ส่องศึก ‘ซักฟอก-ม็อบ’ อาจารย์ฟันธง ‘10 รมต.’ รอด แต่กระเพื่อม-ปรับ ครม.

หมายเหตุ – นักวิชาการให้ความเห็นถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจรายบุคคล 10 รัฐมนตรีระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ ประกอบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรนอกสภา จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

 

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่มีคำว่ารัฐบาลจะไม่รอด ไม่มีรัฐบาลไหนเคยถูกล้มเพราะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่สำคัญรัฐบาลนี้มีกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกออกแบบให้อยู่ยาว แต่หลังอภิปรายอาจจะมีการปรับ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในภายหลัง เชื่อว่าเป็นแรงบีบจากภายในของพรรคพลังประชารัฐมากกว่าการนำผลของการอภิปรายมาใช้เป็นตัวชี้วัด

Advertisement

ขณะที่การอภิปรายของฝ่ายค้านครั้งก่อน มีบางเรื่องที่คาดหวังว่าจะทำให้รัฐมนตรีบางรายถูกอภิปรายแล้วนำประเด็นพร้อมหลักฐานไปยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระพิจารณาชี้มูล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นหมัดน็อก แต่เมื่อยื่นไปแล้วผู้เกี่ยวข้องก็ไม่นับให้ครบสิบ คราวนี้ก็อาจจะมีเรื่องที่ต้องส่งถึง ป.ป.ช. อีก แต่ก็คงไม่เป็นปัญหา

ที่น่าสนใจสำหรับการอภิปรายครั้งนี้ขอให้ดำเนินการไปตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าสะดุดหยุดลง รัฐบาลอาจจะถูกโจมตีสูงมาก เพราะถูกมองว่าไปใช้เครื่องป้องกัน เหมือนเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อให้การอภิปรายไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเริ่มต้นพูดถึงความบกพร่องของนายกฯ ถ้าไม่วิตกก็คงไม่ต้องไปเปิดคอร์สติวเข้ม ถือเป็นเรื่องแปลกที่เพิ่งเคยเห็น

แต่เชื่อว่าการติวเข้ม คงเป็นการรวมกลุ่มเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลยังมีเอกภาพ เป็นปึกแผ่น หลังจากเสียงแตกจากการโหวต เพื่อยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่การอภิปรายมีผู้รักษาเกมเป็นฝ่ายรัฐบาล เอง ดังนั้นควรให้ประธานสภาและรองประธานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจ

Advertisement

เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภา
คงคุมเกมได้ และ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรให้เกียรติการทำหน้าที่ของประธานสภาด้วย ทั้งที่เดิมประธานสภาวินิจฉัยแล้วว่าญัตติอภิปรายของฝ่ายค้านไม่มีข้อตำหนิ แต่ยังมีบางฝ่ายจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และการอภิปรายครั้งนี้มีข้อเสนอว่าจะไม่ยอมให้มีการเปิดประชุมลับ เพราะฉะนั้นถ้ามีการใช้เหลี่ยมการเมืองเพื่อปิดปากฝ่ายค้านไม่ให้พูดในบางเรื่อง รัฐบาลอาจจะพัง

สำหรับรัฐมนตรีที่จะมีผลกระทบจากการโหวตมากที่สุดครั้งนี้ ไม่มั่นใจว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาจริงหรือไม่ เพราะครั้งที่แล้วรัฐมนตรีที่ถูกวางเป้าหมายให้มีคะแนนต่ำสุด ไม่มีผลกระทบ ขอเรียนว่า 3 พรรคการเมืองใหญ่ที่ร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหาในการยกมือสนับสนุนทั้ง 3 พรรคคงทิ้งกันไม่ได้ แต่ขอให้ดูพรรคขนาดเล็กหลายพรรค เพราะพรรคเหล่านั้นต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลง เพื่อขอโอกาสเข้าไปทำหน้าที่รัฐมนตรีบ้าง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการปรับเปลี่ยนในบางตำแหน่ง

ส่วนความเคลื่อนไหวนอกสภาก็จะมีผล กระทบจากการอภิปรายในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมวลชนประเมินแล้วว่าหากยังนิ่งเฉยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำท่าจะเดินหน้าอาจจะสะดุด ทั้งที่นายกฯเคยให้ความหวังไว้ จึงต้องออกมาเขย่าเพื่อให้มีกระแสต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวชุมนุมนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หมายความว่ามวลชนคงไม่ฝากความหวังไว้กับการอภิปรายไม่วางใจ แต่อาจจะมีความหวังอยู่บ้าง หากรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำจากชุดข้อมูลบางเรื่องที่ฝ่ายค้านนำมาแฉ ส่งผลทำให้การชุมนุมได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้น

การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านมีเดิมพันสูงกว่าฝ่ายรัฐบาล ถ้าทำให้ประชาชนผิดหวังอีกรอบก็ถือว่าสิ้นหวังที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ส่วนการติดตามข้อมูลประชาชนส่วนใหญ่จะตามประเด็นสำคัญจากการนำเสนอของสื่อเพื่อตัดสินใจว่าหลังอภิปรายวันแรก จนถึงวันสุดท้ายใครจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย ต้องดูว่าครั้งนี้ฝ่ายค้านจะหยิบยกข้อมูลที่เป็นทีเด็ด ให้สื่อนำไปพิจารณาพาดหัวข่าวได้หรือไม่

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี รวม 10 คน เชื่อว่าฝ่ายค้านจะมีประเด็นที่ทำให้ประชาชนได้ร่วมขบคิดและเปิดแผลจากการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล แต่คงไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน

