ภาคธุรกิจžจับตา โควิดระลอก 3

หมายเหตุ – ความเห็นของภาคเอกชนถึงทางออกและข้อเสนอแนะภายหลังพบการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่และกระจายไปหลายจังหวัดส่วนใหญ่เชื่อมโยงจากการติดเชื้อในสถานบันเทิง ซึ่งหลายคนห่วงว่าจะเป็นการระบาดในระลอก 3 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

Advertisement

ผ ลกระทบการระบาดโรคโควิด-19 ในรอบใหม่นี้ ส่งผลต่อภาคการบริโภคภายในประเทศ ยิ่งเกิดก่อนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เลยไม่ค่อยมั่นใจว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังตัวช่วงสงกรานต์ มองว่าอย่างไรการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศในต่างจังหวัดไม่ได้ ก็ขอให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกไปซื้อของ ออกไปเดินเล่นบ้าง แต่อย่าการ์ดตก ภาครัฐก็ต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อไป

จากการประกาศหยุดสงกรานต์ 9 วันติด รวมเสาร์-อาทิตย์หัวท้าย โชคไม่ดีเหมือนตอนปีใหม่ที่ผ่านมา พอมาเจอการระบาดรอบใหม่ เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ มองมาตรการป้องกันสาธารณสุข ส่วนหนึ่งต้องวิงวอนขอประชาชนอย่าการ์ดตก เข้าใจถึงบางสถานการณ์อย่างการสังสรรค์ กับบุคคลใกล้ชิด ทำให้เราสบายใจ แต่วันนี้มีการแพร่เชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ กระจายไปทั่ว ซึ่งเราวางใจไม่ได้เลย

มีรัฐมนตรีบางท่านที่บอกว่าตรวจผลโควิดแล้วจะออกมาแถลงข่าว ขอกักตัว เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยเหมาะสม ภาคเอกชนเสียความมั่นใจ ประชาชนมีการป้องกันอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้ไปกระทบต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม แต่กลายเป็นว่าในกลุ่มคนที่เป็นแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปมีปัญหา เราไม่สบายใจเลย ก็อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกของการป้องกันตัว การเว้นระยะห่าง ที่มีการบอกกันมาโดยตลอด

Advertisement

รัฐมนตรีที่ฉีดวัคซีนไปแล้วแล้วยังติดเชื้ออีก ในเรื่องของทางการแพทย์คงให้ความเห็นไม่ได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศก็มีเช่นกัน วัคซีนไม่ใช่ยารักษาโรคโดยตรง ซึ่งโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสฆ่าไม่ได้จะมีวงจรอายุของไวรัสอยู่ เราฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกัน แต่ในช่วงที่ฉีดวัคซีนไปแล้วช่วยสร้างภูมิต้านทานได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ยังมีความเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนไปแล้วก็มีโอกาสติดใหม่ได้ หรือเกิดอาการแพ้ได้ เหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดไปแล้วก็ยังเป็นไข้หวัดอยู่ดี เนื่องจากว่ามีการกลายพันธุ์ไปแล้ว บริษัทที่ส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 2 บริษัท อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งก็อยากให้เปิดการนำเข้าวัคซีนหลากหลายบริษัทมากกว่านี้ เพื่อที่เป็นทางเลือก และนำเข้าให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ การที่เราจะไปสั่งแค่บริษัทเดียวแล้วเกิดเข้าส่งมาไม่ทันไม่เพียงพอ ก็จะเสียโอกาสในการป้องกันให้กับประชาชน

ภาคการส่งออกจะไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าจะมีผล กระทบก็เป็นเรื่องของคนทำงาน ทั้งในโรงงานและในสำนักงาน ในส่วนของภาคการผลิต และภาคการบริการ มีมาตรการที่คุมเข้ม ยิ่งโรงงานที่มีพนักงานจำนวนมาก จะปล่อยให้ติดเชื้อไม่ได้เลย เพราะว่าอยู่ในชุมชนสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้มาก แต่ละบริษัทมีการปกป้องรักษาแรงงานไว้ เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ขอความร่วมมือไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น เพราะไม่อยากให้มีความเสี่ยง ไม่อยากจะให้ส่งผลกระทบมายังภาคการผลิต ส่วนในเรื่องของการขอใบอนุญาตต่างๆ รวมไปถึงการติดต่อกับหน่วยราชการต่างๆ เริ่มกังวลว่าจะมี
ผลกระทบต่อการระบาดรอบนี้หรือไม่

ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ขยายตัวจากที่ 5.5% เป็น 6% เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวจากที่ 5.1% เป็น 6.5% เป็นโอกาสที่ทำให้สร้างเศรษฐกิจไทยให้เท่ากับเศรษฐกิจโลกได้ แต่ในขณะเดียวกันทาง IMF ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อยลง จาก 2.7% เหลือ 2.6% พูดให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยต้องตามให้ทันไปฉวยโอกาสตรงนั้น เพื่อที่จะได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออก ทำอย่างไรให้เราส่งออกให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้มีการกดดันไปยังสายเรือ และอยากจะขอทางภาครัฐผ่านกระทรวงพาณิชย์มาช่วยดูแลในเรื่องของค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้น

การระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศก็ยังพบจำนวนมาก ก็เป็นความเสี่ยงที่ว่าเมื่อสินค้าไปถึงปลายทาง แล้วการกระจายสินค้าต่างๆ จะไปถึงผู้บริโภคทันหรือไม่ การบริโภคจะสูงขึ้นหรือไม่ ในขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนสำคัญมาก ในการสร้างภูมิต้านทานให้กับประชากร อยากให้ภาครัฐเพิ่มการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของแรงงานก็อยากให้มีมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาได้แล้ว

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดนี้ สร้างความกังวลให้กับภาคเอกชนมากกว่าระลอกที่แล้ว เนื่องจากเป็นการติดเชื้อในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ทั้งของรัฐและเอกชน กลุ่มที่ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย ส่งผลให้เชื้อกระจายได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมได้ยาก ไม่เหมือนเช่นคราวที่เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งสามารถจำกัดบริเวณและเดินหน้าเชิงรุกหาเชื้อพร้อมทั้งระงับการกระจายได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ ทราบว่าหลายโรงพยาบาลเตียงเริ่มเต็ม อาจไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลาประเมิน 1-2 สัปดาห์ เพื่อดูว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ น่าห่วงว่าครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจซึมยาว จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีการฉีดวัคซีน และเดินหน้านโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วบางส่วน แต่ยังกังวลกับปริมาณวัคซีนที่เข้ามาน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งหมด ขณะที่แผนการฉีดวัคซีน ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นเดิม โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับวัคซีนยังไม่ทั่วถึง ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หากเป็นไปได้เห็นว่าควรเร่งพิจารณาฉีดกับกลุ่มที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ พ่อค้า แม่ค้า สื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานใกล้ชิดกับคนหมู่มาก หากมีการรีบฉีดก็จะป้องกันการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นและเศรษฐกิจก็จะไม่ชะงัก เมื่อมีปัญหาการแพร่ระบาด

ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็สนับสนุนให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาฉีดเอง หรือจัดหาให้เอกชนมาฉีดให้ผู้บริหารและพนักงาน โดยเฉพาะผู้บริหารเอกชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว เพราะต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งการทำงานกับภาครัฐ

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทย

ภ ายหลังการเข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมหารือรับมือการแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้นมาในช่วงสงกรานต์นี้ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านบาท หากมีการ ล็อกดาวน์ โดยทางกรุงเทพมหานครและหอการค้าไทยได้มีการวางแผน และเล็งเห็นความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยจะควบคุมการเปิดปิดเป็นรายประเภทธุรกิจและพื้นที่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้จำกัด ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้น ยังมีการหารือเรื่องการวางแผนรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่า กทม.จะได้รับโควตาวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการฉีดวัคซีนของ กทม.ในขณะนี้ อยู่ที่ประมาณวันละ 5 พัน ถึง 1 หมื่นคนต่อวันเท่านั้น โดยใช้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.11 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดอื่น 31 แห่ง ประกอบด้วย รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ทหาร รพ.ตำรวจ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.เอกชน รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง ซึ่งหากมีวัคซีนเข้ามาปริมาณ 1.5-2 ล้านโดสต่อเดือน หลังจากช่วงเดือนมิถุนายนแล้ว เพื่อที่จะให้ฉีดได้ครบจำนวนจะต้องมีแผนการฉีดวัคซีนให้ได้ 3-5 หมื่นคนต่อวัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มปริมาณการฉีดต่อวันให้ได้ครบ หอการค้าไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หอการค้าไทยได้ประสานความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลเอกชน ในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ รวมไปถึงสถานที่พักคอยทั้งก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด ตลอดจนน้ำดื่ม เตียง ระบบการขนส่งวัคซีน รถพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และบุคลากรอาสาสมัครในการฉีด ทั้งนี้ จะมีการกระจายพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ครอบคลุมประชากรในกรุงเทพฯ ให้สามารถเดินทางอย่างสะดวก โดยแผนทั้งหมดนี้ หอการค้าไทยและภาคเอกชนจะร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กทม. เพื่อให้แผนการดำเนินงานนี้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน และ กทม.จะเริ่มฉีดให้กับประชาชนได้ในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันดังกล่าว เชื่อว่าหากการฉีดวัคซีนใน กทม.เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะสามารถครอบคลุมประชากรในกรุงเทพฯ ได้ประมาณ 70% ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ และจะใช้โมเดลการกระจายวัคซีนนี้ เป็นต้นแบบให้กับการดำเนินงานในต่างจังหวัด โดยให้หอการค้าจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประสานงานต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image