ประเมิน‘ศึกซักฟอก’ การบ้านฝ่ายค้าน-โจทย์‘รบ.’

ประเมิน‘ศึกซักฟอก’ การบ้านฝ่ายค้าน-โจทย์‘รบ.’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการต่อกรณีพรรคฝ่านค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

พรรคฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอที่จะยื่นอภิปราย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมีหลายเรื่องถูกตั้งคำถามด้านประสิทธิภาพ ความไม่ชอบมาพากล จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้อำนาจนอกระบบหรือการใช้อำนาจเชิงอิทธิพล หลายครั้งเป็นที่ประจักษ์ในสังคมสาธารณะ ทำให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไว้ไว้วางใจ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การวางยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายค้าน เพราะบาดแผลครั้งที่แล้วยังเป็นที่ค้างคาใจประชาชนจำนวนมาก จากความไม่เป็นเอกภาพ ความขัดแย้งและปัญหาจากอิทธิพลทางการเมืองของผู้ที่ทรงอิทธิพลนอกระบบการเมือง เป็นผู้กำหนดให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านออกมาเล่นตามเกม จึงทำให้ประชาชนคลางแคลงใจมองว่าเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะมีใบสั่งจากผู้มีอิทธิพลเพื่อเล่นเกมทำลายแนวร่วมของฝ่ายค้าน ทำให้ไม่สามารถอภิปรายรัฐมนตรีบางราย

สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านไม่ควรถูกปรามาสว่าจะเป็นมวยล้มครั้งที่ 2 เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีอิสระและไม่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้ประชาชนเห็นแนวทางที่ชัดเจนจากการอธิบายความบกพร่องของรัฐบาล ขณะวิวัฒนาการของการเมืองนอกสภาล้ำหน้าไปมาก โดยกระทบกับสถานะเชิงโครงสร้างของการเมือง

เชื่อว่าการเมืองในสภาจะไม่แตะต้องเรื่องนี้แน่นอน ซึ่งตรวจสอบได้จากการยื่นญัตติ พบว่าไม่มีข้อเสนอของคนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา ทำให้มองว่าการเมืองแตกเป็น 2 ทาง ทางแรก คือการเมืองของประชาชนข้างถนน แต่ไม่ได้ถูกเหลียวแลในระบบ สิ่งที่น่าตกใจคือจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่มีทีท่าที่คล้องตามข้อเสนอของเยาวชนคนหนุ่มสาว แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการตรวจสอบทางการเมืองก็ปรากฏว่าไม่มีเรื่องเหล่านั้น แสดงว่าพรรคฝ่ายค้านได้วางยุทธศาสตร์ด้วยการเว้นระยะห่างกับการเมืองนอกสภา

Advertisement

ขณะเดียวกันการเมืองในสภา ถ้าจะอภิปรายให้มีคุณภาพ ก็ควรไปเคลียร์ใจกันก่อนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพราะไม่ว่าอภิปรายอย่างไรรัฐบาลก็ชนะสามารถไปต่อได้ หรือถ้าเป็นไปได้หากฝ่ายค้านมีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชนเหมือนที่ผ่านมา ทำการอภิปรายให้เหมือนละครน้ำเน่า หากตอบโจทย์นี้ได้จริง ประชาชนจะได้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม สำหรับภาคประชาชนก็จะได้เห็นธาตุแท้ของการเมืองในระบบว่าจะทำได้เพียงออกไปโหนกระแสการเมืองนอกระบบเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่เพราะเคยเห็นว่าบางพรรคไปยื่นประกันตัว ไปให้ความช่วยเหลือ ไปยืนเคียงข้างในการชุมนุม แต่การต่อสู้ในระบบกลับไม่เอาข้อเสนอเหล่านั้น เข้ามาอธิบายข้อเท็จจริงในกลไกของสภา

การอภิปรายครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะใช้ศักยภาพหรือมีความพยายามเพื่อช่วงชิงโอกาสในการเลือกตั้งสนามการเมืองท้องถิ่น ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ต้องแก้เกม เพราะที่ผ่านมายังมีผู้อภิปรายหน้าเดิม ยังไม่เห็น ส.ส.คนรุ่นใหม่ของพรรคที่ได้รับโอกาสมาทำหน้าที่สื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเหมือนพรรคก้าวไกล

