จี้ รบ.ใช้งบโปร่งใสแก้ ศก. รับมือ‘ธุรกิจล้ม-ค่าบาทแข็ง’

จี้ รบ.ใช้งบโปร่งใสแก้ ศก. รับมือ‘ธุรกิจล้ม-ค่าบาทแข็ง’ หมายเหตุ - ความเห็น

จี้ รบ.ใช้งบโปร่งใสแก้ ศก. รับมือ‘ธุรกิจล้ม-ค่าบาทแข็ง’

หมายเหตุความเห็นนักเศรษฐศาสตร์-ภาคเอกชน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทีมเศรษฐกิจและสั่งการให้เตรียมแพคเกจเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ โดยให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อังคาร 26 มกราคมนี้

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

Advertisement

มาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่เห็นผลที่สุดในตอนนี้คือ โครงการคนละครึ่ง เพราะเข้าถึงกลุ่มฐานรากได้โดยตรง ส่วนโครงการเราชนะที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เกิน 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมเป็นเงินทั้งหมด 7,000 บาท ส่วนตัวยังไม่ทราบเงื่อนไขที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

แต่หากนำโครงการมาผูกกับโครงการคนละครึ่ง หรือทำในลักษณะเดียวกันเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าถ้ารัฐบาลใช้วิธีแจกเงินก้อนเหมือนที่ผ่านมาก็จะได้ใจประชาชนมากกว่า

ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการใช้ที่ตรงวัตถุประสงค์มากนักแต่ยังดีที่โครงการคนละครึ่งเปิดโอกาสให้สำหรับผู้ค้ารายเล็กโดยเฉพาะ บริษัทหรือกลุ่มที่จดทะเบียนนิติบุคคลไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้

Advertisement

เบื้องต้นทราบมาว่าประเทศอังกฤษเตรียมนำโครงการคนละครึ่งของไทยไปปรับใช้ในประเทศอีกด้วย เพราะเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง

ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ประเมินว่าตอนนี้หลายธุรกิจยังประคองอยู่ได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือธุรกิจรายใหญ่รอที่จะซื้อธุรกิจขนาดกลางที่ดูแล้วเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงในอนาคต อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนมือในธุรกิจได้

ซึ่งข้อเสียของไทยคือ กฎหมายบางข้อยังเอื้อให้รายใหญ่กินรายเล็กอยู่ ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศ อาทิ จีน ที่รัฐบาลจีนใช้วิธีรัฐบาลกำกับทุน

แต่ไทยเป็นรูปแบบทุนกำกับรัฐ ซึ่งหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องดำเนินการให้คนระดับกลางและระดับล่างอยู่ได้ ทุกอย่างจะสงบ แต่ถ้ายังเอื้อให้กลุ่มทุนรายใหญ่อยู่ได้จนกลับมากระทบผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลางในประเทศ สิ่งนี้จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศแย่ลงไปอีก

ดังนั้น ในช่วงนี้รัฐบาลต้องเร่งหาแนวทางในการรับมือเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ต้องรีบคิดตั้งแต่ตอนนี้ เพราะบางธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคการท่องเที่ยว เริ่มล้มหายตายจากไปหมดแล้ว

อีกทั้งถ้าช้าไปกว่านี้อาจทำให้เกิดกลียุค หรือเกิดการลักวิ่งชิงปล้นได้ เพราะประชาชนไม่มีกิน และต่อให้กลุ่มคนมีเงินจะสร้างกำแพงสูงเท่าไหร่ก็หยุดปัญหาตรงนี้ไม่ได้

ฉะนั้น รัฐต้องคำนึงถึงประชาชนฐานรากเป็นสำคัญ

สำหรับมาตรการรัฐที่ออกมาในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับดี ซึ่งโครงการที่ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด ย้ำว่ายังเป็นโครงการคนละครึ่ง และอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ให้เป็นโครงการระยะยาว เพราะถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เนื่องจากมีทั้งการใช้เงินของภาคประชาชนและภาครัฐคู่กันไป

