รายงาน : แนวโน้ม ยุบสภา เนื่องแต่ ปัจจัย ภายใน มากกว่า ภายนอก

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพิ่งกุมชัยชนะจากการสกัดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 มีนาคม

เหตุใดจึงมีข่าว “ยุบสภา”

เพราะหากประเมินจาก “ชัยชนะ” ที่ได้มาเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า จำนวน ส.ส.ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีอยู่ในมือไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้

ไม่ว่า “ใน” สภา ไม่ว่า “นอก” สภา

Advertisement

ในเมื่อกฎกติกาอันวางเอาไว้ผ่าน “รัฐธรรมนูญ” ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นหลักประกันมั่นคงยิ่งในการครองและต่ออำนาจ

จึงไม่จำเป็นอะไรที่จะรีบร้อน “ยุบสภา”

สู้อยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยจนครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 สะสมอำนาจ สะสมความนิยม ขณะเดียวกัน ก็บั่นทอนฝ่ายค้านไปเรื่อยๆ

Advertisement

เลือกตั้งในปี 2566 ก็ชนะใส-ใส

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยอันอาจนำไปสู่การยุบสภาก็ต้องยอมรับว่า มิได้มาจาก “ภายนอก” เพียงด้านเดียว ตรงกันข้ามปัจจัย “ภายใน” ก็สำคัญ

ถามว่าการยุบสภาเมื่อปี 2538 เกิดจากอะไร

คำตอบก็คือ เกิดจากการลงมติจากการอภิปรายทั่วไปปรากฏว่าพรรคพลังธรรมมีมติ “งดออกเสียง” อันเท่ากับไม่ไว้วางใจ

นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีก็จำต้อง “ยุบสภา”

เช่นเดียวกับภายหลังการอภิปรายทั่วไปเมื่อปี 2539 แม้จะมีการกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลให้นายกรัฐมนตรี
ลาออก แต่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เลือกที่จะยุบสภา

เพราะต้องการเล่นงาน “พวกเดียวกัน”

จึงเด่นชัดว่า ไม่ว่าการยุบสภาในยุค นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าการยุบสภาในยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา
มาจากปัจจัย “ภายใน”

คำถามก็คือ มีปัจจัย “ภายใน” อะไรที่ล่อแหลมขณะนี้

ต้องยอมรับว่า สถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างแข็งแกร่ง ไม่เพียงแต่จาก 121 พรรคพลังประชารัฐ หากแต่ยังจาก 250 ส.ว.

ยัง 61 พรรคภูมิใจไทย 51 พรรคประชาธิปัตย์

ถามว่าสถานการณ์ “หักดิบ” ในกรณีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม สร้างความไม่พอใจหรือไม่

ไม่พอใจ แต่ไม่ถึงขนาดจะ “ถอนตัว”

ไม่ว่า 61 ส.ส.พรรคภูมิใจ ไม่ว่า51 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่า 12 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ยังเกาะหนึบอยู่กับรัฐบาล

เมื่อมีคนถามก็ได้แต่ “หัวร่อ” แต่ก็ยังอยู่

ดังนั้น การโยนคำ “ยุบสภา” ออกมา 1 เพื่อยืนยันว่ายังไม่คิด ขณะเดียวกัน 1 ก็เพื่อเตือนให้พรรคร่วมรัฐบาลตระหนักว่าจะต้องทำอย่างไร

ประเด็นอยู่ที่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะเชื่ออย่างเชื่องๆ หรือไม่

ปมว่าด้วยจะยุบหรือไม่ยุบสภาจึงมีความเด่นชัดว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สามารถตีลูกกระแทกกระทั่งกระทบต่อสถานะรัฐบาลได้

ปัจจัยจึงอยู่ที่ “ภายใน”

เป็นภายในระหว่างความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนามากกว่า

3 พรรคนี้แหละจะมีแรงสะเทือนในทางเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image