สัญญาณเตือน ปชป. พ่ายเลือกตั้งซ่อม‘เมืองคอน’

สัญญาณเตือน ปชป. พ่ายเลือกตั้งซ่อม‘เมืองคอน’ หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

สัญญาณเตือน ปชป. พ่ายเลือกตั้งซ่อม‘เมืองคอน’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อกรณีพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช ให้กับพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นฐานที่มั่น ส.ส.เดิม เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช ส่วนตัวมี 2-3 ประเด็น ที่มองเห็น

ประเด็นแรก 1.ในมุมฐานเสียงประชาธิปัตย์ บ่งบอกถึงสภาวะความถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งความจริงแล้วในสภาวะความถดถอยนี้ก็เริ่มมีอาการมาเป็นระยะ ยาวนานมาแล้ว แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นตัวแสดงอาการบ่งชี้ภาวะถดถอยได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ในภาคความรู้สึกของคนภาคใต้ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ สภาวะความถดถอยนี้จึงเป็นตัวบ่งชี้คะแนนนิยม และความศรัทธาต่อตัวพรรคประชาธิปัตย์ในระยะยาวในพื้นที่ภาคใต้

2.ต้องบอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ของตาย อย่างที่มีวาทกรรมว่า “พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าไป ก็จะได้รับชัยชนะในพื้นที่ภาคใต้” ซึ่งแสดงว่าประชาธิปัตย์ดูแคลนคนใต้มากเกินไป ไม่มีการปรับตัวในทางยุทธศาสตร์ นโยบาย และการทำงาน มองว่า ภาคใต้เป็นของตายของพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

3.อำนาจของประชาธิปัตย์ ในการทำงานการเมืองพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการปรับตัว จากการมองภาคใต้เป็นของตาย จึงไม่ปรับกระบวนทัพ ไม่ปรับวิธีคิด อีกทั้งอำนาจทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ผูกติดอยู่กับบรรดากลุ่มนักการเมืองในภาคใต้ ไม่ยอมเปลี่ยนถ่ายการเมืองไปสู่กลุ่มคนใหม่ๆ ผูกขาดอำนาจทางการเมืองเอาไว้ในกลุ่มของตัวเอง ปัจจัยเหล่านี้ คือเหตุผล 3 อย่าง ที่ทำให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีภาวการณ์ถดถอย บวกกับสภาวะความถดถอย ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีความพร้อม มีเครือข่ายมีทรัพยากร และมีอำนาจรัฐมากกว่า สามารถวางหมุดหมายทางการเมืองได้ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น พรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ซึ่งจะเห็นชัดมากในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลถึงความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน จะเห็นได้จากกรณีแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการสื่อสารทางการเมืองว่าไม่พอใจพรรคพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมใน จ.นครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เช่นนี้ แกนนำพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค ก็คงจะอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปในมุมมองส่วนตัว แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากหลายฝ่าย ให้ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล มาเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่เชื่อว่า แกนนำพรรคก็คงไม่ประกาศถอนตัวออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระอย่างแน่นอน เพราะยังมีการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง ถ้าหากว่า ศาลพิพากษาให้กรณี จ.สงขลา และ จ.ชุมพร มีการเลือกตั้งใหม่ 2 แห่งนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่าประชาธิปัตย์จะอยู่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป หรือออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่ถ้าดูจากกรณี จ.นครศ่รีธรรมราช แล้ว ก็เชื่อว่าแกนนำพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคจะยังไม่ตัดสินใจ

พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ การทำงานของ ส.ส.ในภาคใต้ มักเป็นการทำงานด้วย “น้ำลาย” ด้วยคำพูดมากกว่าการลงมือทำในภาคปฏิบัติงานจริง หากเทียบการทำงาน ของ ส.ส.ภาคใต้ กับภาคเหนือ อีสาน หรือภาคกลาง ทั้งในแง่ศักยภาพ ฐานทรัพยากร และเงินที่ส่งเข้ามา ก็พบว่าภาคใต้มีการพัฒนาที่ล้าหลังมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

สะท้อนว่า ผู้แทนราษฎรไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ต่างกับภูมิภาคอื่นๆ พบว่า ภาคใต้ผู้นำเก่งที่จะพูด มากกว่าลงมือทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์

บูฆอรี ยีหมะ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ผลการเลือกตั้งซ่อมมีความเชื่อมโยงและเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พบว่าในพื้นที่ภาคใต้ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์เคยครองความนิยมมาโดยตลอดใน 11 จังหวัด ชนะคู่แข่งเหมือนพับสนามเล่น ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ในปี 2535 แต่การเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 พรรคแพ้เลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง เพราะคะแนนนิยมของพรรคลดลง

