อภิปรายแก้ รธน.13 ฉบับ ส่งท้าย‘วาระแรก’ ต้านรื้อ ม.144 และ ม.185

อภิปรายแก้ รธน.13 ฉบับ ส่งท้าย‘วาระแรก’ ต้านรื้อ ม.144 และ ม.185

หมายเหตุคำอภิปรายส่วนหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ 1 ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา) อีก 8 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ก่อนจะมีการลงมติในวาระแรก

ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ร่างพรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขนั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขเงื่อนไขที่บิดเบี้ยวเลย เอาข้อดีบางประการมาปกปิดมาตราที่สำคัญ และกลับยิ่งส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐบาลระบอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะในการเสนอมาตรา 144 และมาตรา 185 และมาบวกกับการเสนอแก้ไขการเลือกตั้งโดยไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. จึงดูออกไม่ยากว่างานนี้จะกินทั้งงบประมาณ กินอำนาจในการเลือกนายกฯ เรียกว่างานนี้กินรวบเบ็ดเสร็จ

Advertisement

ระบบเลือกตั้งเราไม่ควรมาเริ่มต้นคุยกันที่เทคนิค แต่ให้พูดในหลักการใหญ่ๆ 3 ประการ คือ 1.ระบบการเลือกตั้งที่ดีจะต้องสะท้อนเสียงของประชาชนให้มากที่สุด 2.ต้องสนับสนุนให้มีความเป็นธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรค 3.สร้างความเข้มแข็งให้เป็นสถาบันการเมืองในระยะยาว

ผมเสนอว่าเราสามารถทำการเลือกตั้งให้ดีกว่าเดิมได้โดยการแก้ไขจุดอ่อน โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบจากความล้มเหลวของการเมืองหลายด้าน เราจึงมีการปฏิรูปการเมืองและยังทำได้ดี หนึ่งในนั้นคือการเลือกตั้งแบบ MMP การเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ใบหนึ่งเลือก ส.ส. อีกใบเลือกพรรค ระบบนี้ดีมากจนเกิดการแข่งขันในนโยบาย และเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ควรเอาระบบการเลือกตั้งปี 2540 มรดกที่ดีเก็บเอาไว้

ฉะนั้นโจทย์ที่หนึ่งในการออกแบบระบบเลือกตั้งเราต้องหาระบบที่ปิดจุดอ่อนของการเลือกตั้งของปี 2540 ให้ได้ สร้างระบบเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบ หนึ่งเลือกคนที่รัก อีกใบเลือกพรรคที่ชอบ

ส่วนโจทย์ที่สองเราไม่ได้คิดระบบการเลือกตั้งแบบคณิตศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องออกแบบโดยเอาโจทย์ปัญหาของสังคมมาเป็นตัวตั้ง โจทย์ของการเมืองไทยในวันนี้ไม่เหมือนปี 2540 ประเด็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและการตรวจสอบถ่วงดุลยังสำคัญอยู่ แต่โจทย์ปัจจุบันและอนาคตมันชัดเจนคือการต่อสู้กับอำนาจเก่า อำนาจใหม่ ความคิดเก่าความคิดใหม่ ท่ามกลางความสับสนในการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นระบบการเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องตอบโจทย์เอาอำนาจเก่าและอำนาจใหม่มาปะทะกันในสภา

พรรคก้าวไกลจึงขอเสนอระบบการเลือกตั้งแบบ MMP เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เป็นบัตรแบบ 2 ใบ และไม่สามารถโกงคำนวณได้และควรผลักดันคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ ส.ส.ร.ออกแบบการเลือกตั้งให้พวกเรามาแข่งกัน เชื่อมั่นว่าเมื่อ ส.ส.ร.ทำหน้าที่ได้ดี ปราศจากการแทรกแซงเชื่อว่าเราจะมีการเลือกตั้งที่ดีกว่าปี 2540 แน่นอน

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
สมาชิกวุฒิสภา

ผมยินดีรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นคุณกับประชาชนและสังคม ขณะเดียวนั้น จะสนับสนุนรับหลักการร่างที่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ

ประเด็นอยู่ที่ฉบับที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นฉบับที่ผมรับหลักการไม่ได้ เรื่องที่ดีก็มี แต่มีปัญหาที่การแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว.แปรญัตติงบประมาณ นำไปลงพื้นที่ตัวเองได้ และให้ไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงข้าราชการ เป็นการแก้ไขแบบถอยหลังเข้าคลอง เจาะช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ปิดช่องโหว่นี้อย่างดี

