รายงาน : ปมใหญ่ การเมือง เนื่องแต่ รัฐธรรมนูญ 2560 มรสุม ระลอกใหญ่

การนัดหารือ “ลับ” อย่างกะทันหันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

น่าจะมีประเด็น “รัฐธรรมนูญ” รวมอยู่ด้วย

หากมองจากการเคลื่อนไหว 2 ส่วนประสานเข้าด้วยกัน คือ 1 การส่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

และ 1 การผนวกตัวรวมพลังกับ 250 ส.ว.

Advertisement

ไม่ว่าเส้นทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะเดินเข้าช่องใด ผลดีน่าจะตกเป็นของรัฐบาลมากกว่าจะตกเป็นของฝ่ายค้าน

เพราะล้วนเป็น “เส้นทาง” ที่กำหนดเอาไว้แล้ว

เพราะแม้ว่าเส้นทางของรัฐธรรมนูญจะหลุดเข้าไปสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา วาระ 3 แต้มต่อก็ยังเป็นของรัฐบาลอยู่นั่นเอง

Advertisement

เพียงแต่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ เท่านั้น

ล่วงมาถึง ณ วันนี้ มีความเด่นชัดเป็นอย่างสูงว่า เส้นทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อยู่บนการตัดสินใจเลือกของ 2 กลุ่มใหญ่

1 กลุ่มที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

นั่นก็ยืนพื้นอย่างมั่นคงมาตั้งแต่ต้นอันได้แก่ 250 ส.ว.ประสานเข้ากับ 122 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ร่วมมือกันอย่างเปิดเผย

นั่นก็คือ การดำรงยุทธศาสตร์ “สืบทอดอำนาจ” ไม่แปรเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน 1 หากยึดกุมตามแนวทางของร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อไปจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา

แนวทางของกลุ่มนี้คึกคักยิ่งใน “สภาผู้แทนราษฎร”

แม้เมื่อมีการเปรียบเทียบกำลังของแต่ละฝ่ายผนึกร่วมกับบทบัญญัติอันเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ ต้องหา 84 ส.ว.มาสนับสนุน

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจเอาชนะการผนึกตัวรวมพลังระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ ส.ว.ได้อย่างเด็ดขาด

แต่อย่าลืม “องค์ประกอบ” ของ “สภาผู้แทนราษฎร”

จำนวนนี้มิได้หมายเพียงพรรคร่วมฝ่ายค้านอันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทยเท่านั้น

หากแต่ยังมีพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนารวมอยู่ด้วย

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ พลังในภาค “ประชาสังคม” นอกรัฐสภา ที่สะท้อนความเรียกร้องต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหนักแน่น มั่นคง

พลัง “ภาคประชาสังคม” ต่างหากที่น่าหวั่นเกรง

จุดที่ “กลุ่ม 3 ป.” อาจนึกไม่ถึงก็คือ สถานการณ์ของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2564 แตกต่างเป็นอย่างสูงกับรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2562

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เหมือนเดิม

ยิ่งไม่เหมือนเดิม บทบาทและความพยายามที่จะยื้อเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อการดำรงอำนาจ ก็ยิ่งจะมองเห็นอย่างเด่นชัด

กระทั่งกลายเป็น “ปม” และ “ประเด็น” ไม่พอใจในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image