ซึ่งดีกว่าการแจกเงินก้อนแล้วประชาชนนำไปใช้แบบไม่ตรงวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ หากรัฐยังใช้วิธีการแจกเงินก้อนต่ออาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ เนื่องจากยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่าหากสามารถคุมการระบาดระลอกใหม่นี้ได้จะไม่มีการระบาดเกิดขึ้นซ้ำอีก

ดังนั้น รัฐต้องมีการวางแผนในเรื่องของการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ และการใช้ทุกครั้งต้องตอบโจทย์อย่างชัดเจน ไม่เห็นด้วยที่ประเทศไทยจะดำเนินการตามประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ที่ขณะนี้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เตรียมกู้เงินประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องมีการพิมพ์ธนบัตรเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลมาถึงตลาดหุ้นไทยและอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจนส่งผลให้เงินไหลเข้าประเทศไทยได้ หากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการซื้อขายระหว่างประเทศเข้าไปใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลต้องหาแนวทางตั้งรับอีกด้วย

นอกจากนี้ จากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19ในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่ครั้งที่แล้วยังเพียงพอต่อการช่วยเหลือ แต่มาในครั้งนี้สถานการณ์ในบางพื้นที่เริ่มรุนแรงขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มในระยะต่อไปเพื่อประคองเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ในปี 2564 เชื่อว่าจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา เพราะในหลายประเทศเริ่มหันมารณรงค์ในประชาชนเที่ยวในประเทศของตนก่อน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ

จากความกังวลดังกล่าวจึงอยากเสนอให้ไทยจับกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ที่เดิมช่วงต้นปีจะบินไปท่องเที่ยวและซื้อของแบรนด์เนมในต่างประเทศ อยากเสนอให้รัฐร่วมมือกับผู้ประกอบการนำของแบรนด์เนมหรือของที่เป็นที่ต้องการไปจัดแสดงที่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดนั้น ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไปในตัวด้วย

ส่วนการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้อย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้หรือไม่ แต่เมื่อปี 2563 จีดีพีถือว่าปรับตัวต่ำสุด จึงอาจทำให้ในปี 2564 จีดีพียังมีสิทธิที่จะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ แต่ถ้าฟื้นมาอยู่ที่ 2-3% ก็ยังถือว่าจมน้ำอยู่ เพราะในปี 2563 ติดลบ 6.4% ซึ่งถ้าจะถือว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีขึ้นแล้ว ในปี 2564 จีดีพีจะต้องโต 8-10% แต่ถ้าประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบันยังเป็นไปได้ยากอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ทั้งในเรื่องของโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลออกชุดมาตรการ แบ่งออกเป็น 3-4 ส่วนได้แก่ 1.การบรรเทาผลกระทบโควิด-19 รอบแรก โดยรัฐบาลได้ใช้มาตรการเยียวยาผลกระทบต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง การเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 2.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและมาตรการช่วยเอสเอ็มอี 3.มาตรการชะลอหนี้ ช่วยลดดอกเบี้ยและสินเชื่อต่างๆ และ 4.มาตรการช่วยเหลือที่พิจารณาจากแต่ละจังหวัดที่มีผลกระทบมากหรือน้อยไม่เท่ากัน

โดยประเมินว่ามาตรการระยะสั้นเหล่านี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้ประมาณ 0.4-0.5% ต่อจีดีพี ทำให้จีดีพีรวมทั้งปีดึงขึ้นโตได้อยู่ที่ 2-3% จีดีพี ภายใต้การส่งออกที่จะต้องเป็นบวก

ขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินอยู่ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังมีส่วนที่ไม่ได้ใช้ ทั้งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเหลือจากรอบที่ผ่านมาเพราะรอบแรกดูเหมือนจะดีขึ้น จึงไม่ได้นำออกมาใช้ต่อ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจมองว่ามีโครงการเสนอใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาจำนวนมาก แต่กว่าจะเคาะออกมาใช้จริงต้องผ่านหลายขั้นตอน รวมถึงช้าตรงการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้น้อย

