ถอดรหัส‘เขี้ยว’แก้ รธน. คว่ำรูด12ร่าง-อุ้มฉบับ‘ปชป.’

ถอดรหัส‘เขี้ยว’แก้ รธน. คว่ำรูด12ร่าง-อุ้มฉบับ‘ปชป.’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา 13 ฉบับ ที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระหนึ่งเพียง 1 ฉบับ คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยภาพรวมในการลงมติเห็นได้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในภาวะปัจจุบันจะผ่านหรือไม่อยู่ที่ ส.ว. เพราะว่า ส.ว.ต้องยกมือให้อย่างน้อย 84 เสียง แต่บางฉบับก็ไม่ผ่านเนื่องจากเสียงไม่ถึงตามที่กำหนด ส่วนกรณี ส.ว.ไม่รับร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สะท้อนให้เห็นว่า ส.ว.คล้อยตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่เห็นว่าการแก้ไขบางมาตรา อาจทำให้มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ทำให้จุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายไม่ให้นักการเมืองเข้าไปยุงเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณมากเกินไป ดังนั้นคำพูดของนายกรัฐมนตรีมีผลมากพอสมควร ขณะที่การเสนอร่างก่อนแก้ไข นายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมายของ พปชร. อาจจะคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. แต่นายไพบูลย์ไม่ใช่สายตรงของนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวในฐานะนักวิชาการมีความเห็นว่าที่ผ่านมานายกฯ ที่แสดงท่าทีเหมือนถูกรับเชิญจาก พปชร. ไม่เคยลงมายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้

Advertisement

การนำเสนอว่าไม่เห็นด้วยกับบางมาตราของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่พูดเอาหล่อ แต่พูดจากความรู้สึก ทำให้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติของ ส.ว. ถ้าจะมองว่า ส.ว.ยังไม่ได้หลุดพ้นจากคนที่แต่งตั้งก็มองได้ แต่ถ้า ส.ว.จะต้องเงี่ยหูฟังคนที่แต่งตั้งเข้ามา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้นหากนายกฯจะพูดสนับสนุนร่างของพรรค พปชร. ก็เชื่อว่าร่างที่เสนอต้องผ่าน ส่วนที่มองว่า ส.ว.ผ่านให้ร่างเดียว ก็ทำให้ ส.ว.มีคำถามกลับไปว่า ใครบอกว่า ส.ว.ต่อต้านการแก้ไขทุกชนิด หรือป้องกันสุดฤทธิ์ไม่ให้ใครมาแตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกอย่างต้องอยู่ครบ

การแก้ไขครั้งนี้แม้ว่าจะไม่มีการตัดอำนาจ ส.ว. แต่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง หากเกิดขึ้นในห้วงที่ ส.ว.ยังอยู่ในบทเฉพาะกาล ดังนั้นการยกมือของ ส.ว.จึงทำให้เห็นว่าไม่ได้ขัดขวาง หากร่างที่เสนอมีเหตุผลเพียงพอ เพราะบางคนบอกมาตั้งแต่ต้นว่า ขออย่างเดียวอย่าแตะอำนาจ ส.ว.ในมาตรา 272

สำหรับร่างที่ผ่านในขั้นรับหลักการ ต้องติดตามการแปรญัตติในวาระ 2 ว่ามีปัญหาในการนำเสนอตรงไปตรงมาหรือไม่ บางอย่างอาจจะไม่ใส่ไว้ในหลักการ แต่ไปเพิ่มเติมสาระอย่างอื่นเข้าไป ก็ต้องระวังอย่ายัดไส้ หรืออีกอย่างที่เป็นหลักจิตวิทยา ต้องบอกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าเมื่อร่างของตัวเองผ่านแล้ว ก็อย่าคุยโว หรือประกาศว่าเป็นร่างของตัวเอง ไม่เช่นนั้นฝ่ายอื่นอาจจะรู้สึกหมั่นไส้ จะไม่ยกมือให้ผ่านโดยไม่มีเหตุผล เพราะเรื่องนี้ถ้านำไปชิงการนำทางการเมือง เอาไปใช้หาเสียงได้เนื่องจากบางร่างที่ไม่ผ่าน ยังมีนักการเมืองออกมาคุยได้ว่าตัวเองยังอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยหรือมีจุดยืนในการต่อต้านการโกง

