แผน‘ล็อกดาวน์’รับมือโควิดต้องชัด อย่าเหมาเข่ง-เร่งเยียวยา

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนกรณีรัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอาจถึงหลักหมื่นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและมีข้อเสนอแนะให้ช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

จากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูงต่อเนื่อง และกังวลอาจสูงถึง 1 หมื่นคนต่อวัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เข้าใจในสถานการณ์และยินดีหากรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์

Advertisement

แต่ไม่ควรใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเหมาเข่ง ควรพิจารณาล็อกดาวน์แบบ 100% เฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง เป็นพื้นที่สีแดง เช่น 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจังหวัดที่มีอัตราติดเชื้อสูงเป็นพันคนต่อวัน เจ็บป่วยตรงใดก็ต้องโหมรักษาตรงนั้น

ถ้าเหมาเข่งทุกจังหวัดทุกพื้นที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจพังหนักขึ้น

อีกทั้งก่อนประกาศล็อกดาวน์อยากให้ประชุมหารือร่วมทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อได้รับทราบปัญหา และปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

วันนี้ไม่ควรแยกด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ เพราะทั้งสองด้านต้องไปด้วยกันแล้วในวันนี้ สมาพันธ์เราไม่ดูว่าควรล็อกดาวน์ 15 วัน หรือ 30 วัน

แต่ช่วงประกาศล็อกดาวน์ต้องมีแผนบริการจัดการที่ชัดเจน ทำได้จริง และทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่การตรวจเชิงรุกทุกพื้นที่ คัดแยกส่งรักษา เร่งฉีควัคซีน ขึ้นทะเบียนกิจการหรือผู้ฉีดวัคซีน

ไม่อยากให้เหมือนตอนนี้เหมือนซอฟต์ล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม มาถึงวันนี้ ก็ 8 วันแล้ว เราได้เห็นอะไรที่ชัดเจนหรือลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้แค่ไหน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทบทวน ขณะที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเสียหายเดือนละ 8 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ วันนี้ คือ มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง ต่อเนื่อง สอดคล้องกันได้จริง เริ่มที่จัดการกับพื้นที่ระบาดรุนแรงก็ต้องซีลและปูพรมตรวจ คัดแยกว่าใครป่วย ไม่ป่วยและเร่งรักษา

หากทีมแพทย์ไม่เพียงพอก็ดึงทีมแพทย์ในพื้นที่ไม่รุนแรงมาช่วยเหลือ โรงพยาบาลสนามไม่พอก็เชื่อว่าเพิ่มได้ ทั้งจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่โรงแรมหรือรีสอร์ตต่างๆ ก็เชื่อว่าให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

ขณะเดียวกัน รัฐต้องช่วยเหลือในด้านความเป็นอยู่ประจำวันทั้งเรื่องอาหาร เครื่องใช้ ในช่วงล็อกดาวน์ ส่วนผู้ประกอบการรัฐบาลช่วยเหลือได้ตั้งแต่สั่งซื้ออาหารหรือสินค้าเพื่อนำไปสนับสนุนทีมการแพทย์ ทีมอาสาสมัคร และช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ที่สำคัญล็อกดาวน์ได้แต่อย่าล็อกสเปกวัคซีน ควรเพิ่มการนำเข้าวัคซีนยี่ห้อทางเลือก เร่งนำมาให้ทีมทางการแพทย์เพื่อเป็นเกราะป้องกัน เพราะหากกลุ่มนี้เจ็บป่วย ในภาวะที่คนยังติดเชื้อรายวันสูง มีจำนวนคนป่วยรักษาเพิ่มขึ้น และมีคนเสียชีวิตสูง จะเป็นวิกฤตต่อการรักษาในอนาคตได้

จากตัวเลขการฉีดวัคซีนของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ได้รับฉีดเข็มแรกมีเพียง 12% และฉีดเข็ม 2 แล้วเพียง 5% ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก จะคุมได้ยากขึ้น ความเสียหายก็มากขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องทำขนานไปกับด้านสาธารณสุขและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และขอให้รัฐบาลชัดเจนและช่วยเหลือได้จริงภายใน 15 วัน จากประกาศบล็อกพื้นที่ ได้แก่ การพักต้นพักดอกแบบไม่คิดดอกเบี้ยทันทีก่อน 30 วันเพื่อหยุดการเป็นเอ็นพีแอล

จากนั้นรัฐต้องเพิ่มเติมสภาพคล่องอีก 2 เดือนเป็นอย่างน้อยหลังจากที่คลายล็อกดาวน์ เพื่อให้ทุกอาชีพและรายย่อยสามารถประคองตัว จนกว่าจะมีรายได้ใหม่เพียงพอต่อการคืนต้นคืนดอกเหมือนช่วงปกติ

ถึงเวลาที่รัฐคงต้องเร่งความช่วยเหลือการจ้างแรงงาน และต้นทุนบริการ ทั้งค่าน้ำค่าไฟค่าเช่า อย่างต่ำ 1-3 เดือน ทุกเรื่องรัฐบาลต้องประกาศออกมาให้ชัดเจนถึงมาตรการควบคุม ดูแล ป้องกัน ช่วยเหลือ และเยียวยา ในระยะ 1-6 เดือนจากนี้ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจได้รู้และเตรียมพร้อมว่าจะดำเนินการอย่างไร

ไม่อยากให้ประกาศแล้วทำเลยจนไม่มีเวลาเตรียมตัวหรือไม่มีอะไรที่ออกมาชัดเจน จนไม่รู้ทิศทางว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป เหมือนที่ผ่านๆ มา

หากถามความเสียหายจากการระบาดโควิดรอบใหม่และการบริหารจัดการของรัฐบาล ต้องบอกได้ว่าเสียหายมากในวันนี้ ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ที่ไม่รู้ว่าเข้ารอบ 4 หรือก้าวเข้ารอบ 5 สมาพันธ์สำรวจจีดีพีเอสเอ็มอี มีมูลค่ารวม 5-6 ล้านล้านบาท จากจีดีพีประเทศไทยรวม 16-17 ล้านล้านบาท เจอปัญหาหนักกว่าปี 2563 และหนักกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเมินว่าจีดีพีปีนี้อาจต่ำกว่า 15 ล้านล้านบาท จีดีพีเอสเอ็มอีก็น่าจะต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท

ที่น่าตกใจคือหนี้ครัวเรือนทั้งระบบสูงมากถึง 14 ล้านล้านบาท เกือบเท่าจีดีพีประเทศแล้ว หากการล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่ว่าจะ 15-30 วัน โดยที่ไม่อาจกดตัวเลขผู้ติดเชื้อเหลือหลักเดียว การทำการค้าหรือกิจกรรมต่ำกว่า 50% และความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจยังสูงเดือนละกว่า 3 แสนล้านบาท

ไม่แค่กระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 0% อาจติดลบ และหมดหวังเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามนโยบายรัฐบาล

สภาพประเทศไทยในวันนี้ ไล่จากช่วงการระบาดโควิด-19 รอบแรกกว่าปีเศษ ก็เหมือนคนป่วยที่ยังพักอยู่ที่บ้านได้ ไปทำงานได้ แต่ถึงเดือนเมษายน-มิถุนายน อาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และเข้าเดือนกรกฎาคมอาการแย่ลงต้องเข้าห้องฉุกเฉิน

ตอนนี้รุนแรงถึงขั้นเข้าห้องไอซียู จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ไขด่วน ว่าจะรักษาอย่างไรให้อาการหนักหรือเสียชีวิตเหมือนกับการทำอย่างไรให้ประเทศออกจากล็อกดาวน์ให้ได้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นสูง ถ้ารัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ภาพที่เห็นว่าหนักก็น่าจะเป็นแบบการล็อกดาวน์ในการระบาดโควิด-19 รอบแรกเหมือนเดือนเมษายน 2563 ที่ทุกคนไปไหนไม่ได้เลย กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทั้งหมด

