‘วิษณุ-เมทินี’ปาฐก เปลี่ยนภาพจำ‘ศาล’ จากใช้อำนาจสู่บริการ

‘วิษณุ-เมทินี’ปาฐก เปลี่ยนภาพจำ‘ศาล’ จากใช้อำนาจสู่บริการ

หมายเหตุนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการบริหารงานยุติธรรมในยุคนิวนอร์มอล” และนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของศาลยุติธรรมในยุคนิวนอร์มอล” ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม หัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จัดโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม

เมทินี ชโลธร
ประธานศาลฎีกา

Advertisement

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็น 10 ปี ดิฉันเห็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมีความพยายามจะขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นกระบวนการ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ หรือถึงเป้าหมายที่อยากเห็น แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่ากระทรวงยุติธรรม ทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมได้มีโอกาสเข้ามาทำงานและแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนไปด้วยกัน

โดยเฉพาะในสภาพสังคมช่วงหลังที่เราเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เพราะต่างก็จะหนักดีว่า กระบวนการยุติธรรมที่ดี และพึงประสงค์ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเป็นธรรม หรือสร้างความสงบสุขให้สังคมเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมที่ดีและเชื่อมั่นได้ ยังจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และจะสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ

ดิฉันรับราชการมา 40 กว่าปีได้เห็นกระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังนี้ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยุดได้ เนื่องจากเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน และความเดือดร้อนจากข้อพิพาทของคนทั้งสิ้น

Advertisement

ภาพของศาลในความคิดคำนึงของประชาชนที่มองจากข้างนอกก็จะมองว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความอนุรักษนิยม มีพิธีรีตอง หรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ปัจจุบันวิธีการคิดของศาลเปลี่ยนแปลงไปมาก เพียงแต่เราไม่ได้เปิดสิ่งที่เราคิดอยู่ในใจออกไปสู่สาธารณะ

เรามองว่าในการพิพากษาคดีไม่ใช่การใช้อำนาจหน้าที่ แม้จะเป็นถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญ หรือตัวบทกฎหมาย แต่คำว่าอำนาจอาจจะทำให้คนมองเราผิดไปจากสิ่งที่เราปฏิบัติต่อประชาชน หรือคู่ความที่เข้ามาในศาล

ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนมุมมองของศาลให้มีการทำงานเป็นแบบการให้บริการ เมื่อเรามีวิธีคิดเปลี่ยนไป แนวคิดก็จะเปลี่ยนแปลงไปให้เปิดกว้างขึ้นเพราะต้องคำนึงถึงความพึงพอใจ และความคาดหวังที่จะได้รับ

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้พิพากษาในระดับสูงทำงานเชิงรุกมากขึ้นในหลายรูปแบบผ่านสื่อในหลายอย่าง การที่ศาลออกไปหาประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ความรู้เรื่องกฎหมายและบอกเล่าเรื่องราวในสิ่งที่ศาลทำ ทำให้เราพบว่ามีคนจำนวนมากยังไม่รู้สิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงกฎหมาย

ในนโยบายประธานศาลฎีกา ปี 2563 ถึง 2564 อยู่ภายใต้หลักการ บริสุทธิ์ ยุติธรรม มีนโยบายอยู่ 5 ด้าน เช่น ความเสมอภาค ที่ศาลพยายามทำอยู่ก่อนที่จะมีโควิด-19 คือการทำให้คนที่เข้ามาติดต่อในศาลมีความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ

เราจะกระจายความยุติธรรมออกไปไม่จำกัดอยู่เพียงที่เมืองที่เจริญ เช่น กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ แต่ให้ไปถึงกลุ่มคนที่อยู่ชนบทห่างไกล จึงมีการเปิดศาลในพื้นที่ห่างไกล ทั้งศาลแขวง และศาลจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้ามาใช้บริการศาล เราจะไม่ยอมปล่อยให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศาลทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือส่วนต่างๆ

ในปัจจุบันการทำงานที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจะยอมรับได้ เพราะยุคสมัยใหม่ทุกคนอยากจะใช้เวลาสั้นๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง ทำให้วิธีคิดของศาลเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเริ่มต้นจากการคิดว่าต้องเป็นการให้บริการแก่ประชาชน และคู่ความ เราต้องคิดว่าเขาอยากได้อะไรเวลาที่เขามาศาล และควรจะได้รับกลับไปในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนอยากได้ก็คงเป็นความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความรวดเร็ว

ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าล่าช้า ชี้แจงว่าขณะนี้ เราก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว เห็นได้จากในศาลชั้นต้นมีคดีกว่าล้านคดี มีผู้พิพากษา 3,000 คน ซึ่งแต่ละคดีมีมาตรฐานระยะเวลากำหนดไว้ ที่ต้องปฏิบัติ เพราะถือว่าความล่าช้าคือ ความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง รวมถึงการขอประกันในศาลชั้นต้นภายใน 1 ชั่วโมงต้องได้รับคำสั่ง

ขณะที่การปรับเปลี่ยนในศาลสูง จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ สามารถตรวจสอบว่าการทำงานจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ และจะมีการอ่านคำพิพากษาผ่านจอภาพไปยังเรือนจำ เพื่อให้จำเลยทราบสิทธิของตัวเองหลังมีคำตัดสินได้ทันที

วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ในช่วง 2563 นั้นคดีความต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป และต้องนัดประชุมเพื่อให้ตามเรื่องให้ทัน เรื่องนี้มีผลกระทบไปทั่ว จึงทำให้เกิดคำคำใหม่ขึ้นมาในวงการนานาชาติก็คือ นิวนอร์มอลหมายถึงวิถีชีวิตใหม่ การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกด้าน และทุกเรื่อง ต้องมีการปรับปรุงวิธีการทำงาน และปรับปรุงวิธีคิดเพื่อให้เข้ากับการระบาด อะไรที่เคยทำ ก็ทำอย่างเดิมไม่ได้ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนา เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ ในบางประเทศทำบุญเช็งเม้งออนไลน์ เพราะไม่สามารถแออัดยัดเยียดได้ หรือแม้แต่การแต่งงาน

สิ่งเหล่านี้เข้ามาถึงเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องจัดระบบและเปลี่ยนแปลงใหม่ ในส่วนนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า อะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วจะต้องทำอย่างไร คือจะทำอย่างไรในยุคนิวนอร์มอลและให้ได้ผลเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม หากใหม่แล้วแย่กว่าเดิม ก็จะต้องแย่ไปหมด เช่น ความล่าช้าในการทำคดี

หากจะได้ให้ผลที่พึงปรารถนา หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อะไรในอดีตที่เคยทำไม่ได้ก็ดีขึ้น เพราะปัจจุบันเราเห็นการเรียนและการประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งก็ประหยัดเวลา ประหยัดการเดินทางไปได้เป็นอันมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลเคยคิดเรื่องเวิร์กฟรอมโฮมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคน้ำมันแพง คือเมื่อหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ยุคมีปัญหาทางเศรษฐกิจเราก็คิดเรื่องเวิร์กฟรอมโฮมเพิ่ม ก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อการเกิดโรคระบาด ทำให้เกิดการเวิร์กฟรอมโฮมโดยพร้อมเพรียงกัน อะไรที่เคยยากก็ง่าย และก็ทำให้หลายอย่างสามารถเดินหน้าไปได้ ความจริงเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เทียบเคียงได้หลายเรื่อง

บางคนอาจจะพูดว่าดีอยู่แล้วจะปฏิรูปไปทำไม แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกทุกคนก็รวมใจกันปฏิรูป ตอนนี้โควิด-19 เป็นวิกฤตก็ทำให้เกิดโอกาส ซึ่งโอกาสแผ่ซ่านไปในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การจัดการศึกษา แม้กระทั่งการคิดค้นเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมทางไกล

นี่ยังไม่รวมที่มีการพูดว่า เพราะโควิด-19 ระบาดทำให้มีการไปคุ้ยเรื่องบ่อนการพนัน แรงงานต่างด้าว และสถานบันเทิงผิดกฎหมาย คือ ถ้าไม่มีโควิด-19 ขึ้นมาก็คงไปคุ้ยและไปรื้อยาก ความจำเป็นมันเกิดขึ้นโดยไม่มีใครอยากละเว้น นิวนอร์มอล บังคับให้เราต้องทำในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่ปัญหามีอยู่ว่าเราจะทำอะไร และเราจะทำอย่างไร

วันนี้เป็นการดีที่ผู้ใหญ่หลายท่านมาพิจารณาปัญหานี้ สิ่งที่เราคิดกันอยู่ในเวลานี้คือประเทศไทยเรามีคณะกรรมการระดับชาติอยู่ชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติเป็นหนึ่งในกรรมการที่สำคัญมากของประเทศ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เพราะในด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น คณะกรรมการชุดนี้เป็นเวทีเดียวที่ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือหน่วยงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามานั่งอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อทำงานหรือขับเคลื่อนอะไรก็จะทำไปพร้อมกันบนเวทีระดับชาตินี้

สมมุติสมัยก่อนเมื่อจัดตั้งศาลขึ้นที่ไหนสักแห่งก็ไม่สามารถตั้งได้โดยง่าย เพราะแม้ศาลพร้อมจะไปจัดตั้งที่จังหวัดนั้น แต่จังหวัดยังไม่พร้อม หรืออัยการ และคุกไม่พร้อม ก็ไปต่อไม่ได้ แต่เวทีนี้คณะกรรมการชุดนี้ทำให้เมื่อจะเปิดศาลตั้งศาลหรือจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมก็จะมีเวทีนี้ที่จะทำให้มาคิดที่เดียว

ผมหวังว่าทุกท่านจะช่วยสร้างมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในยุคใหม่ เพื่อให้เขาได้รับความยุติธรรมเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม แม้ว่ากระแสโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์ไม่น่าก้าวไปได้ แต่เราเชื่อว่า เราจะสามารถคิดอะไรใหม่ๆ แปลกๆ จากเดิม เพราะวิกฤตจะทำให้เกิดโอกาส โดยโอกาสหนึ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือ โอกาสที่จะประสิทธิ์ประสาทในการอำนวยความยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image