เชื่อว่าก่อนอภิปรายฝ่ายค้านต้องมีอิสระที่แท้จริง ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองนอกพรรค และหลังอภิปรายจะไม่มีผลกับการตัดสินใจของรัฐบาล คงไปไม่ไกลถึงยุบสภาหรือปรับ ครม. ภายใต้ความล้มเหลวมากมายที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง แต่คาดว่ารัฐบาลยังเดินหน้าไปต่อได้ นอกจากมีการเปิดโปงข้อมูลใหม่ของฝ่ายค้านที่สังคมไม่เคยรู้มาก่อน และจะต้องระวังปัญหาข้อสอบรั่ว เพราะการอภิปรายที่ผ่านมาได้เห็นสัญญาณบางอย่างจากการเล่นการเมืองของฝ่ายค้านและรัฐบาลในหลายเรื่อง

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

กรอบในการอภิปรายวางไว้กว้างๆ เป็นนามธรรม แต่จะพูดอย่างไรให้เป็นรูปธรรม ให้ประชาชนเห็นภาพที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล สำหรับการอภิปรายครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านมีเดิมพันสูงมาก ต้องทำหน้าที่ให้มีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าจะไม่ชนะจากการยกมือ แต่จะต้องหยิบยกปัญหามาอภิปรายเพื่อให้หนังสือพิมพ์ หรือทีวี เอาไปพาดหัวข่าวให้ได้ ทำให้ประชาชนพูดถึงในวงกระแสสังคมและหลังการอภิปรายจะมีการสำรวจความเห็นการประเมินของโพลจากสำนักต่างๆ

เท่าที่ติดตามหลังจากหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านขนาดกลางบางพรรคออกมายืนยันการอภิปรายรอบนี้จะไม่ให้เหมือนครั้งก่อน ก็อาจจะหมายความว่าในใจลึกๆ ยังไม่ไว้วางใจพรรคฝ่ายค้านกันเองหรือไม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ต้องอุดรอยรั่วจากความหวาดระแวงของประชาชนที่เฝ้าติดตาม เพราะการอภิปรายรอบแรกไม่มีชื่อของ พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่คราวนี้โจทย์ใหญ่ของฝ่ายค้านจะต้องตีแผ่พฤติกรรมของ พล.อ.ประวิตร เพื่อให้ประชาชนทราบเหตุผลว่าทำไมต้องหยิบชื่อนี้มาอภิปรายสมเหตุสมผลหรือไม่

การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านไม่ได้หวังผลให้รัฐบาลแตกร้าวเหมือนครั้งก่อน เพราะที่ผ่านมาเว้น 2 พรรคขนาดกลางไว้ หวังจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนขั้ว แต่ล่าสุดคงเห็นแล้วว่ายังเกาะกันเหนียวแน่น สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส นำคนใกล้ชิดเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่ได้สนใจบทเรียนครั้งที่แล้ว แต่ยังทำบางเรื่องที่ไม่แคร์สังคม แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ฝีมือฝ่ายค้านคือการชี้ให้เห็นถึงการทุจริตเชิงนโยบาย เชื่อว่าคงจะได้เห็นบ้างจากปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ในระยะที่ 2 แต่ฝ่ายค้านต้องหาเรื่องไปพูด ตีแผ่ให้มีสาระมากว่าข้อมูลที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ ต้องบอกให้ชัดว่าใครมีผลประโยชน์แอบแฝงจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างไร

ที่น่าสนใจของการอภิปรายครั้งนี้ ต้องดูจังหวะการช่วงชิงการนำระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ทั้งที่แนวทางการอภิปรายควรมีเอกภาพพอสมควร แต่การแข่งขันทางการเมืองกันเองก็ปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากการอภิปรายครั้งก่อนพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำไปมาก ทำให้พรรคก้าวไกลช่วงชิงการนำในการนำเสนอข้อมูล เพราะฉะนั้น ทั้ง 2 พรรคก็ต้องคิดตรงกันว่า ไม่ว่า ส.ส.พรรคไหนจะอภิปรายอย่างไร ก็ขอให้พรรคฝ่ายค้านประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับให้ได้ อย่าเพิ่งไปวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วงชิงความนิยมจากสนามการเมืองท้องถิ่นในอนาคต โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพราะหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการแข่งขันทางการเมือง

