สะท้อนความเห็น การแก้ร่างรัฐธรรมนูญ

สะท้อนความเห็น การแก้ร่างรัฐธรรมนูญ หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และรัฐบาล

โคทม อารียา
ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากตัวแทนภาคประชาสังคม มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ขอให้ผู้มีอำนาจรีบออกกฎหมาย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติให้เสร็จโดยเร็ว อย่านำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทรก เนื่องจากก่อนปิดประชุมสภาสมัยที่แล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาใกล้จบแต่ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ก็ขอให้รัฐสภาทำหนังสือแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้วางแนวการวินิจฉัยไว้ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศตัดสินใจว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างโดย ส.ส.ร.หรือไม่

Advertisement

เรื่องนี้ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่พรรคพลังประชารัฐไม่เคยพูดถึง ส่วนแนวทางในการทำคู่ขนานกันไป หากจะทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตรา ทั้งพรรครัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้าน มีความเห็นตรงกันว่าควรแยกเป็นหลายฉบับ เผื่อเหลือเผื่อขาดหากมีบางฉบับต้องตกไป โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านต้องการแก้ไขลดอำนาจของ ส.ว.ไม่ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้สนามการเมืองที่มีการแข่งขันไม่มีใครได้เปรียบจากกติกาเดิม ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐไม่สนใจเรื่องนี้ จึงไม่แน่ใจว่า ส.ว.จะคิดอย่างไร

อาจจะมีบางประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐกับพรรคอื่นอาจเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอึดอัด เพราะมีวาทกรรมเดิมๆ บอกว่าจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญที่เคยใช้ 2 ฉบับ ก่อนที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ทั้งที่ของจริงคือจะมีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยพรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบ พรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคอาจจะเห็นด้วย ก็ต้องช่วยกันอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมต้องเปลี่ยน ไม่ควรนำเสนอแบบครึ่งๆ เหมือนพูดความจริงไม่หมด

ที่สำคัญหากมีการแก้ไขได้เฉพาะเรื่องนี้ประชาชนก็อาจจะแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาทำฉบับใหม่ก็ไม่เอา ลดอำนาจ ส.ว.เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ไม่ได้

Advertisement

แต่ไปแก้ระบบเลือกตั้งเพื่อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ผู้มีอำนาจก็ประเมินว่าเพื่อลดกระแสหลังจากแก้ไขได้ตามเป้าหมายเพื่อให้พรรคตัวเองได้เปรียบแล้ว ก็อาจจะมีการปรุงรสชาติเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้เห็นว่าประชาชนอาจจะเห็นว่าได้ประโยชน์บ้าง เช่น ให้ ส.ส.ไปดูแลการใช้จ่ายงบประมาณในระดับหนึ่ง และทำให้เห็นว่ารัฐบาลได้ทำตามนโยบายที่เคยประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีร่างแก้ไขในอดีต ก็เคยมีข้อตกลงไว้แล้วว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.

แต่ไปสะดุดหลังมีการส่งเรื่องไปตีความ และปัจจุบันไม่มีใครพูดถึงการมี ส.ส.ร.เพราะต้องการทำให้เรื่องนี้สูญหายไปจากความทรงจำของประชาชน

เพื่อให้มีทางออกที่ดีในการแก้ไขความขัดแย้ง ผู้มีอำนาจควรให้ความสนใจผ่านกฎหมายประชามติให้เสร็จโดยเร็ว อย่าพยายามนำแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไม่มีความจริงใจเข้ามาแทรก และยังมี 250 ส.ว.ทำหน้าที่อำนวยประโยชน์ให้กับบางขั้วอำนาจทางการเมือง ดังนั้นอย่าทำแบบนี้เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น หรือเป็นแทคติคที่ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้ทัน ขอร้องว่าอย่าทำเพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พรรคพลังประชารัฐประกาศตัวชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำในการแก้รัฐธรรมนูญ สาระสำคัญวางกับดักจะแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามสัดส่วน ส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อตามที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับความรู้สึกของ 250 ส.ว. เบื้องต้นคนกันเองคงประเมินกันว่าเรื่องนี้น่าจะผ่าน เพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาที่บอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนไว้ แต่ดูแล้วประชาชนรู้ทันและรู้สึกไม่พอใจอาจจะออกมาเคลื่อนไหวอีก โดยอาจจะไม่สนใจปัญหาโควิด

