รายงานหน้า2 : ส่อง‘ธรรมนัส’คุมหัวเมืองใต้ ร่องรอยปริ-แยก‘พปชร.-ปชป.’

หมายเหตุนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งสัญญาณไม่พอใจคำสั่ง 85/2564 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยมอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เดิมดูแลโซนจังหวัดภาคเหนือ มาเป็นดูแลพื้นที่ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต ทำให้เห็นว่าอาจจะเป็นการเตรียมพื้นที่เลือกตั้งในอนาคต

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การส่งรัฐมนตรีไปคุมในจังหวัดสำคัญเป็นแผนที่มีเป้าหมายทางการเมืองของพรรค พปชร. เพื่อหวังจะสร้างฐานคะแนนนิยม ดังนั้นการวางตัวรัฐมนตรีระดับแบรนด์เนมไปดูพื้นที่จังหวัดภาคใต้ถิ่นเก่าของพรรค ปชป. ต้องทำให้เจ้าของพื้นที่เดิมมีความหวั่นไหวเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดใหญ่ที่ส่ง ร.อ.ธรรมนัสเข้าไปรับผิดชอบ ดูเหมือนว่าจะเข้าไปล้มพรรค ปชป.อีกหรือไม่ อาจมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าพรรค พปชร.จะเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า
การแสดงความเห็นของนายจุรินทร์มีท่าทีว่ารู้เท่าทัน เพราะการจัดตัวบุคคลไปลงพื้นที่ไหน ควรจะต้องมีการเจรจา โดยคำนึงถึงมารยาททางการเมือง ความเหมาะสม แต่อยู่ดีๆ มีคำสั่งออกมาจากนายกฯให้รัฐมนตรีไปขับเคลื่อนงานตามนโยบาย และเรื่องนี้เหล่ากุนซือของพรรคปชป.มีความเชื่อว่าจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหลังหัวหน้าพรรค ปชป.ออกมาทักท้วง พรรคแกนนำรัฐบาลก็คงไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรและเชื่อว่าพรรค ปชป.จะต้องเป็นฝ่ายแคร์รัฐบาลมากกว่า เพราะเดิมที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาอะไรจะคุยผ่านไปทางเลขาธิการพรรค
ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ที่ติดตามการเมืองในประเทศ ยังไม่เคยเห็นพรรค ปชป.กลายเป็นพรรคอันดับ 4 สถานะของพรรคที่มีอายุยาวนานมากที่สุดถือว่าตกต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้นการโดนลบเหลี่ยมหลังจากรัฐบาลส่งมือดีไปคุมภาคใต้ก็ต้องออกมาแสดงท่าทีบ้าง เพื่อให้แฟนคลับคลายข้อสงสัย แต่พรรค ปชป.ก็ต้องระวังตัวเองด้วย แกนนำรัฐบาลอาจจะออกมาทวงหนี้เก่า เนื่องจากจำนวน ส.ส.ของพรรค ปชป.มีแต่จะลดลง อาจจะมีข้อเรียกร้องให้มีการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีใหม่ พรรค ปชป.ก็น่าจะเสียหายหนักกว่าเก่า
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ในเมืองหลวงของพรรค ปชป.เกิดอะไรขึ้นบ้าง และเมื่อมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสลงไปคุมในจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกก็เชื่อน่าจะมีสีสันหนักกว่าเก่า ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับยุทธศาสตร์หรือปรับปรุงวิธีการขับเคลื่อนเพื่อรักษาฐานทางการเมืองในภาคใต้ไว้ให้ได้ ส่วนกรณีที่พรรค ปชป.อาจจะทราบสัญญาณบางอย่างแล้วจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลก่อนประกาศยุบสภา เชื่อว่าภายในปีนี้ยังคงเป็นไปไม่ได้สำหรับการยุบสภา เพราะตระหนักดีว่าการทำงานไม่ได้ครองใจผู้คนได้มากนัก หัวหน้าพรรค ปชป.ยังมีบาดแผลติดตัวมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นกรณีที่แกนนำพรรคออกมาพูดเรื่องการส่งรัฐมนตรีคนดังไปคุมพื้นที่ภาคใต้ ถ้าพูดแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ไม่เชื่อว่าพรรค ปชป.จะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