รวมถึงยังมีเงินซอฟต์โลนก้อน 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่มเติม ผ่านการให้ธนาคารพาณิชย์กู้ในดอกเบี้ยต่ำมากๆ และนำไปปล่อยกู้ต่อ ซึ่งที่ผ่านมายังออกไม่มากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์ก็กังวลเรื่องการปล่อยกู้ที่อาจกลายเป็นหนี้เสียได้

ขณะนี้รัฐบาลยังมีกระสุนที่สามารถอัดเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้อีกรวมๆ ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลมีออกมาประเมินว่าสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ แต่ก็ฟื้นเพียง 2-3% ของจีดีพีเท่านั้น

หากจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวมีเงื่อนไขอยู่ไม่กี่ข้อคือ รัฐบาลจะต้องบริหารหรือคุมโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคุมการระบาดให้เร็วที่สุด หากไม่สามารถลดความรุนแรงลงได้และเกิดการกลายพันธุ์เหมือนในต่างประเทศ ตรงนี้จะเกิดปัญหาขึ้น เพราะไวรัสที่ระบาดในขณะนี้ ไม่เหมือนปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลใช้กระสุนในการคุมการระบาดน้อยลง เนื่องจากประเมินว่าเรามีประสบการณ์มาแล้ว มีความพร้อมและคุ้นเคยมากขึ้น น่าจะควบคุมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่เป็นอย่างนั้นรัฐบาลจะเจอปัญหาในส่วนของงบประมาณที่หากใช้จนเงินที่มีหมดไป หนี้สาธารณะจะขึ้นมาใกล้ๆ 60% ซึ่งอยู่ในระดับที่เกือบกรอบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% จากในระดับปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 50% อยู่แล้ว

แต่เมื่อมีปัญหาในส่วนของงบประมาณรัฐบาลก็จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้พูดง่ายๆ คือ ยังมีหลายข้อที่ทำได้ไม่ดีนัก เพราะเป็นมาตรการในการช่วยประคองเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวได้จริง สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในปีนี้เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นตัวและเติบโตต่อคือการช่วยเหลือเซกเตอร์

โดยเซกเตอร์ที่มีปัญหาหลักคือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 12% ของจีดีพี ที่รายได้หายไปกว่า 80% จากเกือบ 40 ล้านในปี 2562 เพราะปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาเหลือเพียง 7-8 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนเที่ยวในประเทศคิดเป็น 8% ของจีดีพีเท่านั้น ทำให้รัฐบาลจะต้องหาเครื่องมือในการเยียวยากลุ่มธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม โอท็อปต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นเที่ยวในประเทศเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ซึ่งหากทำได้ดีเที่ยวในประเทศอาจกลับมาได้ 80-90%

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 แม้จะเริ่มฟื้นตัวได้แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยและจนไม่เท่ากัน ซึ่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนในขณะนี้สูงสุดกว่า 90% และสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนแล้ว ทำให้แม้เศรษฐกิจปีนี้จะยังโตได้ที่ 2-3%

แต่มองว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาปกติจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะกลายเป็นรอยแผลเป็น ที่จะส่งผลกระทบกับรากหญ้าหรือกลุ่มคนระดับล่างที่ธุรกิจอาจปิดตัวลงตอนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และเกิดการตกงานอีกครั้ง

สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมคือ เตรียมมาตรการบริหารเพื่อรับมือให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวแรงขึ้น

โดยต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่ในการกระตุ้นพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้เป็นการช่วยประคอง ไม่ได้ช่วยพัฒนาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของไทยดีขึ้น จะดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

โดยการที่จะพัฒนาทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในปี 2565 หรือปีต่อไป รัฐบาลจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะในต่างประเทศก็มีหนี้สาธารณะมากกว่า 100% ของจีดีพีทั้งนั้น

แต่เน้นย้ำว่า รัฐบาลจะต้องมีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณทั้งหมดเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จริง รวมถึงการใช้เงินกับโครงการที่จะหารายได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้ในอนาคตได้ ซึ่งหากทำผิดพลาด ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จะกลายเป็นปัญหาสะสมในระยะยาวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image