วิพากษ์บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ‘พปชร.-ก้าวไกล’ ใครได้ใครเสีย

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักการเมือง กรณีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของระบบการเลือกตั้ง ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอแก้ไขให้ใช้การเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกแบบ 2 ใบ ในระบบสัดส่วนผสม

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ระบบเลือกตั้งในร่างของพรรค พปชร. เป็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ใช้เขตเลือกตั้ง 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 เขต จะใช้เบอร์เดียวในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขตเลือกตั้งหรือบัญชีรายชื่อ

Advertisement

ส่วนความได้เปรียบเสียเปรียบของการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นเรื่องที่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกใช้บัตรลงคะแนนได้ 2 ใบ ส่วนเป็นการได้เปรียบของพรรคการเมืองหรือไม่ก็อยู่ที่พรรคนั้นประชาชนนิยมหรือไม่ ถ้านิยมเขาก็เลือกอยู่แล้ว ด้านพรรคเล็กมีสิทธิส่ง ส.ส.เขตได้ แต่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็เขียนไว้ว่าต้องส่ง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 เขต ถึงจะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ กำหนดขั้นต่ำของการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ คือ ถ้าประชาชนมาออกเสียงเลือกตั้ง 35 ล้านเสียง ต้องได้ 350,000 คะแนน คือ ร้อยละ 1 ถ้าต่ำกว่านั้นก็ตัดไม่นับ เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้มี ส.ส.ปัดเศษ หรือ ส.ส.ที่เสียงไม่ถึง

ส่วนแนวคิดพรรคก้าวไกลที่เสนอให้คิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม เหมือนประเทศเยอรมนี ที่ผ่านมาได้เป็นชุด กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีใช้บัตรเลือกตั้งสัดส่วน 2 ใบ มีข้อยุ่งยากมากและจำนวน ส.ส.ก็ระบุได้ไม่แน่นอน วิธีการคำนวณ ก็สลับซับซ้อน จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นหนักกว่าบัตรใบเดียวอีก ในเมื่อเพิ่งจะแก้ปัญหาบัตรใบเดียวและจะใช้บัตร 2 ใบในระบบสัดส่วน แบบนี้ยิ่งยุ่งไปใหญ่ ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วย เพราะรู้ถึงความยุ่งยาก

ชัยธวัช ตุลาธน
เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

Advertisement

พ รรค พปชร.มองเห็นแล้วก็เชื่อมั่นว่าตัวเองมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในสัดส่วน ส.ส.เขตที่ได้เสนอระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ และให้ใช้สัดส่วน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่จะต้องแบ่งเขตให้พื้นที่มีขนาดเล็กลง ด้วยอำนาจที่มีอยู่ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และเครือข่ายอิทธิพลต่างๆ ก็คิดว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากระบบที่ตัวเองเสนอ ซึ่งเป็นระบบที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็คาดหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย

ระบบเลือกตั้งที่ พปชร.และ พท. เสนอคือ ระบบแบบคู่ขนาน ที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแยกกัน เป็นระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบในยุคที่คนเบื่อรัฐบาลผสมหลากหลายพรรค และต้องการจะให้เกิดระบบสองพรรคใหญ่ เพราะคิดว่าจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่อใช้ไปแล้วก็มีข้ออ่อน ที่จะต้องแก้ไขที่สำคัญมากๆ คือระบบแบบนี้ไปทำให้เสียงสนับสนุนจากประชาชนของพรรคการเมืองที่ได้อันดับสองและอันดับสามถูกตัดทิ้งน้ำไปหมด และทำให้พรรคการเมืองที่ชนะได้จำนวน ส.ส.ที่มากเกินจริง เช่นอาจจะได้รับการสนับสนุนทั่วประเทศประมาณ 40% แต่เมื่อคำนวณเป็น ส.ส.เขตบวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วปรากฏว่าได้ ส.ส.มากกว่า 40% ไปเยอะ ขณะที่บางพรรคการเมืองได้คะแนนนิยมจากทั้งประเทศประมาณ 30% แต่ได้ ส.ส.ที่เข้าไปสู่สภาแค่ 20% เป็นปัญหาของการไม่ได้สัดส่วนของจำนวน ส.ส. และไม่ได้สะท้อนเสียงหรือเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน

ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมหรือระบบเยอรมัน ความจริงแล้วระบบนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และใช้ในหลายประเทศนั้น ระบบการเลือกตั้งที่พรรค ก.ก. เสนอไม่ได้เสนอแบบเยอรมันเป๊ะ เพราะมีรายละเอียดเยอะ และไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติในสังคมไทย แต่หลักการง่ายๆ ที่เราเสนอ คือ การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ คือ 1 ใบ เลือก ส.ส.เขต และ 1 ใบ เลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบ ทำให้ผู้ไปใช้สิทธิยังสามารถเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบได้อยู่ และยังสะท้อนเสียงของประชาชนได้ด้วย โดยวิธีการคำนวณคือใครชนะ ส.ส.เขตก็ชนะไป โดยเราจะนำคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองทั้งประเทศมารวมกัน แล้วนำคะแนนส่วนนั้นมาคิดคำนวณเป็น ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคได้

เมื่อได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคแล้ว เราก็จะนำมากำหนดว่าแต่ละพรรคการเมืองควรจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ จากนั้นก็มาดูว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตไปแล้วเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง พรรค A ได้ ส.ส.พึงมี 100 คน หากได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 80 คน จะได้เพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมแล้วจะได้ 100 คน หากพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เขต เท่ากับหรือมากกว่า ส.ส.พึงมี ก็จะไม่มีการลดจำนวน ส.ส.เขต แต่ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม โดยสรุปก็คือระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะอุดช่องว่างและปัญหาของระบบแบบคู่ขนานในอดีต ที่สามารถเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบได้ และยังสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้

ส่วนที่มีความสับสนระหว่างระบบแบบสัดส่วนผสมของพรรค ก.ก. กับระบบจัดสรรปันส่วนผสมของรัฐธรรมนูญ 2560 ยืนยันว่าระบบของเราจะไม่ทำให้เกิดกรณีแบบนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เป็น ส.ส.ปัดเศษ แต่หากกังวลการมี ส.ส.ปัดเศษ สามารถกำหนดขั้นต่ำว่าพรรคใดที่ไม่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะไม่นำมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.พึงมี แต่หากยอมให้มีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อย่างน้อย 1 คน ก็ให้นำคะแนนมาคำนวณให้ได้ ส.ส.พึงมีได้ ยกตัวอย่างเช่น หากทั้งสภามี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน พรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนรับเลือกไม่ถึง 0.2% ก็ไม่นำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี บางคนอาจจะมองว่าไม่อยากให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยมากเกินไป สามารถขยับเส้นหรือเปอร์เซ็นต์ในส่วนนี้ได้ เช่นพรรคใดที่ได้คะแนนรับเลือกไม่ถึง 5% ก็จะไม่นำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี สัดส่วนตรงนี้สามารถกำหนดได้ อยู่ที่ว่าอยากจะเห็นสภาแบบไหน หากอยากเห็นสภาที่เปิดกว้างให้มีพรรคทางเลือกหรือพรรคที่ต่อสู้ในเชิงนโยบาย แต่ไม่มีโอกาสในการชนะ ส.ส.เขต ก็กำหนดเกณฑ์เปอร์เซ็นต์ให้ต่ำ แต่หากอยากให้มีพรรคการเมืองน้อยก็ขยับเกณฑ์เปอร์เซ็นต์ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงหลักการใหญ่เท่านั้น ส่วนรายละเอียดก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

หากกังวลว่าพรรคที่ได้คะแนนเยอะจะไม่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในหลายประเทศก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาหลากหลายวิธี เช่น การเพิ่มสัดส่วนเป็น ส.ส.เขต 50% และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50% การเพิ่มสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตเยอะ มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้น หรือบางประเทศอนุญาตให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบเขต มีรายชื่อใน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ถ้าแพ้การเลือกตั้งในระบบเขตก็ยังมีชื่อในบัญชีรายชื่อ

ระบบสัดส่วนผสมจะทำให้พรรคการเมืองมีจำนวนมากกว่าระบบคู่ขนาน ในยุคสมัยที่ความคิดทางการเมืองของประชาชนไม่ได้แบ่งเป็นสองพรรคใหญ่ ระบบสัดส่วนผสมนี้ก็จะสะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองมากกว่า ทั้งยังเป็นการสร้างสมดุลทางการเมืองให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจมากขึ้น

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

ม องปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น บัตรใบเดียวทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจยาก เนื่องจากคะแนนของ ส.ส.เขตจะถูกนำไปคำนวณเป็น ส.ส.ที่พึงจะมี และนำไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การตัดสินของประชาชนจะยากขึ้น เพราะต้องนำหลายองค์ประกอบมาคิดพร้อมๆ กัน ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับของพรรคการเมือง ก็ทำให้ขัดแย้งกันระหว่าง ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากมี ส.ส.ชนะในเขตก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากแพ้ในเขตก็จะนำไปเป็นคะแนนสะสมออกมา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้การทำงานภายในพรรคยุ่งยากมาก

