ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม เดินอย่างไรปลดล็อกกติกา

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม เดินอย่างไรปลดล็อกกติกา หมายเหตุ - เป็นความเห็น

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม เดินอย่างไรปลดล็อกกติกา

หมายเหตุเป็นความเห็นต่อกรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภาสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อพิจารณาเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย ไม่เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3

ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

อยากจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดมาตั้งแต่ต้นที่รัฐสภามีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ว่าด้วยเรื่องที่รัฐสภามีความสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามหลักการมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ไม่ใช่มาตราหรือช่องทางที่จะให้รัฐสภาส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และในทางกลับกันศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีเขตอำนาจรับพิจารณา เนื่องจากเจตนาของมาตรานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยทั่วไป เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีปัญหาเรื่องสูตรคำนวณการเลือกตั้ง แต่กรณีนี้เป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจการสถาปนา ดังนั้นหากต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไปใช้มาตรา 256 คือเมื่อรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผ่านวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 หลังจากนั้นเมื่อทำประชามติเสร็จ หากเห็นว่าการแก้ไขมีประเด็นหรือมีปัญหา ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ

ถ้าเดินไปตามมาตรา 256 จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบได้หลังจากผ่านรัฐสภาไปแล้ว 3 วาระ แต่กรณีนี้เป็นการทำลัดขั้นตอน และเป็นการวินิจฉัยกลางคัน ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งก็มี ส.ว.ยื่นเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสงสัยว่าการแก้ไขมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ซึ่งศาลก็รับวินิจฉัยกลางคันโดยที่ไม่มีเขตอำนาจเหมือนกัน โดยวินิจฉัยว่าหากต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถามประชาชน ดังนั้นมาตรฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดมาจึงตรงกันหมด

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอนแรกบอกว่าต้องการจะแก้ เมื่อผ่านวาระ 1 และวาระ 2 เสร็จ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะราบรื่น แต่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว.ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย สังคมจึงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า รัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ผ่านมาก็มีทีท่าว่าไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีสัญญาณคือการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่บอกว่าการแก้ไขทั้งฉบับทำไม่ได้ หากต้องการแก้ก็ให้แก้ไขรายมาตรา

Advertisement

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต้องกลับไปเริ่มใหม่ หากต้องการจะแก้ไขรายมาตราก็สามารถทำได้ และควรทำ เพียงแต่จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าลืมว่า ส.ว.มีนัยสำคัญขนาดไหน และจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการมาร่วมโหวตแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่จะให้ผ่านจึงเกิดขึ้นค่อนข้างยาก ปัญหาการเมืองไทยเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสถาบันการเมืองที่ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็จะวนอยู่แบบนี้

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมทั้งนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องเรื่องอะไร หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนแบบนี้ คิดว่าจะเป็นอันตราย เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ได้ ก็จะไหลออกไปนอกวิถีทาง และจะเป็นอันตรายและมีความรุนแรง

ถ้าฝ่ายการเมืองบอกว่าจะแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องกลับไปถามฝ่ายประชาชน เพราะการเมืองมี 2 ระดับ คือ การเมืองระดับรัฐธรรมนูญหรือพรรคการเมือง และระดับประชาชน ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน ยิ่งตอนนี้มีความขัดแย้งสูงจึงยิ่งต้องมาฟังว่า ส่วนไหนที่พอจะลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงได้ ดังนั้นกระบวนการต่อจากนี้จึงเป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 166 ที่จะขอทำประชามติ จึงเป็นบททดสอบว่ารัฐบาลจริงใจที่จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะเป็นฝ่ายที่สามารถริเริ่มได้

ส่วนการคิกออฟรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และเครือข่าย เพื่อยุบ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ ในเชิงหลักการและกฎหมายสามารถทำได้ เพราะบทบัญญัติเอื้อให้ทำได้ แต่ประเด็นคือ ในเชิงการเมืองที่ภาวะทางการเมืองมีการแบ่งฝ่ายเยอะมาก ซึ่งก็อาจจะตอบไม่ได้ว่าฝ่ายไหนมีมากกว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามา เสียงรัฐบาลจะมีพอๆ กับภาคประชาชน เป็นสังคมที่มีการแบ่งฝ่ายพอๆ กัน ส่วนในเชิงการเมืองในรัฐสภาที่ต้องกลับไปดูมาตรา 256 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ เช่น ต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน คือเราอาจจะต้องอ่านเกมได้ ผ่าน ส.ส.พรรค พปชร. และ ส.ว. เพราะที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการคิกออฟการแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องดูว่าสองกลุ่มการเมืองนี้รับได้หรือไม่

อีกประเด็นคือ การทำประชามติ หากต้องการแก้ไขรายมาตรา จะเป็นกรณีที่มาตรา 256 บังคับให้ทำประชามติหรือไม่ เช่น การแก้ไขเกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ แม้จะผ่านการวินิจฉัยที่มี ส.ส.พรรค พปชร. และ ส.ว. ก็ต้องไปทำประชามติอีก ประเด็นคือ เกณฑ์การทำประชามติครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะมีเกณฑ์กำหนดอยู่ 2 กฎเกณฑ์ คือ 1.คนที่ออกไปใช้สิทธิลงเสียงประชามติ จะต้องได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิในการลงเสียงประชามติทั้งประเทศ และ 2.เมื่อครบเกณฑ์ข้อ 1 แล้ว ผู้ออกไปใช้สิทธิก็ต้องโหวตให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของคนที่ออกไปใช้สิทธิ สมมุติต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องถามประชาชนผู้มีอำนาจการสถาปนา หรือหากต้องการแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ

หากย้อนกลับไปในการทำรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเกณฑ์กำหนดว่า ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับเกณฑ์ใหม่ สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ เกณฑ์การผ่านประชามติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กับฉบับของประชาชนในอนาคตนั้น ฉบับหลังจะผ่านยากกว่า เพราะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ เช่น มีประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติ 50 ล้านคน ก็ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 25 ล้านคน หลังจากนั้นต้องโหวตเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิคือ 12.5 ล้านคน แต่การออกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ต่อให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิแค่ 1 ล้านคน ได้เสียงเกิน 5 แสน ก็ถือว่าผ่านได้แล้ว ดังนั้น เกณฑ์การผ่านการทำประชามติของฉบับ 2560 กับฉบับอนาคต จึงไม่เท่ากัน

ในเชิงวิชาการ เวลาที่บอกว่าไปถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จึงดูไม่มีความเสมอภาคและมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติ และเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประธานคณะก้าวหน้า

การคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา แสดงให้เห็นแล้วว่าชนชั้นนำกองทัพ รัฐบาล พรรคการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการยึดอำนาจไว้กับพวกพ้อง โดยไม่สนใจอนาคตของประเทศ กระบวนการที่ผ่านมาคือการซื้อเวลา แสดงละครหลอกประชาชน

รัฐสภาที่ควรเป็นที่หาทางออกให้กับสังคม กลับเป็นผู้ปิดประตูทางออกเสียเองแต่จะยอมแพ้ไม่ได้ กระบวนการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ ก็จะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตราอย่างแข็งขันทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมรายชื่อจากประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อปรับดุลอำนาจในสังคมไทยเสียใหม่ โดยจะรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั่วประเทศเร็วๆ นี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

เป็นสิ่งที่คาดหมายได้อยู่แล้ว ไม่ได้เกินความคาดหมายเลย รู้ว่ารัฐบาลนี้มีท่าทีมาตลอดไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่แน่ใจว่าจะใช้วิธีไหนในการทำให้ตกไป อาจใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือใช้โหวตวาระ 3 หรือประชามติ หรืออื่นๆ ซึ่งก็คงมีหลายเงื่อนไข ตกวาระก็เป็นไปตามระบบ คือ ส.ส.และ ส.ว. มีอำนาจในการลงมติ ส.ว.งดออกเสียง เสียงก็ไม่พอ ส.ส.จำนวนหนึ่งลงมติผ่าน จำนวนหนึ่งไม่ลงมติ ไม่ทราบว่าเหตุผลคืออะไร ทำให้สิ่งที่คนคิดมาตลอดว่ารัฐบาลไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้จริงใจในการแก้ ต้องหาทางคว่ำอยู่แล้วก็เป็นจริง

สำหรับพรรคฝ่ายค้าน คิดว่าทำเต็มที่แล้ว ที่ผ่านมาทำได้ไม่ดีเท่าไร แต่ก็ไม่แย่จนเกินไป ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง จริงๆ แล้วโฟกัสควรต้องอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เพราะเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ถ้าจะแกล้งโง่บอกว่า คนที่ทำให้ตกคือ ส.ว. รัฐบาลนี้หรือคณะรัฐมนตรีบอกว่าทุกคนอยากทำให้ผ่าน และยืนยันจะร่วมรัฐบาลต่อไป แกล้งโง่ต่อไปก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ ก็รู้อยู่แล้วว่า ส.ว. เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาล รัฐบาลสั่งได้ จะให้โหวตผ่านก็สั่งได้ ถ้าประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จริงใจอยากแก้รัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องรู้แล้วว่าตอนนี้รัฐบาลไม่ได้อยากแก้ เมื่อทำงานร่วมกันไม่ได้หรอก ก็ออกจากรัฐบาลเสีย เรียนตรงๆ ว่าต่อให้ 3 พรรคนี้โหวตเลือกคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีวันนี้ ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ ส.ว.เลือก พล.อ.ประยุทธ์หมด ก็ได้เป็นนายกฯอยู่ดี ดังนั้น ถ้าจริงใจก็ต้องแสดงออกก่อน ต้องไม่ร่วมสังฆกรรม ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้าแบบที่พูดไว้ตอนเข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องออกมาจากรัฐบาล

ถามว่าต้องเปลี่ยนมาใช้แนวทางแก้ไขรายมาตราเท่านั้นหรือไม่ ไม่จำเป็น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังได้อยู่ ส่วนญัตติใหม่ที่จะยื่นควรเป็นอย่างไร ไม่ทราบ เพราะเป็นเกมการเมืองที่ซับซ้อน และเปลี่ยนไปทุกวัน คงตอบตอนนี้ไม่ได้

วันที่โหวตวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญเป็นแค่อีกหนึ่งฉากการแสดง คาดหมายอยู่แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญนี้เขียนมาเพื่อให้แก้ไขไม่ได้ และตลอดเวลาที่ผ่านมา การตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อซื้อเวลา การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี อะไรทั้งหลายทั้งปวงก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มีความสำคัญในการพยุงอำนาจไว้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเป็นคนเสนอร่างฉบับนี้เอง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็เป็นกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรก ชุดที่ 2 เป็นกรรมาธิการวาระ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคมก็ไม่ยอมโหวต เป็นการแสดงทางการเมืองที่ย้อนแย้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image