นานาทรรศนะกับข้อเสนอ ธนาคารแรงงานท่องเที่ยว

หมายเหตุ – ความเห็นจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวถึงกรณีที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เสนอให้ภาครัฐตั้งธนาคารแรงงานด้านท่องเที่่ยว เพื่อช่วยเหลือคนงานในธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

ชนินทร์ สาครินทร์
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา

แนวคิดเรื่องธนาคารแรงงานจะคล้าย กับการนำเงินจากประกันสังคมมาช่วยแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดยให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง เพื่อให้พนักงานและ
ผู้ประกอบการโรงแรมพออยู่ได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้มีความชัดเจน รวมถึงแนวทางช่วยเหลือว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร

Advertisement

ก่อนหน้านี้ ต้องมีคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งปิดโรงแรม เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่เจาะจงมากกว่า เรามีเงินอยู่ที่ประกันสังคมอยู่แล้ว ทำไมไม่เอาเงินตรงนี้มาก่อน เพื่อช่วยเหลือแรงงาน จ่ายให้แรงงานก่อน แบ่งเบาภาระนายจ้าง แต่หากเป็นธนาคารแรงงานด้านการท่องเที่ยวนั้น มองไม่เห็นว่าจะเอาทุนมาจากไหน ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ทำได้ยาก

แต่หากสามารถทำได้ โดยรัฐสนับสนุน เชื่อว่า สทท.จะดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงานได้อย่างแน่นอน เพราะทราบดีว่าแรงงานด้านการท่องเที่ยวมีจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร โดยต้องมีกองทุนสนับสนุน จัดสรรแรงงาน และช่วยเหลือกรณีที่มีการเลิกจ้าง เหล่านี้หากดำเนินการได้ การช่วยเหลือก็จะมีความชัดเจน เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมต้องแบกภาระอย่างมาก เนื่องจากไม่มีลูกค้าเลย ไม่มีรายได้ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การระบาดของโควิด รอบแรก เป็นเวลาที่ยาวนาน ทำให้โรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องปิดบริการถาวร ในส่วนแรงงานก็ว่ากันตามกฎหมาย ส่วนบางแห่งก็ปิดบริการชั่วคราว บางแห่งเปิดบริการบ้างเท่าที่จำเป็น ในส่วนของแรงงานก็ยังมีการจ่ายเงินเดือนให้บ้าง เนื่องจากโรงแรมเองก็ต้องมีสัญญาใจกับแรงงาน เพราะธุรกิจโรงแรมนั้นจำเป็นต้องมีพนักงานที่รักในการบริการ มีประสบการณ์ในการทำงาน กรณีที่งานน้อยก็ให้เวลาแรงงานไปหารายได้อย่างอื่นเข้ามาเสริม หากโรงแรมกลับมาให้บริการอีกครั้งก็จะใช้พนักงานกลุ่มเดิมเข้ามาทำงาน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตโควิดและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ประเมินว่าผู้ประกอบการโรงแรมในภาพรวมของจังหวัดสงขลา จะแบกรับภาระได้อีกประมาณ 6 เดือนเท่านั้น เพราะธนาคารก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้ เพราะกลัวหนี้สูญ ดังนั้นรัฐต้องเร่งรัดสร้างความเชื่อมั่น ทั้งเรื่องวัคซีน เรื่องของการสกัดกั้นการติดเชื้อ เพื่อเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ

 

อุดม ศรีมหาโชตะ
อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ

เห็นด้วยกับแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากต้องจัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงแรงงาน สำหรับงบที่จะนำมาช่วยเหลือ จะนำมาจากส่วนไหน อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร และระยะเวลา 1 ปี อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะต้องแก้ไขข้อกฎหมายหลายฉบับ

ขณะที่สมาคมโรงแรมไทยต้องการให้มีธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว โดยผลักดันมานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งที่ธนาคารในรูปแบบที่นำเสนอจะคุมภาคการท่องเที่ยวได้ทั้งหมดทั้งแรงงาน แหล่งเงินทุนช่วยเหลือจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาบุคลากร

แต่ในสถานการณ์ขณะนี้แนวทางที่ภาครัฐควรให้การช่วยเหลือคือการช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง หรือโคเพย์เมนต์ ระหว่างรัฐและเอกชน ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ให้แรงงานในภาคท่องเที่ยว ที่ผ่านมาได้ร้องขอตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 แต่ทราบว่ากระทรวงแรงงานยังโยนภาระให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯดำเนินการ หากภายใน 3-6 เดือนไม่มีมาตรการนี้ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการประเภทเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบหนักมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะให้แรงงานลาออกไปก่อนแล้วฝึกใหม่ในภายหลัง หรืออาจใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน แต่แรงงานในภาคการท่องเที่ยวจะต้องมีทักษะ มีใจรักในบริการ ไม่สามารถหาเครื่องมือชนิดอื่นเข้ามาทดแทนได้ในระยะสั้น

สำหรับโรงแรมในพื้นที่หัวหิน-ชะอำ ขณะนี้ต้องแบกรับภาระค่าแรงงาน 20-30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าสาธารณูปโภค 7-10% ยังไม่รวมภาระด้านการปรับปรุงอาคาร สถานที่ในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ นอกจากนั้น ยังมีภาระดอกเบี้ย 7-10% บางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบ ดังนั้น จึงพยายามผลักดันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือแนวทางอื่นที่ภาครัฐจะมีแนวทางช่วยปลดปัญหาจากภาระดอกเบี้ย

ส่วนการตั้งกองทุนรับซื้อหนี้เสีย ถือเป็นการบีบผู้ประกอบการที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำเป็นต้องขายทรัพย์สินในราคาถูก เพราะฉะนั้นหากรัฐมีกองทุนเพื่อช่วยพยุงภาระหนี้ของผู้ประกอบการภายใน 5-7 ปีได้ การท่องเที่ยวในระยะยาวจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้

แต่ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ประเมินว่าแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะถูกลดเงินเดือน หรือปลดออกมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์น่าจะยังไม่ดีขึ้นมากนัก การท่องเที่ยวภายในประเทศอาจทรุดหนักกว่าปี 2563 จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในภาพรวม และนักท่องเที่ยวต้องออมเงินไว้ใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น ส่วนการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยภาครัฐต้องทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันต่อเนื่องในเฟส 3 หลังสิ้นสุดเฟส 2 เดือนเมษายนนี้

หากไม่ทำโครงการต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอาจต้องปลดแรงงานอีกอย่างน้อย 10-20% ที่สำคัญ ศบค.จะไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าท่องเที่ยวโดยอิสระ แต่ต้องมากักตัว 14 วัน ซึ่งไม่มีประโยชน์กับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสมาคมโรงแรมไทยเสนอให้นักท่องเที่ยวที่รับวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัว แต่ไปพักภายในพื้นที่รีสอร์ต หรือสถานที่ที่กำหนดแทน

 

เข็มชาติ สมใจวงษ์
เจ้าของราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดขอนแก่น
และประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น

เ ห็นด้วยกับข้อเสนอตั้งธนาคารแรงงานด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีข้อมูลแรงงานในระบบ เพื่อรอการจ้างงาน หรือรอการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งหน้าที่ตรงนี้กระทรวงแรงงานทำตรงนี้อยู่แต่อาจทำในเชิงรับ ไม่ได้ในเชิงรุก ไม่ได้ไปคุยกับสถานประกอบการที่จะรู้ความต้องการจริงๆ
สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอเพิ่มเติม คือ มีแรงงานที่มีทักษะกลับบ้านมามากมาย เนื่องจากสถานประกอบการปิดตังลง ผมคิดว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ให้เขามาเป็นวิทยากร เช่น เรื่องมัคคุเทศก์ เรื่องภาษา เรื่องการบริการ หรือเรื่องความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น บาร์เทนเดอร์ และกุ๊ก กลุ่มนี้จะเป็นวิทยากรที่ดี โดยให้ภาครัฐร่วมจ่ายเงินสมทบให้เขาใช้โอกาสตรงนี้ เปิดคอร์สร่วมกับหน่วยราชการ วิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นหลักสูตรพิเศษสำหรับเสาร์-อาทิตย์ เขาจะได้มีงานทำ และอาจทำให้ผู้จ้างงานใหม่ และกลุ่มผู้ที่มีทักษะเหล่านี้ได้พบกัน อาจเกิดอาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ขึ้นมา เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากเสนอแนะเพิ่มเติม

