เอกชน-นักวิชาการชำแหละ มาตรการรัฐ‘สกัดโควิด’

เอกชน-นักวิชาการชำแหละ มาตรการรัฐ‘สกัดโควิด’

หมายเหตุความเห็นของภาคเอกชนและนักวิชาการ ประเมินมาตรการและการแก้ปัญหาของรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

ต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 หลังจากมีการรวบอำนาจทั้งหมดไปไว้ที่รัฐบาล แต่การทำงานไม่มีการบูรณาการร่วมกันเท่าที่ควร ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องในหลายจังหวัด หากเป็นไปได้นายกรัฐมนตรีควรพิจารณายุติการใช้แนวทางการรวมศูนย์อำนาจ และควรประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติโดยเร็ว ด้วยการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เช่น ภาคเอกชนช่วยหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในจุดเสี่ยง หรือการจัดหาวัคซีนทางเลือก

ดึงภาคประชาสังคมในชุมชนท้องถิ่นทั้งผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น อสม.ทำหน้าที่ด่านหน้ามีแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ ช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่บางส่วนมีปัญหาติดเชื้อ บางส่วนต้องโดนกักตัว ขณะที่หลายจังหวัดมีสถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัยการสาธารณสุข การพยาบาลที่มีนักศึกษาแพทย์ หรือกลุ่มสนับสนุนงานสาธารณสุข ก็ควรเข้ามาช่วยเหลือดูแลในแต่ละจังหวัดเพื่อแบ่งเบาภาระ

ขณะนี้โควิด-19 ระบาดลุกลามไปทั่วประเทศ มีการประเมินว่าหลายจังหวัดสถานการณ์ยังน่ากังวลโดยเฉพาะใน กทม.ศูนย์กลางของประเทศที่ผลโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่มิติในการบริหารพบว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้านสาธารณสุข เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหาไปมากกว่านี้ นอกจากประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รัฐบาลต้องยอมรับความจริงในความผิดพลาดในบางเรื่องและรีบบอกความจริงกับประชาชน ผู้นำต้องมีความกล้าหาญที่จะสื่อสารข้อมูลกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ขออย่าเอาปัญหาโควิดไปเล่นการเมืองจนเกินขอบเขต หรือนำปัญหาไปวิพากษ์วิจารณ์ทำให้สังคมขาดเอกภาพ ทำให้ประชาชนบางฝ่ายเลือกเชื่อในชุดข้อมูลที่คล้อยตามไปกับฝ่ายการเมืองที่ชื่นชอบ

Advertisement

ขณะที่ในข้อเท็จจริงของภาวะความเสี่ยงในการใช้วัคซีน จะมีผลต่อสุขภาพของปัจเจกบุคคล ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่เชื่อข้อมูลที่ฝ่ายใดนำเสนอ แต่รัฐบาลควรมีวิธีการเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่น มีความมั่นใจ แต่ในประเทศไทยเรื่องนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องของการเมืองมากเกินขอบเขต ทั้งที่รัฐบาลควรสร้างระบบการสื่อสารที่ดี ทำให้โควิด-19 เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก

ขณะที่ปัญหาสำคัญที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่น มาจากการนำเข้าวัคซีน 2 ยี่ห้อ และบางเรื่องผู้มีอำนาจไม่สามารถบอกความจริงได้ทั้งหมด ก็น่าสงสัยว่าทำไมรัฐบาลเลือกมาใช้เพียง 2 ยี่ห้อ เหตุใดไม่มีตัวเลือกอื่น แต่ไม่มีคำตอบว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญรัฐบาลควรจะพูดความจริงกับประชาชนทุกเรื่อง อย่าทำให้ถูกมองว่ามีฝ่ายใดนำสถานการณ์นี้ไปหาผลประโยชน์ทางการเมือง

เรื่องนี้จึงซ้ำเติมในการลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะตามหลักการทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกใช้วัคซีนใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นการยกปัญหาโควิดให้เป็นวาระแห่งชาติ นอกจากจะแก้ปัญหาเร่งด่วนแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ควรออกมาตอบข้อสงสัยของประชาชนที่มีข้อข้องใจในมาตรฐานหรือคุณภาพของวัคซีน รวมทั้งชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องบอกให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะนำพาประเทศออกจากวิกฤตนี้ด้วยการใช้การบริหารงานอย่างไร

ธนิต โสรัตน์
รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

การระบาดขอโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งนี้ถือเป็นรอบที่สาม และสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังประสบปัญหาอยู่เช่น เมียนมา อย่าลืมว่ามีพื้นที่ติดกับอินเดีย และคนเมียนมาก็อพยพเข้ามาจากการปราบปรามในประเทศ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับไทย เป็นต้น ทำให้เห็นว่าทั้งไทยและประเทศภูมิภาคนี้มันก็เป็นปัญหากันหมด สถานการณ์ในไทย ขณะนี้พบการผู้ติดเชื้อโควิดประมาณวันละ 2,000 คน ตอนนี้สถานการณ์ไม่เป็นการระบาดแบบคลัสเตอร์แล้ว แต่เข้าไปอยู่ในครัวเรือน หรือตามสำนักงาน ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้ว

