เปิดร่างแก้ รธน.ฉบับ พปชร.

เปิดร่างแก้ รธน.ฉบับ พปชร. หมายเหตุ - เปิดเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

เปิดร่างแก้ รธน.ฉบับ พปชร.

หมายเหตุ เปิดเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา พร้อมบันทึกหลักการและเหตุผลที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน ดังนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยคน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับโดยให้ใช้
บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบละหนึ่งใบ
ในกรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง
หรือประกาศชื่อ ส.ส.ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบตัว ส.ส.เท่าที่มีอยู่
ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคนให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

มาตรา 85 ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้เขตละหนึ่งคนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้
ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

Advertisement

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมไม่ว่าจะได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม

มาตรา 86 การกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.สี่ร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
(3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(4) เมื่อได้จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้ว ถ้าจำนวน ส.ส.ยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุดให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม ส.ส.ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสี่ร้อยคน
(5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

มาตรา 90 พรรคการมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเขตเลือกตั้ง ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามวรรคสอง ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชี ไม่เกินบัญชีละหนึ่งร้อยคน และให้ยื่นต่อ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถ้าปรากฏว่าก่อนหรือในวันเลือกตั้งมีเหตุไม่ว่าด้วยประการใดที่มีผลทำให้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ และในกรณีนี้ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย ส.ส.เท่าที่มีอยู่
การจัดทำบัญชีผู้รับสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยจัดทำรายชื่อเรียงตามลำดับหมายเลข รายชื่อในบัญชีต้องไม่ซ้ำกับบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองอื่นจัดทำขึ้น และไม่ซ้ำกับรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 87

Advertisement

มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.ตามวรรคหนึ่ง
หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

มาตรา 92 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ กกต.ดำเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น

มาตรา 94 ถ้าต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มิให้มีผลกระทบกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งตามมาตรา 91

มาตรา 5 ให้ยกเลือกความในมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 144 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ส.ส.จะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
2.ดอกเบี้ยเงินกู้
3.เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้
ในกรณีที่ ส.ส.หรือ ส.ว.มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรค ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาและศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหกให้การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไป

รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากหน่วยงานนั้นเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ ให้สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง”

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 185 ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อน ตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 270 ให้รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกหนึ่งปี

ร่าง พ.ร.บ.ที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นั้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมิได้แจ้งว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศหาก ส.ส.หรือ ส.ว.เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา อาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้นแล้วเสร็จ

เมื่อประธานรัฐสภาได้รับคำรองตามวรรคสาม ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมซึ่งประกอบด้วยประธานวุฒิสภาเป็นประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการเพื่อวินิจฉัย

การวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสี่ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด และให้ประธานรัฐสภาดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยนั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image