วิพากษ์ศึกซักฟอก เปิดปมใหม่-ขยายแผล

วิพากษ์ศึกซักฟอก เปิดปมใหม่-ขยายแผล

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์นี้ ถึงความคาดหวังของประชาชน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ประชาชนจะติดตามและมีความคาดหวังกับการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านเพื่อถ่วงดุล ติดตามตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล สำหรับประเด็นที่จะกระทบกับประชาชนมากที่สุดในขณะนี้เป็นการบริหารงานของรัฐบาลในการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือ การจัดหาวัคซีนป้องกัน ซึ่งอยู่ที่พรรคฝ่ายค้านจะมีเอกภาพ ยุทธศาสตร์ มีการพูดคุยหารือให้ตกผลึกกันมากน้อยแค่ไหน

เพราะหากดูจากสถานการณ์ทางการเมืองพบว่าจังหวะก้าวของรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะเล่นเกมการเมืองเพื่อให้การอภิปรายไม่ราบรื่นให้มากที่สุด เพื่อให้ฝ่ายค้านกลับไปทบทวนท่าทีการแสดงออกทางการเมือง หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

Advertisement

ส่วนตัวยังคาดหวังว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ไม่เกิน 50% เพราะที่ผ่านมาได้เห็นลักษณะพฤติกรรมอย่างชัดเจนว่ามีท่าทีช่วยเหลือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่รอบนี้ยังมีรายชื่อ พล.อ.ประวิตรถูกอภิปราย

แต่ในทางการเมือง พล.อ.ประวิตรยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลทำให้เชื่อว่าคงมีความยากลำบากในการอภิปราย พล.อ.ประวิตร

สำหรับท่าทีของพรรคก้าวไกลถือว่าเป็นจุดอ่อนและจุดแข็ง อาจจะมีการอภิปรายในกฎหมายบางมาตราที่เป็นธงนำจากอุดมการณ์ของพรรค แต่รัฐบาลอาจนำมาสร้างเงื่อนไขทำให้มีการประท้วงและวิธีอื่นที่ทำให้การพูดถึงในบางเรื่องเป็นไปได้ยาก และการเสนอธงนำของพรรคอาจทำให้การทำงานร่วมของพรรคก้าวไกลกับพรรคอื่นมีความยากลำบาก ท่ามกลางหลายกระแสการโจมตีบางพรรคฝ่ายค้านว่าสู้ไปกราบไป

แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาตัวรอดได้เพื่อไปเล่นเรื่องปากท้อง ความเดือดร้อนจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ บ่อน การหลบหนีเข้าเมือง ที่ต่อเนื่องจากโควิด-19 ทำให้พรรคเพื่อไทยหาทางออกเพื่อลดกระแสการพาดพิงกรณีพรรคฝ่ายค้านมีการพูดถึงบางเรื่อง

ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลจะไปต่อก็ลำบาก ถอยหลังก็ไม่ได้ ที่สำคัญผู้ที่จะอภิปรายในประเด็นที่พรรควางหลักการไว้จะต้องมีความรู้ความสามารถพอสมควร

ขณะที่การเคลื่อนไหวนอกสภาไม่ได้มีความหวังกับการอภิปรายและพยายามส่งสัญญาณหลายครั้งกับการเมืองในสภา แต่ไม่มีเสียงตอบรับ แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะต่อสู้ต่อไป แม้ว่าสิ้นหวังในระบบ เนื่องจากมีแรงหนุนจากการต้านรัฐประหารในเมียนมาช่วยเสริมให้กระแสกลับฟื้นขึ้นมา

โดยประกาศว่าจะมีการชุมนุมให้มากที่สุด เนื่องจากมีการเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีลักษณะคล้ายกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องยอมเพราะกระแสกดดันจากสังคม เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวคล้ายกับยุคปัจจุบัน

และมีแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกกรณีสหรัฐอเมริกาเริ่มกดดันประเทศเมียนมา โดยคนรุ่นใหม่หวังสหรัฐ ว่าจะคว่ำบาตรประเทศไทยด้วย

ส่วนการอภิปรายหากดูจากเอกภาพของรัฐบาลเชื่อว่าฝ่ายค้านคงทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลมีท่าทีอ่อนนอกแต่แข็งใน แม้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำให้เห็นแล้วว่าไม่มีผล จะออกมาอย่างไรก็ไม่มีความหมาย บวกกับพรรคฝ่ายค้านไม่มั่นใจว่าจะมีการช่วงชิงการนำระหว่างการอภิปรายหรือไม่

หากพรรคฝ่ายค้านต้องการแก้มือจากครั้งที่แล้วก็ต้องทำการบ้านให้เต็มที่ อย่างน้อยที่สุดหากแพ้เกมจากการยกมือโหวต แต่ขอให้เปิดประเด็นที่แหลมคม ตรงเป้า เพื่อให้ชนะใจประชาชน

