ผ่ามุมมอง‘งบลับ’ เปรียบเทียบ ปท.พัฒนา

ผ่ามุมมอง‘งบลับ’ เปรียบเทียบ ปท.พัฒนา

ผ่ามุมมอง‘งบลับ’ เปรียบเทียบ ปท.พัฒนา

หมายเหตุนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นงบลับในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 สำหรับประเทศไทยต้องมีรูปแบบอย่างไร?

สุรชาติ บำรุงสุข
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การตั้งงบลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะระบบงบประมาณจะถูกตรวจสอบโดยกระบวนการทางรัฐสภา แต่ในหลายประเทศที่การเมืองยังไม่พัฒนา งบลับกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัด ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงหลายประเทศมีงบประมาณที่ไม่สามารถแจกแจงได้ ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ งบลับจึงไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสังคมทำให้ถูกมองว่าเป็นงบประมาณที่ไม่มีความโปร่งใสในตัวเอง สังคมไม่ได้รับรู้ว่าหน่วยราชการของภาครัฐใช้งบส่วนนี้ไปทำอะไร หรือมีวัตถุประสงค์อย่างไร

การใช้งบลับมีข้อเสีย เพราะถูกมองเป็นปัญหาทางการเมือง ไม่สามารถตรวจได้ถือว่ามีปัญหาในตัวเองแน่ๆ ส่วนไทย หรือหลายประเทศที่ช่วงหนึ่งเคยมีระบอบการปกครองแบบทหาร งบลับจะอยู่ในมือของทหาร เราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่างบส่วนนี้ถูกใช้ทำอะไร สังคมไม่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ แม้ว่าอาจจะเห็นจำนวนงบที่กำหนดไว้ หรือถ้าจะบอกว่าข้อดีของงบลับใช้ในภารกิจที่ปกปิด แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อะไรที่เป็นภารกิจปกปิดก็มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เข้าไปตรวจสอบ แม้ว่าการตรวจสอบจะเป็นกระบวนการที่ไม่เปิดเผย แต่จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สามารถจะนำงบไปใช้ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ

สิ่งสำคัญของบลับโจทย์ จึงอยู่ที่ความโปร่งใสในประเทศที่การเมืองยังมีปัญหา ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบได้ โดยเฉพาะงบของฝ่ายความมั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อในอนาคตว่า ถ้าระบบประชาธิปไตยในไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น รัฐสภาจะดำเนินการอย่างไรกับปัญหางบลับของหน่วยงานด้านความมั่นคง

เมื่อเป็นแบบนี้ในสถานการณ์ของประเทศที่มีวิกฤตจากโควิด-19 จึงมีเสียงเรียกร้องให้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แล้วนำเงินส่วนนี้ไปจัดหาวัคซีนให้มากขึ้น ใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทั้งภาวะเศรษฐกิจและคนตกงาน เพราะฉะนั้นงบลับในมิติของความมั่นคง จึงเป็นปัญหาในตัวเอง งบลับส่วนหนึ่งอาจไม่ต่างจากงบที่นำไปจัดซื้ออาวุธ เพราะไม่มีความชัดเจน และงบลับถูกตั้งคำถามว่าถูกใช้ในการปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาของทหารที่ถูกสังคมมักจะมองว่านำงบไปใช้ทำไอโอหรือไม่

เชื่อว่า กมธ.ฝ่ายพรรครัฐบาลคงไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยว จึงต้องการเรียกร้องให้สื่อ หรือภาคประชาสังคมตั้งคำถามเรื่องงบลับ และเรื่องของฝ่ายจัดซื้ออาวุธ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คิดว่าฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลทุกประเทศในโลกปัจจุบัน มีสิ่งที่เรียกว่างบลับซึ่งติดอยู่กับกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ปราบศัตรู เรียกง่ายๆ ว่า ใช้กำลังของอเมริกาคือ เอฟบีไอ, ซีไอเอ เพนตากอน และโครงการอะไรต่างๆ ที่แตกแขนงออกไปภายใต้ชื่อสำนักงานความมั่นคง มีงบลับแน่ๆ อย่างไรก็ตาม รัฐสภาของอเมริกาสามารถตรวจสอบได้ ถึงตรวจสอบไม่ได้ทั้งหมด แต่ตรวจสอบได้เยอะ และเข้าใจว่าคนอนุมัติงบลับคือ รัฐสภา โดยมี กมธ.ด้านความมั่นคงเป็นผู้รับรู้ ข้อมูลจะบอกเฉพาะกรรมการว่าใช้เงินไปทำอะไร ประธานาธิบดีก็มีอำนาจ พอให้งบไปแล้วค่อยไปรายงานคองเกรสภายหลัง เพราะฉะนั้นก็เป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในการปราบปราม เล่นงานฝ่ายตรงข้าม อำนาจที่ให้รัฐสามารถจับคนเข้าคุกได้ ถือเป็นความโหดร้าย

ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากหน่อยอย่างอเมริกา และยุโรป ความโปร่งใสก็มาก เพราะฉะนั้นการใช้งบลับต้องกระมิดกระเมี้ยน จะไปจับคนแบบไม่ต้องฟังเสียงใคร ยัดเข้าคุกเลยไม่ได้ คือทำยากหน่อย แต่ถ้าเผลอก็ทำ ด้วยเหตุนี้ สื่อ สภา พรรคการเมือง จึงต้องมีความสำคัญในการส่งเสียง อย่างน้อยที่สุดจะบรรเทาการใช้งบแบบที่ผิดทั้งจริยธรรม ศาสนา เหตุและผลทุกอย่าง พูดง่ายๆ คือ งบลับมีไว้รักษาความมั่นคงของรัฐบาล และถ้าประเทศนั้นเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นความชอบธรรมของประเทศ แต่ประเทศที่รัฐไม่มั่นคง กองทัพเป็นผู้ยึดอำนาจมาตลอด ตั้งรัฐบาลเป็นของฝ่ายกองทัพมาตลอด คนจำนวนมากจะเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ใช่ตัวแทนของประเทศ ความขัดแย้งย่อมมีสูง อย่างแอฟริกา ใช้กำลังสู้กับรัฐ เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ใช่ตัวแทนของตน จึงไม่ต้องต่อรอง มีกำลังก็สู้ เราก็อยู่กึ่งๆ ว่าจะกลายเป็นแบบแอฟริกา หรือเป็นแบบเสรีนิยม

อนาคตอยู่ที่ว่ากลุ่มตรวจสอบทั้งหลายที่จะต้องทำให้งบลับ ไม่ลับได้อย่างเด็ดขาด แต่ลับในระดับหนึ่ง

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

อย่ามองว่างบลับเป็นเรื่องปกติ ที่จะเอาไปซุกไว้ตรงไหนก็ได้ ส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการแบบนี้ เพราะควรมีกรอบในการตั้งงบและมีแนวทางในการใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ บางคนไปไกลถึงขนาดบอกหน้าตาเฉยว่างบลับมีมานานแล้ว จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกาจะมีการตั้ง กมธ. เพื่อให้ผู้ใช้จ่ายงบลับมารายงานต่อ กมธ.ชุดนี้ โดยมีการซักถามได้ว่า ใช้จ่ายงบด้วยเหตุผลอย่างไร โดย กมธ.ต้องรักษาความลับ ในหลักการเห็นว่าการใช้งบลับจึงไม่ได้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมีการถ่วงดุล หากมองในประเทศไทย ก็ไม่เคยเห็นมีใครออกมาตรวจสอบถ่วงดุลอย่างโปร่งใสการใช้งบจะอ้างว่า ทำไปเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง แต่ขณะนี้เมื่อพูดถึงงบลับในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร มักจะถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของใคร ของรัฐบาลจริงหรือไม่

แต่อย่าลืมว่าประเทศนี้ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีพลเรือนไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ยังไม่มีการจัดวางระบบการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัยอาจจะมองในแง่ดีว่า อาจจะมีงบส่วนนี้ไว้บ้าง เหมือนประเทศอื่น เพียงแต่การใช้งบต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบบ้าง และต้องรายงาน แต่ในประเทศไทยจะให้ไปรายงานกับผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นองค์กรอิสระจะทำให้สังคมพอจะไว้วางใจได้บ้างหรือไม่

