รายงาน : โจทย์ร้อน การเมือง โจทย์เนื่องแต่ ‘รัฐธรรมนูญ’ กับ ‘พลังประชารัฐ’

การก่อรูปขึ้นของพันธมิตรในแนวร่วม “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

ทรง “ความหมาย” และ “สำคัญ”

ทรงความหมายเพราะว่ามิได้อยู่ภายใต้ “ร่มธง” ของพรรคพลังประชารัฐแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

นี่เท่ากับเป็นการแยกตัวออก “ต่างหาก”

Advertisement

ไม่เพียงสะท้อนว่า “เนื้อหา” และรายละเอียดบางประการของการแก้ไขเพิ่มเติม มีความแตกต่างกัน อย่างชนิดอันเป็น “ต่างหาก” ออกมา

หากแต่ยังสะท้อนถึง “ปัญหา” ใน “อดีต”

เท่ากับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่าแนวที่พรรคพลังประชารัฐเคยกระทำมิได้เป็นแนวเดียวกับพวกเขา

Advertisement

นี่คือ “ความขัดแย้ง” นี่คือ “การแตกแยก”

จากกรณีของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จากกรณีของพระราชกำหนดเงินกู้
5 แสนล้านบาท

3 พรรคนี้แม้จะเห็น “ต่าง”

กระนั้น ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ 2 ร่างนี้ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุม โดยพื้นฐานก็คือยังถือว่า
เป็น “เครื่องมือ” ร่วม

จึงอภิปรายเหมือน “ราชสีห์” และลงมติราวกับ “หนู”

แต่พลันที่มาถึงกรณีการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรค
ชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกันว่า

พรรคพลังประชารัฐมิอาจเป็น “ผู้นำ” ได้

จึงมีความจำเป็นต้องสร้าง “พันธมิตร” ในแนวร่วมทางการเมืองของตนขึ้นเพื่อแสดงให้สังคมได้เห็นถึงจุดแยกและแตกต่างทางการเมือง

เป็นจุด “ต่าง” ไปจาก “พลังประชารัฐ”

เมื่อนำเอากรณีของ 1 พรรคพลังประชารัฐ 1 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และ 1 พรรคร่วมฝ่ายค้านมาวางเรียงเคียงกัน

ก็จะเห็นทั้ง “จุดร่วม” และ “ความต่าง”

จุดร่วมอันหนักแน่นและจริงจังก็คือ เป็นการยืนยันให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา

และจำเป็นต้องมีการแก้ไข เพิ่มเติม

คำถามก็คือ จะแก้ไขเพิ่มเติมใน “กระสวน” แบบใดในทางการเมือง แบบพรรคพลังประชารัฐ หรือแบบพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

หรือแบบของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก
การเปรียบเทียบยิ่งแหลมคม

นี่คือปมทางการเมืองในเดือนมิถุนายน 2564

แม้ว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐประสานเข้ากับ 250 ส.ว. จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าทิศทางการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปอย่างไร

แต่หลายคนก็เริ่มเกิดความไม่แน่ใจ

เป็นความไม่แน่ใจจากการเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา กับการเคลื่อนของฝ่ายค้าน และของ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”

นี่คือโจทย์อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image