จับกระแส‘พปชร.’ร้าว ไม่ไว้วางใจ รมต.ในสังกัด

จับกระแส‘พปชร.’ร้าว ไม่ไว้วางใจ รมต.ในสังกัด

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีกระแสข่าวภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจเสียงแตกจะงดออกเสียงหรือไม่โหวตสนับสนุนรัฐมนตรีบางคนในสังกัดพรรค พปชร.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้าน ระหว่าง 16-19กุมภาพันธ์นี้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

นี่คือสภาพปกติของพรรคการเมืองที่มีการรวมกันของหลายกลุ่ม-หลายขั้ว ของ “พรรคเฉพาะกิจ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นนั่งร้านอำนาจรองรับให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาถึงแม้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะบอกว่าตนเองจะพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองระยะยาว แต่ถ้าหากดูกลุ่ม หรือตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักธุรกิจการเมือง

ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเข้ามาเพื่อที่จะต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองในฐานะที่เป็นรัฐบาล เพื่อที่จะต่อรองตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง จึงไม่แปลก ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลักษณะโครงสร้างและบุคลากรของพรรคที่เป็นแบบนี้ จะพยายามออกมาเรียกร้องกดดันให้เกิดแรงกระเพื่อม ไปสู่ผู้ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะทุกคนไม่อยากที่จะให้คะแนนเสียงของตัวเองอยู่ในระดับที่น้อยลง ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้เกิดกระบวนการต่อรองกันว่า ถ้าใครอยากจะให้กลุ่มนี้สนับสนุน ก็ต้องมีข้อต่อรอง ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน จึงทำให้เกิดประเด็น ส่งแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพของพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ดี หากสังเกตลักษณะแบบนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่า เขาเข้าใจธรรมชาติของการเมืองในพรรค และธรรมชาติของกลุ่ม อีกทั้งยังเชื่อว่าสุดท้ายจะนำไปสู่การต่อรองกัน เพื่อให้กลับมาสู่ความมีเสถียรภาพแบบเดิมได้

Advertisement

ส่วนจะมีการเขย่าเก้าอี้ให้รัฐมนตรีบางคนหลุดจากตำแหน่งหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับการต่อรอง ถ้าเกิดว่าการต่อรองไม่สมประโยชน์ ก็อาจจะมีแรงกดดัน แต่ถ้าดูองคาพยพทั้งหมด ก็แทบจะปรับรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ได้เลย

เพราะเราเคยเห็นมาแล้วก่อนหน้านี้ มีร่องรอย มีหลักฐาน เช่น กรณีคุณธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเสียงสนับสนุน หรือเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด แต่กลับไม่ได้มีความหมายอะไรต่อการปรับ ครม.

ประการต่อมา ท่ามกลางลักษณะการเมืองแบบนี้ ทุกคนรู้ว่าจะต่อรอง หรือจะยืดหยุ่นได้แค่ไหน แต่ทุกคนจะไม่ส่งผลกระเพื่อมจนทำให้รัฐบาลระส่ำระสาย เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ใช่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นรัฐบาลผสมและอยู่ภายใต้การต่อรองแบบนี้ แต่เชื่อว่าสภาและโครงสร้างอำนาจแบบนี้จะช่วยให้ตนเองอยู่ต่อไปได้ ไม่กระเพื่อมรัฐบาลในภาพรวม คงจะเป็นเพียงการก่อร่างสร้างเงื่อนไขขึ้นมา เพื่อต่อรองผลประโยชน์อะไรบางอย่างของพรรค เพราะถือว่าพรรคพลังประชารัฐ มีพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร ที่กุมทรัพยากรทางการเมือง และสามารถจัดสรรให้กับทุกกลุ่มได้

ท้ายที่สุด ภายหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น ผมก็เชื่อว่าจะเหมือนเดิม อาจจะมีบางคนบางกลุ่มที่ได้ความไว้วางใจไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรนัก กล่าวคืออาจจะมีปรับ ครม.บ้าง หากบางส่วนเป็นผลพวงมาจากการต่อรอง เพราะพลังประชารัฐ มีหลายก๊กหลายกลุ่ม สายภาคใต้ไม่เคยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเลย ทั้งที่มี ส.ส.เยอะ ก็อาจจะต่อรอง ขอให้มีโควต้าฝ่ายภาคใต้บ้าง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังระส่ำระสาย จึงเป็นจังหวะที่พรรคพลังประชารัฐจะสร้างคะแนนเสียงจากจุดนี้ เป็นการปรับ เพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ไม่เชื่อว่าในพรรคพลังประชารัฐจะมีปัญหาเสียงแตกในการยกมือไม่ไว้วางใจแต่มีกระแสเพื่อออกมาขู่ ต้องการต่อรองกับกลุ่มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะอาจจะมองว่าณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีท่าทีแข็งข้อกรณีออกมายืนยันว่าจะส่งภรรยาไปลงสมัครเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร แต่กลุ่มที่เป็นขุนพลใกล้ตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) อาจจะไม่พอใจต้องการต่อรองในการส่งตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เป็นบุคคลอื่น

