นานาทรรศนะ‘อจ.-อปท.’ ปลดล็อกท้องถิ่นซื้อวัคซีน ช่วยเติมเต็มฉีดให้ ปชช.

นานาทรรศนะ‘อจ.-อปท.’ ปลดล็อกท้องถิ่นซื้อวัคซีน ช่วยเติมเต็มฉีดให้ ปชช.

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกประกาศให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้ โดยให้ซื้อผ่าน 5 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมโรค,องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สมศักดิ์ กิตติธรกุล
นายก อบจ.กระบี่และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

หลัง ศบค.ปลดล็อกให้ อปท.จัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว มีเพียงหลักการกว้างๆ และมีเงื่อนไขการจัดซื้อ ทำให้อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้ อปท.ดำเนินการตามระเบียบวิธีปฏิบัติ

Advertisement

โดยเฉพาะกรณีที่ อปท.จะร่วมกันจัดซื้อ ในบางจังหวัดมี อบจ.ร่วมกับเทศบาล หรือ อบต. จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติภายหลัง รวมทั้งกรณีการจองของวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่กำหนดให้จองซื้อผ่านเว็บไซต์ จะมีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่

สมาคมขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งแจ้งหนังสือซักซ้อมถึงแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน หากเห็นว่ามีระเบียบข้อไหนที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค ขอให้แก้ไขเพิ่มเติม มีการยกเว้นหรือออกระเบียบใหม่บังคับใช้ ให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติและไม่มีปัญหากับหน่วยงานตรวจสอบ

ส่วนกรณีที่ ศบค.เป็นห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่จะได้รับวัคซีนนั้น ยอมรับว่า อปท.แต่ละแห่งมีศักยภาพไม่เท่ากัน แต่ขอให้มองว่า อปท.เป็นเพียงหน่วยเสริมที่ช่วยเติมเต็มให้กับรัฐบาลในการฉีดวัคซีนประชาชน เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ภารกิจหลักในการจัดหาวัคซีนยังเป็นของรัฐบาล หากพื้นที่ไหนที่ อปท.ไม่มีงบประมาณ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแล อย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือแย่งทำงานกับรัฐบาล แต่ขอให้มองว่าเป็นการช่วยเหลือในยามวิกฤตจะดีกว่า

Advertisement

อัศนี บูรณุปกรณ์
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

หลัง ศบค.ปลดล็อกให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนฉีดป้องกันโควิดได้นั้น จึงประชุมผู้บริหารและข้าราชการอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดแผนงาน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก จัดซื้อให้ใครบ้าง จำนวนกี่คนเพื่อป้องกันการลงทะเบียนฉีดวัคซีนซ้ำซ้อนกับภาครัฐ จึงให้สำรวจประชากรเขตเทศบาลที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐว่าต้องการฉีดวัคซีนหรือไม่ ฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน

ขั้นตอนที่ 2 มีงบประมาณจัดซื้อวัคซีนเพียงพอหรือไม่ และใช้งบประมาณส่วนไหน ซึ่งเทศบาลมีเงินคงคลังหรือเงินสะสมกว่า 900 ล้านบาท ต้องสอบถามไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าสามารถใช้เงินสะสมจัดซื้อได้หรือไม่ ที่สำคัญต้องออกระเบียบรองรับเพื่อให้ อปท.ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ

ขั้นตอนที่ 3 สถานที่บริการฉีดวัคซีน เบื้องต้นกำหนดไว้ 3 จุด คือ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงนครพิงค์ สวนสุขภาพบ้านเด่น แขวงกาวิละ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ต แขวงเม็งราย

ในเขตเทศบาลมีประชากรกว่า 120,000 คน ไม่รวมประชากรแฝง หากฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย 70% ต้องฉีดกว่า 84,000 คน การฉีดวัคซีนดังกล่าว ถือเป็นส่วนเสริมและเติมเต็มกับให้ภาครัฐ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

การจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดอันดับแรกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน และท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดตั้งเป้าเปิดเมืองเชียงใหม่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อต้อนรับสู่ฤดูท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น

อยากขอบคุณรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่มีหนังสือสั่งการปลดล็อกให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนได้ เพื่อแบ่งเบาภาระและเติมเต็มให้ประชาชนได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกระดับ

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

เมื่อ ศบค.อนุมัติให้ อปท.ซื้อวัคซีนเองได้แน่นอนว่าในภาวะเร่งด่วนคงต้องใช้เงินสะสมที่ผ่านความเห็นชอบสภาท้องถิ่น เนื่องจากการใช้เงินอุดหนุนทั่วไป หรือเงินอุดหนุนเฉพาะกิจต้องจัดทำแผนงานโครงการล่วงหน้า แต่การใช้จ่ายเงินสะสมซื้อวัคซีน ต้องคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของ อปท.แต่ละแห่งและเสถียรภาพทางการคลังในอนาคต

จากนั้นมีคำถามว่า อปท.ควรซื้อกันเองหรือไม่ กรณีของโควิด เป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ ไม่มีเขตแดน ไม่มีแนวกำแพงกั้น ผู้ที่รับผิดชอบต้องเป็นรัฐ เพราะโรคระบาดแบบนี้ประชาชนต้องได้รับการบริการฟรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47 วรรคท้ายที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาที่เผชิญในขณะนี้ รัฐบาลดูเหมือนไม่อาจจะบริหารจัดการวัคซีนตามที่ประชาชนต้องการอย่างเพียงพอได้ ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องออกมาเสนอตัวจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ตัวเอง

