‘อาคม’แจงกู้เงิน5แสนล้าน สู้โควิดดัน ศก.โต1.5%

‘อาคม’แจงกู้เงิน5แสนล้าน สู้โควิดดัน ศก.โต1.5%

หมายเหตุนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ดังนี้

พระราชกำหนดให้อำนาจ
กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2564
เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564”

Advertisement

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ยุติลง ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกินห้าแสนล้านบาทโดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564

วงเงินกู้ตามวรรคหนึ่งไม่กระทบต่ออำนาจการกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ของกระทรวงการคลัง ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

มาตรา 4 ให้การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้
(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้

มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรี จะมีมติให้ปรับวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้เพื่อการตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกินห้าแสนล้านบาท มาตรา

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไป ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 มีหน้าที่ และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้นำความในมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 8 การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้การรายงานการกู้เงิน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้นำความในมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

บัญชีท้ายพระราชกำหนด
ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564

แผนงานหรือโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ วงเงิน (ภายใต้บังคับมาตรา 6)

1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุง-หน่วย สถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ที่คณะรัฐมนตรี บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
-กระทรวงสาธารณสุข
-หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
30,000 ล้านบาท

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือ ที่ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ อย่างต่อเนื่อง
-กระทรวงการคลัง
-หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
300,000 ล้านบาท

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน-หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
– กระทรวงการคลัง
– หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
170,000 ล้านบาท

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง เป็นวิกฤตสำคัญที่จำเป็น ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ดำเนินการอยู่ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค.2564) เป็นต้นไป หรือเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับที่ 2กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่30 กันยายน 2565

โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ ออกมาเพื่อเตรียมการการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.5% จากคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัว1.5-2.5%

ปีที่แล้วสภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจจะ -8% เมื่อมีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ติดลบน้อยลงเหลือ -6%

ฉะนั้น ในปีนี้ประมาณการเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก โดยคำนวณจากคาดการณ์ 1.5-2.5% ก็จะทำให้โตเพิ่มอีก 1.5% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์

ส่วนการกู้เงินนั้น จะทยอยกู้ตามความจำเป็น ไม่ได้กู้มาในคราวเดียว ซึ่งสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินการกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และประมาณการว่าหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบที่ 58.56% ต่อจีดีพี

แต่ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ตัวเลขหนี้สาธารณะก็จะดีขึ้น

สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น กำหนดการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน ได้แก่ 1.เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2.เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ 3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นสามารถปรับแผนงานการใช้จ่ายได้ โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเข้าไปเสริมตามแผนงาน พ.ร.ก.ฉบับที่ 1 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งเน้นเข้าไปดูแลในบางเรื่อง เช่น เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อย ให้เร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image