ซึ่งต้องถอดบทเรียนจากรอบแรก มาเป็นแนวทาง เพราะการประกาศล็อกดาวน์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ที่ทุกฝ่าย ต่างฝ่ายต่างไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย

โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัด ที่รัฐบาลควรจะต้องมีความชัดเจน ตั้งแต่เริ่มประกาศ คือ เพื่อลดการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนทั่วไป แต่เรื่องการขนส่งสินค้า ไม่ควรห้าม เพราะยังมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่

ในครั้งที่ผ่านมาในภาคเอกชนเราประชุมกันแทบทุกวัน เพื่อเสนอให้รัฐบาลอนุญาตเรื่องการขนส่งสินค้า หากรัฐบาลประกาศชัดเจน ตั้งแต่แรกว่าจะอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าได้

ทั้งภาคอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนต่างๆ การเดินทางข้ามจังหวัดก็อนุญาตแค่เฉพาะการขนส่ง

ถ้าเป็นเช่นนี้ การล็อกดาวน์ก็ไม่น่ากังวลมากนัก ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา ทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตนเอง รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าทำประกาศล็อกดาวน์ที่ไม่ชัดเจน จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

โดยขณะนี้ประเทศไทยเหลือเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ เพียงตัวเดียว คือ ภาคการส่งออกฉะนั้นที่เน้นเรื่องการขนส่งสินค้า เพราะมันเกี่ยวข้องกับการส่งออกมากๆ ซัพพลายเชน ทั้งประเทศนั้น มันโยงกันหมด เศรษฐกิจบางส่วนยังเดินหน้าได้

ระยะเวลาการล็อกดาวน์คิดว่าน่าจะประมาณ 14 วัน ตามระยะเวลาของมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดแล้วให้ดูตามสถานการณ์ตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร ควรเดินหน้าต่อ หรือคลายล็อกดาวน์ คิดว่าเป็นทางออกช่วยให้สถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง ทำให้ด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเดินหน้าควบคู่กับไปได้

โดยการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าล็อกดาวน์เข้มข้นมาก ผลกระทบจะหนักมากและรัฐบาลต้องเยียวยามากตามไปด้วย รูปแบบการเยียวยาขึ้นกับความต้องการของประชาชนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน หากล็อกดาวน์แล้วกระทบกับธุรกิจ ต้องมีมาตรการโค-เพย์ช่วยจ่ายเงินเดือนหรือชดเชยจากประกันสังคม เพื่อพยุงการจ้างงาน

ส่วนธุรกิจนอกระบบประกันสังคมต้องเยียวยาอีกรูปแบบ ที่ให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างยังคงดำเนินชีวิตและดูแลครอบครัวต่อไปได้

ส่วนภาคประชาชนทั่วไปยังไม่ถึงกับตกงาน รายได้อาจลดลง อาจมีโครงการคนละครึ่งเข้ามาช่วย เพราะคนละครึ่งมีประโยชน์ทั้งการเพิ่มกำลังซื้อและให้ภาคการผลิตขายสินค้าต่อไปได้

รวมทั้งควรทำมาตรการเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควบคู่กันไป เพื่อให้การล็อกดาวน์หยุดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สำเร็จอย่างยั่งยืน

เมื่อคลายล็อกแล้วไม่มีการระบาดรอบใหม่ๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ อีก เพราะฉะนั้นคิดว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วน ควรเน้นหนักเรื่องของการเร่งกระจายวัคซีนด้วย แม้มีประกาศล็อกดาวน์แล้aว

แต่การฉีดวัคซีนควรเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ยังคงเปิดจุดให้บริการวัคซีนให้ประชาชนมารับการฉีดได้อยู่ ที่แน่นอนเลยคือต้องกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงก่อน

