‘พท.’วิพากษ์งบฯ’65 จัด3.1ล้านล.-สะท้อน‘เหลว’ ส่อแวว‘ศก.’ถดถอย

‘พท.’วิพากษ์งบฯ’65 จัด3.1ล้านล.-สะท้อน‘เหลว’ ส่อแวว‘ศก.’ถดถอย

หมายเหตุรายละเอียดส่วนหนึ่งของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่มีวงเงิน 3.25 ล้านล้านบาท จำนวน 1.85 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านเศรษฐกิจ วิพากษ์การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว

สาระสำคัญ-ไทม์ไลน์ พ.ร.บ.งบฯ65

Advertisement

ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯต่อ ครม. ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-7 เมษายน 2564 และได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว

วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีวงเงินจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่ 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.15% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 6.24 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 20.14% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.22% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 2.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.81% และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02 %

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงบประมาณจะได้จัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

Advertisement

ตามปฏิทินงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวาระที่ 1 ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2564 วาระที่ 2-3 ในวันที่ 11-13 สิงหาคม 2564 และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2564 จากนั้นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 7 กันยายน 2564 ต่อไป

พิชัย นริพทะพันธุ์
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท มีหลายประเด็นที่น่ากังวลซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังถดถอยอย่างหนัก โดยงบประมาณปี 2565 นี้ ลดลงจากงบประมาณปี 2564 ถึง 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลง 5.66% โดยปกติงบประมาณรายจ่ายของประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ควรจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินไปพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดยิ่งจะต้องการเงินทุนที่จะต้องฟื้นฟูประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น แต่นี่กลับปรับลดงบประมาณลง

นอกจากนี้ งบลงทุนในปี 2565 มีเพียง 624,399.9 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการกู้เงินชดเชยการขาดดุล 700,000 ล้านบาท แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้กู้เงินมาเพื่อลงทุนทั้งหมด แต่กู้มาเพื่อใช้จ่ายด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของความถดถอย

ปกติงบลงทุนจะต้องเท่ากับหรือมากกว่าเงินกู้ เพื่อประเทศจะได้มีรายได้จากการลงทุนในอนาคต การกู้มาใช้จ่ายก็มีแต่จะหมดไป ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เหมือนที่รัฐบาลกู้มาแจกเงินตอนนี้ แต่ไม่ได้สร้างธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตก็มีแต่จะหมดไป

อีกทั้งการประเมินรายได้ของรัฐในงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษีอากร อาจจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการอย่างมากได้ จากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐบาลจะไม่สามารถเก็บภาษีอากรจากประชาชนและภาคธุรกิจตามที่คาดหมายได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเพื่อโปะรายได้ที่จะขาด และจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมากกว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก หนี้สาธารณะของประเทศจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ประเทศไม่ได้พัฒนา โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้งบประมาณแล้วประมาณ 24 ล้านล้านบาท แต่ประเทศไม่ได้ไปไหนเลย

สาเหตุที่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณแบบถดถอยนี้มาจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจที่สั่งสมมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาก และมีการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าการคาดประมาณมาตลอด

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจได้ดีเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่จะฟื้นตัวได้สูง เช่น จีน (7-8%) เวียดนาม (6-7%) และ สหรัฐ (6.4%) เป็นต้น และจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงขึ้น ซึ่งจะไม่ต้องมาลดงบประมาณ หรือ กู้เงินเกินการลงทุนเพื่อมาใช้จ่ายเหมือนที่ประเทศไทยกำลังทำ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาอีกมาก

นอกจากนั้น แล้วในรายละเอียดงบประมาณยังมีหลายประเด็นที่ควรแก้ไข เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องบัตรทอง ถูกปรับลดงบประมาณ 1,815 ล้านบาท ทั้งที่จะมีประชาชนเข้ามาใช้บัตรทองเพิ่มขึ้น 137,000 คน

ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง งบประมาณกลาโหม แม้จะลดลง 11,000 ล้านบาท หรือลดลง 5.24% แต่ก็ยังลดน้อยไป เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากทางด้านนี้ในสภาวะเช่นนี้ และงบประมาณด้านกลาโหมในอดีตก็เพิ่มขึ้นทุกปีมามากแล้ว ดังนั้นจึงควรตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงอีกมาก และยกเลิกการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมด เพื่อนำเงินไปใช้ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนเพื่อมากระจายฉีดให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้เปิดประเทศรับการท่องเที่ยวและเปิดรับการค้าการลงทุน จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะได้ไม่ต้องปรับลดงบประมาณอีก และการกู้เงินควรจะนำมาใช้เพื่อการลงทุน ไม่ใช่กู้มาใช้จ่ายเหมือนในปัจจุบัน จะกลายเป็นสภาพงูกินหางได้

ดังนั้น อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ศึกษาแนวทางของประเทศอื่นๆ ที่มีผู้นำที่รอบรู้และมีความชำนาญทางเศรษฐกิจ จะพบว่าประเทศเหล่านี้จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใช้สถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิดนี้ในการก้าวกระโดดเพื่อพัฒนาประเทศให้ทะยานไปข้างหน้า โดยผู้นำจีนคาดว่าจะพาประเทศจีนพัฒนาก้าวหน้าโดยมีจีดีพีแซงหน้าประเทศสหรัฐได้ภายใน 8 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามจะขึ้นเป็นอันดับ 19 ของโลกในปี 2035 ซึ่งจะแซงประเทศไทยไปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปไหนเลย ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image