รานงาน : บทบาท ราษฎร ‘ตีหม้อ’ ไล่ ‘เผด็จการ’ #ม็อบ10กุมภา

จังหวะก้าวของ “ราษฎร” ในการปล่อยประกาศ “รวมพลคนไม่มีจะกิน” อันตามมาด้วย “ตีหม้อไล่เผด็จการ” พร้อมกับติด #ม็อบ10กุมภา

ถูกตีความว่าเป็น “ยกที่ 1” โดยอัตโนมัติ

ความหมายของคำว่า ยกที่ 1 ถูกโยงไปยังการปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ณ บริเวณอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม

นั่นย่อมเป็น ยกที่ 1 ของปี 2563

Advertisement

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 แทบไม่มีใครนึกคาดว่าจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม

เช่นเดียวกับคำประกาศของ “ราษฎร” ต่อ “#ม็อบ10กุมภา”

เพราะเป็นคำประกาศในขณะที่มีความเชื่อภายในของรัฐบาลอันสะท้อนผ่านเครือข่ายปฏิบัติการ IO ว่าม็อบฝ่อลง ม็อบแผ่วลง

Advertisement

จึงท้าทายว่าฝ่อลง แผ่วลง จริงละหรือ

การนำเสนอคำว่า “ยกที่ 1” ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า นี่ย่อมเป็นบาทก้าวที่ 1 หากมองจากปฏิบัติการเคลื่อนไหวผ่านนามของ “ราษฎร”

ที่ผ่านมา จึงเสมอเป็นเพียงการเคลื่อนไหว “ย่อย”

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังหน้ากระทรวงการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังหน้ากระทรวงสาธารณสุข
ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล

ที่นัดหมาย#10กุมภานี้ต่างหากที่เป็น “ยกที่ 1” อย่างแท้จริง

การนัดหมาย ณ สถานีรถไฟฟ้า MBK แยกปทุมวัน จึงเท่ากับเป็นการนำเอาบทเรียนของแฟลชม็อบจากเมื่อปี 2563 มาประสานเข้ากับความเป็นจริงในปี 2564

เน้นจุดไปยัง “รวมพลคนไม่มีจะกิน”

ขณะเดียวกัน ก็เอาประเด็นในทาง “เศรษฐกิจ” ผนวกเข้ากับเป้าหมายใหญ่ในทางการเมือง นั่นก็คือ “ตีหม้อไล่เผด็จการ”

ที่สำคัญมีภาพ “หม้อ” ภาพ “ไม้ตี”ครบครัน

พลันที่เห็นภาพหม้อวางเรียงเคียงกับคำประกาศที่ว่า “ตีหม้อไล่เผด็จการ” หลายคนย่อมบังเกิดนัยประหวัดไปยังการเคลื่อนไหวใน “พม่า”

นั่นก็คือ ปรากฏการณ์ “อนารยะขัดขืน” อันทรงพลัง

จึงเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งในความสัมพันธ์และส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกันระหว่างการเคลื่อนไหวที่พม่ากับการเคลื่อนไหวในไทย

เริ่มจาก “ชู 3 นิ้ว” ตามมาด้วย “ริบบิ้น”

หากปิดเสียงเพลงและการเปล่งคำขวัญและมองผ่านเครื่องแต่งกายก็แทบแยกไม่ออกว่าเป็นการเคลื่อนไหวในไทย หรือการเคลื่อนไหวที่อื่น

อย่าได้แปลกใจหาก “ราษฎร” จะ “ตีหม้อไล่เผด็จการ” บ้าง

นี่คือลักษณะ “ร่วม” ในทางการเมืองซึ่งสะท้อนไม่เพียงแต่ 1 ต่อต้านการรัฐประหาร หากที่สำคัญ 1 คือการต่อต้านการแทรกแซงการเมืองโดย “ทหาร”

นี่คือการบรรจบ ประสบกันในทางการเมือง

สถานการณ์การเคลื่อนไหวในพม่าไปไกลอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การออกมาชุมนุมโดยไม่หวั่นเกรงต่อคำขู่จากประกาศและเสียงปืนจากกองทัพ

เด่นชัดว่า “กองทัพ” ตกเป็นเป้า

เนื่องจากจากจำนวน “มวลชน” ยืนยันผล “การเลือกตั้ง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญถึงทหารจะปล้นชิงอำนาจไปได้แต่ก็ไม่แน่ว่าจะปกครองหรือบริหารได้

ของพม่าเป็นเช่นนั้น ของไทยจะเป็นเช่นใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image