จับตารัฐสภาประชุม ถกร่างแก้ไข รธน.วาระ 2

จับตารัฐสภาประชุม ถกร่างแก้ไข รธน.วาระ 2 หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

จับตารัฐสภาประชุม ถกร่างแก้ไข รธน.วาระ 2

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการประชุมของรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.) ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

การพิจารณาในวาระ 2 น่าจะผ่านได้ ไม่มีปัญหาอะไรในการแปรญัตติ จากการประเมินท่าทีของหลายฝ่ายที่พอใจกับร่างนี้พอสมควร แต่ต้องดูด้วยว่า ส.ว.จะขับเคลื่อนอย่างไร เนื่องจากมีประเด็นของการยื่นศาลรัฐธรรมนูญและต้องรอการวินิจฉัยช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งตามหลักควรพิจารณาวาระ 2 ให้ผ่านไปก่อน แล้วรอศาลวินิจฉัยจากนั้นจะเดินหน้าต่อไปในวาระ 3

สำหรับการพูดถึง 200 ส.ส.ร.ก็คงพยายามวางกรอบไว้เฉพาะที่มาของ ส.ส.ร.และคงไม่ไปแตะต้องในจุดนี้มากนัก ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการวินิจฉัยของศาล เพราะฉะนั้นหากมีการพูดถึง ส.ส.ร.ก็คงพุ่งเป้าไปที่คุณสมบัติเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดก็คงจะวางกรอบไว้กว้างๆ แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ต้องไปดำเนินการกันเอง เท่าที่ดูแล้วคงมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเห็นประโยชน์จากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านก็ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในจุดนี้

นอกจากนั้นในเรื่องอื่นต้องติดตามว่ากระแสสังคมจะเข้าไปมีแรงกดดันให้ ส.ส.ร.ซึ่งหากมีจริง จะหยิบยกสิ่งที่ต้องการแก้ไขมาพูดคุยหรือไม่ แต่ในแง่ของรายละเอียดในวาระ 2 คงไม่มีอะไรมาก แต่อาจจะบอกว่าไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลังจากตกลงกันแล้วว่าจะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2

Advertisement

ส่วนการใช้เวลาประชุมนาน 2 วัน ก็น่าจะมีการยื่นขอแปรญัตติจำนวนมาก ดังนั้นก็ต้องเปิดรับฟังความเห็นให้รอบด้าน อาจเป็นความตั้งใจที่ต้องการเสนอแนะหรือติติงในบางเรื่อง เพื่อให้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดว่าจะแก้ไขเรื่องอะไรบ้าง และเชื่อว่าจะมีการหยิบยกผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมชุดแรก เมื่อปี 2563 มาหารือพูดคุยในสภา เพื่อระดมความเห็น เพราะมีการศึกษาไว้อย่างเป็นระบบโดยไม่เกี่ยวกับข้อเสนอของมวลชนภายนอก

ต้องยอมรับว่ากระแสสังคมยังมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแง่ลบ โดยเฉพาะร่างของไอลอว์ที่มาจากภาคประชาชน ไม่ได้ถูกดึงเข้าไปพิจารณา ทำให้กระแสมวลชนบางส่วนไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ถ้ามองถึงอนาคต หากมี ส.ส.ร.เกิดขึ้นจริง มีความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือก และรัฐบาลไม่มีความพยายามจะเตะถ่วง หรือหากศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขจะต้องเป็นหน้าที่ของสภาต้องขับเคลื่อนต่อไป ก็จะทำให้กระแสสังคมกลับมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ขณะนี้ในภาพรวมยอมรับว่ากระแสสังคมสนใจเรื่องนี้ยังน้อยมาก เพราะยังไม่มีถกเถียงว่าจะแก้ไขในประเด็นใด

