วิกฤต ‘โควิด-19’ ระบาด แรงกระแทกแรงงานไทย

หมายเหตุ – เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาของ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน และทีมวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผลกระทบและข้อเสนอแนะจากการระบาดของโควิด-19 ใน 3 ระลอกต่อแรงงานไทย

 

ประเทศไทยมีการระบาดของโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมาถึง 2 รอบ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีการผันผวนอย่างมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานในภาพรวม กล่าวคือ การระบาดรอบที่ 1 ปรากฏในรอบปี 2563 พบว่าตลาดแรงงานยังไม่ถูกกระทบรุนแรงทันที เนื่องจากมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เริ่มดำเนินการราวกลางเดือนมีนาคม 2563 การที่ ศบค.ผ่อนคลายล็อกดาวน์โดยผ่อนปรนให้กิจการภาคบริการหลากหลายสาขาเปิดดำเนินการได้ รัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการโดยทั่วไป แต่สั่งปิดเฉพาะบางจังหวัดที่เกิดการระบาดโควิด-19 เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี และสมุทรสงคราม เป็นต้น ทำให้ตลาดแรงงานในปี 2563 ฟื้นตัวถึงแม้จะยังติดลบอยู่ 2 ไตรมาส คือ ไตรมาส 1 และ 2 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าลดลง 0.7% และ 1.9% และเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 คิดเป็นจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 1.2% และ 2.2%

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการมีงานทำยังไม่หมดไป เนื่องจากการระบาดในรอบที่ 2 ยังไม่ทันจางหายไป ในไตรมาส 1 ปี 2564 ก็มีการระบาดรอบ 3 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่สูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากมาตรการต่างๆ มากมายที่สนับสนุนโดยรัฐ ผู้ประกอบการจึงยังจ้างแรงงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผู้ทำงานต่ำระดับไม่เกินครึ่งเวลาขาดความมั่นคงและย่อมขาดรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และตัวเองอยู่ในสถานะลำบากซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไรท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นๆ

Advertisement

แรงงาน 27 ล้านคน หรือประมาน 82% ของแรงงานที่มีงานทำ ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด คนกลุ่มนี้มีงานทำลดน้อยลง บางส่วนอาจออกไปทำงานต่ำระดับ ทำงานไม่เต็มที่หรืออยู่เฉยๆ และที่แน่นอนคือรายได้พิเศษจากช่องทางทำงานล่วงเวลาอาจจะลดลงไปด้วย ทำให้รายได้พิเศษที่เคยได้หายไป ซึ่งรายได้นี้ปกติน่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มจากรายได้เพียงเพื่อปัจจัย 4 โดยเน้นรายได้ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น และถ้ารายได้ส่วนนี้เคยนำไปใช้จ่ายเหมือนรายได้ปกติของครอบครัว เมื่อรายได้พิเศษส่วนนี้หายไป เงินที่เคยนำมาใช้ส่งลูกเรียน ค่าผ่อนส่งสินค้าต่างๆ ก็จะมีปัญหาไปด้วย

สรุป

การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและวิวัฒนาการของโลกดิจิทัลที่ทำให้นิเวศของกำลังงานเปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเดียว แต่มีความซับซ้อนจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงทั่วโลก ตลาดจึงต้องปรับตัวโดยเฉพาะด้านอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ใหม่ (New Demand)

Advertisement

ในประเทศไทยผลกระทบโควิด-19 เกิดจากการระบาดในกลุ่มคน (Cluster) ที่ไม่เว้นระยะห่าง (Distancing) ไม่ใส่แมสก์เวลาพูดคุย และ/หรือดื่มกิน สังสรรค์ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก และประมาทคิดว่าการระบาด
โควิด-19 สามารถ เอาอยู่Ž ไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานของ ศบค.

ถึงตอนนี้ประเทศไทยผ่านการระบาดมา 3 รอบ รวมเวลา 15 เดือน โดยเฉพาะการระบาดรอบแรกและรอบ 2 ห่างกันถึง 6 เดือน แต่หลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเห็นว่ารัฐบาลมีความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีน การที่ไม่เร่งนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้ประชาชนให้ถึงไม่น้อยกว่า 70% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม ก็จะไม่สามารถป้องกันหรือบรรเทาปัญหาการติดเชื้อใหม่และการล้มตายจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงให้ชะลอตัวลงได้ กระทบความมั่นใจในการเดินทางและการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ ไปจนถึงการจับจ่ายใช้สอย

ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือเยียวยามากมายจากทางรัฐบาล เพื่อเยียวยาประชาชนส่วนใหญ่ที่ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มอื่นๆ โดยทั่วไป ทำให้รัฐต้องกู้เงินมาใช้ในการเยียวยาเพื่อให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนที่เดือดร้อน โดยได้ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้สามารถดันเศรษฐกิจที่ติดลบ 6.1% ในปี 2563 น่าจะกระเตื้องขึ้นได้ในปี 2564 ราว 2.5-3.5% แต่เมื่อการระบาดรอบ 3 เกิดขึ้นเมื่อต้นเมษายน 2564 หลายฝ่ายที่เป็นกูรูทางเศรษฐกิจเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะลดลงเหลือ 1% เศษๆ เท่านั้น

