ไม่ตอบโจทย์‘ยื้อ-เตะถ่วง’ เสียง 2 ใน 3 รัฐสภาแก้ รธน.

ไม่ตอบโจทย์‘ยื้อ-เตะถ่วง’เสียง 2 ใน 3 รัฐสภาแก้ รธน.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีมติใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และวาระ 3 นั้น

นพพร ขุนค้า
นักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏราชนครินทร์

Advertisement

มติของ กมธ.สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าที่ควร เนื่องจากต้องการเพิ่มขั้นตอนให้มีความยุ่งยากในการแก้ไข

จากเดิมใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เป็น 2 ใน 3 ถือว่าต้องใช้เสียงสูงมาก ทั้งที่ปกติเสียงของพรรคฝ่ายค้านก็มีน้อยกว่าเสียงของรัฐบาล และหากกำหนดให้ใช้เสียง 2 ใน 3 อาจจะนำไปสู่จุดที่แก้ไขไม่ได้ ถือว่าใช้เสียงมากเกินกว่าเหตุ

ขณะที่รัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขได้ เพราะวิกฤตการเมืองไทยรัฐธรรมนูญถือว่ามีส่วนสำคัญ ถ้าบังคับใช้แล้วมีปัญหาเหมือนในปัจจุบัน

Advertisement

โดยเฉพาะที่มาของ 250 ส.ว.หรือการวางกลไกหลายเรื่องที่ผิดเพี้ยนจากหลักการ ถ้าปล่อยให้แก้ไขได้ยากอีกประเทศจะได้รับความเสียหาย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นที่มาของการมีรัฐบาล ถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีประสิทธิภาพก็จะสะท้อนถึงที่มาของรัฐบาล

การกำหนดแนวการแก้ไขต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ต้องทำความเข้าใจว่าผู้ที่มีหน้าที่ยกร่างส่วนใหญ่มาจากฐานอำนาจเก่าก็ต้องรักษาอำนาจเดิมไว้ให้มากที่สุด

และรัฐธรรมนูญ 2560 ชัดเจนลงตัวเหมาะสมสำหรับการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น โอกาสที่จะเปิดกว้างให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงคงเป็นไปได้ยาก

จึงจำเป็นต้องมีการวางกรอบกีดกันเอาไว้แต่เนิ่นๆ และอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงการได้มาของ 200 ส.ส.ร.ที่อาจจะมาจากการเลือกตั้ง

แต่อำนาจในการร่างอาจจะไม่มีจริงหรือมีแต่ไม่เต็มที่ เหมือนกับการให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.เข้าไป แต่ถึงที่สุดก็ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากสรรหา ยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทำให้อำนาจที่มาจากประชาชนไม่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง สอดคล้องกับวาทกรรมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา

สำหรับการไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในวาระ 2 และวาระ 3 หากสาระสำคัญยังเป็นที่ต้องการของผู้มีอำนาจในปัจจุบันเชื่อว่าไปต่อได้ และเชื่อว่าคงไม่มีการแก้ไขทั้งฉบับ

แต่จะแก้ไขรายมาตราเป็นการแก้ไขด้วยความจำใจเพราะกระแสสังคมกดดัน เพราะฉะนั้นก็คงจะขายผ้าเอาหน้ารอดยอมแก้ไขในบางมาตราเพื่อหวังลดกระแส

ทั้งที่ปลายทางของรัฐธรรมนูญต้องทำให้อำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ รัฐธรรมนูญจะกำหนดที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ดังนั้นอย่าพยายามออกแบบให้พิสดาร หรือแก้ไขยาก แก้ไขไม่ได้

อย่าคิดให้ซับซ้อนหรือฝืนธรรมชาติของหลักการในระบบรัฐสภา ที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. หากจะมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ต้องกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็สะท้อนว่าการเมืองมีปัญหากระทบกับการบริหารประเทศ

สุดท้ายประชาชนต้องรับกรรม

การเคาะให้เลือก 200 ส.ส.ร.ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างน้อยก็มาจากประชาชนและจะต้องให้อำนาจเต็มในการตัดสินใจ

แต่ขอเรียกร้องให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งที่มาของ ส.ส. ส.ว.และที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องมีความชัดเจนว่าจะไม่ใช้กติกาแบบเดิม

สำหรับองค์กรอิสระทั้งหลายที่ไม่มีฐานยึดโยงกับประชาชน เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขแล้วก็ควรแสดงสปิริตตามที่เห็นสมควร

ดังนั้น เมื่อมีกติกาใหม่ก็ควรจะต้องมีรีเซตระบบที่มาขององค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เจตนาของ กมธ.ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ก็คงไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดแย้ง ไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ในช่วงที่การเมืองเกิดความสับสน

รัฐธรรมนูญในอนาคตควรกำหนดกติกาให้แก้ไขได้ง่ายและรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นต้นเหตุที่ทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร หาก ส.ว.ไม่ยินยอม

