ทางออกปลดล็อกวัคซีน ทางเลือกสู้โควิดกลายพันธุ์

หมายเหตุข้อเสนอแนะจาก 3 หมอ ถึงการจัดหาวัคซีนทางเลือก รวมถึงทางออกปัญหาวัคซีนไฟเซอร์ ที่จะต้องฉีดให้กับแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าในเข็มที่ 3 ที่ตกเป็นข้อถกเถียงในขณะนี้

นพ.บุญ วนาสิน
ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

ถ้าเราเทียบกับอาเซียน ถือว่าไม่เลวร้ายไปกว่าคนอื่นเท่าไหร่ นอกเหนือจากสิงคโปร์ กับบรูไน แต่ถ้าเทียบกับทั่วโลก เทียบประเทศที่เจริญแล้ว เราแก้ปัญหา ‘ช้า’ กว่าเขามากอยู่ที่แอททิจูด เรียกว่า มองออกหรือไม่ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น เพราะเราออกมาเตือนเป็นคนแรก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่าต้องระวังให้ดี ไวรัสตัวนี้จะกลายพันธุ์ เอาไม่อยู่ ต้องอาศัยวัคซีนอย่างเดียว และต้องเป็นวัคซีนที่ดีด้วย เราทราบข่าวว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งช่วงเมษายนที่เริ่มระบาดหนัก บอกว่ายิ่งกว่าฉุกเฉินแล้ว ณ ตอนนี้ เพราะว่าเราเอาไม่อยู่ เป็นกันวันละ 1,500-2,000 ราย สาธารณสุขเรารับไม่ได้ ต้องรีบเอาวัคซีนเข้ามา จนตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่า วัคซีน mRNA ดีที่สุด สำหรับป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ สำคัญที่สุด ป้องกันการแพร่ระบาดได้ด้วย เพราะถ้าเราปล่อยให้ระบาดอย่างนี้ นอกจากเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เศรษฐกิจพังหมด เราต้องปิดประเทศ

Advertisement

ที่สำคัญ บ้านเราไม่ใช่ว่ารวย เรามีคนที่หาเช้า-กินค่ำ กว่า 10 ล้านคน คนพวกนี้เดือดร้อนที่สุด เขาไม่มีรายได้ แล้วเราเห็นคนตายทุกวัน ค่อนข้างเยอะ แต่ช่วยไม่ได้ ในฐานะแพทย์เราไม่สบายใจ ทำไมเราต้องเจอสภาพนี้ เพราะฉะนั้น วัคซีนเป็นหัวใจสำคัญ พูดกี่ทีผมก็ต้องย้อนกลับไปที่ วัคซีนทุกที เพราะการป้องกันคนนั้น ยากมากๆ ยิ่งประเทศไทย เรื่องวินัย ความรับผิดชอบ เรามีน้อยกว่าคนจีน หรือฝรั่งเยอะ จึงพยายามที่สุดที่จะเอาวัคซีนเข้ามา ตอนนี้วัคซีน mRNAดีที่สุด ‘ไฟเซอร์’ ‘โมเดอร์นา’ ‘โนวาแว็กซ์ ‘ ส่วนซิโนแวคใช้ได้ แต่ใช้ยามที่เราไม่มีในช่วงแรก ต้องรีบเอาตัวอื่นมา ไม่ใช่ว่าใช้ซิโนแวคจนกลายเป็นตัวยืน ซึ่งไม่ได้ผลในไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะ ‘เดลต้า’ ถ้าสายพันธุ์ ‘เบต้า’ ของแอฟริกา ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งก็จบอยู่แค่นั้น ตรงที่ขั้นตอนของรัฐบาล

‘ไฟเซอร์’ เกิดตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว (2563) โมเดอร์นา เริ่มเกิดกุมภาพันธ์ (2564) ความจริงตั้งแต่เมษายน เราก็กระทุ้งรัฐบาลทุกวันเป็นการส่วนตัว ไม่อยากทำจดหมาย เพราะไม่อยากเป็นเรื่องเป็นราว แต่กว่าจะเลือกได้ กว่าจะคาดได้ว่า เอาเท่าไหร่ก็สิ้นเดือนนี้ กว่าจะไปสั่งทำน้ำยาอีก ผมไม่อยากพูดว่าจะเกิดอะไรในบ้านเมืองเรา เรื่องเงินไม่มีปัญหา ทางเรา (THG ) กลุ่มเดียว ก็เอาได้แล้ว 5 ล้านโดส สั่งมาก่อนก็ได้ ใครจะมาซื้อก็เอาไป โดย 1.เรื่องจองไม่ต้องพูดถึง ต้องวางเงิน ถึงนับหนึ่ง หรือ 2.นายกฯต้องโทรหาประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยตรง ว่าขอได้หรือไม่ เหมือนกับประเทศอื่นที่เขาทำกัน รองประธานบริษัทไฟเซอร์บอกว่า จะช่วยเต็มที่ ประเทศเขาเข้มมาตรการในการทำอะไรต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่อย่างนั้นเขาตัดสินใจไม่ได้ จึงต้องไปทำสัญญา แล้วก็เริ่มนับ 1ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ถ้าเราพูดๆๆ ว่า ‘จอง’ ไม่ทำอะไร เขาก็ไม่ให้ ควอเตอร์ 3 ไม่ต้องพูดถึง เขาบอกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าถ้าจอง ทำสัญญาจะได้ควอเตอร์ 4 ไม่ทันแล้ว ณ ตอนนั้น