แต่เมื่อถามว่ามาตรการของรัฐที่ควบคุมโควิด ตอนนี้เพียงพอหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าตอนนี้ยังมีการติดเชื้อในระดับ 2,000 คนต่อวัน มีมาตรการควบคุมแล้วจะลดน้อยลงจริงๆ ได้หรือไม่ เพราะที่รัฐบาลเคยประกาศว่ามีความพร้อมเปิดประเทศ ถูกจัดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่ตอนนี้ไม่พร้อมแล้ว ทางประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีมาตรการห้ามคนไทยเดินทางเข้าประเทศแล้ว แสดงว่าต่างชาติมองไทยว่าไม่ใช่ประเทศที่มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกแล้ว ดังนั้นไทยต้องปราบปรามโควิด-19 อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมา ถ้าบังคับไม่ให้คนออกไปข้างนอก นั่งกินข้าว ก็จะเห็นว่าบางคนยังใช้ชีวิตแบบปกติ ดังนั้นมาตรการการช่วยควบคุมในส่วนนี้ได้ แต่อีกมาตรการหนึ่งที่น่ากังวลและควรจะป้องกันคือเรื่องรถสาธารณะ แม้ว่าการให้ทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม)จะช่วยให้คนเดินทางน้อยลงไป แต่รถประจำทาง รถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถตู้โดยสาร ที่รัฐบาลไม่เคยกล่าวถึงเลยว่าจะทำอย่างไรกับส่วนนี้ ซึ่งอยากจะฝากไปให้รัฐบาลพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการควบคุมการระบาดในกลุ่มรถสาธารณะ เพราะการเว้นระยะห่างทำได้ยาก เหมือนแทบจะไม่มีเลย

ส่วนของมาตรการร้านอาหารที่มีมาตรการให้งดนั่งรับประทาน แต่สามารถซื้อกลับบ้านได้นั้นดีอยู่แล้ว เพราะทำให้ไม่รู้สึกขาดแคลน สามารถสั่งซื้ออาหารมากินได้ส่วนตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็รีบซื้อรีบกลับ แสดงให้เห็นว่าคนไทยก็มีความตื่นตัวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 มากพอสมควร มาตรการน่าจะเดินมาตรการต่อไปได้ แต่ว่าทำให้มีคนได้รับผลกระทบจากการควบคุมเช่นนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะทำอย่างไร ในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้

อย่าลืมว่ามีคนเป็นล้านคนที่ต้องหยุดการทำงาน เพราะมาตรการควบคุมโควิด และอย่าลืมว่ากลุ่มภาคบริการ เช่น กลุ่มอาชีพนวดแผนไทยที่มีเป็นแสนคน รวมทั้งอาชีพอิสระด้วยที่ขายของได้น้อยลง เพราะคนเดินตลาดน้อยลง ถ้ามาตรการควบคุมโควิดยาวออกไป รัฐบาลควรคิดในระยะยาว เห็นว่าในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะผลักดันเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมโควิด-19 ด้วย ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะว่าต้องมาแก้ไขสถานการณ์ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การเยียวยาเฉพาะกลุ่มก็ควรจะมีด้วย

สมมุติว่าครบกำหนดล็อกดาวน์ รัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์หรือไม่นั้น ถ้าล็อกดาวน์ต่อไป 7 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม คือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี และเชียงใหม่ รวมประชากรแล้ว อาจมากกว่า 15 ล้านคนที่ต้องได้รับผลกระทบ จะเยียวยาคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่ถ้าคลายล็อกดาวน์ แน่ใจหรือไม่ว่าสามารถคุมการระบาดเอา เพราะยอดผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 2,000 คน และจำนวนคนที่เสียชีวิตก็มีมากแล้ว เห็นว่าที่ติดโควิดต้องเสียชีวิต ไม่มีเตียงโรงพยาบาล แสดงว่ามาตรการของรัฐนั้นแย่มาก เพราะไม่ได้เตรียมการตั้งแต่ต้น

ในส่วนสถานประกอบการ ควรจะพยุงการจ้างงาน ให้คนมีงานทำ ก็ต้องดูแลนายจ้างด้วย ให้มีเงินทุนธุรกิจต่อไป มาตรการทางการเงินของรัฐบาลที่มี 2.5 แสนล้าน พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่วันที่ 20 เดือนเมษายนแล้ว แต่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการปล่อยเงินสินเชื่อ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ก็อยากจะฝากให้รัฐบาลด้วย ส่วนมาตรการคนละครึ่ง และเราชนะที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ถ้าจะออกมาก็ขอให้เร่งออก เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีเงินกว่า 2 แสนล้านบาท