เป็นปกติหากใครมีท่าทีแข็งข้อกับบิ๊กป้อมก็ดูเหมือนว่าจะไม่อยู่เย็นเป็นสุข และจะมีเรื่องอื่นๆ ที่นำมาใช้อีกเพื่อการต่อรอง แต่เชื่อว่ารัฐมนตรีศึกษาฯ จะต้องปักหลักสู้ในหลักการเดิมเพราะเป็นเจ้าของพื้นที่การเมืองใน กทม. และถึงที่สุดก็คงไม่ชนกันถึงขั้นแตกหัก แต่ขอออกมาขู่ให้รู้ว่ายังมีตัวตน อย่าให้ใครสร้างกระแสบีบกันง่ายๆแล้วอย่าลืมว่ารัฐมนตรีศึกษาฯมาจากกลุ่ม กปปส.เก่าเป็นกลุ่มที่ยังมีพลังมวลชนสนับสนุน ย้ายมาจากพรรคอื่นเพื่อร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

แตกต่างจากการขับพวกแทคโนแครตให้พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีศึกษาฯ ยังมีฐานการเมือง ล่าสุดพบว่ามีความปั่นป่วนพอสมควรเพราะมีกลุ่มดาวฤกษ์เพิ่มขึ้นมา ต้องยอมรับว่าคลื่นใต้น้ำในพรรคยังไม่สงบง่ายๆ ขอให้มองเป็นเรื่องปกติของนักการเมือง เมื่อยังไปไม่ถึงจุดหมายก็ต้องเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการเข้าไปทำหน้าที่ในกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงเกษตรฯของพรรคอื่น หรือกระทรวงของบุคคลในพรรคเดียวกันอย่างกระทรวงพลังงานที่มีกลุ่มแทคโนแครตเข้ามานั่งขวาง เพราะฉะนั้นก็ต้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ สำหรับพรรคพลังประชารัฐหลังบิ๊กป้อมทำหน้าที่หัวหน้าพรรคก็ปรับ 4 กุมารออกไปแล้วนำรัฐมนตรีหน้าใหม่หลายคนมาแทน แต่วันนี้เชื่อว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะทุกกลุ่มคิดว่ายังมีความสำคัญกับพรรค

ต้องเข้าใจว่าหัวหน้าพรรคก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด แต่ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคานอำนาจไว้ ที่สำคัญนายกฯก็ไม่ได้ตามใจพรรคพลังประชารัฐมากนัก แม้ว่าจะดูเหมือนว่าพรรคได้ให้การสนับสนุนนายกฯ แต่การส่งรายชื่อเพื่อปรับคณะรัฐมนตรีครั้งก่อนก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งหมด และบิ๊กป้อมก็ไม่มีท่าทีการบริหารพรรคที่จะหักหาญ ต้องเข้าใจด้วยว่าถ้า 3 ป.ไม่เกาะเกี่ยวกันให้เหนียวแน่น ก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้ แม้ว่าการต่อรองในพรรคการเมืองจะไม่มีพรรคไหนมีข้อยุติสะเด็ดน้ำ เพียงแต่พรรคนั้นอยู่ในบทบาทอย่างไร ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเหมือนพรรครัฐบาล

ส่วนผลกระทบกับการปรับ ครม.หลังการอภิปราย ก็อยู่ที่การตัดสินใจนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าไม่ต้องการปรับ เนื่องจากหลังการอภิปรายครั้งที่ผ่านมาน่าจะปรับมากกว่าก็ยังไม่ปรับเปลี่ยน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเมืองของรัฐมนตรี วันนี้อย่าถามว่าทำอะไรผิด แต่การปรับต้องคำนึงถึงความเหมาะสม อยู่ที่ผู้อำนาจจะมองอย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์รวมทั้งปัจจัยภายในและภายนอกพรรค

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณี 30 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสียงแตกลงมติ เพื่อสนับสนุนรัฐมนตรีพรรคที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะมีกลุ่มก๊วนในพรรคไม่น้อย ต้องการให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในโควต้าพรรคเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว เชื่อว่านายกรัฐมนตรีอาจตัดสินใจปรับ ครม.เล็ก สลับสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี 2-3 ตำแหน่ง เพื่อตอบสนองความต้องการ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีเป้าหมายประคองเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่ครบวาระหรือครบ 4 ปี ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่าลืมว่า พปชร. เป็นพรรคเฉพาะกิจ ที่รวมนักการเมืองจากหลายพรรคในอดีต เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงยึดโยงผลประโยชน์กลุ่มก๊วนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดโยงผลประโยชน์ชาติและประชาชนแต่อย่างใด หากจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ลงตัวก็จบ ไม่มีแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอีก เปรียบเสมือนเก้าอี้ หรือตำแหน่งรัฐมนตรี คือ สมบัติผลัดกันชม เพื่อตักตวงกอบโกยผลประโยชน์มากที่สุด

