ถอดรหัส‘แก้ รธน.’ ผ่าน-ล่ม…เป้าหมายการเมือง

หมายเหตุนักวิชาการชำแหละเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่างจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่รัฐสภาจะพิจารณาในวาระรับหลักการระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

หากจะถอดรหัสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มองได้ในเชิงโครงสร้างและประเด็นด้านเทคนิค สำหรับเรื่องของโครงสร้างสะท้อนภาพให้เห็นว่ายังคงมีการต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอุดมการณ์กับการสืบทอดอำนาจจาก คสช. กับอีกด้านเป็นอุดมการณ์ของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะแบ่งย่อยเป็นพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง แต่โทนความเข้มจากทั้ง 2 ส่วนมีความแตกต่างกัน พรรคฝ่ายค้านอาจมีความเข้มข้นมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขต้องการให้ฝ่ายการเมืองมีบทบาทการนำ เช่น ข้อเสนอในการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ส.ว.ตามมาตรา 272 ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

Advertisement

ข้อเสนอนี้มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ก้าวไกล(ก.ก.) ภูมิใจไทย (ภท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้มีนายกฯมาจาก ส.ส.หรือนายกฯคนใน เสนอจาก 3 พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทนำในทางการเมือง และอีกส่วนต้องการรื้อถอนอำนาจของ คสช. เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 หรือแม้กระทั่งการยกเลิกคำสั่งของ คสช.

ขณะที่ประเด็นในเชิงเทคนิค เป็นการแก้ไขเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง เช่น เรื่องที่กำลังถกเถียงอย่างกว้างขวางเป็นเรื่องของบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีการเสนอจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยใช้ระบบคู่ขนาน เหมือนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งบัตร 2 ใบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ถ้าพรรคการเมืองจะได้ทั้งฐานเสียงจาก ส.ส.เขต หรือมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ บวกเพิ่มเข้าไป ทั้ง 2 ส่วนนี้อาจจะทำให้ได้ ส.ส.ที่เกินสัดส่วนที่พึงจะมีในภาพความเป็นจริงและข้อเสนอตรงนี้เหมือนว่าจะตรงกับพรรค พท.ที่เคยประสบความสำเร็จในสมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่หนุนข้อเสนอของพรรค พปชร. ขณะที่ ภท., ปชป., ชทพ.ก็สนับสนุนเช่นกัน

ตรงข้ามกับพรรค ก.ก.ที่ไม่สนับสนุนเรื่องนี้ แต่ก็มีความพยายามในการเสนอในระบบที่เรียกว่าสัดส่วนแบบผสม ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

Advertisement

ประเด็นทางเทคนิคยังมีการเสนอในเรื่องที่สังคมไม่ได้พูดถึง คือเรื่องของการเสริมสร้างอำนาจภาครัฐที่มีความเข้มแข็งกับพรรค พปชร.ให้มากขึ้น หรือทำให้มีสถานะที่เรียกว่ารัฐราชการใหม่เกิดขึ้น จึงมีการเสนอแก้ไขมาตรา 144 ห้าม ส.ส.ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการในการแปรญัตติเรื่องงบประมาณให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ยังมีข้อเสนอแก้ไขในมาตรา 185 เนื่องจากห้ามผู้มีตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวข้องกับระบบราชการ การเสนอแก้ไขอาจทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงระบบราชการที่เคยเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาก่อน

เมื่อถอดรหัสจะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของบัตรเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมักให้ความสำคัญ หรือมองเฉพาะเรื่องนี้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเป็นการแก้ไขเหมือนการซื้อเบียร์พ่วงเหล้า เพราะมีการสอดแทรกเนื้อหาในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคแกนหลักเช่น พรรค พปชร.ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 144 มาตรา 185 รวมถึงการมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ทิศทางการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้มองว่า เพื่อเป็นความง่ายและไม่สับสน คงจะพิจารณาทีละร่างไปก่อน แต่มีแนวโน้มสูงว่าคนจะพิจารณาว่าจะรับร่าง หรือไม่รับ คงอยู่ที่ส.ว. เพราะเราเห็นแล้วว่า ส.ว.มีท่าทีโอนอ่อน ผ่อนปรนกับแนวทางร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร.ซึ่งนำเสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะแก้บัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ ขณะเดียวกัน ส.ว.อาจจะไม่ให้ร่างใดผ่านเลยก็เป็นได้

หากมองสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก การที่พรรค พปชร.และพรรค พท.เห็นดีเห็นงามเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นเพราะผลประโยชน์เชิงไขว้ เนื่องจากว่าพรรค พท.มองว่าถ้ามีบัตรเลือกตั้ง2 ใบ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะเห็นว่าการเลือกตั้งปี’62 พรรค พท.ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ดังนั้น บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะเป็นการเติมความเชื่อ ตามที่เขารณรงค์พรรคกันว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นบุญคุณของเขา ตรงส่วนนี้จึงมี ส.ว.ส่วนหนึ่งมีทิศทางยอมรับร่างของนายไพบูลย์ ดังนั้น การเลือกตั้งคราวหน้าคงจะไม่สนุกนัก ถ้าพรรค พปชร.กลับมาชนะอาจจะต้องใช้บริการ ส.ว.ในการโหวตนายกฯตามที่พรรค พปชร.ต้องการ ส่วนร่างอื่นๆ คงถูกปัดตกหมด