Advertisement

เป็นเรื่องการเมือง รัฐบาลสามารถทำได้ เพราะ ร.อ.ธรรมนัสและแกนนำ พปชร. ถือเป็น ส.ส. ที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย สามารถทำงานได้ทุกพื้นที่ ไม่จำกัดเฉพาะเขตเลือกตั้งตนเองเท่านั้น การที่รัฐบาลให้ ร.อ.ธรรมนัสลงไปดูพื้นที่ภาคใต้นั้น เป็นการส่งสัญญาณว่า พปชร. ต้องการขยายฐานเสียง และเพิ่ม ส.ส.ภาคใต้ หรือจังหวัดสำคัญในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้ามากขึ้น
พรรค พปชร. ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถมาจากพรรคเดียว เหมือนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ แต่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ทำให้มีการต่อรอง เพื่อจัดสรรอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์ ทำให้การบริหารไม่ราบรื่น และขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวหรือน้อยพรรค น่าเป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถสืบทอดอำนาจได้ รัฐบาลเข้มแข็งมากขึ้น ที่สำคัญลดการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ แต่เพิ่มการผูกขาดการเมืองในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เนื่องจากฝ่ายค้านยังไม่เข้มแข็งและอ่อนแอลง
กรณีนายจุรินทร์แสดงความไม่พอใจและเตือนรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่านายจุรินทร์และพรรค ปชป.กลัวพรรค พปชร.เข้ามายึดพื้นที่และเป็น ส.ส.ภาคใต้แทนพรคค ปชป.มากกว่า เพราะมีผลงานดีกว่า ทำให้พรรค ปชป.เหลือ ส.ส.ภาคใต้ไม่ถึง 30 ที่นั่ง จาก 52 ที่นั่งแล้ว จากเดิมที่ครองพื้นที่มาโดยตลอด แต่ปัญหาดังกล่าว เชื่อว่านายจุรินทร์และพรรค ปชป.ไม่ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะยังยึดติดกับอำนาจและผลประโยชน์ ถ้าไม่ร่วมรัฐบาล โอกาส พรรค ปชป.จะสูญเสียพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดสำคัญเพิ่มอีก
พล.อ.ประยุทธ์และพรรค พปชร. เปิดเกมรุกทางการเมืองเต็มรูปแบบแล้วหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออก หรือยุบสภาตามเสียงเรียกร้องประชาชน ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่สามารถป้องกัน ยับยั้งการระบาดโควิดได้อีก หากจัดเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าพรรค พปชร. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเพราะได้วางฐานการเมืองครอบคลุมทุกระดับแล้ว
ดังนั้นนายจุรินทร์และพรรค ปชป. ต้องพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์พรรคว่าต้องเดินไปทิศทางใด ที่สำคัญสามารถสนองความต้องการหรือตอบโจทย์ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ายังเล่นบทบาทเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อว่าศักยภาพและโอกาสของพรรค ปชป.ในทางการเมืองระดับชาติยิ่งลดน้อยถอยลงไป อาจถึงขั้นสูญพันธุ์ หรือไม่มีที่ยืนทางการเมืองในอนาคตก็ได้

วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แน่นอนว่าการที่พรรค พปชร.เล่นเกมนี้ นายกฯกล้าตัดสินใจด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าในไม่ช้าไม่นาน จะมีการจัดเตรียมการเลือกตั้ง ระฆังสัญญาณการเลือกตั้ง จะลั่นให้อยู่ในความไม่ประมาท โดยสถานการณ์ ณ ขณะนี้ เป็นไปได้สูงว่าการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาไปได้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะได้เครดิตพอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน หากเกิดวิกฤตเดินไปถึงทางตัน ไม่ว่าจะด้วยกระแสทางสังคมก็ดี แต้มต่อทางสังคมในขณะนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรค พปชร.น่ากุมอำนาจ กุมกลไกทางรัฐไว้เบ็ดเสร็จทั้งหมดแล้ว
ดังนั้น การส่งคนที่เป็นจุดแข็ง คือ ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนที่มีประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือการใช้ชีวิตในภาคใต้มาก่อน ย่อมรู้วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดของพรรค ปชป.ซึ่งแตกไปในหลายแห่ง ถูกเจาะไข่แดงไปมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าคนที่เป็น ส.ส.ในพรรค ปชป.ปัจจุบัน ใช่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ปชป.ต่อไป เพราะมีแนวโน้มว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้ในการเลือกตั้งคราวหน้า พรรค ปชป.จะหาประเด็นไปขายแข่งกับพรรค พปชร.ลำบาก สะท้อนให้เห็นว่ากรณีการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งที่พรรค ปชป.ระดมพลระดับแกนนำไปมากมายขนาดนี้ ก็ยังพ่ายแพ้การอำนวยการ หรือการวางแผนเดินเกมต่อสู้ในการเลือกตั้งซ่อมของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้ จึงเป็นไปได้ว่าการที่ ร.อ.ธรรมนัสมารอบนี้ เป็นการยืนยันความพร้อมที่จะเตรียมรับตำแหน่งใหม่ หากเป็นไปได้ อาจได้รับตำแหน่งแม่บ้านของพรรค
พปชร. ซึ่งหมายถึงตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค”
แน่นอนว่าเป็นการมองยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมการเลือกตั้งโดยเฉพาะ เป็นการพยายามสร้างเอกภาพการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียว สำหรับ ร.อ.ธรรมนัสมีคาแร็กเตอร์ มีบุคลิกที่ทำงานรวดเร็วและเฉียบขาด เป็นที่ถูกตาถูกใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่างมาก คงจะไม่แคร์กระแสการเป็นอยู่ร่วมกันของรัฐบาล ที่แม้นายจุรินทร์จะออกมาให้สัญญาณเตือนก็ตาม นับเป็นรอยร้าวพอสมควร ส่วนตัวมองว่านายจุรินทร์และองคาพยพในพรรค ปชป.คงจะออกมาขยับเขยื้อนมากกว่านี้ คงจะเปิดประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงออกถึงความไม่พอใจมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่กลบกระแสอารมณ์ความไม่พอใจ ณ ขณะนี้ ไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คายลงไป ผมเชื่อว่าร่องรอยความขัดแย้งจะปริ-แยก ออกมากขึ้น ในประเด็นที่นายจุรินทร์เคยส่งสัญญาณเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์
คิดว่าการอยู่ร่วมกัน มารยาททางการเมือง เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำหน้าที่พรรคร่วมรัฐบาล การทำงานให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยนั้น บางครั้งมารยาททางการเมืองก็ควรจะตระหนัก เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันต่อไปอย่างเรียบร้อย มากกว่าจะเอาเรื่องยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง หรือการสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง เพื่อรอการเลือกตั้งครั้งหน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image