ปลดล็อกกลไกราชการ ทางออก‘อปท.’ซื้อวัคซีน

ปลดล็อกกลไกราชการ ทางออก‘อปท.’ซื้อวัคซีน

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยใช้งบประมาณของตัวเอง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับเรื่องนี้ ที่จะให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดหาวัคซีนให้ประชาชน เพราะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่แล้ว ในการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน

แต่ประเด็นปัญหาคือ การตีความ ข้อกฎหมาย ข้อระเบียบ บังคับ ที่จำกัดโอกาสการบริหารด้านสาธารณสุข และกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย

ความจริง ผมคิดว่าเงื่อนหลักของกรณีนี้ต้องดูที่โครงสร้างของประเทศเรา ที่เป็นรัฐราชการ รัฐถูกกำกับโดยกลไกราชการอย่างเข้มข้น ซึ่ง อปท.โดยหลักแล้ว คือองค์กรที่มีงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ มีบุคลากรในการดูแลประชาชน

Advertisement

แต่กระบวนการบริหารทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของระบบราชการและกฎหมาย ซึ่งถ้าดูจากกรณีโควิด จะเห็นชัดเจนว่า อปท. อบจ. กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ แสดงเจตจำนงที่จะเป็นคนจัดหาวัคซีนมาดูแลประชาชน

เพราะ 1.เขามีงบประมาณ 2.มีความพร้อมดูแลประชาชนได้มากกว่าที่เราคิด หลายคนคิดว่า อปท.อย่างเก่งก็แค่เก็บขยะ ตรวจความดัน เบาหวาน แต่การแสดงพลังเที่ยวนี้ ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพ และ 3.เขาอยู่ในพื้นที่เดียวกับประชาชน เขาอยากสร้างคุณภาพชีวิต อยากสร้างบริการสาธารณที่ดี

แต่ปรากฏว่าไม่สามารถซื้อได้ เพราะเกิดการตีความผ่านระเบียบกฎหมาย เช่น ก่อนหน้านี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บอกว่า ท้องถิ่นซื้อไม่ได้ มาวันนี้กระทรวงมหาดไทยบอกว่า ซื้อได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการตีความ โยนลูกกลับไปที่ ศบค. และ ศบค.โยนกลับมาที่ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องข้อความในกฎระเบียบทั้งสิ้น

ซึ่งความจริงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเรา ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐราชการตั้งแต่ต้น และเราบริหารประเทศโดยเอากฎระเบียบเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มองสภาพความเป็นจริง

กฎระเบียบมีได้ แต่ต้องเกื้อให้การบริหารนั้นสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งปัจจุบัน คนมีปัญหาด้านสาธารณสุข เข้าไม่ถึงวัคซีน

ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม ความจริงเวลานี้ ผมคิดว่า ทั้งกระทรวงมหาดไทย ศบค. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ดีต้องทำลายข้อจำกัดด้วยการสร้างระเบียบ ข้อบังคับ ที่เอื้อต่อการบริหารวัคซีนต่อ อปท.

การที่ท้องถิ่นทำแบบนี้ เพราะมีผลต่อท้องถิ่นเอง ด้วยสภาพปัญหาความไม่แน่นอน คลุมเครือ ไม่ไว้วางใจที่คนมีต่อรัฐบาล เชื่อว่าถ้าเขาไม่ทำอะไรบางอย่าง ปัญหาเหล่านี้จะกระทบกับการทำงานของเขาด้วย เช่น ถ้าบริหารแบบนี้ เศรษฐกิจชะงักงัน พันไปถึงการเก็บภาษี ที่ ณ วันนี้ปรากฏชัดในภาพรวมชาติ ว่าการจัดเก็บภาษีได้น้อย เพราะเป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด แต่ถ้าปล่อยเรื้อรังแบบนี้ ระยะยาว ท้องถิ่นอาจกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกัน เท่ากับว่า ท้องถิ่นจะมีภาษีน้อย การหางบประมาณมาบริการด้านสาธารณสุขก็กระทบไปด้วย เป็นการวนลูปปัญหา

ดังนั้น ผมว่าท้องถิ่นทำถูกแล้ว ที่รวมตัวกันกดดัน ต่อรอง ขอให้มีสิทธิในการจัดการวัคซีนให้แก่ประชาชน

หลายคนกลัวความเหลื่อมล้ำ กลัวไม่ได้มาตรฐาน ความจริงไม่ยาก ก็ให้ท้องถิ่นทั้งหมดที่ประสงค์ได้วัคซีนรวมกันจองตรงกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเงินก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ อบจ. แต่ละจังหวัด ดูแลประชาชนทั่วทุกจุดอยู่แล้วท้องถิ่นไหนที่ไม่มีเงิน ก็อาจจะระดมช่วยเหลือกันในท้องถิ่น จังหวัดนั้นๆ หรือใช้วิธีการกู้ยืมกันก่อน โดยมี อบจ.เป็นเจ้าภาพ ท้องถิ่นไหนที่ไม่มีเงินจริงๆ อาจจะขอกู้ยืมจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษได้ แต่เชื่อว่าน้อย เชื่อว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ท้องถิ่นมีความพร้อม อย่างที่ อบจ.กว่า 95 เปอร์เซ็นต์แสดงเจตจำนงมา

แต่ปัญหาอยู่ที่ 1.กลไกราชการ วิธีคิดที่เอาระเบียบเป็นตัวตั้ง ทั้งที่เราควรทำลายข้อจำกัดนี้ เพื่อแสวงหาวัคซีนได้ง่าย ประการที่ 2.ปัญหาการเมือง ที่ยื้อกันไปมาเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองของรัฐบาล ที่วิธีคิดคับแคบเกินไป

การทำงานแบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ทางการเมือง แต่จะยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สําหรับกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องการซื้อวัคซีนทางเลือก ต้องรอ ศบค.ตัดสินใจ จากผลของการบริการสถานการณ์แบบรวมศูนย์อำนาจ ที่ทำให้องค์กรนี้มีอำนาจมหาศาล แต่พบว่าการใช้อำนาจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้น ทางออกที่ดี รัฐบาลควรรีบจัดหาซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นที่มีคุณภาพเข้ามาเสริมเพื่อฉีดฟรีให้กับประชาชนโดยเร็ว

ไม่จำเป็นต้องรอให้ราชวิทยาลัยฯสั่งเข้ามาเพื่อขายให้กับ อปท.หรือองค์กรต่างๆ และยังมีเรื่องที่น่าสังเกตว่าขณะนี้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เคยออกมาทักท้วงการจัดหาวัคซีน การซื้อขาย หรือการนำข้อมูลด้านประสิทธิภาพออกมาเปิดเผยเปรียบเทียบ

หรือช่วยกันตั้งคำถามว่าทีมบริหารของแอสตร้าเซนเนก้าควรออกมาชี้แจงข้อมูลความโปร่งใส หรือเปิดให้ชมโรงงานผลิตในไทย เพื่อให้มีคำตอบว่าวัคซีนจะส่งมอบกี่โดสในวันใดของเดือนมิถุนายน

และสิ่งที่อยากเรียกร้อง คือขอดูสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค กำหนดราคาต่อโดสเท่าไหร่ มีค่าบริหารจัดการอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่ยังไม่มีใครเคยเห็นสิ่งเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image