ร่างเดียวที่ผ่านการโหวตในทางการเมืองถือเป็นความเขี้ยวของ ปชป. เพราะคงมองมาตั้งแต่ต้นว่าสาระอย่างอื่นคงผ่านยาก นอกจากร่างนี้ที่เสนอแก้ไขน้อยที่สุด ก็เหมือนการเลือกประธานสภาผู้แทนฯ หากจำได้เมื่อถึงโอกาสก็สอดชื่อนายชวน หลีกภัย เข้าไปในยกสุดท้ายแล้วชนะโหวต

ย้อนมาดูที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้ อย่าเพิ่งฟันธงว่าจะผ่านไปได้ ต้องดูการแปรญัตติในวาระ 2 จะเป็นอย่างไร เลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบย้อนยุค จะติดเงื่อนไขกฎหมายมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือถึงที่สุดแล้วท่าทีของ ปชป. อาจจะแสดงท่าทีทำให้นักการเมืองกลุ่มอื่นหมั่นไส้อีกหรือไม่ เพราะอาจจะหวังเป็นพระเอกจากการแก้ไขครั้งนี้มากกว่าการลดกระแสความขัดแย้ง หรือแก้ไขเพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของระบบการเมือง

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองแบบสับขาหลอก โดยที่ยังคงรักษาผลประโยชน์ร่วม ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว. รวมไปถึงบางส่วนของพรรคเพื่อไทย ในกรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ถามว่าทำไมถึงออกมาในรูปนี้ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นการวาง “ยุทธศาสตร์หลอกล่อ” ของ พปชร. โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่บัตร 2 ใบ กรณีมาตรา 144 และ 185 เพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อพลังประชารัฐอย่างมาก และ ส.ว.เองก็ออกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า มาตรา 144 และ 185 นั้น เป็นมาตราที่ทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งทั้งหมดเป็นละคร เป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้เห็นว่า “เห็นไหม ส.ว.ก็ยังไม่เห็นด้วยที่ทำลายหลักการรัฐธรรมนูญปี 60” แต่ทั้งหมดทั้งมวล การออกมารูปแบบนี้ทำให้ พปชร.หลุดออกจากข้อกล่าวหา หรือการเป็นจำเลยทางสังคมว่าร่างรัฐธรรมนูญทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เนื่องจากร่างของ พปชร.ถูกตีตก แต่ร่างที่ได้คือของประชาธิปัตย์ (ปชป.)

อย่างไรก็ดี ทั้ง พปชร. ส.ว. รวมถึงเพื่อไทย (พท.) ยังสมประโยชน์กันอยู่ ต่อข้อเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแค่เบี่ยงประเด็นว่า “ร่างของพรรคเพื่อไทยก็ตก ของพรรคพลังประชารัฐก็ตก”

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า การที่ ส.ว.บางส่วนลงมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร. รวมถึงยอมปิดสวิตช์ตัวเองนั้น เป็นการพยายามทำให้เห็นว่า ส.ว.เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำ-สั่งการได้จากรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจ

อีกแง่ อาจตีความได้ว่า ส.ว.กลุ่มนี้ทนแรงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไม่ได้ สังคมไม่ต้องการให้ ส.ว.มีอำนาจในการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองถูกตั้งคำถาม จึงตัดสินใจเลือกแบบนี้ แต่ในภาพรวมไม่ได้มีผล เพราะมีเพียงแค่ 26 ส.ว.เท่านั้น คงประเมินแล้วว่าเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย ไม่ได้กระทบเสียงส่วนใหญ่ ส.ว.ส่วนมากยังยืนยันอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่

อย่างไรก็ดี ในวาระที่ 2 และ 3 หากดูจากความสมประโยชน์กันของพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง พปชร. พท. กลุ่มพรรคขนาดกลาง อย่างภูมิใจไทย (ภท.) ไม่เห็นด้วย แต่ ปชป.เห็นด้วย แสดงว่าอาจจะต้องมี “ข้อต่อรอง” วาระที่ 2 คือการ “ทำให้ความเห็นต่างเกิดความสมดุล” เช่น สัดส่วนการนับ 1 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ จะมีการแปรญัตติเพื่อให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน แต่โดยหลักการที่ไม่เปลี่ยน นั่นคือบัตร 2 ใบ

