เปิดพ.ร.ก.กู้เงิน7แสนล. สู้โควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูศก. ‘ก.ก.’ซัดมัดตราสังประเทศ

เปิดพ.ร.ก.กู้เงิน7แสนล. สู้โควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูศก. ‘ก.ก.’ซัดมัดตราสังประเทศ

เปิดพ.ร.ก.กู้เงิน7แสนล. สู้โควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูศก. ‘ก.ก.’ซัดมัดตราสังประเทศ

หมายเหตุรายละเอียดส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. … วงเงิน 7 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้ความเห็นต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับดังกล่าว

กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และวัคซีนที่ยังมีความจำเป็นในช่วงที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีนให้กับประชากรตามแผน และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สำหรับการบริหารความเสี่ยงของผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอจะช่วยทำให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค.ประมาณการไว้อีกประมาณร้อยละ 1.5 โดยมีกรอบการใช้จ่ายเงิน ดังนี้

Advertisement

(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19

(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้

(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 วงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement

1.5 กระทรวงการคลังได้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 พบว่ามีข้อจำกัด ดังนี้

(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้เสนอตั้งงบกลางรายการที่ใช้รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย

(1.1) รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้ 40,325.2 ล้านบาท และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โควิด-19 ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งปัจจุบันได้มีการทยอยเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้

(1.2) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้ 99,000 ล้านบาท และ ครม.ได้อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติและสาธารณภัยต่างๆ อีกทั้ง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น เป็นต้น ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ.2564

(2) การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 อาทิ รายการงบประจำอื่นที่ไม่จำเป็น และรายการงบลงทุนที่ยังไม่มีการผูกพันสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง มาไว้เพิ่มเติมในรายการงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยรับงบประมาณ ตามแผนการใช้งบประมาณจริงในแต่ละไตรมาส จึงทำให้หน่วยรับงบประมาณไม่มีเงินคงเหลือที่จะนำมาจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2564

(3) เงินทุนสำรองจ่ายตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 25,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินคงเหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจำเป็นต้องสำรองไว้เป็นวงเงินฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

(4) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีข้อจำกัด และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัจจุบันวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เหลือกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำกัด และอาจจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าวในกรณีการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถดำเนินการจัดหางบประมาณผ่านแนวทางดังกล่าวได้

(5) การใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2564 จึงไม่อาจใช้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นในกรณีเร่งด่วนได้

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ที่ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้เดิมตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้อนุมัติงบประมาณไปเกือบเต็มวงเงิน เหลืออยู่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นการพิจารณาในทางลับแบบมุมแดง และเก็บเอกสารกลับหลังประชุมอีกด้วย สร้างความเคลือบแคลงและกังวลใจให้ประชาชนว่าเพราะอะไรจึงไม่มีการออกมาสอบถามความคิดเห็นสาธารณะ จงใจเลี่ยงการตรวจสอบอย่างชัดเจน นี่เท่ากับเป็นการมัดมือชกประชาชน มัดตราสังประเทศ

จริงอยู่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกระจายเป็นวงกว้าง และประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ซึ่งกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ประสานเสียงกันก่อนหน้านี้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม แถมก่อนหน้านี้รัฐบาลกลับเยียวยาแบบกะปริดกะปรอยคนละ 2,000 บาท แถมยังกั๊กงบประมาณไว้ให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคนละครึ่ง กับยิ่งช้อปยิ่งได้ อีก 1.21 แสนล้านบาท มากกว่างบที่ใช้เยียวยาเสียอีก

นอกจากนี้ รัฐบาลยังรีบร้อนออกเป็น พ.ร.ก.ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะเปิดสมัยประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าถ้าออกเป็น พ.ร.บ. จะใช้เวลานาน ในฐานะ ส.ส.ต้องบอกว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.มีรายละเอียดครบสมบูรณ์ รัฐบาลตอบคำถามสภาได้ เรายินดีจะพิจารณา 3 วาระรวดแน่นอน และในอดีตก็เคยทำมาแล้วด้วย แต่ร่าง พ.ร.ก.กู้เงินเป็นเอกสารแค่ 4 หน้า กรอบแผนงานการใช้เงิน เขียนสั้นๆ แบ่งเป็น 3 แผนเหมือน พ.ร.ก.เงินกู้เดิมทุกประการ เพียงแต่ปรับลดวงเงินลง โดยแบ่งเป็น 1.แผนงานการแก้ไขปัญหาโควิด 30,000 ล้านบาท 2.แผนงานเยียวยาประชาชน 400,000 ล้านบาท และ 3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 270,000 ล้านบาท