แม้ฝ่ายค้านจะมุ่งเป้าไปที่ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเด็นดังกล่าว ประชาชนบางส่วนยังมีความเห็นอกเห็นใจรัฐบาลอยู่บ้าง เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น
แต่ทำให้เกิดความยากต่อการบริหารงานของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจะยังคงใช้โควิด-19 ในฐานะปัญหาร่วมของมนุษยชาติในระดับโลกเป็นเกราะป้องกันการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ได้

สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ คือประเด็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง และขาดความระมัดระวังต่อวินัยการเงินการคลังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ทั้งสองประเด็นนี้จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วยในการใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการประจำ

อีกทั้งการที่รัฐมุ่งแจกเงินผ่านโครงการเยียวยาต่างๆ เพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเอง แต่ไม่ได้สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

เชื่อว่าเป็นประเด็นพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาอภิปราย รวมถึงยังมีกฎหมายและโครงสร้างทางสังคมบางประการที่ทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่ ทำให้รัฐบาลจะยังคงเอาตัวรอดจากการอภิปรายครั้งนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นประตูสู่การดำเนินการกับรัฐบาลผ่านกลไกอื่นๆ ต่อไป

คาดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของการบริหารงานของรัฐบาล แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงกุมเสียงข้างมากในสภาได้เช่นเดิม และไม่น่าจะมีการปรับ ครม.ใหญ่หลังการอภิปราย

ส่วนสถานการณ์นอกสภาที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมจัดกิจกรรมโจมตีขับไล่รัฐบาลมากขึ้นนั้น เห็นว่าการกระทำคู่ขนานดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ด้วยข้อจำกัดของการชุมนุมภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 การยืดเยื้อของการชุมนุมที่ไม่มีท่าทีว่าจะยกระดับได้ในเร็ววัน รวมถึงการใช้กฎหมายเพื่อสยบความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จะยังคงทำให้การเมืองทั้งนอกและในสภายังไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลในขณะนี้

ส่วนสถานการณ์การเมืองหลังศึกซักฟอกนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หากแนวโน้มดีขึ้น จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนออกมาแสดงบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น อีกปัจจัยคือทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หากยังไม่มีความชัดเจน ไม่เพียงแต่ฝ่ายค้านจะตั้งประเด็นวิพากษ์รัฐบาล แต่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน คงจะไม่ยอมให้การบริหารประเทศอยู่ในการดูแลของรัฐบาลที่ไร้ฝีมือ

ท้ายที่สุดหากประชาธิปไตยของไทยยังมีน้ำยาอยู่ การเลือกตั้งคงจะเป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนจะเลือกใครเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อไป

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การยกมือโหวตหลังการอภิปรายจะทำให้รัฐบาลมีโอกาสทำหน้าที่ต่อไป แม้ว่ายุทธศาสตร์จากการยื่นญัตติอภิปรายมีเป้าหมายทำให้เกิดความสั่นคลอนเสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลและทำให้เห็นว่ารัฐมนตรีบางรายไม่มีความสามารถในการบริหาร กลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายธุรกิจของพวกพ้อง

เป้าหมายของฝ่ายค้านต้องการให้มีการปรับรัฐมนตรีบางรายในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย อาจถูกหวยไปด้วย รัฐมนตรีบางรายอาจถูกปรับออก เพราะต้องเข้าใจว่ารัฐบาลนี้เหลือเวลาทำงานอีก 2 ปี ส.ส.แกนนำพรรครัฐบาลบางรายยังไม่ได้รับรางวัลตอบแทนจากการสนับสนุนรัฐบาล การเคลื่อนไหวเรียกร้องหลังจากนี้ยังเป็นการเมืองแบบเก่าในอดีต ไม่ได้มีการปฏิรูปการเมือง

ส่วนที่ฝ่ายค้านโหมโรงว่ามีหมัดเด็ดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องรอชมว่ามีจริงหรือไม่ แต่ถึงที่สุดก็จะต้องมีคำตอบต่อสาธารณะว่าเหตุใดรัฐมนตรีบางรายยังอยู่ในตำแหน่งได้ ทั้งที่ความสามารถ ประวัติภูมิหลัง ทำให้ประชาชนบางส่วนคาดหวังว่าควรจะต้องยุติบทบาท

ส่วนผลโหวต ภาระจะอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ เพราะแรงกดดันภายในพรรคต้องการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง แม้ว่าผลโหวตมีความเหลื่อมล้ำของคะแนนไม่มาก แต่จะมีนัยสำคัญจากประสิทธิภาพในการควบคุม ส.ส.ในพรรค เพื่อมอบรางวัลทางการเมืองกับกลุ่มอื่น เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐมาจากการรวมกลุ่ม ส.ส.จากอำนาจ บารมีหรือการบังคับ ดังนั้นต้องมีการจ่ายคืนตำแหน่งเพื่อต่างตอบแทน เรื่องนี้จะเป็นจุดเปราะบางจากรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารที่ออกแบบกติกาการเมือง เพื่อสืบทอดอำนาจ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมไว้ได้ แม้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมจากการปรับเปลี่ยนภายในของพรรคพลังประชารัฐ แต่จะยุติได้ในระยะสั้น

ส่วนความเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภา หากไม่มีประเด็นเรื่องการฝากขัง 4 แกนนำ แรงกดดันนอกสภาจะสงบกว่านี้
การชุมนุมของมวลชนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กลายเป็นแรงกดดันโดยตรงถึงรัฐบาล

อีกทั้งคณะราษฎรนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถือว่าต่อเนื่องกับเกมในสภา เพราะฉะนั้นหากมีการให้ประกันตัว 4 แกนนำจะช่วยลดทอนความเข้มข้นนอกสภา มิเช่นนั้น แม้รัฐบาลชนะเสียงโหวตในสภา แต่จะมีปัญหาจากการชุมนุมที่มีแนวโน้มต่อเนื่องยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image