ส่อง‘คำวินิจฉัยกลาง’ ก่อนโหวตแก้ รธน.วาระ3

ส่อง‘คำวินิจฉัยกลาง’ ก่อนโหวตแก้ รธน.วาระ3 หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

ส่อง‘คำวินิจฉัยกลาง’ ก่อนโหวตแก้ รธน.วาระ3

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง กรณีประธานรัฐสภาขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามธรรมนูญมาตรา 256 (1)

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องทำความเข้าใจว่าการแก้ไขมาตรา 256 คือการแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่จะมีการตั้ง ส.ส.ร. จึงขอถามว่าใครจะทราบล่วงหน้าว่า ส.ส.ร.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงหรือไม่ ดังนั้นหากมองว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้อย่างไร และหากดูตามขั้นตอนที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าอาจมีเจตนาที่จะมีการแก้ไขมากกว่ารายมาตรา ขณะที่ในญัตติที่ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 ก็บอกชัดเจนว่าไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หากจะตีความโดยภาษาไทยธรรมดาก็เห็นว่ากระบวนการที่ทำไว้แล้วจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่

Advertisement

แต่ถ้าจะมองในแง่การเมืองก็เชื่อว่ากระบวนนี้เป็นการยื้อเพื่อให้สับสน หากรัฐบาลหรือ ส.ว.ไม่ต้องการแก้ไขก็ใช้วิธีโหวตคว่ำ และเชื่อว่า ส.ว.จะโหวตในวาระ 3 ไม่ถึง 84 คน ก็ถือว่าไม่มีอะไรซับซ้อน หากฝ่ายใดต้องการแก้ไขก็ไปเริ่มกระบวนการใหม่ด้วยการทำประชามติก่อน ถือเป็นการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ แต่การทำประชามติเป็นอำนาจของรัฐบาลสนใจจะทำเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการเล่นแง่กันแบบนี้ สิ่งที่ต้องพึงระวังเชื่อว่าอาจจะเป็นการปลุกให้สังคมสาธารณะเกิดความไม่พอใจ

เมื่อดูคำวินิจฉัยกลาง สภาสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้แน่นอน และขอถามว่าหากฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าพิจารณาญัตติร่างแก้ไขในวาระ 3 จะมีโทษอะไรบ้าง เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางที่อ่านแล้วเพียงแต่ทำความเข้าใจกับผู้ร้อง แต่สาระสำคัญไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยที่ออกมา 5 บรรทัดแรก

หากมีการตีความตามเนื้อผ้าหน้างานอย่างตรงไปตรงมา มาตรา 256 ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และส่วนตัวเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล หากจะทำทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีการรับรองอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ส่วนการขู่กรณีการโหวตวาระ 3 จะมีคนไปร้อง ป.ป.ช. ก็ยังสงสัยว่าเมื่อสมาชิกรัฐสภาทำงานตามหน้าที่ของตัวเองแล้ว ก็ต้องดูว่ากฎหมายฉบับใดให้อำนาจ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้จึงเชื่อว่าการเดินหน้าวาระ 3 ไม่ถือว่ามีความผิดจากคำวินิจฉัย เพราะศาลรับรองอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้แล้ว

Advertisement

ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีบางฝ่ายจะล้มหรือต้องการยื้อเวลา ก็ใช้วิธีล้มโดย ส.ว. 84 คนเชื่อว่าจะใช้วิธีการนี้ จากนั้นฝ่ายที่จะแก้ไขก็ต้องตั้งสติโดยเรียกร้องให้มีการทำประชามติกันต่อไป โดยกดดันให้รัฐบาลใช้อำนาจและอาจจะใช้การทำประชามติเป็นเกมยื้ออีกทาง หากยื้อมากเกินไปอาจจุดประเด็นให้คนส่วนใหญ่มีอารมณ์ร่วมกลายเป็นการโต้กลับถือว่าไม่เป็นผลดี ทั้งที่รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ประชามติ 2552 ได้ และยอมรับว่าไทม์ไลน์จากทำประชามติอาจยาวกว่าการแก้ไขมาตรา 256 เชื่อว่าหากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงใจทุกอย่างสามารถทำได้

ในระหว่างการทำประชามติ ขอเสนอให้มีคำถาม 3 ข้อ 1.จะให้ยุติการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ 2.ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และ 3.ต้องการให้มี ส.ส.ร.หรือไม่ สำหรับข้อแรกหากมีการยุติการใช้ก็ต้องบอกด้วยว่าให้ใช้ของเดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ และการมีคำถามพ่วงไม่ต้องกังวลว่าจะสร้างความสับสน เพราะการทำร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เคยมีการตั้ง 2 คำถามพ่วงมาแล้ว ดังนั้นหากเริ่มการแก้ไขด้วยการทำประชามติก็ควรจะกำหนดว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ภายใน 3-6 เดือน เพราะสภามีแนวทางการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญไว้แล้ว

ถ้ายึดตามหลักการจะเห็นว่าการทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจและหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีมี ส.ส.หรือ ส.ว.บางรายยื่นให้ศาลและออกมาแสดงความเห็น น่าจะถูกมองว่าไม่เคารพอำนาจของตัวเองทั้งก่อนและหลังการวินิจฉัย ไม่ควรเอาอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปให้องค์กรอื่นเหยียบย่ำ อาจจะถือว่าขาดศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image