รายงานหน้า2 : เสียงสะท้อนหลากอาชีพ หาทางรอด‘ฝ่าวิกฤตโควิด’

หมายเหตุเสียงสะท้อนความเดือดร้อนจากประชาชนแต่ละอาชีพ จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 จำเป็นต้องหาทางดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด และรอการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล

กิตติพล กิรัมย์
เจ้าของวงดนตรีมโหรีทานตะวัน บ้านดงใหญ่ หมู่ 1 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

เปิดวงดนตรี เป็นวงมโหรีประยุกต์มานานกว่า 30 ปีแล้ว ชื่อวงดนตรี มโหรีทานตะวัน มีลูกน้องในวงทั้งหมด 7 คน แต่หลังจากทางจังหวัดนครราชสีมาประกาศงดจัดงานประเพณีต่างๆ ในพื้นที่ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ถูกเลิกจ้างงาน ลูกน้องตกงาน ไม่มีรายได้ เดิมช่วงปกติยังไม่มีโควิด-19 แพร่ระบาดจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 70,000-80,000 บาท หรือประมาณ 7-10 งานต่อเดือน แต่หลังจากโควิดแพร่ระบาด ทำให้ไม่มีใครมาจ้างงานเลยแม้แต่งานเดียว
ล่าสุด จำเป็นต้องนำเครื่องขยายเสียงที่ใช้สำหรับออกงาน ไปขายแล้วหลายชิ้น เพราะไม่มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว จึงวอนภาครัฐได้ช่วยเหลือหรือหาแนวทางการเยียวยาอาชีพมโหรีรับจ้างด้วย

ชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด

Advertisement

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมและผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เนื่องจากว่าขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เพราะรถวิ่งแต่ละเที่ยวไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการเลย อย่างเช่น บริษัทนครชัยขนส่ง จำกัด และบริษัทนครชัย 21 จำกัด มีรถโดยสารปรับอากาศอยู่ 130 คัน วิ่งอยู่ 6 เส้นทาง ประกอบไปด้วย นครราชสีมา-แม่สาย, นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-เชียงราย, นครราชสีมา-นครสวรรค์, นครราชสีมา-มุกดาหาร และนครราชสีมา-กรุงเทพฯ มีพนักงานอยู่กว่า 400 คน ต้องแบกรับภาระค่าแรงเดือนละไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารมาใช้บริการต่อเที่ยวเฉลี่ยมีเพียง 30% เท่านั้น ทำให้ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จะหยุดวิ่งรถก็ไม่ได้ เพราะจะผิดระเบียบกรมการขนส่งทางบก ดังนั้นขณะนี้จึงได้หาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ด้วยการจับมือกับบริษัทแอร์โคราชพัฒนา และบริษัทเชิดชัยทัวร์ มาแชร์เที่ยววิ่งกัน จากเดิมจะวิ่งกว่าวันละ 200 เที่ยว ตอนนี้แชร์กันเหลือวันละ 30 เที่ยว เพื่อให้บริการประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางในห้วงเวลานี้
แต่จากการทดลองแชร์เที่ยววิ่งมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พบว่าประชาชนมาใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง บางเที่ยวมีผู้มาใช้บริการไม่ถึง 30% เลย ตอนนี้ก็รอเพียงรัฐบาลว่าจะพิจารณาให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะถ้าจะให้วิ่งรถขาดทุนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการอย่างเราก็อยู่ไม่ได้แน่นอน

 

ผุสดี อมรศุภรัตน์
ผู้บริหารร้านสเต๊กอินดี้ พายเพาะช่าง ย่านตลาดหนองหอย ถ.เชียงใหม่-ลำพูน ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่