แพ้ให้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ล่าสุดผลการเลือกตั้งซ่อม ชี้ให้เห็นว่าเป็นพฤติกรรมในการใช้สิทธิของคนใต้มีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่มีความผูกพันกับพรรคอย่างแนบแน่น พบว่าคะแนนที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับจะเป็นคะแนนนิยมส่วนบุคคล ไม่มีคะแนนนิยมที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาสนับสนุน เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ที่สำคัญแม้ว่าคนใต้จะเปลี่ยนตัวบุคคลไปเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น แต่ความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองยังมีรูปแบบอนุรักษนิยม ถือว่าเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะหวาดเกรงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ ที่มีแนวคิดเสรีนิยมที่ก้าวหน้ากว่า จะชนะเลือกตั้งแล้วมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2562 ของคนภาคใต้จำนวนมาก จึงตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชารัฐที่วางตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และบางส่วนไปเลือกตัวแทนพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหาภายในจากการเลือกหัวหน้าพรรค สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเอกภาพ ทำให้ถูกมองว่าเกิดความขัดแย้งภายในพรรค นอกจากนั้น ในเขตเลือกตั้งบางจังหวัดในภาคใต้ ช่วงที่มีการสรรหาตัวผู้สมัครก่อนการเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหาความขัดแย้ง ทำให้อดีต ส.ส.เขตบางรายถูกผลักไปลง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ไม่น่าพึงพอใจ และบางเขตเลือกตั้งในภาคใต้กว่าพรรคจะส่งตัวผู้สมัครได้ก็ผ่านพ้นวันเปิดรับสมัครไปแล้ว ทำให้ผู้ที่นิยมชมชอบเกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้งพอสมควร

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อทราบว่าคะแนนนิยมของพรรคลดลง ในระยะสั้นการแก้ไขปัญหา ต้องเริ่มจากการสรรหาผู้สมัคร ส.ส เขตของพรรค ควรเสาะหาบุคคลที่มีลักษณะเด่น มีความรู้ ความสามารถ มีบทบาททางสังคมเป็นที่ปรากฏ เพื่อให้บุคคลประเภทนี้ใช้ความโดดเด่น เพื่อชดเชยความนิยมของพรรคที่เสื่อมถอย ส่วนการส่งตัวผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมที่ เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช ยังเป็นคนนามสกุลเดิม เป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับอดีต ส.ส.เจ้าของเก้าอี้เดิมที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่พรรคควรประเมินว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ พรรคตั้งใหม่เพื่อการสืบทอดอำนาจได้ ส.ส. 3 เขต จากทั้งหมด 8 เขต และในเขต 3 เดิม นายเทพไทก็ชนะคู่แข่งไม่มาก

ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องทบทวนว่าการเลือกตัวบุคคลไปลงสมัครครั้งนี้มีความผิดพลาดหรือไม่ แทนที่จะสรรหาบุคคลอื่นที่สดใหม่กว่านี้ไปสู้กับตัวแทนจากพรรคแกนนำรัฐบาลที่ทำนโยบายหลายด้านในระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

ในระยะยาวพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปทบทวนว่าคะแนนนิยมของพรรคในอดีตมาจากท่าทีและบทบาท ส.ส.ของพรรคที่มีทักษะความสามารถในการตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลในฐานะพรรคฝ่ายค้าน และทำการทำหน้าที่แบบนี้ ส.ส.พรรคไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้านในทันที แต่ในทางการเมืองพรรคต้องออกมาแสดงบทบาทท้วงติงการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อประโยชน์ของประชาชน

อย่าอ้างว่าเป็นมารยาททางการเมือง รวมทั้งการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติให้มีคุณภาพ และพรรคควรหาผลงานจากการเป็นรัฐบาลมาเป็นจุดขายเพื่อฟื้นคะแนนความนิยมของประชาชน หลังจากแกนนำพรรคมีโอกาสคุมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่าพรรคมีผลงานพอสมควร ที่จะฟื้นศรัทธาของประชาชนให้กลับมาอีกครั้ง

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากพรรคไม่มีจุดเด่น ขณะที่การหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐดูเหนือกว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันมีบรรยากาศครึกครื้นมากกว่าจากการหาเสียงด้วยการประกาศความสำเร็จของนโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนเห็นผลงาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังเน้นสีสันความเป็นพรรคการเมืองของคนท้องถิ่น หรือพรรคเครือญาติ แต่ไม่มีนโยบายโดดเด่น ทำให้ประชาชนไม่ตัดสินใจเลือกตัวบุคคลของพรรค

ที่สำคัญบุคคลระดับแกนนำของพรรคเมื่อนายชวน หลีกภัยไปทำหน้าที่อื่น ยังไม่มีบุคคลใดขึ้นมาเทียบรัศมี หรือเป็นจุดขาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนภาคใต้เห็นภาพลักษณ์เป็นที่ประจักษ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ดังนั้นความพ่ายแพ้ครั้งนี้อย่าอ้างว่าเตรียมตัวน้อย หรือมีปัญหาจากหลายปัจจัย เพราะส่วนตัวเชื่อว่าทีมงานและตัวบุคคลที่ลงสมัครในพื้นที่ได้เตรียมตัวอย่างดี