ถ้ามองตามกระบวนการ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ควรจะเกิดขึ้นก่อนและควรจะเกิดขึ้นให้เรียบร้อย ตามแนวทางประชามติที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เอาเข้ามาพิจารณา กฎหมายประชามติควรจะมี และเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะเป็นสภาพแวดล้อมบังคับ ในเมื่อกฎหมายประชามติผ่านแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีลำดับขั้นตอนต่อไป แต่ตอนนี้กฎหมายประชามติไม่นำมาพิจารณาเลย เหมือนการซื้อเวลาเท่านั้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เกิดขึ้นได้แน่นอน

โดยส่วนตัว ความคาดหวังการทำหน้าที่ ส.ส. ถ้าพรรคการเมืองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ยกเว้นพรรค พปชร. ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่าต้องปิดสวิตช์บทบาท ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ตรงนี้จะเป็นการสร้างกติกา การได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง และสามารถปกป้องผลประโยชน์ประชาชนได้ว่า ต้องเลือกนายกฯที่เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) วิทยาเขตล้านนา

พรรคการเมืองเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา มีเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน อาจมีบางมาตราที่แตกต่างขึ้นอยู่กับบริบทและประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ถ้าดูโอกาสร่างของ พปชร.มีโอกาสได้แก้รัฐธรรมนูญมากที่สุดเพราะยังคง ส.ว. 250 คนไว้ เพื่อเป็นฐานค้ำยันรัฐบาล แต่สุดท้ายเชื่อว่าโอกาสแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีใครอยากแตะมาตรา 256 เพราะขั้นตอนและเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญซับซ้อนและยุ่งยากมาก

สุดท้ายเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่แก้รัฐธรรมนูญแน่ เพราะยังยึดติดกับอำนาจและผลประโยชน์อยู่ ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน แต่ที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงละครการเมือง ที่ใช้ความต้องการของประชาชนเพื่อต่อรองอำนาจและผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องการแสดงหรือสื่อไปยังสาธารณะว่า รัฐบาลรับฟังเสียงประชาชน เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นเผด็จการเพื่อสืบทอดอำนาจเท่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และประชาชนเป็นผู้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีความชอบธรรมบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กฎกติกาเดิม ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลและเครือข่ายยังอยู่ในอำนาจ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปอีกนาน ทำให้ประเทศและการเมืองยังอยู่ในวังวนเดิม ไม่พัฒนาและก้าวข้ามไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

กรณี พปชร.เสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเลือก ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 คนนั้น เชื่อว่าพรรคขนาดใหญ่ ได้เปรียบพรรคเล็ก เพราะได้วางฐานและเครือข่ายการเมืองครบทุกพื้นที่แล้ว

โคทม อารียา
ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ทิศทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรประเมินค่อนข้างยาก แต่ยังไม่เริ่มก็มี ส.ว.บางรายออกมาบอกว่าจะรับเฉพาะญัตติของพรรค พปชร. แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ส.ว.อาจจะรับบางญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้ผ่านวาระแรกไปก่อน จากนั้นจะนำไปศึกษาข้อดีข้อเสียอีกครั้งในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับทุกเรื่องที่ผ่านวาระ 1 แล้ว จึงเป็นไปได้ว่าการทำให้บรรยากาศการแก้ไขดูเหมือนกลมกล่อม ที่ประชุมร่วมอาจจะรับไว้หลายญัตติ หรือหากจะหักกันจริงๆ ส.ว.คงทำเหมือนสิ่งที่พูดไว้ล่วงหน้าจะรับเฉพาะญัตติของพรรค พปชร.

การเสนอเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกปฏิเสธ คงคล้ายกับการเลือกเลขาธิการพรรค พปชร.คนใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เกรงใจประชาชนมากนัก ส่วนใหญ่จะมีคำถามในใจว่าจะไปไหวหรือไม่ แต่ผู้มีอำนาจก็บอกว่าจะเอาแบบนี้ ดังนั้น ส.ว.ที่จะมีความกล้าหาญ ไม่ต้องมีการสงวนท่าทีประกาศชัดเจนว่าอำนาจข้าใครอย่าแตะ ก็ยังมีความเป็นไปได้

สำหรับการเสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็มีแนวโน้มที่ดี ในการกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบคู่ขนานเหมือนการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ไม่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะพรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรค พปชร. พรรค พท.เห็นพ้องต้องกัน ในส่วนของ ส.ว.ก็ไม่มีอะไรขัดใจกับพรรคแกนนำรัฐบาล ดังนั้น หากให้ประเมินญัตตินี้มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะผ่าน เรื่องอื่นก็เป็นเรื่องปลีกย่อยเสนอเข้ามาพอเป็นสีสัน

ยังเชื่อว่าพรรคการเมืองได้เสนอแก้ไขในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพรรคการเมืองและต้องมีเจตนารมณ์เพื่อทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม อย่ามองในแง่ร้ายว่าพรรคการเมืองจะเสนอแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่ถึงที่สุดแล้วก็อาจจะมีแบบวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง แต่ทุกการกระทำต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผล

สำหรับการเสนอร่างของภาคประชาชนก็ยังไม่คืบหน้า เพราะต้องล่ารายชื่อตามกำหนด หรือหากยังจำได้ปี 2563 ภาคประชาชนเคยยื่นแล้วแต่ถูกล้มตั้งแต่วาระที่ 1 แต่ถ้าเสนออีกก็คงมีปัญหาจากการเสนอให้มีสภาเดี่ยว ก็คงไปไม่ถึงไหน เพราะแค่ลดอำนาจ ส.ว.ก็ยุ่งแล้ว แต่การนำเสนอประเด็นความก้าวหน้าให้ประชาชนส่วนใหญ่สนใจปัญหาก็เป็นเรื่องดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างการมีสภาเดี่ยวกับ 2 สภา แม้ว่าโอกาสในการแก้ไขให้สำเร็จจะมีน้อยมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image