ปัญหาผู้ประกอบการท่องเที่ยวตอนนี้ มีต้นทุนค่าแรงงานเป็นหลัก ถ้าภาครัฐมาช่วยหางาน หรือช่วยจ่ายค่าจ้าง และมีเงินกู้ยืมส่วนหนึ่ง จะช่วยยืดอายุออกไปอย่างน้อย 3 เดือน ให้สถานการณ์ดีขึ้น นายจ้างลูกจ้างก็ยังอยู่ด้วยกัน จะทำให้เรายังไปด้วยกันได้

อยากให้รัฐบาลพิจารณาส่งเสริมให้คนออกเดินทาง และจัดประชุุม โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น หรือจังหวัดหลักที่ไม่มีแรงซื้อจากภาคการท่องเที่ยว แต่มีแรงซื้อจากการจัดประชุมสัมมนาเป็นหลัก ในท้องถิ่นที่เป็นข้าราชการ หรือสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ตรงนี้ต้องกระตุ้นให้แรงซื้อในท้องถิ่นออกมาใช้จ่าย สามารถมาต่ออายุให้กับผู้ประกอบการได้

จังหวัดขอนแก่นตอนนี้ไม่มีการประชุมสัมมนาจากหน่วยงานราชการเลย ทั้งๆ ที่เขามีงบ มีโครงการแล้ว ผมว่าจังหวัดเราต้องส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนา ไม่อย่างนั้นเอกชนจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเดือนกุมภาพันธ์ยังเงียบ ยังไม่มาอีก เดือนมีนาคมผมทราบว่า โรงแรมขนาดใหญ่ในขอนแก่น 2-3 โรงแรมอาจต้องปิดชั่วคราว

 

ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน)

ข้อเสนอตั้งธนาคารแรงงาน เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการเริ่มต้นที่จะหาทางช่วยเหลือแรงงานในส่วนของอุตสาหกรรมโรงแรม แต่ธนาคารแรงงานคืออะไร จะบริหารจัดการกันอย่างไร ใครจะทำ เพราะต้องมีบุคลากรในการหาข้อมูล จะต้องทำบิ๊กดาต้าใหม่ หรืออย่างไร จะเป็นรูปธรรมแบบไหน เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

จะว่าไปแล้ว ปัจจุบันฐานข้อมูลของแรงงานในระบบมีอยู่แล้วในส่วนของประกันสังคม ทำอย่างไรจะผลักดันให้กระทรวงแรงงานเปิดเผยข้อมูล หรือแสดงสถานะออกมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่อย่างไร เพราะทุกวันนี้ไม่มีเลย เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เอง ก็ไม่มีฐานข้อมูลที่จะแสดงว่าจะต้องจ่ายเงินเยียวยาตนเองเท่าไร เดือนนี้มีการส่งประกันตนเองไปเท่าไร ความจริงระบบซอฟต์แวร์ช่วยได้ อย่างกรณีจังหวัดภูเก็ตเขาทำได้ เขาสามารถดูได้เลยว่า ในอุตสาหกรรมโรงแรมมีคนจ่ายไปเท่าไร เช่น จ่ายไป 100 คน เหลือ 20 คน จะแสดงเลย แต่เชียงใหม่และภาคเหนือ แม้แต่กรุงเทพฯ หรือทั้งประเทศยังไม่มีการทำแบบนี้เลย

อาจจะเป็นการคิดวิธีการเฉพาะกิจ แต่มันไม่ง่ายที่จะลงมือทำ เอาเฉพาะเชียงใหม่ ถามว่ามีโรงแรมกี่แห่ง ฐานข้อมูลเว็บไซต์ของอำเภอ หรือจังหวัดจะมีหรือไม่ ทั้งโรงแรมที่มีทะเทียนและไม่มีทะเบียน หรือจะเอาเฉพาะที่มีในระบบ ปัจจุบัน OTA เป็นผู้ให้บริการด้านการจองที่พักโรงแรม มี 5 บริษัท ที่เป็นมืออาชีพอยู่ตรงกลางระหว่างโรงแรมกับลูกค้าก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเลย

ทุกอย่างมีการเริ่มต้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำได้หรือเป็นรูปธรรมหรือไม่ เป็นอีกอย่าง อย่างน้อยเราก็มีความหวังว่า เดือนหน้าสถานการณ์และสภาพคล่องน่าจะดีขึ้นหลังการปลดล็อก การเข้าออกของเชียงใหม่และหลายๆ พื้นที่ เพื่อให้เกิดการเดินทางมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image