ก่อนการอภิปรายเหลือเวลาอีกยาวนาน วันนี้เชื่อว่ารัฐบาลยังมั่นใจว่าไปรอดในแง่ของคะแนนเสียง ข้อห่วงใยเรื่องการแจกกล้วยก็อาจจะมีบ้าง ถ้ามีจริงก็คงไม่ทำเปิดเผย ดังนั้นการเก็งข้อสอบของข้อมูลทั้งหมดในการอภิปรายของแต่ละพรรคฝ่ายค้านก็ไม่น่าจะหยิบมาพูดในวงเสวนา เพราะเชื่อว่ายังหวาดระแวงกันเองจากปัญหาข้อสอบรั่วที่เกิดจากสายสัมพันธ์ส่วนตัว การมีผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากมีกระแสว่าสาเหตุที่แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนหายไป เพราะอาจมีสายสัมพันธ์กับพลเอกประวิตรหรือไม่

ยังฝากความหวังไว้กับ ส.ส.กลุ่มคนรุ่นใหม่จะต้องออกมาทำหน้าที่อภิปรายให้มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือเพื่อให้สอดคล้องกับการเมืองนอกสภาที่ไปไกลมากแล้วที่สำคัญหากประชาชนไม่ให้ความสนใจ หรือให้ความสำคัญในกลไกการตรวจสอบของสภา ก็อาจทำให้การเมืองนอกสภาวุ่นวายมากขึ้น ดังนั้นฝ่ายค้านต้องช่วงชิงการนำให้การเมืองกลับมาขับเคลื่อนในสภาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ครบทุกมิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่แล้วอย่างสมศักดิ์ศรี เพราะหลังอภิปรายแทบทุกครั้งจะต้องมีการปรับ ครม. แต่การปรับคราวที่แล้วไม่ได้เกิดจากผลของการอภิปราย แต่เกิดจากความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงนี้ อย่างไรก็เชื่อว่ารัฐบาลผ่านได้ เนื่องจากคะแนนเสียงของรัฐบาลในสภาค่อนข้างห่างมาก อีกทั้งทุกครั้งที่มีการโหวต ก็มักจะห่าง 50-60 เสียงขึ้นไปอยู่ตลอด จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเมืองในสภาได้

แต่จุดใหญ่ ณ วันนี้ คือจะทำอย่างไรให้ประเด็นถูกเชื่อมต่อไปยังภาคประชาสังคม คือบทบาท คือภารกิจของฝ่ายค้าน ที่จะต้องเชื่อมต่อตรงนี้ให้เกิดข้อถกแถลงในสังคมต่อไป เพราะการตรวจสอบ เรามักมองในทางการเมือง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ถามระบบกรรมาธิการ หรือกลไกทางกฎหมาย อย่างการดำเนินคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ แต่ส่วนที่เราจะละเลยไปไม่ได้เลย คือการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม เพราะท้ายที่สุด หากเราไปฝากความหวังไว้ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่เรียกว่าประสิทธิผลของระบบรัฐสภา เป็นประเด็นที่สังคมมีคำถามอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องเสียงข้างมากลากไป สุดท้าย กลไกรัฐสภาก็ไม่สามารถตรวจสอบ-ควบคุม-กำกับอะไรได้อย่างจริงจัง

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องถูกเชื่อมโยง ซึ่งระบบรัฐสภาจะประสบความสำเร็จได้ กลไกสำคัญ คือพรรคการเมือง ต้องเชื่อมต่อการเมืองทั้งในและนอกสภา เพราะวันนี้เราอยู่ในจุดที่ “การเมืองนอกสภาก้าวหน้า การเมืองในสภาล้าหลัง” ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ก็พรรคการเมืองนี่แหละ คือตัวแสดงที่สำคัญ

การอภิปรายครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นหมายความว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้น การทำงานของฝ่ายค้านจึงต้องเต็มที่ เชื่อถือได้ รวมถึงรัฐบาลเองก็ต้องตอบคำถามให้เป็นที่เชื่อมั่น น่าเชื่อถือกับพี่น้องประชาชน ไม่อย่างนั้น จะถูกมองว่ากลไกรัฐสภาไม่สามารถตอบสนอง ในการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้