เพราะในส่วนของ พท.ก็ไม่ผ่านร่างในการปิดสวิตช์ ส.ว. ทาง พท.ก็แลกด้วยการที่เชื่อว่า ถ้าได้ “บัตร 2 ใบ” มา “แลนด์สไลด์” จะเกิดขึ้น ซึ่ง พท.อาจจะรวมกับพรรคการเมืองขนาดกลาง เช่น ภท.หรือพรรคอื่นๆ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดหลังการยุบสภา หรือหมดวาระลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถ้ามีการแลนด์สไลด์ จะทำให้มีเสียงมากพอโหวตเลือกนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพา ส.ว. ผมจึงเชื่อว่าถ้าไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ พท.ก็อาจมองในจุดนี้

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ส่วนตัวเห็นว่าการโหวตเช่นนี้ของฝ่ายค้านพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพรรค โดยละวางแนวร่วมอย่าง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไว้ เพราะถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งสัญญาณแล้วว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ก็คงต้องแยกย้ายกับพันธมิตรในนามพรรคก้าวไกล จากผลเช่นนั้น จึงโหวตให้ผ่าน เฉพาะร่างที่ 13 ซึ่งสอดคล้องกับการวางยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าหากมีการยุบสภา จะทำอย่างไรให้ได้เปรียบ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาใช้เนื้อหาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540

ในประเด็นที่ ส.ว.หลายคนที่ไม่รับร่างของ พปชร.นั้น ส่วนตัวมองเป็นเรื่องบุคคลมากกว่าที่ไม่รับร่าง เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติของ พปชร. แต่ก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยที่แสดงออกมา ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร อาจจะทำให้เกิดภาพบวกขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ว่ามี ส.ว.บางคนที่พยายามทำตามความคิดของตัวเอง มีความเป็นอิสระจากอำนาจฝ่ายรัฐบาล หรือ คสช.เดิม

เรื่อง ส.ว. ที่ร่วมโหวตปิดสวิตช์ ส.ว.เช่นกัน ก็เพื่อแสดงให้สังคมได้เห็น อย่างที่ 2 คือการส่งสัญญาณว่า “เริ่มไม่มีใจกับ พล.อ.ประยุทธ์” เริ่มเห็นแล้วว่า การบริหารที่ผ่านมาตลอด 7 ปีเต็ม คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลชุดปัจจุบันลดน้อยถอยลง จนเกิดคำถามว่า 7 ปีที่ผ่านมา การที่เขามีอำนาจอยู่ตรงนี้ เขาควรพอหรือยัง คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจของ ส.ส.เอง ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ส่งผลให้ยกมือพร้อมปิดสวิตช์ตัวเอง

ส่วนในวาระที่ 2 และ 3 เชื่อว่าจะผ่าน ไม่เห็นแนวโน้มที่จะถูกคว่ำแต่ประการใด เพียงแต่ต้องรอว่า อนาคตข้างหน้า ฝ่ายต่างๆ รวมถึง ส.ว. ที่ไม่อยากปิดสวิตช์ตัวเอง จะหันมาพิจารณาตนเอง ถึงที่มาของตนภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ไม่สง่างาม ต้องถามตนเองให้มากๆ

ประการที่ 2 แม้พรรคการเมืองต่างๆ ได้แสดงปฏิกิริยาออกมา แต่ในทางรัฐสภา ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเดินไปตามนั้น แม้มีพลังนอกสภามากดดัน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ กล่าวคือ ยังไม่มีพลังถึงจุดที่จะทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่สังคมต้องการ โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเดินตามเกมที่ถูกวางไว้ โดย ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้วาง

การเมืองพุ่งเป้าไปที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเสียแนวร่วมไปแล้ว คือ พท. ทาง พท.ก็ต้องกลับมามองตัวเองให้รอดไปก่อน และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเร็ววันแน่นอน อาจประมาณต้นปีหน้า ก.ก.เองก็ต้องเริ่มกำหนดกลยุทธ์สร้างความนิยม นอกเหนือจากการเดินเกมแสดงความไม่เห็นด้วย อันจะเป็นหลักประกันสำคัญว่า ก.ก.จะยังคงอยู่ได้ ในจำนวน ส.ส.ที่ลดลงแน่นอน แต่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรให้อยู่ในสภาได้ ในฐานะฝ่ายตรวจสอบ หรือรัฐบาลก็ตาม ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image