รายงานหน้า2 : ส่อง‘40ซีอีโอ’รุก-จัดการ ‘วัคซีน’แก้‘วิกฤตศก.’

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนและนักวิชาการกรณีหอการค้าไทยประชุมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในภาคอุตสาหกรรมและบริการกว่า 40 ราย และเห็นพ้องในการเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน ซึ่งวันที่ 19 เมษายน ทั้งภาคเอกชนในหอการค้าไทย และ ส.อ.ท.ได้ประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาครัฐในการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย และทั้ง 2 องค์กรได้นำข้อเสนอจากที่ประชุมเข้าหารือในที่ประชุม กกร. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะทำงานร่วมกัน ก่อนนำเสนอรัฐบาลในนาม กกร.ต่อไป ในการประชุมได้เห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น 2.คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 3.คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบวัคซีน พาสปอร์ต เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ 4.คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น พบว่ามีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส และขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น โดยจะหารือในรายละเอียดและข้อสรุปในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำข้อมูลส่งรัฐบาลเร็วที่สุด
ทางภาคเอกชนต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตอบรับข้อเสนออย่างรวดเร็ว ในการเร่งหาวัคซีนทางเลือก โดยได้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมพร้อมกับจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว ภาคเอกชน นำโดย กกร. จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วยในจำนวนนี้ หากให้เอกชนดำเนินการ 10-15 ล้านโดสก็ยินดี เพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยพร้อมจะออกค่าใช้จ่ายเองเพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

Advertisement

ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงระลอกปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลต้องควบคุมการระบาดให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดเป็นระลอกใหม่ขึ้นแบบนี้ โดยมองว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือวัคซีนถือเป็นคำตอบสูงสุด รัฐบาลสามารถเร่งนำเข้าวัคซีนและกระจายฉีดให้กับประชาชนในประเทศได้ยิ่งเร็วเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามมาได้เร็วมากเท่านั้น เนื่องจากหากมีการฉีดวัคซีนได้ในสัดส่วนที่เพียงพอ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ก็เท่ากับว่าประชาชนในประเทศสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น เกิดการเดินทาง ซึ่งการใช้จ่ายก็จะตามมา รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็สามารถทำได้แบบปลอดภัยมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะรับเข้ามาก็เน้นเฉพาะประเทศต้นทางที่มีความปลอดภัย ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเท่านั้น ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งสองฝ่าย
หากรัฐบาลนำเข้าวัคซีนมาได้แบบจำกัดจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องเร่งฉีดให้กับจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนสูงๆ ก่อน เพราะที่เห็นจากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดหลักทางเศรษฐกิจ อาทิ กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ และระยอง โดยในปีนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐบาลต้องพยายามฉีดวัคซีนให้คนในประเทศให้ได้ในสัดส่วน 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น ซึ่งจะสามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ ทั้งจากประชาชนในประเทศ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ รัฐบาลที่ต้องวางแผนในการเจรจาสั่งซื้อกับประเทศผู้ผลิต ขั้นตอนนำเข้า และวางแผนในการกระจายฉีดให้เร็วที่สุด
ภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลทุกทาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงในด้านสภาพคล่อง ก็ต้องการช่วยเรื่องเม็ดเงิน เพราะจากที่หารือร่วมกันในสภาอุตสาหกรรมฯ ก็เห็นว่ามีผู้ประกอบการจำนวนหลายราย ที่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลผ่านเม็ดเงินที่มี ขอเพียงรัฐบาลมีความชัดเจนในนโยบายนำเข้าและฉีดวัคซีนเท่านั้น ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้สามารถสร้างความชัดเจนในกระบวนการดำเนินงาน รวมถึงเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย
การที่เริ่มเห็นภาคเอกชนออกหน้ามากขึ้น ในการขอเป็นส่วนร่วมมือกับรัฐบาล ในการควบคุมการระบาดของโควิด ถือเป็นการสะท้อนเสียงว่า
ขณะนี้ผู้ประกอบการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหม่ขึ้น ทั้งปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ แต่ก็ยังเห็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก ซึ่งเกิดจากต้นตอที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รัฐบาลน่าจะต้องปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับโควิด และเปิดช่องให้เอกชนสนับสนุนในส่วนที่มีความถนัดมากกว่าได้แล้ว เพื่อให้การคุมโควิดมีประสิทธิภาพและจบลง

