ประเมินกระแสอดีตเพื่อน‘บิ๊กตู่’ เคลื่อนไหวจี้ ‘ประยุทธ์’ ลาออก

หมายเหตุ – เป็นความเห็นนักวิชาการต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนคนไทย เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากแก้ปัญหาโควิด-19 และการปฏิรูปประเทศล้มเหลว ทั้งที่เคยเป็นกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาก่อน

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

พ ลังทางสังคมในขณะนี้เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญที่จะกดดันรัฐบาล เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพราะทุกกลุ่มที่เคยหนุนและต้านรัฐบาล ล้วนเห็นตรงกันว่าการบริหารโควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่สะสมมานาน

Advertisement

สำหรับเหตุผลที่นำเสนอและปัจจัยจากการเคลื่อนไหวถือว่าเพียงพอ เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ของสังคมการเมือง เห็นชัดว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และขาดความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่คนในสังคมจะคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน เห็นว่าโอกาสที่จะจุดติดมีการขยายเป็นพลังมวลชน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จน่าจะทำได้ยาก

ขณะที่รัฐบาลยังกุมสภาพจากกติกาการเมืองในการสืบทอดอำนาจไว้ได้ เพราะฉะนั้นในโอกาสหลังจากนี้ต้องดูว่า ใครจะทำได้ก่อน ระหว่างกลุ่มมวลชนที่ออกมากดดันให้นายกฯลาออก กับการที่รัฐบาลเดินหน้าคลี่คลายปัญหาโควิด-19 ทำให้เห็นว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่รัฐบาลยังมีความได้เปรียบ

สำหรับกลุ่มมวลชนหรือบุคคลที่ออกมาทำกิจกรรมกดดันรัฐบาล มีความแตกต่างทางความคิดในอดีต มีเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกัน ต้องดูว่าแนวร่วมเหล่านี้มีเจตนาซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เพราะอดีตนักการเมืองใหญ่บางคนมีการวางเป้าหมายที่อนาคตของประเทศ ด้วยการการสร้างโอกาสทางการเมืองให้พรรคการเมืองของตัวเองกลับมามีอำนาจ บางพรรคการเมืองก็ต้องการสร้างพื้นที่ทางการเมือง ที่อาจจะมีผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียงของกลุ่มการเมืองพวกเดียวกัน

Advertisement

กลุ่มของนายจตุพร หรือกลุ่มประชาชนคนไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุด มีเป้าหมายร่วมคือต้องการไล่รัฐบาล แต่เป้าประสงค์ข้างหน้าอาจจะต่างกัน หากจะร่วมมือกันจริงก็ต้องแสวงหาจุดร่วมให้ได้ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้เกิดพลัง ต้องหายุทธศาสตร์ร่วมให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มวลชนกระจัดกระจาย ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจถึงเวลายุติบทบาท แต่องคาพยพทางการการเมืองของเผด็จการซ่อนรูปยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะยังใช้เงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

วันนี้ก่อนที่จะไปถึงจุดที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ยังมีเวลาในไทม์ไลน์อีก 3 เดือนข้างหน้าที่รัฐบาลจะต้องเร่งพลิกเกม เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวหลายด้าน ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะทำงานต่อไปอีกระยะแล้วตัดสินใจยุบสภา หลังจากนั้นจะหาวิธีการสร้างคะแนนนิยมให้มากที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและไม่มีผลกระทบหากมีการเลือกตั้งใหม่

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ค วามล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 การกระจายวัคซีนได้สร้างความไม่พอใจ เป็นแรงกระเพื่อมทำให้คนที่เคยหนุนรัฐบาลเริ่มรู้สึกได้ว่ามีผลกระทบ จึงออกมาทำกิจกรรมเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะถือเป็นกลุ่มย่อยไม่ใช่บุคคลระดับแบรนด์เนม แต่ในที่สุดกระแสความไม่พอใจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่จุดแตกหัก หากเปรียบเทียบรัฐบาลเหมือนเรือในทะเลจะต้องเจอคลื่นที่หนักกว่านี้ จึงซัดเรือให้จมได้ ขณะนี้เปรียบเหมือนเรือของรัฐบาลเพิ่งเจอกระแสลมที่รุนแรงขึ้น แต่ยังประคับประคองไปได้