แต่การจัดซื้อวัคซีนของ อปท.ยังมีปัญหา ถูกบางฝ่ายมองว่าอาจจะเข้าข่ายประชานิยม ดังนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่าการใช้เงินสะสม จะถือเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นไปสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเงินสะสมของ อปท.และต่อประชาชนในอนาคตหรือไม่

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินของ อปท.ในการจัดซื้อวัคซีน แต่ อปท.ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่ตนเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น โดยใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลางจัดซื้อวัคซีน หรือให้ท้องถิ่นจัดงบไปซื้อก่อนแล้วรัฐบาลชดใช้ในภายหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบ มือใครยาว สาวได้สาวเอา เพราะ อปท.มีหลายขนาด ทั้งจำนวนพื้นที่และการจัดเก็บรายได้ มีหลายรูปแบบทั้งชุมชนเมือง ชุมชนเมืองกึ่งชนบท หรือในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

ก่อนหน้านี้ ส.ท.ท.ส่งเอกสารใบจองซื้อวัคซีนทางเลือกให้เทศบาลสมาชิกทั่วประเทศ พร้อมแนวทางการจัดซื้อ แต่ล่าสุดทราบว่ามีการกำหนดแนวทางการจองซื้อผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้น เทศบาลที่มีความสนใจก็สามารถจองโดยตรงกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้

ส่วนสถานะทางการเงินการคลังของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล อาจมีไม่เท่าเทียมกันนั้น ขอเรียนว่าการจัดซื้ออาจจะไม่ครบทุกเทศบาลในทันที โดยอยู่ที่ปัจจัยทางการคลัง แนวโน้มการระบาดของโรค แต่ถ้ามองในเชิงพื้นที่เทศบาลตำบลที่มีงบประมาณไม่มาก แต่มีประชากรน้อยกว่าเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร เพราะฉะนั้นเทศบาลตำบลซึ่งมีรายได้น้อย ก็คงต้องขอใช้เงินสะสมออกมาจัดซื้อ

ขณะที่เทศบาลแต่ละแห่งจะต้องซื้อกี่โดส ต้องดูจากจำนวนประชากร โดยแยกในกลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยงที่ส่วนใหญ่ลงทะเบียนฉีดไปก่อนหน้านี้แล้วในเป้าหมายแรก ดังนั้น จึงเหลือกลุ่มอายุ 18-59 ปี ซึ่งเทศบาลจะกำหนดแนวทางสั่งซื้อในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วยเติมเต็มวัคซีน 2 ยี่ห้อของรัฐบาล ป้องกันปัญหาการจองฉีดซ้ำซ้อน

สำหรับข้อห่วงใยว่าโรคระบาดอาจจะไม่จบในระยะสั้น และ อปท.อาจจะไม่ได้ซื้อวัคซีนเพียงครั้งเดียว ขอเรียนว่าการจัดซื้อวัคซีนครั้งแรกหรือครั้งต่อไปจะต้องคำนึงถึงสถานะการเงินในอนาคต และกรณีที่ท้องถิ่นต้องการซื้อในครั้งนี้ เพราะเราหวังว่าการช่วยหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนได้ครอบคลุมมากที่สุด จะทำให้คนสังคมมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้ หากทำให้วงจรธุรกิจมีโอกาสขับเคลื่อนได้เหมือนเดิม อปท.ก็จะมีรายได้กลับเข้ามา

ในปีหน้าหากมีการระบาดซ้ำก็คงต้องใช้วัคซีนโดสที่ 3 อาจจะใช้วัคซีนที่ฉีดเพียงเข็มเดียว ทำให้มีการใช้จ่ายงบประมาณน้อยลง และในอนาคตเมื่อมีผู้ผลิตวัคซีนมากขึ้น มีการวิจัยเพื่อให้มีวัคซีนที่มีคุณภาพมากขึ้น ราคาก็อาจจะลดลง อปท.สามารถจัดซื้อเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่าปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเทศบาลที่เป็นสมาชิก ส.ท.ท. จะนำเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการ ส.ท.ท.ให้พิจารณาลดรายจ่ายค่าบำรุงรายปีที่เทศบาลสมาชิกต้องจ่ายทุกปี คาดว่าจะลดลงร้อยละ 30 เพื่อนำไปช่วยเทศบาลในการจัดซื้อวัคซีน นอกจากนั้นจะดูว่าสันนิบาตเทศบาลระดับภาคได้รับค่าบำรุงรายปีจาก ส.ท.ท.ร้อยละ 60 จะมีแนวทางช่วยเหลือสมาชิกหรือไม่อย่างไร

สำหรับเทศบาลนครยะลา ที่ผ่านมามีการจัดทำโครงการสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่ ยืนยันว่ามีความพร้อม ในการสนับสนุนเพื่อเปิดให้ประชาชนจองฉีดวัคซีนได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันมีการวางแผนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนในระบบ หากเป็นผู้ติดเชื้อโควิดในเขตเทศบาล ก็สามารถติดตามตัวบุคคลเพื่อตรวจสอบไทม์ไลน์ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image