ถ้าได้วัคซีนไฟเซอร์มาแล้ว กลุ่มเสี่ยง กับคนสูงอายุ จำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาขึ้นมาก่อน คนทำงานก็สำคัญเหมือนกัน แต่ผมกลับห่วงน้อยกว่า เพราะเป็นไม่หนัก แต่ทำลายเศรษฐกิจ ต้องปิดโรงงาน ปิดร้านอาหาร ทางที่ดีต้องฉีดพร้อมกันทั้ง 2 กลุ่ม

Advertisement

ที่ห่วงอีกอย่าง คือกลุ่มนักเรียน เพราะตอนนี้ ไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ฉีดในเด็ก 3 เดือน-18 ปีได้ อยากจะได้ไฟเซอร์เร็วที่สุด เพื่อมาฉีดเด็ก เพราะสายพันธุ์ใหม่ เด็กเป็นกันเยอะมาก เข้าปอด อัตราการตายสูง พูดง่ายๆ ว่า ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาสำคัญที่สุด ต้องเอามามากที่สุดเพื่อฉีด ช่วงนี้ทุกคนต้องการมาก ก็ลำบาก อยู่ที่เราจะเร่งทำสัญญากับเขาแค่ไหน แต่ช่วงนี้ก็สายไปแล้ว กว่าจะเข้ามา กว่าจะอะไร รอควอเตอร์ที่ 4 ก็ไม่ไหว สำคัญคือกรกฎาคมและสิงหาคม เป็นช่วงที่หนักที่สุดของเรา

ส่วนวัคซีนตัวอื่น ความจริงสปุตนิกของรัสเซียก็ใช้ได้ รัสเซียก็ติดต่อผมมานานแล้วว่า จะให้นำเข้า สร้างโรงงานที่ไทย ผมมีหลักฐานชัดเจน สุดท้ายเขาก็ไปสร้างที่เวียดนามแทน หรือไม่ก็ใช้วัคซีนจาก “โปรตีนของไวรัส” ที่ประเทศคิวบาทำ ตอนนี้มีวัคซีนตัวอื่นๆ เป็นทางเลือกขึ้นมาอีกเยอะมาก ดังนั้น ไทยต้องขยันหน่อย คุยกับคนนู้นคนนี้ หาวัคซีนที่จะเอามาแทน อย่างที่ว่า ฟิลิปปินส์มี 8 ชนิดแล้ว ก็ยังไปคุยขออีก 8 ชนิด แสดงว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำ คนละรูปแบบกันเลย ต้องมองออก ต้องตัดสินใจให้ดี และต้องเข้าใจ ดูทั่วโลกเขาเป็นอย่างไร ไม่ใช่มุ่งมั่นแต่ฉีดอย่างเดียว แล้วปัญหาต่างๆ ที่เราคิดว่าจะเกิด ก็เกิดจริงๆ แต่ไม่ได้คิดวางแผนที่จะแก้ไข

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอยู่ด่านหน้าทั้งแพทย์ พยาบาล พนักงานเข็นเตียง ผู้ช่วยพยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ล้วนเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ถ้าจัดลำดับความเสี่ยง แม้แต่ผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวก็ยังเสี่ยงน้อยกว่า เพราะมีโอกาสป้องกันตัวเองได้ โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีน้อย เพราะฉะนั้นควรต้องได้รับการป้องกันและคุ้มครองมากที่สุด ซึ่งวัคซีนซิโนแวค ขณะนี้ออกมาชัดเจนมากขึ้นแล้วว่าป้องกันการติดเชื้อได้น้อยถึงน้อยมากขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันแต่ละคน จึงเห็นด้วยว่าต้องมีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ คือ ไฟเซอร์ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกายของบุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด จะได้ลดความเสี่ยงจากการทำงาน