ดังนั้น การแก้ไขมาตราทั้งสองจึงไม่มีความชอบธรรม ขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา และฝ่ายตุลาการ ในส่วน ครม. ต้องบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าราชการปฏิบัติงานให้ ส่วนรัฐสภา ทำหน้าที่กำกับการบริหาร และไม่มีอำนาจแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน จึงอย่าอ้างเหตุผลช่วยเหลือประชาชน

ในอดีตมีสมาชิกสภาบางส่วนแปรญัตติดึงงบประมาณลงพื้นที่ตัวเอง และเขียนป้ายว่าตัวเองดึงงบมาทำอะไรบ้าง ทั้งที่ไม่ใช่เงินตัวเอง จึงเกิดความไม่เป็นธรรม เกิดมือใครยาวสาวได้สาวเอาการที่เสนอแก้ มาตรา 144 และมาตรา 185 จะทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ส่วนการที่ผู้เสนอญัตติระบุว่าให้รับหลักการไปก่อน และมาแก้ไขในวาระที่ 2 แต่จะสามารถทำได้หรือ เพราะท่านรับหลักการไปแล้ว ส่วนที่บอกว่า ถ้าไม่แก้ค่อยคว่ำในวาระ 3 การทำแบบนี้เป็นการถอยแน่หรือ หรือเป็นการถอยหนึ่งก้าว และไปสู้เอาดาบหน้า ถือเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีหลักประกันว่าจะแก้กลับไปใช้ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติ

ผมได้ข่าวว่า มีการยืนยันว่าจะไม่แก้กลับไปเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลทั้งหมด ขอวิงวอนผู้เสนอให้ถอนญัตติออกไปก่อนลงมติ เพื่อให้เกิดการทำงานการเมืองที่สร้างสรรค์

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ยังมีปัญหา และมีช่องว่างเชิงโครงสร้างหลายประเด็นที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องการแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สิ่งที่ผมต้องการย้ำคือระบบการเลือกตั้ง

เราต้องยอมรับความจริงว่า นายกฯถูกเรียกร้องให้ลาออกและยุบสภา แต่ผมคิดว่าท่านมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาบ้านเมือง ประคับประคองให้เดินหน้าไปให้ได้ ท่านจึงไม่ควรลาออกหรือยุบสภา ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมมีหน้าที่ประคับประคองนายกฯ แต่มีความหวังว่าจะต้องดำเนินการถอดสลักแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบบการเลือกตั้ง และเลือกนายกฯ เปลี่ยนแปลงไปจากบริบทเดิม ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกติกา หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท้ายที่สุดการเมืองก็กลับไปสู่วังวนเดิม และปัญหาความขัดแย้งก็จะมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

พวกผมมาจากการเลือกตั้ง เป็นนักประชาธิปไตย เราต้องยอมรับความจริงว่าถ้าเราจะเข้าสู่วงการการเมือง เราต้องมาจากการเลือกตั้ง พวกผมจึงเห็นควรว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และการเลือกนายกฯ

เท่าที่ดูหลักการทั้งหมดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ทุกประเด็นที่นำเสนอดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 แน่นอน เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยถอดสลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้ การเมืองที่มีเสถียรภาพจะทำให้เราได้ผู้แทนที่ดี ได้การเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม

รัฐธรรมนูญจะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้กฎหมายอื่นๆ ต่อไป ถ้าเราละวางผลประโยชน์ส่วนตัว และมองอนาคตว่าจะต้องช่วยกันให้การเมืองมีเสถียรภาพ

ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ถ้าไม่มีความขัดแย้งที่ต้องโต้เถียงเรื่องที่มานายกฯ สภาเดี่ยว สภาคู่ ระบบการเลือกตั้ง นอกจากจะได้การเมืองที่มีเสถียรภาพแล้ว ยังจะได้การเมืองที่สุจริต ทำให้เราได้รัฐบาลที่ดี สิ่งที่ตามมาคือการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และการพัฒนาประเทศจะเป็นไปตามเป้าประสงค์

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน

พรรคฝ่ายค้านเราเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนยอมรับ ก็ต้องให้ประชาชนมาร่างผ่านรูปแบบ ส.ส.ร.