หรือหากไว้วางใจการทำงานของระบอบรัฐสภา ก็ควรขอให้ตั้งกรรมการพิเศษไปรับรู้ข้อมูลการใช้จ่ายงบลับ และผู้เกี่ยวข้องอย่ามาป่าวประกาศบอกว่าใช้งบดีแล้วไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตรงนี้ไม่ใช่การตรวจสอบ แต่แค่ออกมาบอกว่าทำถูกต้องแล้ว แต่ประชาชนมีสิทธิคิดหรือไม่เชื่อว่าจะโปร่งใส 100% ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 คิดอะไรที่ก้าวหน้าได้มากมาย แต่ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ซึ่งขอเรียนว่าทุกคนไม่ได้ปฏิเสธที่จะมีกองทัพ มีอาวุธ มีบุคลากรสนับสนุน แต่คนส่วนใหญ่คงไม่อยากเห็นผู้มีอำนาจฝ่ายความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้เข้าไปเล่นการเมืองเสียเอง จึงทำให้ระบบที่วางเอาไว้รวนไปทั้งหมด นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา

ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมพยายามมองในแง่ดีที่ว่า งบลับอาจจะเป็นภาษาทั่วไป แต่ภาษาทางราชการคือ งบในราชการลับ งบที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ แต่ในปัจจุบันน้ำหนักงบราชการลับถูกใช้ไปส่วนไหน ใช้ในภัยคุกคามด้านความมั่นคงทั่วไป ราชการทหารขนาดใหญ่หรือภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพราะฉะนั้นงบในราชการลับอาจนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่มากกว่า

ในลักษณะปัจจุบัน พวกงบประมาณต่างๆ จะมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) หรือกลไกทางรัฐสภา เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยจะมี 3 เรื่องหลักๆ คือ ในประเด็นแรก งบในราชการลับนั้น จะต้องถูกใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น บางหน่วยงานที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง สามารถตั้งคำถามว่า งบนั้นตั้งไว้เพื่ออะไร ประเด็นต่อมา หน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านข่าวกรองความมั่นคงของชาติโดยตรง มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนที่ต้องใช้งบเหล่านั้น และประเด็นสุดท้ายคือ การที่ใช้งบในราชการลับต้องไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งตรงนี้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ที่จะนำมาประเมินความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบราชการลับ

เมื่อลองมองการใช้จ่ายงบราชการลับในต่างประเทศ จะเห็นตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ภารกิจด้านงบราชการลับเกี่ยวข้องกับงานด้านข่าวกรอง เช่น ซีไอเอหรือเอฟบีไอต่างๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยที่ยังไม่พ้นวังวนเรื่องข้อครหางบลับ นั่นคือ ประเทศไทยมีการสร้างหน่วยงาน หรือกลไกด้านความมั่นคงไม่เข้มแข็ง เรายังไปไม่ถึงการปฏิรูประบบราชการของหน่วยงานความมั่นคงอย่างชัดเจน เพราะภารกิจด้านความมั่นคงที่มันซ้ำซ้อน เพราะฉะนั้นแล้ว หากจะแก้ปัญหาเรื่องข้อครหางบลับ ต้องพูดถึงการปฏิรูประบบราชการหน่วยงานความมั่นคงด้วย ทั้งการยุบรวม ปฏิรูป หรือกระทั่งการปฏิบัติภารกิจใหม่ที่มันสอดคล้องกับภารกิจด้านความมั่นคงในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังไม่มีกลไกด้านการตรวจสอบประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เหมือนงบด้านอื่นๆ มันจึงเกิดการตั้งคำถามจากสังคม

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของงบในราชการลับ มันระบุไว้ว่า ต้องใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะอนุมัติให้ใช้หรือไม่ใช้งบในราชการลับ แต่มันจะมีดุลพินิจอีกแบบที่ใช้งบในราชการลับในงานที่คล้ายกับราชการลับ นี่จึงเป็นปัญหาในการใช้ดุลพินิจเหมือนกัน ทั้งนี้ การมองภาพใหญ่ว่า การใช้งบในราชการลับมันจึงต้องมีกลไกตรวจสอบควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญคือ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เราเห็นในสังคมไทย และมีการใช้จ่ายงบในราชการลับอย่างชัดเจน คือ งบการแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติด ที่มีการใช้งบจำนวนมหาศาล แต่ในทางตรงกันข้าม จำนวนปริมาณยาเสพติด และประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่เราพบเห็นมันยังมีความคลุมเครืออยู่มาก

ดังนั้นจึงต้องมีการคิดถึงเรื่องกลไกการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการตรวจสอบการใช้งบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image