หลังประสบภาวะการระบาดของโควิดรอบใหม่ เศรษฐกิจและท่องเที่ยวทรุดหนักกว่าเดิม แต่รัฐบาลใช้วิธีแจกเงิน เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น โดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” แจกเงินรายละ 7,000 บาท มองว่ารัฐบาลต้องกู้เงินและมีหนี้สินสาธารณะเพิ่ม ดังนั้นไม่ควรแจกเงินเพิ่มอีก เพราะเป็นภาระคนรุ่นหลังต้องรับผิดชอบใช้หนี้ดังกล่าวแทน หากแจกเงินผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” น่าจะดีกว่า เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานและรายได้สู่ชุมชนโดยตรง รวมท้้งผู้ได้รับสิทธิดังกล่าว มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ไม่ผลักภาระให้รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้นรัฐบาลควรหันมาใส่ใจเรื่องดังกล่าวมากกว่าการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์จากการเมืองเท่านั้น

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นอกจากจะเห็นการสะท้อนถึงประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีรัฐมนตรี 3 กลุ่มที่ถูกอภิปรายคือ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสังคม กลุ่มความมั่นคง แต่อีกด้านยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้านต้องการพุ่งเป้าปูพรมไปที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วย จึงเห็นได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญที่ร่วมรัฐบาล 3 พรรคถูกอภิปรายทั้งหมด ดังนั้นโอกาสที่จะได้เห็นการขยับในพรรคร่วมรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้

หัวใจหลักสำคัญในวันนี้ หลายฝ่ายอาจพุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่มีอีกปัจจัยที่น่าสนใจจากการอภิปรายครั้งที่แล้ว ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตน้อยที่สุด เพราะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งไม่ยกมือให้ ในครั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ ส.ส.พลังประชารัฐในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะไม่ยกมือให้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

แต่ความเปลี่ยนแปลงจากการโหวตไม่ผ่านคงไม่มี เพราะเสียงของรัฐบาลและฝ่ายค้านห่างกันมาก แต่จะมีผลกับภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนโหวตน้อยที่สุด และที่น่าสนใจการพุ่งเป้าในการอภิปรายของฝ่ายค้านมุ่งไปที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างชัดเจน อีกด้านจะเน้นไปที่ตัวบุคคลที่เป็นสายล่อฟ้า เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลายคนเห็นว่าไม่ได้รับมอบหมายงานอะไรที่มากมาย แต่ถูกอภิปราย หรือกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯถูกอภิปราย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯไม่ถูกอภิปราย ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวย่อยๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเสียงโหวตแตกต่างกัน

ส่วนกรณี ส.ส.30 คนของพรรคพลังประชารัฐจะไม่โหวตให้รัฐมนตรีศึกษา น่าจะมาจากประเด็นในการต่อรองการวางตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เพราะว่าในพรรคพลังประชารัฐมีทั้งเสียงสนับสนุนภรรยารัฐมนตรี บางส่วนอาจจะสนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จึงทำให้มีการต่อรองเกิดขึ้น แต่สุดท้ายเชื่อว่าโอกาสที่จะไม่โหวตแล้วทำให้รัฐมนตรีบางรายต้องแพ้โหวตหรือหลุดจากเก้าอี้คงเป็นเรื่องที่ยากมาก และอย่าลืมว่าพลเอกประวิตรเป็นผู้ที่มีบารมีทางการเมืองสูง

เห็นได้จากหลายกรณีความเป็นเอกภาพภายในพรรคที่มีหลายมุ้ง และพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ พล.อ.ประวิตรมานั่งในตำแหน่งหัวหน้า สิ่งเหล่านี้จะสงบนิ่งอย่างเห็นได้ชัด หรือแม้ว่าจะมีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาโหวต พล.อ.ประวิตรจะมีบารมีทางการเมืองที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ แต่เสียงโหวตของรัฐมนตรี 10 ราย โดยธรรมชาติจะไม่เท่ากัน แต่จะผ่านโหวตทั้งหมดโดยไม่มีปัญหา

ส่วนการปรับโควต้ารัฐมนตรีหลังจบการอภิปรายเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการปรับจะมีคำถาม เช่น สถานการณ์ปัจจุบันเป็นบริบทที่เหมาะสมในการปรับหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลต้องเผชิญกับโควิด -19 ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หรือการเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง ถ้ามีการเปลี่ยนม้ากลางศึกขณะที่กระบวนการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ยังไร้ทิศทาง ทำให้มีโอกาสที่จะมีผลกระทบกับรัฐบาล ขณะที่กระแสสังคมมีความต้องการให้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคม แต่ผู้ตัดสินใจสุดท้ายคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องพิจารณาผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน

หากปรับแล้วจะดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือปัญหาจะมากกว่าเดิม จึงเชื่อว่าการปรับ ครม.จะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหลังการอภิปราย ไม่ได้มีแรงกระเพื่อม แต่อาจจะปรับช่วงที่รัฐบาลทำงานครบ 2 ปีในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2564 เนื่องจากจะต้องมีการประเมินว่าใครมีผลงานอย่างไร ขณะที่โจทย์ใหญ่ของฝ่ายค้านจะต้องนำปัญหาทางการเมืองไปเชื่อมกับภาคประชาสังคมให้ได้ เพราะยังมีอีกหลายภาคส่วนที่สังคมต้องการความชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image