ที่สำคัญประชาชนบางส่วนตัดสินไปแล้วว่าที่ผ่านมามีการทำรัฐประหารนานหลายปีแล้วเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะรักษาฐานอำนาจไว้ให้นานที่สุด และในแง่หลักการสภาสามารถพิจารณาแนวทางการแก้ไขได้ ตามกลไกของอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรทำให้เห็นว่าการแก้ไขจะทำได้วิธีเดียวโดยการรัฐประหาร หรือประชาชนไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทุกฝ่ายไม่ต้องการเห็นภาพในลักษณะนี้ ดังนั้นหากจะมีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นจากแนวทางการแก้ไข เมื่อถึงจุดนั้นหากจะส่งไปศาลวินิจฉัยก็คงเหมาะสมกว่า

ในอนาคตหากรัฐธรรมนูญ 2560 ควรได้รับการแก้ไขในหลายเรื่อง ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยลดแรงกดดันให้รัฐบาลที่ถูกมองว่ามีการสืบทอดอำนาจ แต่ถ้ามองท่าทีของ ส.ว.ก็เชื่อว่ายังมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้เพราะว่าเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.โดยตรง ซึ่งอาจมีข้อกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือต้องการให้พ้นบทเฉพาะกาล 5 ปีไปก่อน แล้วทุกอย่างจะลงตัว บางรายก็เกรงว่าถ้าแก้ไขได้เร็ว แล้วทำให้อำนาจตัวเองหมดไป เพื่อให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

เชื่อว่า ส.ว.บางส่วนอาจจะวิตกการเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้มาจากประชาชน ขณะที่ ส.ว.ควรทำหน้าที่หลักหลายเรื่องแต่ไม่ทำ เช่น การติดตามเรื่องการปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ห่วงเรื่องที่ตัวเองจะสูญเสียอำนาจ และหลังจากนี้ ส.ว.จะมีข้อกังวลมากขึ้นหากมีการกำหนดสาระสำคัญในการแก้ไขที่ชัดเจน

ส่วนโอกาสที่รัฐบาลจะแสดงความจริงใจเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลจะมุ่งแก้ไขในบางเรื่องที่ได้ประโยชน์ ทำให้เห็นว่าได้พยายามแก้ปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องดูว่ากระบวนการ หรือเนื้อหาในการแก้ไขจะมีลักษณะอย่างไร แต่ที่ผ่านมาสังคมได้เห็นความเคลื่อนไหวของ ส.ส.และ ส.ว.บางราย เสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ ทั้งที่อำนาจควรกลับมาอยู่ในมือของสภา เพื่อวางกรอบแนวทางการแก้ไข โดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ถ้ากระบวนการนี้เดินไปข้างหน้าได้จริง เชื่อว่าทุกฝ่ายจะยอมรับมากขึ้น

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ

น่าเป็นห่วงเนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องกรณีสภาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ส่วนการประชุมสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขในวาระ 2 จะต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร จะยกร่างใหม่ทั้งฉบับ หากพิจารณาคำร้องไปที่ศาล ก็น่าจะมีปัญหาพอสมควร หรือถ้าจะแก้ไขรายมาตราก็สามารถทำได้ แต่เท่าที่เห็นก็มีเพียงข้อเสนอให้มี 200 ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนการประชุมวาระ 2 ก็สามารถทำได้ แต่ต้องดูว่าสรุปในร่างแก้ไขเพิ่มเติมจะแก้ไขด้วยแนวทางที่กำหนดไว้อย่างไร อาจจะมีหลายทางเลือกในการแก้ไข หรือยังไม่มีข้อสรุปในรายประเด็น เพื่อไม่ให้มีปัญหาในไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ซึ่งตามหลักการรัฐธรรมนูญควรแก้ไขได้โดยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นทุกฝ่ายควรศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

โดยเฉพาะควรให้ความสนใจในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และต้องพิจารณาว่าการดำเนินการใดๆ จะขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากปี 2540 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกนำไปผูกไว้กับประชามติของประชาชน แต่อาจมีการทำประชามติในบางครั้งที่ไม่ได้เปิดกว้างในการแสดงความเห็นเท่าที่ควร