ส่วนเรื่องปมเอกสารหลุดของที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีนเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ มองว่าเรื่องนี้ต้องเอาหลักวิชาการมาเป็นตัวกำหนด การที่จะทำให้ใครเสียหน้าหรือต้องยอมรับความผิดพลาดเป็นเรื่องรอง ถ้าเราคิดว่าความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ฉะนั้น ถ้านำหลักวิชาการมากำหนดจะสรุปได้ชัดเจนว่าควรต้องฉีดเข็มที่ 3 ให้กลุ่มเหล่านี้ แต่ถ้าฉีดแล้วจะเป็นข้อมูลที่ย้อนกลับมาบอกว่าซิโนแวคอาจจะไม่ได้ผล ก็ต้องยอมรับความผิดว่าตัดสินใจผิดที่ใช้วัคซีนนี้เพราะว่าตอนนั้นข้อมูลของวัคซีนซิโนแวคยังออกมาไม่ชัดเจน คิดว่าอาจจะได้ผลจึงฉีดไป แต่เมื่อข้อมูลออกมาภายหลังชัดเจนแล้วว่าแอนติบอดีที่เกิดขึ้นจากวัคซีนซิโนแวคขึ้นน้อย ดังนั้น การที่จะฉีดเข็มที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันจะต้องมากำหนดทิศทางต่อไปว่าการเลือกใช้วัคซีนซิโนแวคอาจจะต้องมีการทบทวนว่าเหมาะสมที่จะยังใช้ต่อไปอีกหรือไม่

ผมคิดว่า ผอ.ศบค.ต้องทบทวนวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด ที่ผ่านมาการทำงานของ ศบค.ไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่มีความบกพร่อง ทำให้ปัญหายืดเยื้อและเพิ่มรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ การระบาดระลอก 2 ควบคุมได้ดีเพราะมีการตรวจคัดกรองเชิกรุกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่การระบาดระลอกที่ 3 แม้จะกึ่งล็อกดาวน์ แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้มข้นเหมือนการระบาดระลอกที่ 1 แต่การล็อกดาวน์แบบกึ่งล็อกดาวน์จำเป็นที่จะต้องตรวจเชิงรุกซึ่งจะทำให้ค้นพบผู้ป่วยได้เร็วที่สุด และสามารถแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวและชุมชนได้ หากแยกมาได้เร็วและเข้ารับการรักษาก่อนเชื้อลงปอดอาการก็จะไม่รุนแรง สรุปปัญหาอยู่ที่ภาวะผู้นำที่ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีความรู้ ทำงานเชิงรับ เลือกใช้คนไม่ถูกต้องกับงาน จึงเป็นจุดบอดที่ทำให้การทำงานหลงทางมาตลอด

นพ.เรวัต วิศรุตเวช
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.)

ปัญหาวัคซีนทางเลือกทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นาที่จะต้องฉีดให้กับแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าในเข็มที่ 3 แต่ยังมีปัญหาการสั่งซื้ออยู่ ว่า 1.5 ล้านโดส ที่กำลังจะมา น่าจะเป็นการบริจาคแต่ไม่รู้ว่าใครบริจาคมา ทั้งนี้ มีประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีการพูดถึง 1.5 ล้านโดส มีมติว่าจะให้แค่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่ม 7 โรค แนวทางออกต้องมีการจัดการประชุมใหม่ เสนอกับที่ประชุมให้มีการเปลี่ยนมติโดยการเพิ่มให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องไปฉีดวัคซีนทางเลือกด้วยก็จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะบุคลากรทางการแพทย์รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแน่ๆ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ต่างทราบว่าหากมีเจอสายพันธุ์เดลต้า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มก็ป้องกันพวกเขาไม่ได้

ในคลับเฮาส์มีแพทย์ออกมาร้องไห้เป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่รับฟังอยู่ร้องไห้ไปด้วย จึงได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงว่าเรายอมรับว่าซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้นกลุ่ม 3 หมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ นี่เป็นหนึ่งในคอมเมนต์ในการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่กรมควบคุมโรค หลังจากที่คอมเมนต์นี้หลุดออกมาให้สังคมได้รับรู้ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับหมอด่านหน้า ถึงกับหลั่งน้ำตาและยังเรียกน้ำตาจากประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก เพราะได้รับวัคซีนคุณภาพต่ำ ซิโนแวค 2 เข็มจึงต้องทำงานภายใต้ความกดดันอย่างหนัก เมื่อมีเสียงหนึ่งในที่ประชุมคัดค้านการให้เกราะป้องกันที่แข็งแกร่งเพียงพอ เช่น วัคซีนไฟเซอร์จึงส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกที่อ่อนไหว

ทั้งนี้ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีโอกาสเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจในการจัดหาวัคซีน ทำไมไม่เสนอซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพ เช่น ไฟเซอร์และโมเดอร์นาตั้งแต่ต้น ทำไมยังเพิ่มการซื้อซิโนแวคตลอด ฉะนั้นหากจะลดการแพร่ระบาดต้องจัดซื้อวัคซีนที่ดี เช่น ประเทศที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 30-40% การแพร่ระบาดลดจึงทำให้อัตราการตายลดลง

ทั้งนี้ อยู่ที่วิธีคิดหากต้องการลดอัตราการตายก็ต้องฉีดให้กับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตาย ลดอัตราการติดก็ต้องฉีดให้กับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หากไม่ลดอัตราการติดกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคก็ต้องเสี่ยงตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image