เรายื่นแก้รัฐธรรมนูญโดยการตั้ง ส.ส.ร. แต่เราเชื่อว่าจะต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหาทางล้มของเราแน่ ดังนั้น เราจึงหาทางสำรองไว้ โดยเสนอแก้เป็นรายมาตราไว้ด้วย และก็เป็นเช่นนั้นจริง อย่างไรก็ตามหากเกิด ส.ส.ร.ขึ้นจริงๆ เราก็เชื่อว่า ส.ส.ร.จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญนานราว 2 ปี ระหว่างนี้จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศ เกิดแน่ๆ คือการเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งด้วยกฎหมายเดิม ยังมีมาตรา 272 เราก็จะอยู่ในวงจรอุบาทว์แบบเดิม ดังนั้น ระหว่างนี้เราต้องหาหนทางปิดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างนี้เกิดการยอมรับ เราจึงคิดว่าต้องแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะเขียนไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ

การแก้วันนี้ได้ประโยชน์ให้กับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนที่ทำให้พี่น้องประชาชนโดยตรง เช่น เรื่องสิทธิ และเสรีภาพ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีการประท้วง และมีการจับกุมคุมขังจำนวนมาก เรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล เนื่องจากประชาชนกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด เรื่องรายได้พื้นฐานของพี่น้องประชาชน ส่วนทางอ้อม ถ้าเราทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ต่างชาติยอมรับเครดิตประเทศก็เกิดขึ้น เราก็ทำมาค้าขายได้

ส่วนที่มา ส.ว. รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางอำนาจให้ท่านไม่เหมาะ และไม่สมควรแก่ที่มา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สังคมเขาก็ติดใจ และท่านถ่วงดุลจริงหรือไม่ หรือท่านถ่วงดุลแต่กับฝ่ายค้าน แต่กับรัฐบาล กับนายกฯท่านถ่วงดุลหรือไม่

ประเด็นต่อมา อำนาจในการเลือกนายกฯ เราต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเขียนให้อำนาจ บังเอิญที่มาของท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เมื่ออำนาจในการเลือกนายกฯไปอยู่ในมือท่านมันก็เลยเป็นของร้อน ที่ระแวงกันมากๆ นอกจากการเปลี่ยนผ่านจากประยุทธ์ 1 ไปประยุทธ์ 2 แล้ว ยังจะเปลี่ยนผ่านไปยังประยุทธ์ 3 อีก

วันนี้ประชาชนเชื่อว่า ใครจะได้เป็นนายกฯอยู่ที่ ส.ว. เพราะฉะนั้นแรงกดดันจึงมาที่ท่าน หากละอำนาจนี้ไปท่านจะเบาลง ไปทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และถ่วงดุล สถานการณ์หลายอย่างก็จะดีขึ้น ที่บอกว่าบทเฉพาะกาลอีก 2 ปีก็จะหมดไป เหตุใดไม่รอ อยากเรียนว่า 2 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยเดิมพันสูงมาก อาจเกิดการเลือกตั้ง 2 ครั้งก็ได้ เลือกนายกฯอีก 2 ครั้งก็ได้ พวกเราจึงต้องขอแก้ประเด็นนี้

การเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เราภูมิใจมาก และเห็นมิติที่ดี เพราะครั้งก่อนที่เราเสนอเรื่องบัตรเลือกตั้ง2 ใบไม่มีใครเอากับเรา แต่ครั้งนี้มีหลายพรรคเสนอเข้ามาตรงกันกับเรา นี่คือนิมิตหมายที่ดี ไม่ใช่การฮั้ว หรือสมประโยชน์กัน แต่ก็ยังติดใจร่างของพรรคพลังประชารัฐที่ไม่น่าพ่วงอย่างอื่นมา ห่วงอย่างเดียวกับ ส.ว.เลย เรื่องมาตรา 144 และมาตรา 185 เราคุยกันว่าท่านขายเหล้าพ่วงเบียร์ เราอยากได้อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรับด้วย เพราะท่านเสนอมาร่างเดียว แต่แยกเป็น 5 ประเด็น

แต่เมื่อนายไพบูลย์ (นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) ประกาศต่อหน้าประธานรัฐสภา และต่อหน้าสาธารณชนว่าจะไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไม่รู้จะเชื่อใครแล้ว แต่ถ้าท่านเบี้ยว ท่านต้องมาที่นี่อีกในวาระที่ 3อยากรู้เหมือนกันว่าท่านจะขึ้นพูดอย่างไร เราจึงจะรับเพื่อให้ท่านไปแก้ไข แต่เราขอหมายเหตุไว้ว่า เราอยากให้ท่านถอนร่างมาตรา 144 และมาตรา 185 ออก หรือปรับในสิ่งที่เพื่อนสมาชิกกังวลทั้งหมด ถ้าวาระ 3 ท่านไม่แก้ หรือไม่ตัดออก ไม่เปลี่ยนแปลงตามที่รับปากสภา พวกเราฝ่ายค้านจะทบทวนการลงมติในวาระ 3 แน่นอน แต่วันนี้ลงให้ท่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image