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากอ่านเกมกรณีการไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผู้ยื่นอาจจะมีเจตนาดี เห็นว่าควรยื่นไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียเวลาหากไปยื่นศาลในภายหลังแล้วอาจไปเริ่มต้นใหม่ เพราะเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ นอกจากนั้นน่าจะมีข้อกังวลว่าการเสนอแก้ไขทั้งฉบับอาจไปแตะต้องในบางเรื่องที่ต้องสงวนไว้

อ้างว่าอาจจะเกิดความไม่สงบ การสูญเสียอำนาจ มีบางกลุ่มได้หรือเสียผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะฉะนั้นการประชุมสภา เพื่อพิจารณาวาระ 2 ก็ไม่ควรไปเสนอแนวทางใดๆ ที่ไปสอดคล้องกับการยื่นคำร้องต่อศาล ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็คงเหมือนการขับรถยนต์ไปบนถนนที่มีตะปูเรือใบโปรยไว้ตลอดเส้นทาง แต่ถ้าหากแก้ไขรายมาตราจะเหมาะสมกว่า เพื่อไม่ให้มีปัญหาจาการวินิจฉัยในภายหลัง

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

กรณีรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 2 วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ว่า โดยส่วนตัวมองว่าการพิจารณาในวาระที่ 2 เป็นจังหวะที่ทำงานปกติ แม้ว่ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ในวาระที่ 2 และ 3 น่าจะผ่านไปโดยสะดวก แม้จะมีความกังวลในบางเรื่องที่ ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาไว้ จะดำเนินการไปหรือไม่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็ยืนยันว่าแนวทางในการพิจารณานั้นยังไปได้อยู่ เป็นเรื่องของจังหวะการทำงานเป็นไปตามกรอบเวลา เพียงแต่อาจจะมีร่องรอยทางการเมืองบางเรื่องเข้ามาผสม ช่วงต้นเดือนมีนาคม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ได้ ก็จะมีผลทางการเมือง ถ้าไม่ให้แก้ก็มีผลอีกด้านหนึ่ง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้แก้รัฐธรรมนูญก็ไปอีกทางหนึ่ง

แต่ไม่ว่าศาลจะพิจารณาว่าจะแก้หรือไม่แก้ รัฐธรรมนูญกระบวนการต่างๆ ก็จะต้องเดินหน้าไปก่อน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะได้หรือไม่ ในทางอ้อมย่อมมีผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม สรุปว่ากระบวนการเข้าวาระ 2 และ 3 น่าจะยังพิจารณาไปได้

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แน่นอนว่ารัฐสภาก็จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันไปให้ได้ คงมีการพูดเรื่องรายละเอียดของ ส.ส.ร. เพราะทิศทางของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างไรก็ต้องมีที่มาของ ส.ส.ร.

แต่พื้นที่ตรงนี้คงจะมีการแสดงความรู้สึกกังวล ต่อสิ่งที่คุณไพบูลย์ นิติตะวัน และคุณสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวคิดว่าต่างฝ่ายต่างคงทำหน้าที่กันไป ทั้งฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองที่อยากผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 2 จนไปถึงวาระ 3 ก็คงอภิปรายเต็มที่ แต่ก็คงจะอดใจไม่ไหวที่จะต้องเหน็บถึงความเคลื่อนไหวของบุคลที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าง คุณไพบูลย์ หรือ ส.ว.บางกลุ่ม

เชื่อว่าคงจะใช้พื้นที่เวทีตรงนี้แก้ต่าง และอธิบายความรู้สึกในใจของตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น คงไม่ต่างจากเวทีอภิปรายขนาดย่อม

แน่นอนว่าคุณไพบูลย์ และ ส.ว.ทำไว้ก่อน คงไม่มีผลอะไร ขณะเดียวกัน ส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว คงจะปล่อยให้กระบวนการพิจารณาวาระ 2และ 3 ขับเคลื่อนไป เพราะไม่วาจะดูมุมไหน การที่คุณไพบูลย์และคุณสมชายยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อให้เป็นคุณกับทั้ง 2 คนนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ไม่อย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกทันที เกิดเป็นวิกฤตการณ์การเมืองระลอกใหม่

