รายงาน : อำนาจ พิเศษ รัฐราชการ ‘รวมศูนย์’ ภายใต้ ‘ศบค.’

การขยายอำนาจของ “หัวหน้า ศบค.” ให้สามารถสั่งการโดยตรงครอบคลุม 31 พ.ร.บ.สำคัญ ท้าทายอย่างยิ่งต่อกระบวนการ “บริหารจัดการ”

นั่นเท่ากับเป็นการขยาย “อำนาจ” ของ “นายกรัฐมนตรี”

เพราะ “นายกรัฐมนตรี” อันหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือบุคคลคนเดียวกันกับที่ดำรงตำแหน่งเป็น “หัวหน้า ศบค.”

เป็นอำนาจซึ่งได้มาจากอำนาจ “พิเศษ”

Advertisement

นั่นก็คือ การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563

เท่ากับให้ “หัวหน้า ศบค.” บริหารผ่าน “ปลัดกระทรวง”

เท่ากับละเลยบทบาทและความหมายของ “รัฐมนตรี” อันมีพื้นฐานมาจาก “พรรคการเมือง” และมีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง”

Advertisement

คำถามก็คือจากเดือนมีนาคม 2563 ผลเป็นอย่างไร

หากมองตามความเชื่อมั่นของรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกับว่าอำนาจพิเศษ อำนาจอันเด็ดขาดนี้มีประสิทธิภาพ

นั่นก็เห็นได้จากสถานการณ์ “โควิด” ผ่อนเบาลงในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

กระนั้น ผลสะเทือนที่ตราบกระทั่ง ณ วันนี้ ก็ยังไม่สามารถหาทางออกที่เหมาะสมได้ นั่นก็คือ ผลสะเทือนจากมาตรการ “ล็อกดาวน์”

ตกกระทบถึงสภาวะในทาง “เศรษฐกิจ”

และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2 จากคลัสเตอร์ใหญ่ 1 คือ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และ 1 บ่อนการพนันที่ระยอง ชลบุรี จันทบุรี

ก็ชี้ให้เห็นความย่อหย่อนเหมือนกับที่ “สนามมวย” และ “สถานบันเทิง”

ยิ่งเมื่อการแพร่ระบาดรอบที่ 3 จากคลัสเตอร์ใหญ่ คือ สถานบันเทิงเลิศหรูอลังการในซอยทองหล่อ
อันสัมพันธ์กับ “ไทยคู่ฟ้า คลับ” แนบแน่น

ยิ่งเป็นภาพฟ้องถึงความล้มเหลว มากกว่าความสำเร็จ

คําถามก็คือ ทั้งๆ ที่ความล้มเหลวปรากฏและสำแดงตัวตนออกมากรณีแล้วกรณีเล่า เหตุใดจึงยิ่งทำให้เกิดความคิดที่จะ “รวบอำนาจ” มากยิ่งขึ้น

ตอบได้เลยว่า มาจากความเคยชิน

เป็นความเคยชินในแบบ “ราชการ” โดยเฉพาะ “ทหาร” เมื่อประเมินว่ามาตรการเข้มในเดือนเมษายน 2563 คือรากฐานแห่งความสำเร็จ

จึงนำไปสู่ความคิดที่ว่า ทำไมไม่ “งัด” มาใช้อีก

เป็นความเคยชินและประสบการณ์ที่ดูแคลนและมองข้ามบทบาทของ “นักการเมือง” จึงยิ่งดึงอำนาจจาก “รัฐมนตรี” ซึ่งเป็นนักการเมือง

รวมศูนย์มาอยู่ในมือของ “ราชการ”

ในเมื่อ “หัวหน้า ศบค.” มีพื้นฐานมาจาก “ราชการ” จึงชมชอบอย่างเป็นพิเศษที่จะต่อสายผ่าน
“ปลัดกระทรวง” มากกว่าที่จะเสพเสวนากับ “รัฐมนตรี” ที่เป็นนักการเมือง

ไม่ว่านักการเมือง “ภูมิใจไทย” หรือ “ประชาธิปัตย์”

มาตรการ “เข้ม” จากข้อเสนอของ “อนุ” ศบค.ที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงเป็นการสนองต่อ “วาสนา” และความเคยชินดั้งเดิม

ความเคยชินอันเป็นตะกอน นอนก้นในทาง “ความคิด”

เมื่อบรรดารัฐมนตรีอันมีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง” ล้วนพากันสยบยอมต่ออำนาจแห่ง “รัฐราชการ รวมศูนย์” เช่นนี้

ก็จำเป็นต้อง “รอ” และ “ดู” กันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image