หากรอให้นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาหรือลาออกด้วยตัวเอง หรือการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล คงเป็นไปไม่ได้ แต่กลุ่มความขัดแย้งที่น่าสนใจจะต้องดูว่าในกลุ่ม คสช.เดิมมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะถึงวันนี้อาจมีการประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดูเหมือนสินทรัพย์ที่เสื่อมคุณค่า อาจจะเป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ แต่ดูท่าทีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงจะไม่บอกว่า ผมพอแล้วŽ และขอยุติบทบาททางการเมืองเหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และขณะนี้ท่าทีของนายกรัฐมนตรีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังเหนียวแน่น แต่ต้องดูว่าศักยภาพของ 3 ป.กับอีกฝั่งที่มีชนชั้นนำ เครือข่ายทหาร และกลุ่มทุน รวมทั้งข้าราชการะดับสูงบางกลุ่มอาจจะแสดงความไม่ไว้ใจ เพราะผลประโยชน์ของพวกตัวเองเริ่มสั่นคลอน

ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เคยหนุนรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะบางคนเคยอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม จึงถือว่าเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรใหม่ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่เกิดขึ้นทันที แต่คนในสังคมจะมีการนำชุดข้อมูลไปพูดคุยขยายผลและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการรวมตัวของเครือข่ายพันธมิตรทางสังคมแบบใหม่ แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมอาจจะยังไม่เปลี่ยนแนวคิดทันทีเพื่อเป็นฝ่ายก้าวหน้า แต่อาจจะกล้าเปิดใจเพื่อมีมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น

เชื่อว่าจุดนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอนาคต ซึ่งจะต้องรอดูผลงานของรัฐบาลในระยะ 3 เดือนข้างหน้า

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เชื่อว่าคงไม่มีแรงกดดันอะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีความหวั่นไหว เพราะหากจะตัดสินใจลาออก ยุบสภา หรือแนวทางอื่น ก็คงจะเกิดขึ้นนานแล้ว ขณะนี้สิ่งที่ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากคือ ปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 น่าจะเป็นพลังกดดันมากกว่ากิจกรรมของกลุ่มอดีตกองเชียร์ที่ออกมาวิจารณ์และขอให้ลาออก

สำหรับประเด็นที่หยิบยกมานำเสนอเพื่อกดดันนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่สังคมรับทราบดี ทั้งความล้มเหลวจากการบริหารโควิด-19 การจัดซื้อวัคซีน ปัญหาเศรษฐกิจ การป้องกันปรามการทุจริต แตกต่างแต่ว่าผู้ที่นำเรื่องเหล่านี้มาพูดในปัจจุบัน เป็นกลุ่มบุคคลที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาก่อน

หากจะประเมินว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้จะไปจูนคลื่นเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎรได้หรือไม่ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก จึงเห็นว่ามุมคิด ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อทางการเมืองคนละแบบกัน หรือแนวทางการเคลื่อนไหวก็ต่างกัน การจูนเข้าด้วยกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ในทางกลับกันแกนนำ นปช.เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ กลับไปร่วมกิจกรรมกับคนการเมืองอีกฝากฝั่งยังทำได้ง่ายกว่า

การเมืองขณะนี้มองได้ 2 มุม คือการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบ จะเห็นได้ว่าวันนี้การเมืองนอกสภาโอกาสที่จะได้เห็นการเคลื่อนไหวใหญ่เกิดขึ้นยากมาก สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยเพื่อระดมมวลชนให้ออกมาชุมนุม แต่การจัดเวทีย่อยยังมีได้ แต่ไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ส่วนการเมืองในสภา ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้มีอะไรที่เป็นปัญหา แม้ว่าก่อนหน้านี้อาจจะได้เห็นท่าทีของภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ แต่ปัจจุบันก็ยังเหมือนการประเมินทุกครั้งว่า 2 พรรคนี้ร่วมรัฐบาลเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวถอนตัวเพื่อให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา วันนี้ยังไม่มีปัจจัยที่เอื้ออำนวย

แต่สิ่งที่น่าวิตกมากกว่าคือ หากโควิด-19 ระบาดไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ แล้วส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนักหมดความอดทน ตรงนั้นเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่าว่าผู้คนจะต้องออกมาเคลื่อนไหวได้เอง โดยไม่ต้องมีแกนนำหรือมีอุดมการณ์การเมือง

ส่วนทางเลือกทางรอดของรัฐบาลเพื่อพลิกเกมกลับมาสร้างความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพียงแต่ศักยภาพของรัฐบาลจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ เพราะวันนี้การรณรงค์ฉีดวัคซีนก็ยังไม่สร้างความเชื่อมั่น เรื่องของเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งแก้ไข และต้องมีการวางรากฐานในระยะยาว มากกว่าการใช้งบเยียวยาระยะสั้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีความพยายามพลิกวิกฤต แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดูต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image