เพราะแนวทางการแก้ไขก็ยังไม่ได้ทำเพื่อเพิ่มสีสัน หรือบรรยากาศที่ทำให้กติกาบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ที่พรรคฝ่ายค้านวางหลักการไว้ด้วยการเสนอลดอำนาจ ส.ว.ถ้าติดตามตามการเสนอแก้ไขของทุกพรรคการเมือง ก็ต้องการนำเสนอความเหมาะสมในฉบับที่ตัวเองเสนอ ขณะที่ ส.ว.ก็กลัวจะถูกเสนอให้แก้ไขเพื่อตัดอำนาจของตัวเอง

ขณะที่คนภายนอกมองว่า หากรัฐบาลทำกฎหมายประชามติให้เสร็จแล้วนำมาใช้เป็นเครื่องมือถามประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเหมาะสมที่สุด แต่วันนี้เมื่อพรรครัฐบาลขยับจะแก้ไข พรรคฝ่ายค้านคงอยู่เฉยไม่ได้ ก็ต้องแข่งกันเสนอ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสนำร่างไปเปรียบเทียบว่าของใครมีความก้าวหน้ามากกว่า ก็ถือเป็นการชิงเหลี่ยมกันตามปกติ

ทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้หวังที่เป้าหมาย แต่ขอเสนอบ้าง เพื่อให้มีกระแสที่มีคนพูดถึงให้อยู่ในระดับเดียวกัน แม้แต่พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ฝ่ายค้านด้วยกันก็ต้องเสนอคนละฉบับ เพราะมีสาระสำคัญบางเรื่องต่างกัน แต่ดูแล้วเพื่อไทยคงต้องการได้รัฐธรรมนูญแบบปรองดอง แต่ของพรรคก้าวไกลวางเป้าหมายเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน

แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะเสนอให้แก้ไขมาตราอะไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ผ่านแม้แต่ฉบับเดียว เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจไม่เอาด้วยกับแนวทางที่พลังประชารัฐออกมาชิงธงนำการนำเสนอเพียงพรรคเดียว ซึ่งโดยสถานการณ์ทางการเมือง ก็เป็นที่รับรู้ว่าการแก้ไขยังมีอุปสรรค เพราะมี 250 ส.ว.นอนขวางคลอง ร่างแก้ไขก็คงจะผ่านไปได้ยาก ส่วนทางออกในการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ทำประชามติเพื่อวัดพลังจากเสียงของประชาชนว่าต้องการอะไรก็น่าจะเหมาะสมที่สุด

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมมองว่าประเด็นตอนนี้ที่มีการถกเถียงมากที่สุดคือ ระบบการเลือกตั้งในอนาคต ตามที่รัฐบาลบอกว่าจะเอาบัตร 2 ใบ ซึ่งนั่นคือประเด็นใหญ่ เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมามากที่สุดในเรื่องของการคำนวณสัดส่วนคะแนน และบางครั้งไม่แฟร์สำหรับผู้สมัครของพรรคการเมืองที่อาจจะอยู่คนละเบอร์ คนละเขต แล้วแต่ดวงที่จะผู้สมัครนั้นๆ จะจับได้ ซึ่งถ้าจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนตัวก็ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะบัตรเลือกตั้งกี่ใบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วิธีการนับคะแนน