ต้องยอมรับความจริงว่ามีบางคน บางกลุ่มไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะฉะนั้นก็ต้องหาทางวางกับดักเอาไว้รายทาง ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินไปได้ยาก แล้วอย่าวางใจว่าหากมี 200 ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งแล้วจะเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น หรือปล่อยให้ผู้ที่มีโอกาสในการทำหน้าที่ในวันข้างหน้าตัดสินใจเอง

แต่วันนี้ยังมีพวกอนุรักษนิยมบางคน บางกลุ่มไม่ไว้วางใจคนรุ่นหน้า จึงกำหนดกรอบความคิดล่วงหน้าในระยะ 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า คล้ายกับการผูกขาดความรักชาติ ความถูกต้องชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวงไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว ไม่ต้องการให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่ในมือของประชาชนทั่วไปอย่างง่ายดาย

ส่วนตัวยังห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 และวาระ 3 อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ทำให้ประชาชนยอมรับได้ยาก เนื่องจากผู้มีอำนาจในยุคนี้ยังไม่ไว้วางใจคนรุ่นใหม่ในอนาคต ไม่ยอมปล่อยมือในรุ่นเราเพราะไม่เชื่อมั่นในศรัทธาของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ประเมินว่าผู้มีอำนาจยังมีแนวคิดที่จะร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จรูปให้ประชาชนใช้ ไม่ปล่อยให้ร่างกันเอง หรืออาจจะยอมในบางเรื่องเพราะมีแรงบีบ

แต่ถึงที่สุดอาจจะถึงทางตัน ทำให้เสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์ จากนั้นจะมีข้ออ้างว่ากลัวบ้านเมืองวุ่นวาย กลัวอำนาจเดิมจะถูกทำลายการสืบทอดอำนาจอาจจะมีความยากลำบาก กลัวมีปัญหากับบางเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งเชื่อใจหรือมั่นใจว่าการแก้ไขจะผ่านได้ง่ายๆ แม้ว่ามีกระบวนการที่กำลังเดินหน้า

ส่วนตัวขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันมองไปข้างหน้า อย่าคิดคับแคบ แต่ขอให้เอาประโยชน์ของคนในชาติเป็นที่ตั้ง

ขอให้มองตัวอย่างที่ดีที่สุดของการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดยประชาชนมีส่วนร่วมผลักดันตั้งแต่การโบกธงเขียวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สร้างกระแสความสนใจอย่างชัดเจน

ต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ห้ามฝ่ายตรงข้ามแสดงความเห็นก่อนการทำประชามติเพื่อหวังให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

จึงเป็นที่มาของการมีรัฐธรรมนูญเพื่อพวกเรา ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ถ้าดูแล้วว่า รอบนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่ความยากลำบากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น ใช่หรือไม่ คำตอบก็คงเป็นเช่นนั้น

เพราะทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเคยวิเคราะห์กันมาล่วงหน้าหลายครั้งว่าไม่ง่ายเลย และหลายครั้งก็มีลักษณะซื้อเวลาไปทั้งหมด

ทั้งหลายทั้งปวง แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกพิทักษ์โดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งและได้รับผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการมาของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่จะยินยอมให้ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ มติของทั้ง 2 สภา ฝ่ายค้านที่มีเสียงน้อยกว่าก็คงทำอะไรไม่ได้ เป็นลักษณะเสียงข้างมากลากไป ซึ่งหากดูทิศทางเช่นนี้แล้วก็มองได้ว่า เป็นการหาข้ออ้าง-สร้างความชอบธรรมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการยินยอม มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

โดยเฉพาะ 2 ใน 3 ถึงจะมีความชอบธรรมและทุกคนเห็นชอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรได้รับการแก้ไข จึงต้องทำให้ดูว่าคะแนนเสียงที่ได้มากมายแบบนี้นำไปสู่การผลักดันได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะมีวันนั้นที่เสียงถึง 2 ใน 3 และจะได้รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

สุดท้ายจะถูกยื่นร้อง ตีความกันไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนที่ทำหน้าที่อย่างหนักคือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเปิดช่องให้นำไปสู่การยื้อ-ซื้อเวลาทั้งสิ้น

ผมว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรทำให้แก้ไขได้ยาก เพราะความจริงแล้วต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกแบบมาเพื่อรัฐบาลคุณประยุทธ์ ให้อยู่ต่อแบบยาวนาน

ที่สำคัญ ตราบใดวุฒิสมาชิกที่มาจากบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังมีบทบาทสูงในการคัดค้าน ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นไปได้ยากที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผลักดันไปได้ในช่วงวุฒิสมาชิกชุดนี้ที่ยังมีวาระดำรงตำแหน่งอยู่

ท้ายที่สุด กระแสสังคมภายนอกจะคอยกดดันและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง แน่นอนว่าทุกคนอยากให้การเมืองเข้าไปสู่ภาวะการปรองดองอย่างสันติ

ซึ่งควรจะรับฟังมุมมองของทุกภาคส่วน อย่าไปมองว่าคนที่เห็นต่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีวาระเบื้องหลัง ต้องยอมรับอย่างแท้จริงว่า ตัวเองก็มีวาระเบื้องหลัง ด้วยการได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ท้ายที่สุด ผมเห็นว่าในทุกอย่างเราต้องอยู่ในภาวะทำใจ ต้องยอมให้บุคคลที่ได้ประโยชน์ ได้เปรียบจากกติกานี้หมดอำนาจ หมดวาระ

โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกในบทเฉพาะกาล 5 ปี ให้ลงจากอำนาจไปเสียก่อน เมื่อถึงวันนั้นอาจจะต้องนำไปสู่การปัดฝุ่น พูดคุยกันใหม่อีกครั้ง

ที่พูดอย่างนี้ ผมพูดในความรู้สึกตัวเองที่รู้สึกว่า สิ้นหวังจริงๆ

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

2ใน 3 ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเมืองเชิงตัวเลข แน่นอนว่า ในคณะกรรมาธิการมีหลายฝ่ายอยู่ในนั้น ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายตรวจสอบ และมีการที่จะต้องช่วงชิงกันพอสมควร

เดิมทีกำหนดเสียงไว้ที่ 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง จาก 750 เสียง เมื่อเป็นเสียง 2 ใน 3 ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นอีก 50 เสียง

กล่าวคือ ต้องได้รับการเห็นชอบด้วยจำนวนเสียงอย่างต่ำ 500 จาก 750 เสียง คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

หากมองในแง่บวกคือ เพื่อเพิ่มความแน่นหนามากขึ้น ใช้เสียงที่จะต้องเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่ามีเรื่องของความเป็นพวกพ้อง ความเป็นฝ่ายเดียวกัน มีความได้เปรียบตรงนั้นอยู่

ดังนั้น ตรงกลางของเรื่องนี้จึงพูดยากเพราะตัวเลขห่างกันมาก แต่ถ้าเสียงใกล้เคียงกันจะมีผล แม้จะเพิ่มความแน่นหนา แต่ด้วยธรรมชาติของการเมืองไทยมีมุมที่เล่นเกม-ช่วงชิงจังหวะกันอยู่

คนที่อยากจะให้แก้ไขไปในทางที่ดี ก็ต้องไปฝ่าด่านจำนวนเสียงของฝ่ายตัวเองที่มีน้อยกว่า ดังนั้น อยู่ที่ฐานในการวิเคราะห์ว่าฝ่ายไหนมีท่าที มีแนวทางของฝ่ายตัวเองอย่างไร

หากอีกฝ่ายมีจำนวนเสียงมากกว่า เมื่อทั้ง 2 สภารวมกัน เรื่องของความสอดคล้องกันในการทำงานของฝ่ายเดียวกันก็ต้องมีท่าทีการทำงานที่ล้อตามกันไป

ถ้าหากฝ่ายที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ไม่ถูกบล็อกโหวตด้วยวิปรัฐบาลหรือฝ่ายวุฒิสภา ก็ไม่มีปัญหา

แต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าส่วนใหญ่เอนไปตามมติของพรรค หรือแนวทางของฝ่ายตน ไม่อาจโหวตนอกกรอบได้ ทำให้เสียประโยชน์กับประชาชน และสังคม

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะล่มหรือไม่ ล่มแน่ หากเสียงไม่ถึง ให้เรามองเป็นด่านๆ

ด่านแรกคือ หากเป็นไปตามมติที่กำหนดออกมาในที่ประชุม กมธ. 2 ใน 3 เสียงของรัฐสภา ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ก็จะมีด่านต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งด่านของเนื้อหาสำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนที่จะไปสู้ เนื้อหาในแต่ละหมวดนั้นอยากให้สังคมทุกภาคส่วนได้จับตา ติดตามและมีส่วนร่วมแสดงความเห็นกันอย่างทั่วถึง

หรือหากดีกว่านั้น อาจจะมีช่องทางที่เสนอการประชุมของทั้ง 2 สภาให้ได้รับฟัง ประกอบกับการพูดคุยพอสมควร ไม่ใช่คุยอยู่แค่ 2 ฝ่ายในสภา

เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึงในกระบวนการต่อไป

จากที่มีประสบการณ์ ปี 2540 ถ้าผ่านไปแล้วจะมีด่านอีกด่านที่สำคัญคือ ด่านยกร่าง ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องขบคิดถึงวิธีการยกร่าง โดยรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง กว้างขวางอย่างแท้จริง

ไม่ใช่เพียงการรับฟังแล้วมาบรรจุไว้ในเอกสาร ในแฟ้ม เพื่อความสวยหรู แต่ไม่ได้นำเอาเนื้อหาหรือประเด็นที่อุตส่าห์จัดเวทีขึ้นทั่วประเทศมาปรับในเชิงปฏิบัติ

ส่วนตัวมองว่า มีหลายด่านที่ต้องไปคลายปม หรืออาจจะเป็นไปได้ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกวาระสุดท้าย เพราะขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายจะผ่านการโหวตในสภาหรือไม่ ต้องคอยจับตาดูเหลี่ยม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ข้างนอกสภาทำได้คือใช้ความกดดัน ให้เห็นว่าสิ่งที่ข้างในทำมีข้อสังเกตอะไรที่ไม่สบายใจคนภายนอก ตรงนี้ที่จะแสดงพลังและความคิดเห็นส่งตรงไปยังที่ประชุมของทั้ง 2 สภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image