธาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มองว่ามิใช่ความขัดแย้ง หรือผิดคาดแต่อย่างใด เพราะนายเทอดพงษ์ก็มาจากฝั่งรัฐบาลเช่นเดียวกัน

เมื่อมองจากชื่อกรรมการอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกเลือกมาแล้ว คุณสมบัติของนายเทอดพงษ์เองนั้น ก็มีความเหมาะสมอยู่ไม่น้อยเนื่องจากเป็น ส.ส.หลายสมัย เป็นผู้แทนจากประชาชนในส่วนภูมิภาค เคนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงเป็นเคยเป็นประธานคณะกรรมการพรรคร่วมทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล คาดว่าประสบการณ์และบารมีดังกล่าวน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีของกรรมการชุดนี้

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องย้อนกลับมาดูว่าที่ตั้งขึ้นมานั้นตอบโจทย์อะไร หากหวังว่าจะเป็นเพียงหนึ่งในกลไกสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐก็คงจะเหมาะสม แต่หากจะประสงค์ให้กรรมการชุดนี้คือพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ การเพิ่มตัวเลือกที่มาจากหลายภาคส่วนหลายความคิด และหลายกลุ่มการเมืองน่าจะเหมาะสมกว่า

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

โดยปกติแล้ว เวลาเราตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นั่นหมายความว่า ทุกภาคส่วน หรือทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ จะต้องเขามานั่งพูดคุยร่วมกัน แต่ว่าเรามีข้อจำกัดประการหนึ่ง คือมีรัฐสภาเป็นตัวขับเคลื่อน ฉะนั้นแล้ว จะเห็นว่า พรรคฝ่ายค้านเอง หรือแม้แต่ผู้ที่ออกมาชุมนุม ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ในระยะใกล้ คือความจริงแล้ว คณะกรรมการสมานฉันท์ ถูกตั้งขึ้นมาเฉยๆ กล่าวคือ ถูกตั้งธง แต่ลักษณะการดำเนินการ การคาดการณ์ในอนาคต ที่จะหาจุดจบเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ค่อนข้างลำบากพอสมควร เพราะ 1.จะคุยกับใคร ในเวลานี้ก็ยังไม่รู้ 2.จะคุยเรื่องอะไร หรือ 3.มีธงที่สามารถไกล่เกลี่ยได้อย่างไร

ในแง่หนึ่ง การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ขึ้นมา ยังไม่เห็นคู่ขัดแย้งที่ชัดเจน การพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงยากมาก เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในทางการเมือง ตัวของบุคคลที่จะตั้งขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการนั้น ไม่ได้มีผลในแง่ที่จะทำให้กรอบการดำเนินงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์ แข็งแกร่งมากขึ้น หรือลดน้อยลงเป็นเพียงการเอาตัวแทนภาคส่วนด้านการเมืองเข้ามานั่ง แค่นั้นเอง

เช่นนี้แล้ว ส่วนตัวจึงมองว่า ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่มากกว่านั้น คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าจะทำอย่างไร เพื่อเปิดช่องให้มีคู่ขัดแย้งเข้ามาพูดคุยได้ครบ ตรงนี้สำคัญกว่า การจะทำให้ทั้ง ผู้ชุมนุม และฝ่ายค้านมาร่วมได้ ถือเป็นแผนงานที่สำคัญมากจุดที่สังคมอยากจะฟังมากว่า หรือแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน ผู้เห็นต่างทางด้านการเมือง ก็อยากจะเห็นว่ามีอะไรแสดงออกมาบ้าง เช่น ความจริงใจ หรือเวทีที่มีความปลอดภัยในการแสดงความเห็นต่าง กระทั่งว่า ถ้าพูดคุยแล้ว จะมีผลในทางปฏิบัติมากน้อยไหน นั่นคือแผนงานที่แท้จริงของกรรมการสมานฉันท์มากกว่า

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเปลี่ยนประธานคณะกรรมการฯจากทหารมาเป็นพลเรือน น่าจะทำให้ได้รับการยอมรับมากกว่า เพราะเชื่อว่าการทำหน้าที่ของคณะกรรมการจะไม่ถูกควบคุมด้วยมิติของความมั่นคงแบบทหาร หรือจากตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ในหลักการเชื่อว่าคณะกรรมการก็ไม่มีผลอะไร เพราะด้วยท่าทีหลายประการ ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปนั่งคุยกันเองไปทำไม จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หรือถ้ามีแนวทางบางอย่างออกมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผิดขั้นตอนในการพูดคุยเรื่องความสมานฉันท์ตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมต้องเป็นคู่ขัดแย้งจริงๆ อย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องยอมเสียสละเวลามานั่งเป็นประธาน ต้องนำกลุ่มนักศึกษาหรือผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของความปรองดอง สมานฉันท์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็เสียเวลา

คณะกรรมการสมานฉันท์จึงควรมีกรอบเวลา มีเป้าหมาย หรือหากมีข้อเสนอแล้วสังคมจะยอมรับได้หรือไม่ก็ควรทำให้ชัดเจน แต่ไม่ควรลากกันไปเรื่อยๆ โดยใช้เม็ดเงินภาษีของประชาชนอย่างไม่มีคุณค่าเท่าไหร่ และหากคณะกรรมการฯนำคู่ขัดแย้งไปคุยกัน จะได้ประโยชน์มากกว่าโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ควรเจอกับนักศึกษา เชื่อว่าขณะที่เดินหน้าพูดคุยช่วงแรกอาจมีอารมณ์ความรู้สึกบ้าง แต่เมื่อคุยกันด้วยเหตุผลไปถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะเห็นถึงความเป็นไปได้จากข้อเสนอของทุกฝ่ายในกรอบการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา หากไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่ช่วงแรกก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าคณะกรรมการเสนอแนวคิดกันเองแล้ว ฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจไม่ได้หยิบเอาไปใช้ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน เพราะบางเรื่องที่เสนออาจจะกระทบต่อฐานอำนาจทางการเมือง จะเหมือนกับแนวทางการศึกษาของคณะกรรมการบางชุดในอดีตที่ทำไว้ดีมาก แม้ว่าในขณะนั้นจะไม่มีคู่ขัดแย้งมาคุยกัน แต่นักการเมืองก็ไม่ได้ทำข้อเสนอทั้งหมด

ถ้าการประชุมของคณะกรรมการจะมีการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียให้ประชาชนรับฟังได้ก็ควรจะดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แต่จะกล้าถ่ายทอดสดหรือไม่ นอกจากนั้น กรรมการจะต้องเปิดมิติในการรับความเห็น 2 ทางจากประชาชน ส่วนตัวยอมรับได้ถ้าจะทำงานนาน 2 ปี แต่ขอให้กรรมการบอกให้ชัดว่าจะไปคุยกับประชาชนที่ไหน หรือมีกี่กลุ่ม แต่ถ้าจะยึดหลักการเดิม ด้วยการประชุมกันเองไปเรื่อยๆ ก็เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image