ถ้าสมมุติว่ารัฐธรรมนูญแก้ไข-ผลักดันไม่ได้ จะทำให้ “ไพ่ในมือรัฐบาล” มีโอกาสเล่นได้เยอะ หมายความว่าสถานการณ์เช่นนี้ ปลายปีอาจจะนำไปสูการยุบสภาเหมือนที่หลายคนคาดการณ์ หรือวิเคราะห์กันก็ได้ ในกติกาแบบเดิม วุฒิสมาชิกแบบเดิม ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีกลับไปได้ เป็นการเซตซีโร่ จัดกระบวนทัพใหม่ ซึ่งส่วนนี้เองที่ผมเข้าใจว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มคุณไพบูลย์ และ ส.ว.บางกลุ่ม ซึ่งไม่แน่ใจว่าการไปยื่นครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองหรือไม่นั้น ขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นผลสะเทือนอีกข้างว่ารัฐมีความไม่จริงใจ ไม่ตรงมาตรงไป อาจจะทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนนอกสภา เข้ามาร่วมชุมนุมบนท้องถนนมากขึ้น เพราะมองว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ

ทั้งนี้ ผมไม่อยากมองในแง่ร้าย เนื่องจากสถานการณ์ ณ ตอนนี้ คนโฟกัสในเรื่องกระบวนการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการรอรับวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ทุกคนมีความหวัง พูดง่ายๆ ว่ามีพื้นที่กลบประเด็นความสนใจในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2-3 ออกไป

ต้องยอมรับว่าความร้อนแรงในรอบนี้ ไม่เข้มข้นเหมือนระลอกแรกของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงความร้อนแรงนอกสภาด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ตาม ผู้ร่างหรือคนทำคลอดรัฐธรรมนูญออกมาด้วยตัวเอง ก็คงไม่อยากให้ใครฉีกหรือแก้ไขแน่นอน ผมคิดว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถ้าท่านไม่อยากนำไปสู่การขยายแผลให้องค์กรของตนถูกตั้งคำถาม ก็ควรจะปิดพื้นที่ตรงนี้ นอกจากว่าจะเสนอปมใหม่ๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจง เพราะหากเปิดโอกาสให้คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการชี้แจง จะเห็นทิศทางอยู่แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยิ่งยากลำบากมากขึ้นเท่าทวีคูณ จึงต้องปิดสวิตช์ไม่ให้มีพื้นที่ตงรนี้

สิ่งที่ ส.ส.รังสิมันต์ โรม พูด คงจะชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ง่ายสุด คือการรัฐประหารเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทย คือการฉีกให้เสีย แล้วไปร่างใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกับดักให้ยากเหลือเกินกับการแก้ไข ดูมุมไหน-ช่องไหนก็หาทางสว่างไม่เจอที่จะแก้ไขได้

ท้ายที่สุด เราเห็นแล้วว่าสิ่งเดียวที่จะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ “การลดอำนาจของวุฒิสมาชิก” ไม่ให้มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี นี่ต่างหาก คือการตกผลึกร่วมกันต่อกลไกด้านอื่น ไม่ว่าระบบการเลือกตั้ง และหลายประเด็น ที่ต่างฝ่ายต่างมีมุมมองที่ต่างกัน ยังไม่ได้ปัดฝุ่นพูดคุยร่วมกันอย่างจริงจัง

ต้องค่อยเป็นค่อยไป พูดง่ายๆ ว่าด้วยอำนาจของวุฒิสมาชิก ในบทเฉพาะกาล 5 ปี ระยะเวลาของเขา นับวันยิ่งนับถอยหลัง เพียงแต่เขียนปูพรมในอนาคตว่าวุฒิสมาชิกต้องไม่มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้น หรือที่มาของวุฒิสมาชิกในอนาคต ที่จะเข้ามาออกแบบ มีส่วนร่วม หรือแชร์อำนาจกับสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การพูดคุยอย่างรอมชอมกันได้มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image