วิกฤตโควิด-19 ณ วันนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ในรอบที่แล้วอาจจะกระทบภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว แต่ครั้งนี้ขยายไปสู่ภาคเกษตรกรรมด้วย พี่น้องผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารทะเลได้รับผลกระทบ และอีกไม่น้อยที่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น เมื่อดูรายชื่อ 10 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายแล้ว ก็มองได้ 2 มิติ คือ 1.ภาพสะท้อนตรงนี้ เป็นโจทย์ที่ฝ่ายค้านเอามาจากความเดือดร้อนของประชาชน มี 3 กลุ่มที่จะถูกอภิปราย คือ 1.กระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ เช่นกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งคาบเกี่ยวไปสู่เรื่องสังคมด้วย รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย คือกระทรวงที่จะถูกอภิปรายในเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก 2.กระทรวงทางด้านสังคม เช่น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะพูดถึงความเสมอภาคทางด้านสาธารณสุข ประเด็นวัคซีนที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ หรือแม้แต่กระทรวงแรงงานที่คาบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับกลุ่มที่ 3. คือ กระทรวงทางด้านความมั่นคง แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็คือกลุ่ม 3 ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง

ซึ่งวิกฤตโควิด-19 สะท้อนภาพให้เห็นว่าไม่ใช่ความมั่นคงในรูปแบบเดิมแล้ว หากแต่เป็นรูปแบบใหม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาตรงนี้ ซึ่งสะท้อนปัญหาออกมาให้เห็น 2 อย่าง คือ 1.ปัญหาความเป็นรัฐราชการแบบใหม่ ที่มีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทั่งการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และอีกประเด็น คือ 2.การทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในส่วนของแรงงานข้ามชาติ บ่อนการพนัน คือประเด็นที่กระทรวงความมั่นคงจะถูกคาบเกี่ยวในการอภิปราย

แต่หากมองอีกแง่ ในมุมยุทธศาสตร์การเมืองก็เรียกว่าน่าสนใจ เราจะเห็นว่าการอภิปรายในครั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองหลักที่ร่วมรัฐบาล ถูกอภิปรายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร จากพลังประชารัฐ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคทั้ง 3 ถูกอภิปรายทั้งหมด ขณะเดียวกันบางกระทรวง อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไม่ถูกอภิปราย แต่กลับเป็นรัฐมนตรีช่วยอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อันเนื่องมาจาก ร.อ.ธรรมนัสอาจจะเป็นสายล่อฟ้าทางการเมือง แม้แต่ พล.อ.ประวิตร ที่ระยะหลังไม่ค่อยถูกมอบหมายงานให้ดูแล แต่ พล.อ.ประวิตรก็เป็นสายล่อฟ้าทางการเมืองเหมือนกัน เราจึงเห็นว่ายุทธศาสตร์ฝ่ายค้านค่อนข้างปูพรมอภิปราย ไปสู่แกนหลัก และสายล่อฟ้าของฟากฝั่งทางการเมืองได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายฝั่งจะมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็สามารถผ่านไปได้แน่นอน ถ้าเป็นนักศึกษาก็คงบอกว่า “ให้คะแนนได้ก่อนจะออกข้อสอบด้วยซ้ำไป” แต่ทั้งนี้ต้องดูเนื้อหาเป็นหลัก ว่าเนื้อหาจะถูกสานต่อไปสู่ข้อถกแถลงนอกสภา และเป็นการตรวจสอบของภาคประชาสังคมได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยการหน้าที่ของทั้งบรรดา ส.ส. ฝ่ายค้านและรัฐบาล ในฐานะผู้แทนของปวงชน นำประเด็นไปสู่การถกแถลงของสังคมต่อไป จึงจะเกิดประโยชน์มากกว่าการฝากความหวังไว้ที่การลงคะแนนเสียงในสภา

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเห็น คือการบริหารจัดการให้ลงตัว ใน 4 วันที่อภิปรายต้องไม่เกิดภาพเหมือนที่ผานมา คืออภิปรายได้ไม่ครบ ไม่จบ ก็ไปลงมติ รัฐมนตรีผ่านได้หน้าตาเฉย ในฐานะประชาชน อยากเห็นการทำงานของฝ่ายค้านอย่างมีประสิทธิภาพ การตอบคำถามจากรัฐบาลอย่างมีหลักฐาน โปร่งใส ชัดเจน ส่วนจะนำไปสู่การปรับ ครม. หรือรัฐมนตรีคนไหนโหวตไม่ผ่าน คงเป็นเรื่องที่เกิดยากมากในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image