ส่องร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ประเด็นร้อน-ชนวนสภาล่ม

หมายเหตุสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2-3 อีกครั้ง เนื่องจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่แสดงตน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ประธานสภาจึงสั่่งปิดประชุมทันที ในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหตุสภาล่มครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะในมาตรา 6 ที่เกรงว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเปิดทางให้นำสารอันตรายที่ถูกแบนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย” ระหว่าง บทนิยามคำว่า “มีไว้ในครอบครอง” และ “ภาชนะบรรจุ” ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

“กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย” หมายความว่าการพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ การตรวจสอบ หรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อการออกใบอนุญาต สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 การออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 การออกใบรับแจ้งการดำเนินการสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 การรับแจ้ง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ตลอดจนการพิจารณาใดๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (6) ของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน

Advertisement

(6) ให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการออกประกาศตามมาตรา 20 มาตรา 20/1 มาตรา 36 วรรคสาม มาตรา 37 วรรคสอง มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 47 (5) มาตรา 51 วรรคสอง (3) มาตรา 51/5 วรรคสอง และมาตรา 56/2”

มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (6) (7) และ (8)ของมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

(6) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาและการขึ้นบัญชี อัตรา ค่าขึ้นบัญชีสูงสุด และค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศตามมาตรา 56/2

Advertisement

(7) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด ประเภทและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอ

(8) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย ตามมาตรา 56/2

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 2/1 กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย มาตรา 56/1 มาตรา 56/2 มาตรา 56/3 และมาตรา 56/4 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

หมวด 2/1 กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

มาตรา 56/1 ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้นๆ แล้วหน่วยงานผู้รับผิดชอบจะให้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศทำหน้าที่ประเมินเอกสารทางวิชาการ ตรวจวิเคราะห์ ตรวจสถานประกอบการ หรือตรวจสอบ ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วยก็ได้ ทั้งนี้ บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรดังกล่าว ต้องขึ้นบัญชีไว้กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

มาตรา 56/2 เพื่อประโยชน์ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย ให้รัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการ มีอำนาจประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาและการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในประกาศต้องกำหนดคุณสมบัติ มาตรฐาน และการดำเนินงานของบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรดังกล่าวไว้ด้วย

(2) ค่าขึ้นบัญชีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บ ต้องไม่เกินอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุด

(3) ประเภทและค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานผู้รับผิดชอบจะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอ ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บต้องไม่เกินอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด

(4) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดตาม (2) และ (3) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ประกาศตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดให้มีการยกเว้นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตาม (1) ค่าขึ้นบัญชีตาม (2) หรือค่าใช้จ่ายตาม (3) ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ หรือจะกำหนดค่าขึ้นบัญชีหรือค่าใช้จ่ายให้แตกต่างกันตามความจำเป็นและเหมาะสมก็ได้

มาตรา 56/3 เงินค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บได้ตามมาตรา 56/2 ให้เป็นของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจในหน้าที่ และอำนาจของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนตามมาตรา 56/2

(2) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่เป็นประโยชน์สาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตราย

(3) เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ เพื่อพัฒนาระบบงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย หรือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

(4) เป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย ตามที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

มาตรา 56/4 การรับเงินตามมาตรา 56/2 (2) และ (3) การจ่ายเงิน ตามมาตรา 56/3 และการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 87/2 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 87/2 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิด ของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ ตามมาตรา 20 (2) บุคลากรเฉพาะ หรือบุคคลโดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย

มาตรา 8 บรรดาคำขอ กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย หรือกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ตามประกาศที่ออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่ม ประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 ให้ถือว่าเป็นคำขอ กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย หรือกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.อันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่คำขอ กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย หรือกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศใดมีข้อแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 9 บรรดาประกาศที่ออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุอันตราย ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นำมาใช้บังคับแก่กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายตามบทบัญญัติ แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว ให้ประกาศที่ออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายเป็นอันยกเลิก

สรวุฒิ เนื่องจำนงค์
ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่) พ.ศ. …

ที่มีกระแสข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงและนำสารที่แบนกลับมานั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ไปที่มาคือทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อแก้ไขเรื่องประสิทธิภาพกับความซับซ้อนของกระบวนการทำงาน และให้กระบวนการขอพิจารณารวดเร็วขึ้น อาทิ การขึ้นทะเบียน

กฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายที่ใช้กับ พ.ร.บ.ตัวอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย อาทิ พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง, พ.ร.บ.สมุนไพร, พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ทุกอันใช้ข้อความเดียวกันทั้งหมดคือวรรคที่ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญองค์กรผู้เชี่ยวชาญ องค์กรของรัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เหตุผลที่ต้องใช้เช่นนี้เพราะเป็นกฎหมายกลาง ใช้กับ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงสาธารณสุข

บางเรื่องที่มีองค์ความรู้ไม่พอ จำเป็นต้องใช้ความเห็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ แต่ปกติคำขอเอาเฉพาะ อย. เพราะ อย.เป็นผู้เสนอกฎหมาย โดยกระบวนการของ อย.ถ้ามีผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ก็จะต้องขออนุญาตผู้ที่รับคำขอ ถ้าผู้ที่รับคำขอสามารถพิจารณาได้เองก็สามารถมาขึ้นคำขอได้ก็จะจบแต่ถ้าไม่สามารถขึ้นคำขอได้ เนื่องจากวัตถุอันตรายไม่คุ้นเคยหรือเป็นสารใหม่ ต้องให้คณะกรรมการตีความว่าจะต้องส่งความเห็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ตรงนี้จะมีสองทางเลือกว่าจะส่งหรือไม่ส่งความเห็นผู้เชี่ยวชาญ ถ้าไม่ส่งกรรมการก็จะตัดสินและสามารถขึ้นคำขอได้ แต่ถ้าสมมุติส่งไปต้องส่งถามสามที่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใครส่งต่างประเทศก่อน แต่จะเลือกส่งภายในประเทศ

ตัวอย่างการเกิดสถานการณ์โควิด การพิจารณาของ อย.ไม่ใช่พิจารณาแค่ตัวสารเคมี ต้องพิจารณาถึงสถานที่ที่จัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ถ้าเป็นสารเคมีที่คุ้นเคย แต่ตัวผลิตภัณฑ์การอัดก๊าซใหม่ มีบรรจุภัณฑ์ใหม่ ผู้บริโภคใช้แล้วเกิดไม่ปลอดภัย คนของเราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือพอ ไม่ใช่เฉพาะคนที่ตรวจ ต้องพูดถึงเรื่องแบบที่ใช้ด้วยแล้วถ้าไม่สามารถนำความเห็นตรงนั้น เพราะเราไม่เชี่ยวชาญ ก็เป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในคนที่ใช้คือผู้บริโภค

ฉะนั้น กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ อย.ใช้กับ พ.ร.บ.ชุดอื่นด้วย ดังนั้น ในฐานะประธาน กมธ. ผมเห็นว่าถูกต้องแล้ว เพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่าเอาไปปนกับ 3 สาร ส.ส.บางส่วนไม่เข้าใจเอาไปเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย ร่างปรับปรุง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ในตรงนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image