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการฟังฝ่ายค้านจะมีประเด็นอะไรบ้างที่จะอภิปราย ต้องดูว่าจะเป็นเรื่องที่โดนใจหรือไม่ เชื่อว่าประเด็นที่ต้องการฟังคือปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สืบเนื่องจากโควิด-19 ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลใช้โจมตีหรือวิจารณ์ค่อนข้างมาก เพื่อชี้ปัญหาและจุดบกพร่อง นอกจากนั้นจะมีเรื่องวัคซีน ถามว่ามีปัญหาล่าช้าจากสาเหตุอะไร ทำไมซื้อเพียงรายเดียวและนำมาให้บริษัทที่ผลิตในประเทศรายเดียว เหมือนการผูกขาด

การอภิปรายหากจะมีความเข้มข้น ส่วนตัวต้องการฟังข้อมูลที่พูดถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รับผิดชอบฝ่ายความมั่นคง จะเชื่อมโยงกับโควิดที่ระบาดจากบ่อนการพนันหรือไม่ ปัญหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่นำโรคเข้ามาระบาดที่ จ.สมุทรสาคร จะเป็นความบกพร่องของฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ ปล่อยให้มีปัญหาได้อย่างไร

ต่อไปก็คงเป็นเรื่องบ่อน เป็นเรื่องผู้มีอิทธิพล ทำไมตำรวจออกมาปฏิเสธในช่วงแรก ต่อมาก็จับผู้ต้องหารายใหญ่เพื่อเอาตัวรอด เรื่องนี้จะโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย และฝ่ายค้านอาจมีทีเด็ดมากกว่านี้หรือไม่ ที่น่าห่วงอีกรายคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากมีกลุ่มเยาวชนออกมาแฉการบริหารงานด้านการศึกษาที่ดูเหมือนจะล้มเหลว รวมทั้งที่มาของตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะเคยเป่านกหวีดมาก่อน

การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านครั้งนี้น่าจะดีกว่าครั้งก่อน ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเหมือนมวยล้มต้มคนดูคงไม่มี ส่วนพรรคก้าวไกลประเมินว่าจะมีข้อมูลในบางเรื่องเพื่อนำมาอภิปรายได้อย่างเข้มข้น

แต่อาจมีปัญหาหากมีการพูดพาดพิง แต่เชื่อว่าท่าทีของพรรคก้าวไกลคงไม่สนใจ ไม่มีความหวาดกลัว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทำให้ ส.ส.ซีกรัฐบาลจะต้องไปติวเข้ม เพราะวิตกกับชุดข้อมูลที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและต้องเตรียมช่องทางในการตอบข้อกล่าวหาเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย

ที่น่าห่วงว่าจะเป็นปัญหาระหว่างการอภิปรายในบางเรื่องอาจจะมีการใช้อภินิหารกฎหมาย เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากมีจริงพรรครัฐบาลก็ต้องส่งตัวบุคคลออกมาป่วนเพื่อเบรกเกม แต่เชื่อว่าประธานรัฐสภายังทำหน้าที่ได้ในหลักการและต้องดูว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าจะเป็นอย่างไร

เชื่อว่าประชาชนต้องการเห็นฝ่ายค้านอภิปรายอย่างเต็มที่ ใช้เหตุผล มีข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อนำเสนอ ส่วนการใช้โวหารลูกเล่นในการพูดสำบัดสำนวนไม่ควรจะมีในยุคนี้ การยกมือประท้วงก็ไม่ควรมี

แต่ยอมรับว่าบางเรื่องรัฐบาลไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทำให้เสียคะแนนนิยม ก็อาจจะกลับไปใช้แทคติคเก่าๆ เพราะมีตัวบุคคลที่เหมาะกับการทำหน้าที่ แต่ถ้าหากเล่นผิดเวลา ผิดกาลเทศะก็อาจจะถูกโห่ แต่ถึงที่สุดฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงในสภามากกว่าก็หลับหูหลับตายกมือให้ผ่านไป และต้องดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการอภิปราย

หากฝ่ายค้านมีทีเด็ดมากๆ ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แม้ว่าลงมติแล้วรัฐบาลชนะ แต่ถ้ารัฐมนตรีคนไหนโดนหนักแล้วรู้สึกว่าบาดเจ็บสาหัสก็อาจจะเอาออก

หรือถ้าหนักหนาสาหัสมากเกินไป เกิดวิกฤตศรัทธา ก็อาจพิจารณายุบสภาก็ได้ แม้ทางออกจะไม่สวยงามมากนัก

แต่คงมีการประเมินกันไว้แล้ว เพราะอย่างน้อยเมื่อยุบสภา รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้แก้ไข ถ้าเลือกตั้งใหม่ใช้กติกาเก่า ผลการเลือกตั้งก็น่าจะไม่ต่างจากของเดิม

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เชื่อว่าศึกซักฟอกครั้งนี้ฝ่ายค้านจะมีแง่มุม-ประเด็นใหม่ที่หยิบยกนำมาอภิปรายแน่นอน เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหลากหลายประเด็นที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.เศรษฐกิจ 2.สังคม และ 3.ความมั่นคง ซึ่งจะเห็นได้ว่า 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ล้วนแล้วแต่อยู่ใน 3 กลุ่มนี้ทั้งนั้น

โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจที่ความเดือดร้อนของประชาชนขยายตัว ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ยังลามไปถึงภาคเกษตรกรรมด้วย

ขณะเดียวกัน ภาคสังคมเองก็มีเรื่องความเสมอภาคทางสาธารณสุข ด้านวัคซีน เป็นประเด็นที่มีข้อถกแถลงในสังคมอย่างมาก

รวมถึงประเด็นความมั่นคงในเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นโจทย์ที่ฝ่ายค้านต้องตอบสนองด้วยเพราะไม่อย่างนั้นคนจะมองว่าฝ่ายค้านไม่ได้มีประเด็นอะไรใหม่ อาจนำไปสู่จุดท้ายสุดที่การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีสีสัน เนื่องด้วยคะแนนเสียงที่อย่างไรรัฐบาลก็ผ่านอยู่แล้ว

สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำคือการจุดประเด็นที่จะสร้างให้เกิดกระแสต่อเนื่องไปหลังจากการอภิปราย ซึ่งจะสอดรับกันกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรที่ได้ประกาศเริ่มต้นการเคลื่อนไหวในปี 2564 แล้ว ซึ่งยังประกาศอีกว่าจะมีการอภิปรายคู่ขนานกันไปกับในสภาด้วย

ถ้าฝ่ายค้านเชื่อมโยงมาสู่นอกสภาได้และในหลายประเด็นที่อาจถูกจำกัดการพูดในสภา เช่น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลบางส่วนเตรียมอภิปรายเรื่องมาตรา 112 ด้วย ก็อาจถูกหยิบโยงสู่การอภิปรายนอกสภาได้ อันจะนำไปสู่สิ่งที่น่ากังวลกับรัฐบาลมากกว่าในสภาด้วยซ้ำไป

ปกติของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อสอบรั่วเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านกับรัฐบาลก็เคยอยู่พรรคเดียวกันมาก่อน

อีกทั้งฝ่ายค้าน ณ วันนี้ก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนักจากปรากฏการณ์ที่บอกว่า “คนละพรรค แต่พวกเดียวกัน” และ “พรรคเดียวกัน แต่คนละพวก” 2 อย่างนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็คงรู้กันทั้งหมดในประเด็นที่จะถูกอภิปราย

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลน่าจะกังวลมากกว่าการไปล้วงลึกข้อสอบคือข้อมูลของฝ่ายราชการ เพราะสุดท้ายข้อมูลลับ, สำคัญ, พิเศษ ส่วนมากก็หลุดมาจากหน่วยงานรัฐ

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลน่ากังวลมากกว่าญัตติที่ยื่นอภิปราย เป็นไปตามข้อบังคับข้อประชุม คงรู้โจทย์ รู้ประเด็นอยู่แล้ว ซึ่งมีเรื่องใหญ่อยู่ไม่กี่เรื่อง

เช่น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประสิทธิภาพในการบริหารราชการ เรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วย แรงงานข้ามชาติ บ่อนการพนัน หรือวัคซีน ซึ่งอาจจะมี ส.ส.บางส่วนพูดถึง ม.112 ด้วย แต่ในข้อบังคับการประชุมไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 10 คนเชื่อว่าไม่มีร่วงแน่นอน แต่ใครจะได้คะแนนน้อยที่สุด ท้ายที่สุดอาจจะคะแนนสูงต่ำไม่เท่ากัน มาจากปัจจัยภายในพรรครัฐบาลเอง

แต่ในภาพใหญ่เชื่อว่าผ่านได้ทุกท่าน หรืออาจจะมีรัฐมนตรีสายล่อฟ้าบางคนอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พล.อ.ประวิตร หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ตาม

จบศึกอภิปรายแล้วจึงเชื่อว่าจะไม่มีการปรับ ครม.แน่นอน ทั้งนี้ เนื่องด้วยบริบทการบริหารไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับ ครม.เพราะมีปัญหาโควิดที่ยังไม่มีทิศทางดีขึ้น ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรังและรออยู่ข้างหน้า ยังมีปัญหาการเมืองที่ม็อบเริ่มก่อตัวเดินหน้า

การ “เปลี่ยนม้าศึกกลางคัน” จึงไม่ใช่วิธีที่ดี ณ เวลานี้นายกฯก็คงจะไม่ปรับแน่นอน เว้นแต่มีรัฐมนตรีบางท่านที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงความไม่เหมาะสม มีหลักฐานชัดเจนถึงการทุจริต ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณแบบนั้น สัญญาณในการปรับ ครม.จึงไม่เห็นในเร็ววัน

โจทย์ใหญ่ของฝ่ายค้านคือการหาประเด็นใหม่ ด้วยเสียงที่ต่างกันมากในสภา การจะดึงดูดคนให้ติดตามจึงเป็นเรื่องยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image