เอกชน-นักการเมือง-หมอ มองเป้า‘120วัน’เปิด ปท. เดิมพันฟื้น ศก.-ระบาดซ้ำ

หมายเหตุความเห็นจากภาคเอกชน นักการเมือง และนักวิชาการด้านสาธารณสุขถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ว่าจะเปิดประเทศทั้งหมดให้ได้ภายใน 120 วัน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่นายกฯประกาศเปิดประเทศไทยให้ได้ภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคมปีนี้เพราะทำให้เห็นอนาคต จากเดิมไม่มีเป้าหมายว่าอีกกี่เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อประกาศออกมาทำให้ธุรกิจได้เตรียมพร้อมต่อการเปิดประเทศ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมาพร้อมกับความมั่นใจในเรื่องการมีวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนได้ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งนายกฯระบุว่าจองไว้เกิน 100 ล้านโดส ได้แน่นอน ส่วนแต่ละช่วงจะเร็วหรือช้า ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เฉลี่ยแล้วก็น่าจะฉีดเกิน 10 ล้านโดสต่อเดือนย่อมสร้างความมั่นใจให้คนในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะทุกคนกล้าใช้จ่ายกล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ประชาชนจะเริ่มผ่อนคลายออกมาท่องเที่ยวพักผ่อนหลังจากอั้นมาเกือบ 2 ปี

แม้ตอนนี้รัฐจะออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็ได้แค่บางส่วน ไม่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มเท่ากับการที่ธุรกิจได้เปิดดำเนินการปกติ

นอกจากนี้ ที่รัฐบาลประกาศว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องกักตัว เป็นผลดีต่อการเดินทางของนักธุรกิจไทยไปต่างประเทศ หรือนักธุรกิจต่างประเทศเดินทางเข้าไทย จะเกิดการพูดคุยเจรจาการค้า การลงทุน หาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ๆ แม้กักตัวแล้ว 7-14 วันก็สามารถทำอย่างไรต่อได้เลย

Advertisement

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังต้องย้ำเน้นเรื่องมาตรการด้านสาธารณสุขแม้ฉีดวัคซีนกันแล้ว เช่น การกลับมาเปิดให้บริการของร้านอาหาร ก็ต้องกำหนดเรื่องการตรวจสอบเข้าออกผ่านแอพพลิเคชั่น วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง จัดโซนสำหรับกลุ่มที่ต้องการนั่งร่วมกัน แยกจากการต้องการนั่ง 1-2 คน เพื่อระมัดระวังการแพร่ระบาดและมั่นใจต่อการเข้าใช้บริการ

ในแง่ของธุรกิจ รัฐบาลต้องเร่งลดปัญหาและเพิ่มสภาพคล่อง เช่น ให้ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย หรือทั่วไป เข้าถึงซอฟต์โลน เพื่อได้มีเงินทุนพร้อมเปิดบริการ ตอนนี้มีจำนวนไม่น้อยทนไม่ไหว ต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินหมุนเวียนได้เร็วและพอกับการประคองธุรกิจในระยะสั้น มีเงินซื้อวัตถุดิบและกลับไปจ้างแรงงานอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ การเปิดประเทศต้องชิงความได้เปรียบจากนานาชาติที่ต่างก็แข่งขันชิงการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก รัฐต้องเร่งเสริมเรื่องการอำนวยความสะดวกปรับปรุงกฎระเบียบที่เก่าให้ทันสมัย สนับสนุนใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้พัฒนาธุรกิจและการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น หากถามว่าประเทศไทยในอีก 120 วัน จะพร้อมเปิดประเทศไหม ก็ขึ้นกับวัคซีนต้องนำเข้าและกระจายฉีดได้ตามแผน และเมื่อเปิดประเทศแล้วยังเข้มงวดต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หรือมีการแพร่จากการเปิดประเทศหรือไม่ ถ้าเราดูแลตัวเองเหมือนอย่างวันนี้ เชื่อว่าจะไม่เกิดการระบาดซ้ำแน่นอน

การประกาศเปิดประเทศ รัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อม พร้อมยึดหลักระมัดระวังการป้องกันเชื้อ จะทำให้ธุรกิจกลับมาคึกคักและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ การลงทุนในภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แม้เบื้องต้นต่างชาติจะเข้ามาได้ไม่มากแต่ก็เป็นกลุ่มที่เราได้คัดเลือกกว่าปลอดภัย เป็นกลุ่มพรีเมียมที่มีกำลังซื้อสูง กิจกรรมด้านบันเทิงและกิจกรรมผ่อนคลายตามเทศกาลก็จะปรับมาอีกครั้ง ส่วนนี้จะเพิ่มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจและฟื้นรายเล็กได้ดี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนที่จะถึง 120 วัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคุมการแพร่ระบาดโรคโควิดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ระบบในโรงพยาบาลรวนเร ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนที่หวังว่าจะเป็นอาวุธวิเศษต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าป้องกันไม่อยู่ เกิดมีการติดเชื้อขึ้น จะสามารถบรรเทาให้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่มีอาการหนัก ไม่เสียชีวิต รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วและติดเชื้อจะสามารถลดการแพร่เชื้อให้คนอื่นติดตามไปอีกได้มากน้อยเพียงใด

