พิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน. ฉบับชงสภาโหวตวาระ 3

พิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน. ฉบับชงสภาโหวตวาระ 3 หมายเหตุ - ร่างรัฐธรรมนูญ

พิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน. ฉบับชงสภาโหวตวาระ 3

หมายเหตุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา ในวาระที่ 2 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาในวาระ 3

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…)

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

Advertisement

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป
(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสินวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

Advertisement

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 256/1 ถึงมาตรา 256/15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
มาตรา 256/2 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

มาตรา 256/3 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1
(1) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (15) (16) (17) หรือ (18)
(2) เป็นข้าราชการการเมือง
(3) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี

มาตรา 256/4 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีการออกเสียงโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตการเลือกตั้งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เขตละหนึ่งคนการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสองร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
(3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(4) เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้ว
ถ้าจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ครบสองร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุดให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยคน
(5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

มาตรา 256/5 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้
การกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้หนึ่งคน และจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้ใดหรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 95 และมาตรา 96 มาใช้บังคับกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจกำหนดให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้งโดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบตามจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีส่งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 256/6 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงเมื่อ
(1) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดตามมาตรา 256/14
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 256/2 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/3
เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากที่ถึงคราวออกตาม (1) ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายในสี่สิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลง เว้นแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญจะเหลือเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้

มาตรา 256/7 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมอบหมายและปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญในกรณีที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
กรณีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสอง ให้ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในคราวนั้น เพื่อดำเนินการประชุมต่อไปได้

มาตรา 256/8 เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 256/9 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่เหลือโดยเร็ว
การที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนตการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง
ในการจัดทำร่างรัฐธรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ

ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแจ้งให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะอื่นใดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกำหนดเวลาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนด
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้

มาตรา 256/11 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ
เมื่อรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสองเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 256/12

มาตรา 256/12 ในการออกเสียงประชามติ ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐสภาประชุมเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอเสร็จสิ้นตามมาตรา 256/11 เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไปผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบของกฎหมาย
เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการตามมาตรา 256/3 ต่อไป
แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

มาตรา 256/13 เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 8 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมาตรา 256/14

มาตรา 5 ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามมาตรา 256/5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image