Advertisement

สถานการณ์โควิดรอบ 3 ส่งผลกระทบต่อยอดขายลดลง 70-80% ทำให้รายได้
ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายพนักงาน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้าน จังหวัดมีมาตรการขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากบ้าน 14 วัน ประกอบกับวัตถุดิบปรุงอาหารปรับราคาเพิ่ม 10-20%
ทางร้านจึงปรับกลยุทธ์การขายให้ลูกค้าได้อิ่มอร่อยกับเมนูโปรด ทั้งสเต๊กและเมนูข้าวกล่องแบบอุ่นใจ คุ้มค่า ที่สำคัญคือปลอดภัยด้วยบริการดิลิเวอรีผ่าน ไลน์ แมน แกร็บฟู้ด จัดส่งเองและบริการห่อกลับบ้าน (Take Away) เวลา 09.00-21.00 น. ทุกวัน พร้อมจัดโปรเมนูสู้ภัยโควิด ทั้งทำเมนูข้าวกล่องขายหน้าร้าน ปรับลดราคาลง 50% จากราคาปกติ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ แบ่งเบาค่าครองชีพของชาวบ้าน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเมนูไปทุกวัน อาทิ ข้าวยำไก่แซ่บทอดจาก 69 บาท เหลือ 39 ส่วนสปาเกตตีขี้เมาไก่ สปาเกตตีซอสหมูจาก 119 บาท เหลือ 59 บาท ไปจนกว่าจังหวัดผ่อนปรนมาตรการให้สามารถเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้ปกติ
นอกจากนี้ มีบริการรับทำข้าวกล่องและสเต๊กบ็อกซ์ สำหรับผู้ใจบุญต้องการนำไปบริจาคหรือส่งมอบกำลังใจให้กับโรงพยาบาลสนาม บุคลากรทางการแพทย์ หรือหน่วยงานต่างๆ ในราคาย่อมเยา ล่าสุดทางร้านทำสเต๊กบ็อกซ์ ไปมอบให้โรงพยาบาลสนามในจังหวัดลำพูน โดยทางร้านนำน้ำผลไม้ร่วมบริจาคสมทบไปด้วย นอกจากได้บุญแล้วพอทำให้ร้านมีรายได้เพิ่มเข้ามาบ้าง เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด
ขอให้กำลังใจทุกๆ คน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในเมืองเชียงใหม่และทั่วประเทศ ให้สู้ๆ ไปด้วยกัน วอนรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเร่งหาวัคซีคให้ครบเร็ววัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพให้คนไทย รวมทั้งให้การค้าขายของประชาชนดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้นตามลำดับ

สุรชัย ใจภักดี
หัวหน้าวงดนตรีหมอลำซิ่ง ‘สุรชัย ใจภักดี’