นอกจากนั้น ควรดูสาระสำคัญในการเปิดเวทีปราศรัย ได้นำนโยบายความสำเร็จของพรรคไปทำให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนหรือไม่ หรือจะใช้โวหารเน้นให้เห็นว่าเป็นพรรคของคนใต้ พี่น้องต้องไม่ทิ้งเรา เราเป็นพี่น้องกัน คนในพรรคอื่นก็เป็นคนอื่น ขอเรียนว่าปัจจุบันวิธีการแบบนี้น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว

ต้องยอมรับว่าสังคมการเมืองในต่างจังหวัด ประชาชนมีความคิดอ่านไปไกล ในโลกของยุคข่าวสาร จะไปดูแคลนความล้าหลังของคนต่างจังหวัดเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว ดังนั้นการทำงานการเมืองไม่ควรล้าหลัง ต้องก้าวตามให้ทัน ขณะที่บุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ยังมีนักการเมืองหน้าเก่า ไม่มีหน้าใหม่ที่จะออกมาเรียกร้องความสนใจ ทำให้ถูกมองว่าเป็นเพียงพรรคเก่าแก่ที่มีอายุยาวนาน อาจดูแล้วไม่ได้ดึงดูดประชาชนให้สนใจ เหมือนพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ แม้ว่าตัวบุคคลยังขายไม่ได้ แต่วิธีการขับเคลื่อนมีความทันสมัยมากกว่า และที่ผ่านมาคนเด่นคนดังที่เคยเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงก็เดินออกจากพรรคไปแล้วหลายคน

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองในแนวทางอนุรักษนิยม และความนิยมในอดีตปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากบารมีของบุคคลเก่าแก่ภายในพรรค แม้ว่าพรรคจะประกาศอยู่เสมอว่าไม่มีเจ้าของ ไม่มีนายทุน แต่พรรคการเมืองต้องมีตัวบุคคลที่เป็นจุดขาย ต้องพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ นโยบาย วิธีคิดใหม่ๆ อย่าคิดแต่เรียงลำดับความสำคัญว่านักการเมืองคนไหนอยู่ในพรรคมาก่อนหรือเข้ามาในภายหลัง ปัจจุบันถือว่าไม่ทันยุคทันสมัย

เพราะฉะนั้นพรรคต้องคิดและแสดงให้เห็นว่า ว่าควรทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทางการเมือง ทำให้ประชาชนกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง หลังจากถูกมองว่าพรรคเริ่มเสื่อมความนิยม เบื้องต้นเชื่อว่าพรรคจะต้องหาตัวบุคคลใหม่ๆเข้ามาเสริม และต้องยอมรับด้วยว่าที่มีอยู่ น่าจะยังไม่เพียงพอที่จะมีคุณค่าให้ประชาชนยอมรับ เพราะสังคมการเมืองยุคใหม่ ต้องการนักการเมืองคนรุ่นใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ต้องย้อนดูตัวเองว่าบุคลากรเก่าแก่ในพรรคที่มี จะปรับตัวในระยะสั้นๆเพื่อแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีหรือไม่

การที่พรรคแพ้เลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญให้กับพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้ายังตัดสินใจจะร่วมรัฐบาลนี้ต่อไป ก็คงจะปรับปรุงอะไรได้ยาก เพราะจำนวน ส.ส.ของพรรคปัจจุบันมีไม่มาก หรือมีความเชื่อการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่โอกาสได้เสียงเพิ่ม มีโอกาสได้ใช้ผลงานของรัฐมนตรีไปหาเสียง ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งซ่อมอีก 2 สนามในภาคใต้ ถ้าพรรคยังรักษาเก้าอี้เก่าเอาไว้ไม่ได้ ก็ต้องนำกระจกมาวางแล้วส่องดูตัวเองเพื่อหาคนนอกที่มีความสามารถเข้ามาประดับพรรค และต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่

เพราะบุคคลที่มีอยู่น่าจะไม่เป็นที่เลื่อมใส ทั้งที่ยุคก่อนพรรคประชาธิปัตย์เคยมีความโดดเด่นเรื่องการต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดดเด่นจากการทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน แต่ขณะนี้การเมืองต้องต่อสู้กันด้วยความทันสมัย แต่ภาพลักษณ์ของพรรคยังไม่ได้แสดงออกถึงความทันสมัยเท่าที่ควร ยังถูกมองเป็นพรรคอนุรักษนิยม ส่วนการปรับตัวของพรรคจะทันกับการเมืองในสนามผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ วันนี้พรรคคงจะทราบจากผลโพลที่มีการสำรวจกระแสความนิยมของบุคคลที่จะลงสมัคร ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีตัวบุคคลออกมาแสดงตัวเพื่อเป็นทางเลือก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image