ลับๆ ล่อๆ แบบนี้จะไม่ให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้อย่างไรว่าจะเป็นการมัดมือชก ฉกเงินภาษีประชาชน เตรียมปูทางสู่การเลือกตั้งใหม่ ถ้ามองโลกในแง่ดี นี่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตการคลัง ที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ ทั้งงบปี 2564 ที่จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปมาก จนอาจมีเงินไม่พอใช้จ่ายได้จนถึง 3.28 ล้านล้านบาท ในปลายปีงบประมาณหน่วยงานรัฐคงต้องมาลุ้นกันว่าใครจะได้งบ ใครจะไม่ได้

ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2565 ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าปรับลดวงเงินเหลือ 3.1 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ด้วยรายได้ที่หดหาย ทำให้ต้องกู้มาชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานแบบกระดิกตัวไม่ได้ เก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแม้แต่ 1% รัฐบาลก็จะช็อตเงินทันที ซึ่งในร่าง พ.ร.ก.มีการพูดถึงการนำเงินกู้ 7 แสนล้านบาทนำไปใช้เติมสภาพคล่องไว้อยู่ ที่สำคัญวงเงินนี้ ไม่ได้บอกที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเป็น 7 แสนล้านบาท ดูไปดูมาเหมือนเป็นการคำนวณเพียงเพื่อไม่ให้เกินกรอบหนี้สาธารณะ 60% ต่อจีดีพี เพราะในเอกสารระบุว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 58.46%

พฤติกรรมปัจจุบันไม่น่าไว้ใจ ถ้าย้อนไปในอดีตดูผลงานที่ผ่านมายิ่งไม่น่าวางใจ เพราะการออก พ.ร.ก.เงินกู้ มีกลไกการอนุมัติโครงการแทบจะเหมือน พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ทุกประการ ดังนั้น ถ้าเรายังใช้วิธีการเดิมๆ แต่คาดหวังผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป คงเป็นไปได้ยาก

พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐบาลออกมาปีที่แล้วเห็นได้ชัดแล้วว่านอกจากโครงการที่เป็นเงินโอนแล้ว โครงการอื่นๆ นั้นอนุมัติได้น้อย เบิกจ่ายล่าช้า ตัวโครงการดำเนินการไม่ได้จริง หน่วยงานไม่มีความพร้อม สุดท้ายกลายเป็นประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่ที่สุด

1.เสียโอกาสที่ช่วยชีวิตคน แผนงานด้านสาธารณสุขที่งบประมาณเดิมเบิกจ่ายแค่ไม่ถึง 30% อุปกรณ์การแพทย์กว่า 2,500 รายการ ในจำนวนนี้มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง งบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 170 ล้านชิ้น ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

2.เสียโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ แผนงานฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจผ่านมา 1 ปี เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานใหม่ 400,000 ตำแหน่ง, เกษตรกร 95,000 ราย มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองได้, มีพื้นที่เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ และพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 7,900 ล้าน ลบ.ม. กลับทำไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้เลย เพราะอนุมัติน้อย เบิกจ่ายไปได้น้อยมากทั้งๆ ที่ดำเนินโครงการมาเกือบปี

ดิฉันและพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการกู้ ปีที่แล้วเราก็อภิปรายไปว่า 1 ล้านล้านบาทไม่พอ และการตั้งงบปี 2565 น้อยเกินไป ถ้ารัฐบาลเอาเงินเราไปใช้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กู้ไปลงทุนให้ประเทศเติบโต มากกว่านี้เราก็ให้กู้ แต่ถ้ารัฐบาลเอาเงินไปละลายน้ำ ไปใช้ไม่มีประสิทธิภาพ หวังผลประโยชน์ทางการเมือง แม้แต่บาทเดียวก็ไม่สมควรกู้ ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนตอนนี้ อาจจะไม่ใช่การขอกู้เงิน แต่เป็นเปลี่ยนตัวผู้ใช้เงิน ก็คือรัฐบาล

เรามีรัฐบาลที่บริหารประเทศล้มเหลวมาแล้ว 7 ปี และยิ่งพาประเทศสู่หายนะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดโควิด เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทก็ละลายไปจะหมดแล้ว คำถามคือเราไม่ใช่ในฐานะนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของเงินก้อนนี้ร่วมกัน จะยอมให้ ครม.ชุดนี้ นำเงินภาษีของเราไปปู้ยี่ปู้ยำอีก 7 แสนล้านบาทได้หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image