การที่เศรษฐกิจมีปัญหาหลายระลอกและการระบาดไวรัสโคโรนา 3 รอบแล้ว (และไม่รู้จะเกิดเป็นรอบที่ 4 อีกหรือไม่) ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการป้องกัน/เยียวยา/รักษาผู้ติดเชื้อ
โควิด-19 ส่งผลถึงการปรับตัวของตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการประเมินโดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ตลาดแรงงานผันผวนในช่วงระบาดเป็นอย่างมาก แรงงานส่วนมากมีงานทำโดยปกติถ้าไม่มีการระบาดของโควิด-19 การว่างงานจะอยู่ที่ 0.75-1.0% หรือคิดเป็นคนว่างงานประมาณ 4 แสนคน จนถึงใกล้ๆ 8 แสนคน (ร้อยละ 1.6)
ผู้ตกงานเหล่านี้ต้องการการเยียวยา โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ

ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เพียงแต่ทำให้แรงงานตกงานเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขาต้องทำงานได้ไม่เต็มที่ จากข้อมูลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าไม่ได้ทำงานแต่มีงานประจำ มีจำนวน 0.18 ล้านคน ทำงาน 1-19 ชั่วโมง จำนวน 1.09 ล้านคน ทำงาน 20-39 ชั่วโมง 9.42 ล้านคน รวม 10.69 ล้านคน

แรงงานประมาณ 10 ล้านคนเหล่านี้มีความเดือดร้อนแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าทำงานได้มากหรือน้อย และต้องการความช่วยเหลือทางการเงินชนิดให้เปล่าเต็มจำนวนหรือร่วมจ่าย รัฐจึงยังจำเป็นต้องเยียวยาต่อไปจนถึงสิ้นปี

เงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาทของรัฐ ปัจจุบันเหลือไม่กี่แสนล้านบาทถ้าจะต้องช่วยถึงสิ้นปี คงต้องกู้เพิ่มอีก 0.5-1 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ขัดสนต่อไป จนกว่าธุรกิจสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ โดยให้การเยียวยากับทุกกลุ่ม ยกเว้นเฉพาะผู้มีรายได้ มีฐานะดี ไม่ต้องได้รับเงินเยียวยา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีรายได้น้อยยังยืนอยู่ได้ในสังคม

สรุป คือประชาชนจะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดส 70-80% ของประชากรภายใน 6 เดือนที่เหลือในปีนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรเลือกฉีดวัคซีนที่เหมาะสมให้มากที่สุด

ข้อเสนอแนะ

1.เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคบริการ (การท่องเที่ยว) แรงงานที่อยู่ในภาคนี้จะฟื้นได้จนเข้าสู่ระดับ New Normal จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัย 70-80% และหมุนเวียนจนครบทุกคนโดยเร็วที่สุด เมื่อนั้นความมั่นใจในความปลอดภัยจะเกิดขึ้น การบริโภค การลงทุน ของภาคเอกชนจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่การขยายตัวได้อีกครั้ง การทำงานต่ำระดับก็จะบรรเทาลง ตลาดแรงงานจะมีอุปสงค์ใหม่เพื่อรองรับกลุ่มเยาวชนที่มีการว่างงานได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ทรัพยากรของรัฐต้องให้ความสำคัญมากที่สุดกับการได้มาซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะแพงเท่าใดก็ต้องซื้อและฉีดให้คนไทยทุกคนให้ได้โดยเร็ว รัฐเสียเงินเป็นล้านล้านบาทมาแล้วกับมาตรการอื่นๆ จะเสียอีกแสนล้านบาทเพื่อพยุงชีวิตและเศรษฐกิจถือว่าคุ้มค่า

2.ระยะเวลาอีกประมาณ 6-8 เดือนนี้ กลุ่มคนมีรายได้ระดับล่าง ซึ่งเป็นกำลังแรงงานประมาณ 30 ล้านคน จะต้องได้รับเงินเยียวยาต่อไป โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบประมาณมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลมีบัญชีรายชื่ออยู่หมดแล้ว อย่างน้อยคนละ 3 พันบาทต่อเดือน และเมื่อทุกคนได้รับวัคซีนครบ 100% แล้ว การปรับตัวของประเทศทำได้อย่างราบรื่น เมื่อความเชื่อมั่นไว้วางใจกลับมาทั้งเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะฟื้นตัวตามมาได้เอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเยียวยาด้วยเงินมหาศาลอีกต่อไป

3.ภาระของรัฐบาลคงเหลือแต่การสนับสนุนผู้ประกอบการ (Real sector) โดยเฉพาะเอสเอ็มอีด้วยการหยุดเลือดที่ไหลจากผลกระทบของโควิด-19 แล้วช่วยเติมเลือดใหม่ให้กลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และในที่สุดได้กลับเข้ามาเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง

4.กลุ่มสุดท้ายคงเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ (Decent life and living) ได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image