นอกจากนั้น ปัญหาของการคำนวณปัดเศษ ยังเป็นข้อครหาที่ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.อย่างที่ไม่ควรจะเป็น เช่น พรรคที่ได้คะแนนทั้งประเทศ 3-4 หมื่นเสียง ก็ได้ ส.ส. 1 คน กลายเป็นพรรคจิ๋วมีโอกาสกวาดต้อนไปอยู่ในฝ่ายการเมืองซีกใดซีกหนึ่ง โดยอาจจะมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทน และปัญหาจากบัตรใบเดียวหลังเลือกตั้งเสร็จเมื่อ 2 ปีก่อน หากจำได้จะเห็นว่า กกต.จะต้องหาไปสูตรคำนวณ ส.ส.เพื่อทำการปัดเศษคะแนน เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่ กกต.ตัดสินใจทำถูกต้องหรือไม่ เพราะยังมีนักกฎหมายออกมาตีความแนวทางการคำนวณที่แตกต่างกัน

อีกจุดอ่อนของบัตรใบเดียวทำให้พรรคการเมืองต้องพยายามส่ง
ผู้สมัครให้ครบทุกเขต ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะคะแนนของพรรคจะมาจากผู้สมัคร ส.ส.เขต ดังนั้นพรรคขนาดเล็กที่ส่งไม่เกิน 20-30 เขต จะไม่มีโอกาสได้คะแนนจากเขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ 350 เขต

ดังนั้นระหว่างบัตรใบเดียวกับบัตร 2 ใบ เชื่อว่าการใช้บัตร 2 ใบจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะว่าประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกได้ 2 ลักษณะ หากชอบ ส.ส.เขตก็ลงคะแนนเลือกตัวบุคคล หรือหากชอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือผู้นำพรรคใด ก็ใช้สิทธิเลือกจากบัตรอีกใบได้ และผู้สมัคร ส.ส.ภายในพรรคทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ ก็สามารถออกไปช่วยรณรงค์หาเสียงได้ทั่วประเทศ พรรคการเมืองไม่ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่าไม่จำเป็นต้องส่ง ส.ส.ครบทุกเขต หรืออาจจะไม่ส่ง ส.ส.เขตก็ได้ ถ้ามีนโยบายพรรคที่เชื่อว่าทำให้ประชาชนพึงพอใจ ก็มีสิทธิเข้าสภาได้ เพราะจะได้คะแนนจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับการใช้บัตร 2 ใบแบบรัฐธรรมนูญ 2540 กับระบบบัตร 2 ใบที่พรรคก้าวไกลพยายามเสนอโดยนำรูปแบบมาจากเยอรมัน มีความแตกต่างกันอย่างไร ก็ต้องบอกว่าการใช้แบบปี 2540 ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เกิดความได้เปรียบกับพรรคการเมืองใหญ่ที่ทำให้ได้คะแนนจากจากทั่วประเทศ อาจเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก ขนาดกลางเสียเปรียบ แต่ประชาชนเคยชินกับระบบนี้ เพราะได้ใช้สิทธิจากบัตร 2 ใบมาแล้ว แต่จุดที่ยิ่งสร้างความได้เปรียบกับพรรคใหญ่ยังมีการกำหนดให้มีคะแนนขั้นต่ำเช่น 1% หรือ 3% หากได้ไม่ถึงก็ต้องตัดออกไปไม่เอาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยิ่งทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบ

เพราะฉะนั้นการออกแบบแนวทางการใช้บัตรเลือกตั้งที่จะมีปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะต้องการมีเพียงพรรคการเมืองพรรคใหญ่ ก็ควรกลับไปใช้แบบปี 2540 เหมือนเดิม และมีการสร้างหลักเกณฑ์เพื่อสกัดพรรคเล็ก แต่ถ้าหากคิดว่ามีการเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กมีที่นั่งในสภาก็ควรศึกษาแนวทางของพรรคก้าวไกลที่จะใช้บัตร 2 ใบแบบเยอรมัน มีการคำนวณ ส.ส.แบบพึงจะมี โดยไม่จำกัดจำนวน ส.ส.ในสภาว่าจะต้องมี 500 คน แต่น่าจะเป็นการออกแบบที่ทำความเข้าใจได้ยากพอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image