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยกันคือการรับฟังความเห็นของภาคเอกชนและนำไปบริหารจัดการตามแนวทางรัฐ เบื้องต้นทาง 40 บริษัท ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทั้งในเรื่องของการจัดหาวัคซีน และให้ใช้สถานที่ของตน เพื่อให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งพร้อมช่วยเหลือในการจัดหาบุคลากรเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ อาทิ แพทย์ พยาบาลที่เกษียณอายุไปแล้ว นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-5 ที่มีความรู้เรื่องการฉีดวัคซีน และบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ ให้มาช่วยเหลือเพื่อให้การฉีดวัคซีน แนวคิดดังกล่าวจัดทำเพื่อรองรับวัคซีนที่จะเข้ามาในเดือนมิถุนายนนี้อีก 6 ล้านโดส มองว่าบุคลากรของโรงพยาบาลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ เอกชนจึงต้องการสนับสนุนเพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้นต่อไป
เป้าหมายครั้งนี้ เอกชนต้องการให้มีการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรในประเทศ เร็วสุดภายในปลายปี 2564 นี้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เป้าหมายเดิมคือ ต้องการให้ภูเก็ตเป็นแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% ภาคเอกชนจึงอยากให้นำร่องจากพื้นที่นี้ก่อน โดยต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรในจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา โดยประเทศที่จะเข้ามาก็ต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนมาแล้วเช่นกัน และในช่วงแรกอยากให้เป็นการเดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อเป็นการทดลองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ หากทำได้จึงค่อยขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
การที่ภาคเอกชนมาผลักดันเรื่องวัคซีนมากขึ้นเนื่องจากเป็นในตอนนี้วัคซีนถือเป็นเครื่องมือเดียวที่จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ และถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลออกมาก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยประคองให้ประชาชนยังอยู่ได้ในสถานการณ์นี้ แต่เป็นเพียงวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐบาลต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนหารายได้ได้ด้วยตนเองด้วย เพราะไม่รู้ว่าต้องเยียวยาอีกกี่ครั้ง เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ส่วนเรื่องการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการลงจาก 1.5-3.5% เป็น 1.5-3.0% ซึ่งภาคเอกชนเห็นด้วย เนื่องจากยังมีโอกาสที่รัฐบาลจะพาจีดีพีไทยไปถึง 3.0% ซึ่งรัฐจะต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท จึงจะไปถึง 3.0% ได้ มองว่าโอกาสยังมีหากเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและเร็วมากขึ้น

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การออกมาเคลื่อนไหวของตัวแทนภาคธุรกิจคงมีการประเมินแล้วว่าการระบาดในระลอกที่ 1 ถึงระลอกที่ 3 มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน และไม่มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดเพิ่มได้จริงหรือไม่ ดังนั้นหากไม่มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มตามเป้าหมายภายใน 1-2 เดือน เชื่อว่าจะมีผลกระทบเป็นคลื่นลูกใหญ่ หลังจากเชื้อโควิดมีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้การระบาดครั้งมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในระดับมหภาค ดังนั้นภาคองค์กรเอกชนก็จะต้องออกมาดิ้นรนเพื่อให้มีผลกระทบกับธุรกิจของตัวเองน้อยที่สุด และทางออกเดียวคือการเร่งหาวัคซีน
สำหรับโอกาสความเป็นไปได้ รัฐบาลและเอกชนจะต้องทำข้อตกลงร่วมกันว่าถ้ารัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำวัคซีนเข้ามาได้ หากมีผลกระทบเกิดขึ้น ภาคเอกชนจะต้องแบกรับภาระทั้งหมด เช่นฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์หรือมีผลข้างเคียงอื่นกับภาวะสุขภาพของผู้ฉีด ภาคเอกชนต้องรับผิดชอบเอง อย่าผลักภาระให้รัฐบาล
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมักจะตั้งข้อสังเกตหรือมองถึงการบริหารจัดการวัคซีนที่ผ่านมา เพราะสัดส่วนการฉีดในประเทศยังไม่มีมาก แต่ไม่ได้มองถึงการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด เพราะรัฐอาจประเมินว่าหลังการระบาดระลอก 2 แล้วจะไม่มีการระบาดในระลอก 3 หากไม่มีการระบาดระลอกล่าสุดก็เชื่อว่ารัฐบาลได้ทำตามแผนที่วางไว้ แต่ขณะนี้การระบาดในวงกว้างเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดปัญหาจึงทำให้แผนที่วางไว้ก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความรู้สึกของประชาชนในภาวะที่คนส่วนใหญ่ต้องการวัคซีน ขณะที่รัฐบาลก็มีปัญหาจากการสื่อสารที่มีความผิดพลาดในภาวะวิกฤต
การระบาดของโควิดรอบนี้ยังซ้ำเติมรัฐบาลด้วยปัญหาทางการเมืองที่หลายภาคส่วนสะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการ กระทั่งตัวแทนภาคเอกชนขนาดใหญ่จะต้องออกมาขยับขับเคลื่อนเพื่อให้มีการจัดหาวัคซีน ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า และหากจะให้มีผลจริงในทางปฏิบัติรัฐบาลควรเชิญตัวแทนภาคเอกชนมาพูดคุย เพื่อหารือให้ชัดเจนถึงวิธีการและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งความรับผิดชอบหากมีผลกระทบ ก่อนมีการซื้อขายเพื่อนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ การระบาดรอบนี้จะทำให้มิติทางเศรษฐกิจในประเทศบานปลายหนักกว่านี้
ทุกประเทศต้องการวัคซีนในปริมาณมากจากการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตจะมีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อยังมีข้อถกเถียงในทางวิชาการ มีบางประเทศเลิกใช้บางยี่ห้อ เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัญหาพอสมควร และขณะนี้ยังไม่มีใครหยิบยกให้ปัญหาโควิดกลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน มากกว่าการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่หน่วยงานส่วนกลาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image