จากรายงานของระบบสาธาณสุขของอังกฤษ (Public Health England) สัปดาห์ที่ 20 วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา ถ้าฉีด 1 เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อได้ ร้อยละ 55-70 ถ้าเป็น 2 เข็ม จะป้องกันได้ร้อยละ 70-90 ฉีด 1 เข็ม และเกิดติดเชื้อ จะลดการที่มีอาการได้ ร้อยละ 55-70 และ 2 เข็ม จะลดได้ร้อยละ 85-90 ฉีด 1 เข็ม และเกิดติดเชื้อจะลดโอกาสที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ ร้อยละ 75-85และฉีด 2 เข็ม จะลดได้ร้อยละ 90-95 ในส่วนของการป้องกันการเสียชีวิตฉีด 1 เข็ม จะลดได้ ร้อยละ 75-80 ฉีด 2 เข็ม จะลดได้ ร้อยละ 95-99

สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อฉีด 1 เข็ม จะลดการติดเชื้อได้ ร้อยละ 60-70 แต่ถ้าติดจะลดการเกิดอาการได้ ร้อยละ 55-70 ลดการเข้าโรงพยาบาลได้ ร้อยละ 75-80 และลดอัตราเสียชีวิตได้ร้อยละ 75-80 และลดการแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ ร้อยละ 35-50 ส่วนข้อมูลของ 2 เข็มนั้นยังไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม คนติดเชื้อไวรัสเดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย หลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังมีการติดเชื้อได้หลากหลาย โดยรายงานต่อเนื่องจะเหลือประมาณร้อยละ 6 แต่ในจำนวนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลร้อยละ 11

ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทั้งหมด 42 ราย ในอังกฤษที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าฯ มีถึง 12 ราย หรือร้อยละ 28.5 เป็นผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ถ้ารวมอีก 7 ราย ที่ได้วัคซีน 1 เข็ม ตัวเลขของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบ 1 เข็ม สูงถึงร้อยละ 45.2

ดังนั้น การประเมินสถานการณ์จำเป็นต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงที่ทำให้ติดง่ายขึ้น แพร่ง่ายขึ้น และความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหนักรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ต้องพิจารณาควบคู่กันเสมอ

ดังนั้น ในการฉีดวัคซีน ต้องบุกแหลก บุกหนัก เน้นความสำคัญของการได้ 2 เข็ม แบบไม่รอช้า เข็มที่ 2 ไม่ต้องห่างนานเกินไป เพราะหากได้ 2 เข็ม ทำให้การป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้การป้องกันอาการหนักและการตายดีขึ้น

เป้าหมาย 120 วันเปิดทั้งประเทศ จะเป็นทางโค้งที่สำคัญ อาจไม่ได้หมายถึงการที่ต้องได้วัคซีนอย่างเดียว แต่รวมถึงตัวเชื้อว่าจะอ่อนข้อลงหรือไม่ และประการสำคัญคือกระบวนการตรวจต้องแม่นยำ ไม่หลุดครอบคลุมถ้วนทั่วทุกคนในพื้นที่จนสามารถนำมาประเมินได้ว่ามาตรการทั้งหลายเหล่านี้ สัมฤทธิผลจริงหรือไม่ถ้าไม่เช่นนั้น ถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ครอบคลุมร้อยละ 90 ของคนไทยแล้วก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเริ่มระบาดใหม่ และอาจจะสาหัสกว่าเก่า

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการและผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย (พท.)

แนวคิดการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามแถลงการณ์ของนายกฯ ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะ 1.เอกชนภาคท่องเที่ยวและบริการล้มตายเป็นจำนวนมาก แรงงานในภาคบริการตกงานในระดับสูงมาก 2.รัฐบาลเงินหมด และงบประมาณไม่เพียงพอปั๊มหัวใจเศรษฐกิจอีกต่อไป เงินงบประมาณทั้งมีน้อย ทั้งจัดสรรไม่เป็น จะกู้เพิ่มก็ชนเพดานทั้งในและนอกระบบงบประมาณ สถานการณ์การคลังก็ตึงตัวมาก

3.ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทรุดหนัก ภาวะหนี้ค้ำคอประเทศ รวมถึงรายได้ไม่เพียงพอรับมือวิกฤตโควิด และ 4.มาตรการเยียวยาและประคองภาคเอกชนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ใช้จริงแค่แสนกว่าล้านบาท เปลี่ยนชื่อมาเป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 250,000 ล้านบาท ผ่านมาหลายเดือนใช้แค่ 20,000 ล้านบาท หรือไม่ถึง 10% และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้วงเงิน 100,000 ล้านบาท แต่มีผู้เข้าโครงการเพียงแค่ 4-5 ราย ยอดแค่ 1,000 ล้านบาท หรือเพียงแค่ 1% เท่านั้น สะท้อนความล้มเหลวซ้ำซากของมาตรการของรัฐบาล

จากเหตุผลข้างต้นจึงไม่แปลกใจเมื่อเห็นแถลงการณ์เปิดประเทศของนายกฯ รัฐบาลเงินหมด เอกชนล้มตาย หมดหนทางหารายได้ ก็ต้องพึ่งรายได้จากต่างประเทศ กลั้นหายใจแบบนี้ต่อไปไม่ไหว เมื่อรัฐบาลปล่อยให้สถานการณ์บานปลายมาถึงวันนี้ คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าเปิดดีหรือไม่ แต่ควรจะเป็นเปิดอย่างไร และทำอย่างไรให้พร้อมเปิด

เริ่มด้วยยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดประเทศต้องกลับมาคิดกันใหม่ ต้องไม่ใช่แนวทางที่นายกฯแถลงปูพรมฉีดเข็มแรกทั่วประเทศ แต่ต้องพุ่งเป้าไปที่จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ประชาชนที่ต้องรับนักท่องเที่ยว แรงงานภาคบริการต่างๆ เหล่านี้ต้องพุ่งเป้าให้ได้รับ 2 เข็มก่อน เพราะการท่องเที่ยวไทยเป็นแบบกระจุกตัว ไม่กี่จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้มข้น ต้องทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน

นอกเหนือจากนั้น ความหลากหลายของวัคซีนต้องทำจริง และจริงใจ ไม่ใช่ชักเข้าชักออกอย่างที่ผ่านมา และเป้าหมายการฉีดวัคซีนต้องชัดก่อนเปิดประเทศ และต้องทำให้ได้ตามเป้า ประเทศต้นทางที่จะให้เข้ามา ต้องคำนึงถึงลักษณะจำเพาะของประเทศต้นทางด้วย

ในระยะแรก ประเทศความเสี่ยงต่ำ แต่นำรายได้ต่อหัวเข้าประเทศสูง หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาก ควรเป็นเป้าหมายหลักก่อน ส่วนประเทศเสี่ยงสูง และรายได้เข้าประเทศต่อหัวน้อย มีการระบาดสายพันธุ์ใหม่ ก็ค่อยทำในระยะต่อไป ไม่จำเป็นต้องเปิดรับทุกประเทศในช่วงแรกพร้อมกัน ต้องคำนึงถึงสมดุลของประโยชน์ด้านรายได้ และโทษด้านสาธารณสุขต่อประเทศไทยเป็นสำคัญ

ต้องเตรียมระบบสาธารณสุขรองรับการติดเชื้อที่จะพุ่งขึ้นตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวเข้มข้น ระบบโรงพยาบาลสนาม การตรวจเชิงรุก การตรวจแบบ DnaNudge ระบบติดตามผู้ติดเชื้อ หรือแม้กระทั้งวัคซีนพาสปอร์ต ต้องไม่วัวหายล้อมคอกเหมือนที่ผ่านมา

การสื่อสารของรัฐบาลต้องชัดเจน ตรงไปตรงมาไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องเข้าใจว่าประเด็นนี้ประชาชนในประเทศแบ่งออกเป็น 2 ขั้วทางความคิด กลุ่มที่เดือดร้อนขาดรายได้ ก็สนับสนุนให้เปิด กลุ่มที่ไม่เดือดร้อนก็อยากให้ชะลอไปก่อน เป็นหน้าที่โดยตรงที่รัฐบาลต้องจัดความสัมพันธ์ตรงนี้ให้สมดุล

กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยเดินมาจุดนี้เพราะรัฐบาลที่ผิดพลาด ล้มเหลว ทำให้ไทยมาถึงทางตัน เรากำลังจะต้องทำ ในสิ่งที่เราไม่พร้อมนักแต่ไม่มีทางเลือก ประชาชนคนไทยจึงต้องรับเคราะห์ ต้องแบกรับความเสี่ยงอันนี้ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลที่จะต้องทำให้ไทยพร้อมสำหรับการเผชิญความเสี่ยงครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image