เมื่อพูดถึงเรื่องวิธีการคำนวณคะแนน จะใช้วิธีการคำนวณแบบปี 40 ที่ระบุให้คะแนนพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 10% สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือใช้วิธีการคำนวณแบบเดิม ซึ่งไม่แฟร์ ทำให้เกิดบัตรเขย่ง ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดสะท้อนว่าระบบการคำนวณจะเป็นอย่างไรต่อไป จะเอาคะแนน ส.ส. เขต รวมกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือจะคำนวณแค่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบปี 40 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ถ้าใช้วิธีการนับคะแนนแบบปี 40 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้เดาได้เลยว่าพรรคการเมืองไหนจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ในส่วนของระบบเลือกตั้งที่เราใช้เมื่อปี 40 มีข้อกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องได้รับเสียงไม่ต่ำกว่า 10% ถึงจะสามารถคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ปัญหาคือ พรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบ 100% จะไม่มีพรรคการเมืองขนาดกลาง หรือขนาดเล็กกลับมาได้เปรียบได้เลย และยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ระบบการคำนวณคะแนน จะใช้บัตรกี่ใบ หรือใช้วิธีการคำนวณคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ในปัจจุบัน ต้องไม่มีการดัดแปลง หรือตัดต่อพันธุกรรมให้ผิดแปลกไปจากเดิม ต่อให้ใช้บัตร 2 ใบ แต่การคำนวณคะแนนแบบปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยก็ยังเสียเปรียบอยู่ดี เพราะต่อให้ได้ ส.ส.เขตเยอะ แต่ก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

แต่ครั้นจะกลับไปใช้วิธีคำนวณคะแนนแบบปี 40 พรรคก้าวไกลจะลดลงไปพอสมควร เพราะคนจะมีความคิดก้ำกึ่ง ใจอยากเลือกเพื่อไทย แต่ก็ไม่อยากทิ้งก้าวไกล จึงอาจจะทำให้เกิดการเลือกเพื่อไทยให้ชนะ ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อคะแนนของพรรคก้าวไกลพอสมควร

เพราะฉะนั้นเราก็ควรใช้ระบบที่เราเอาเข้ามาแต่แรก คือ จัดสรรปันส่วนผสม แต่อย่าไปเปลี่ยนแปลงมัน ไม่ใช่ไปเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐ

พูดกันมาถึงตรงนี้ ถ้าในอนาคตไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากจะให้ลองหลับตาดูว่ากลไกของรัฐธรรมนูญปี 60 มันทำให้เราได้เห็นวิกฤตทางกฎหมายค่อนข้างเยอะ ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นวิกฤตทางศีลธรรม ในเรื่องของการตีความกฎหมาย

กล่าวคือ เมื่อตัวรัฐธรรมนูญ 60 ถูกประกาศใช้ ซึ่งมันก็มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายลูก ซึ่งมันมีการตีความหลายแนว

อย่างกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นนิติบุคคลมหาชน ซึ่งในทางวิชาการมันไม่ใช่ มันชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 มันเขียนกลไกไว้หลายอย่างที่แฝงไว้เรื่องความได้เปรียบ เสียเปรียบ

อย่างที่สองคือ รัฐธรรมนูญปี 60 มีกลไกที่ทำให้แก้ไขได้ยาก และทำลายเสถียรภาพของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้ พูดให้เห็นภาพ ในระบบรัฐสภา อย่างเรื่องการนำบัตรสองใบกลับมาใช้ ต้องใช้เสียงฝ่ายค้าน 80 กว่าเสียง จะไปเอามาจากไหน มันทำให้เกิดการดีผลประโยชน์กันเอง และไม่ทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างเป็นอารยะในสังคมประชาธิปไตย

และอีกกลไกหนึ่งซึ่งเป็นอุปสรรค แต่คนพูดถึงน้อยนั่นคือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่บังคับให้หน่วยงานรัฐ และรัฐบาลในอนาคตผูกพันตาม และยังเอื้ออำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีที่หน่วยงานรัฐนั้นๆ ไม่ทำตาม มันคือการวางอนาคตประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา โดยอาจจะไม่ต้องไปไกลถึง 20 ปี ให้มองดูว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ปี 60 ถัดมาอีก 3 ปี มันมีวิกฤตโรคระบาด ถามว่าในแผนยุทธศาสตร์ชาติมีส่วนใดหรือไม่ ที่รองรับวิกฤตนี้

ในประเทศที่เจริญแล้วจะมีการวางยุทธศาสตร์ชาติ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ต้องเป็นไปตามแผนที่วางไว้เสียทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image