ผมเป็นคนบ้านโนนลาน ต.มิตรภาพ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ประกอบอาชีพหมอลำซิ่ง เพราะชอบเรื่องกลอนร้อง กลอนรำ หัดเรียนกับอาจารย์ไพบูลย์ เสียงทอง ศิลปินหมอลำชื่อดังของภาคอีสาน จนสามารถออกงานแสดงคอนเสิร์ตหมอลำซิ่ง มีคิวการแสดงเกือบทุกวัน คิวงานเดือนเมษายนมี 26 งาน หากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วผมมีรายได้นับแสนบาท แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีงานทำ คิวงานแสดงถูกยกเลิกทั้งหมด ทีมงานเวทีเครื่องเสียงกว่า 30 คน ต่างก็ต้องแยกย้ายกลับบ้านเกิด
ช่วงแรกเกิดการระบาดไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ได้แต่ใช้เงินเก็บไปวันๆ จนกระทั่งมาคิดว่าจะหารายได้จากไหนเพื่อมาเลี้ยงปากท้องของตนเอง รวมไปถึงทีมงานเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จึงศึกษาการตำส้มตำและขอความรู้เพื่อนๆ เปิดร้านขายส้มตำ รวมทั้งชิมส้มตำตามร้านต่างๆ แล้วนำมาดัดแปลงเป็นสูตรของตนเอง โดยมีสูตรน้ำปลาร้าของน้องสาว เมื่อตำแล้วให้เพื่อนๆชิมดูหลายครั้งก็บอกว่าอร่อย ประกอบกับน้องสาวเปิดร้านปลาเผาอาหารอีสานอยู่แล้ว จึงมาขอเปิดขายด้วย น้องสาวก็ยินดี เปิดร้านมาประมาณ 1 เดือน ตอนแรกแทบไม่มีลูกค้า แต่เมื่อผมและทีมงานแต่งชุดหมอลำ ร้องเล่นเต้นไปด้วยทำให้ลูกค้าเริ่มสนใจแวะมาชิมไม่ขาดสาย ลูกค้าหลายรายกลับมาซื้อใหม่จนเป็นขาประจำ
ส่วนเมนูที่ร้านประกอบไปด้วย ส้มตำ ตำลาว ตำรวมทะเล ตำรวมประเภทต่างๆ มากมายนับสิบเมนู นอกจากนี้ยังมีต้มแซ่บเครื่องในหมู ซุปเปอร์ตีนไก่ ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ส้มตำครกละ 30 บาท ถึง 80 บาท ส่วนปลาเผาพร้อมเครื่องเคียงราคา 150 บาท และต้มแซ่บ 50 บาท สำหรับรายได้จำหน่ายได้วันละ 2,000-3,000 บาท จ่ายค่าเช่าเดือนละ 2,500 บาท และจ่ายให้ทีมงาน เดือนหนึ่งเหลือไม่กี่บาท แต่ก็มีความสุข ผมและทีมงานมีงานทำ สร้างความอร่อยด้านส้มตำ และสร้างความสุขด้วยลีลาหมอลำ แค่นี้ก็พอใจ
ส่วนสาเหตุแต่งชุดหมอลำ เพราะใจรักด้านอาชีพนักร้องนักแสดง จึงแต่งชุดหมอลำ รวมทั้งทีมงานก็แต่งชุดหมอลำ เหมือนร้องลำอยู่บนเวที เพื่อสร้างความสุขให้ลูกค้า ตอนนี้ลูกค้าก็เริ่มพูดกันติดปากว่าเป็นร้านส้มตำหมอลำซิ่งไปแล้ว

ปรีญา มานะโพน
ชาวสวนสับปะรดบ้านธาตุ หมู่ 13 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

ทําสวนปลูกสับปะรดกว่า 5 ไร่ หรือประมาณ 22,500 ต้น ทำเป็นอาชีพมานานกว่าสิบปีแล้ว ที่ผ่านมา 1 ไร่ สามารถขายได้ประมาณ 50,000-70,000 บาท เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละหลายสิบล้านบาท พอมาเจอพิษโควิดระลอกใหม่ ผู้คนไม่เดินทางออกจากบ้าน ด่านการค้าชายแดนถูกปิด ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ทำให้ยอดขายสับปะรดลดลง ราคาตกต่ำ ในแต่ละปีขายในกิโลกรัมละ 20-25 บาท มีโรงงานรับซื้อให้กิโลกรัมละ 7-10 บาท แต่ปีนี้เจอพิษโควิดระบาด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าชาวสวนต้องลดราคาลงเหลือกิโลกรัมละ 10-15 บาท โรงงานรับซื้อให้เพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท จากปกติขายได้วันละ 2,000-4,000 บาท เหลือรายได้เพียงวันละ 400-500 บาท เดือดร้อนหนักขายไม่ค่อยได้ ลงทุนไปก็ไม่ได้กำไรคืนมา เงินที่ได้วันละ 400-500 บาท นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแทบจะไม่พอ ยอมรับว่าขาดทุนแต่ก็ต้องทนขายกันต่อไป ดีกว่าปล่อยผลผลิตเน่าทิ้งไปเฉยๆ
อยากให้หน่วยงานรัฐออกมาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะให้ช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง หรืออย่างน้อยช่วยหาช่องทางตลาดให้เร็วที่สุด เนื่องจากสับปะรดออกผลผลิตทุกวัน ต้องเร่งระบายผลผลิตออกสู่ท้องตลาดให้เร็วที่สุด ก่อนผลผลิตจะเน่าเสียและขาดทุนไปมากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image