เดชรัต สุขกำเนิด
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

ปัญหาจากการจัดหาวัคซีน เป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ทำให้มีผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมารัฐบาลทราบดีว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบกับประเทศเดือนละ 2 แสนกว่าล้านบาท แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดความล่าช้าหรืออาจจะเป็นความผิดพลาดบางประการ ทำให้การเปิดประเทศเพื่อรับท่องเที่ยวกลับมา อาจจะทำได้ช้ากว่าประเทศอื่น ทำให้การประมาณการรายได้ที่กำหนดไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

เพราะนักท่องเที่ยวจะเลือกไปประเทศอื่นที่ฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งเรื่องนี้การท่องเที่ยวในประเทศไม่ได้เสียโอกาสเฉพาะหน้าภายในปีนี้เท่านั้น แต่อาจจะเสียโอกาสเสียส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาวทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวที่อื่นแล้วให้กลับมาประเทศไทยเมื่อมีความพร้อม

ปัจจุบันหากติดตามจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น พบว่ารัฐบาลอาจจะมีท่าทีที่ลังเลระหว่างการมีมาตรการที่เข้มงวดกับการผ่อนปรน เพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่จุดที่จะคลี่คลายแก้ปัญหาจากความลังเล หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน หากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องการเยียวยา เชื่อว่าการเดินหน้าควบคุมสถานการณ์เรื่องการแพร่ระบาดจะทำได้ดีขึ้น

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ทำในเรื่องนี้ เพราะยังลังเล ไม่ประกาศแนวทางการเยียวยาที่ชัดเจน ซึ่งมาตรการนี้อาจจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ส่วนตัวจะเห็นด้วยเป็นอย่างมากหากเยียวยาถ้วนหน้า แต่รัฐบาลยังกังวลตัวเลขการใช้งบจะมากขึ้น และรัฐบาลนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นจะต้องเยียวยาถ้วนหน้าจึงไม่ได้ออกมาขยับ แต่อีกด้านที่เป็นทางเลือกก็เป็นการเยียวยาแบบเฉพาะเจาะจงในธุรกิจที่มีคำสั่งปิดชั่วคราวที่มีผลกระทบจริง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 แต่ในหลักการพบว่าระยะเวลาในการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มนี้ได้ล่วงเลยมาแล้ว

ในสถานการณ์โควิด-19 การบริหารด้านสาธารณสุขเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยกับการบริหารด้านเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบ ถือว่ามีความเชื่อมโยง การที่รัฐบาลไม่พูดถึงแนวทางการเยียวยาก็จะมีผลกระทบกับการบริหารด้านสาธารณสุข เพราะประชาชนจะมีความวิตกกังวลในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้หากมีการออกประกาศข้อบังคับเพื่อยับยั้งการระบาด ก็ทำให้มีผลกระทบกับรายได้ครัวเรือน

สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำเพื่อให้ประเทศพ้นจากวิกฤต ต้องยอมรับว่าแนวทางที่มี ดูเหมือนจะไม่ทันกับสถานการณ์แล้ว เนื่องจากในช่วงปลายปี 2563 ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศอาจจะฟื้นกลับมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 แต่ดูแล้วน่าจะไม่มีหนทางฟื้น ปีนี้อาจจะต้องลุ้นจีดีพีให้เป็นบวก ดังนั้น ขอให้รัฐบาลเอาจริงให้มากกว่านี้ เรื่องความล่าช้าของวัคซีนรัฐบาลคงทราบดีว่าจะต้องทำอย่างไร

แต่สิ่งที่ยังไม่มีคำตอบต่อสังคมก็คือมาตรการเยียวยา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น มีความหวังได้บ้างแต่สาเหตุที่ไม่กล้าประกาศก็คงมีปัญหาด้านสถานการณ์คลัง เพราะมีงบเหลือประมาณ 3.4 แสนล้านที่เป็นเงินกู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความรัฐบาลจะกู้ได้ เพราะได้วางหลักเกณฑ์ไว้เองว่าไม่ต้องการให้หนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี และยังมีปัญหาการชำระภาระหนี้ต่องบประมาณมากเกินไป การใช้งบประมาณในแต่ละปีก็จะต้องถูกตัดออกไปเพื่อชำระหนี้

นอกจากนั้น พบว่าขณะนี้หนี้ครัวเรือนได้เกิน 90% ของจีดีพีแล้ว ดังนั้น ส่วนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจากโควิด-19 ไม่ใช่หนี้สาธารณะแต่เป็นหนี้ครัวเรือน ถ้ารัฐบาลมีมาตรการเยียวยาโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ก็น่าจะดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image