รวมทั้งต้องมีแนวทางเร่งการฉีดในจุดแพร่ระบาดของโควิด-19 เยอะๆ ด้วย น่าจะทำให้หยุดการระบาดของเชื้อในพื้นที่เสี่ยงได้ ให้การล็อกดาวน์และการฉีดวัคซีนทำควบคู่กันไป คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีเห็นประโยชน์จากการล็อกดาวน์

ดังนั้น ความคิดเห็นส่วนตัว คือ เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ แค่บางส่วน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด และลดปัญหาเรื่องของการจัดการเตียงผู้ป่วย หาเตียงหรือโรงพยาบาล ตอนนี้สถานการณ์ไปไกลกว่าที่คิด

อยากให้มีความชัดเจนของมาตรการให้ผู้ป่วยโควิด-19 กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือการรักษา ป้องกันโควิดอื่นๆ ใช้สมุนไพรมาช่วยต้องทำไปก่อน สถานการณ์ตอนนี้ถือว่ายาก ลำบากมากๆ จึงอยากเน้นย้ำเรื่องวัคซีนอีกครั้ง ส่วนนี้มันสำคัญอย่างมาก

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หากกรณีที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 1 หมื่นราย/วัน จะต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศหรือไม่ เรื่องนี้ ศบค.ต้องเป็นผู้พิจารณา รวมถึงต้องดูปัจจัยในเรื่องของจำนวนเตียง และห้องฉุกเฉิน

รวมทั้งควรประเมินสถานการณ์จากอัตราผู้เสียชีวิต ถ้าดูแล้วยังมีแนวโน้มสูงกว่าปัจจุบันหรือไม่สามารถรับมือได้แล้ว จำเป็นต้องล็อกดาวน์ หากล็อกดาวน์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน

โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออก ที่ในขณะนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้า หากสั่งหยุด รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาให้ชัดเจนว่า ในส่วนของโรงงานที่ไม่มีปัญหาหรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดให้เดินการผลิตตามปกติได้หรือจะใช้วิธีใดต้องประกาศออกมาให้ชัดเจน

หากสั่งปิดโรงงานหรือภาคการผลิตขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียม คือ มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญต้องมีการวางแผนทุกๆ ด้าน อาทิ การขนส่งสินค้า หรือการใช้ชีวิตของประชาชน เป็นต้น

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ต้องมีความชัดเจนว่ารัฐจะจัดการอย่างไร ส่วนความคิดเห็นของภาคเอกชนส่วนใหญ่ ไม่มีใครอยากให้รุนแรงถึงขั้นล็อกดาวน์ แต่ถ้าทางการแพทย์ลงมติว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ไหว ภาคเอกชนก็เคารพในการตัดสินใจ

แต่ถ้าในส่วนอื่นที่ยังดำเนินการได้อยู่ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ควรปล่อยให้ส่วนนี้ได้ดำเนินการต่อไป แต่ต้องมีมาตรการควบคุมออกมาให้ชัดเจน

ขอย้ำว่าในมุมของเอกชน ทั้งภาคผลิต ร้านอาหาร และอื่นๆ ไม่มีใครอยากให้ล็อกดาวน์ ทุกผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลผ่อนคลายให้เปิดทำการค้าต่อไป เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ

แต่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อให้การควบสถานการณ์เป็นไปได้ดีมากขึ้น แต่อยากให้มีการประเมินสถานการณ์ โดยการเลือกใช้วิธีล็อกดาวน์เป็นส่วน พื้นที่ไหนที่ไม่พบการระบาดรุนแรงก็ควรให้ดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รัฐต้องกำหนดให้ชัดเจนหากบางส่วนต้องข้ามจังหวัดมาทำงานจะมีวิธีควบคุมอย่างไร ทุกขั้นตอนต้องชัดเจน

หากรัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ เป็นเวลา 1 เดือนหรือมากกว่านั้น จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และตัวเลขภาคการส่งออก ในปี 2564 ทันที

จากเดิมที่ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พึ่งปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี เหลือ 0-1.5% ส่งออก เติบโต 8-10% หากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อจะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนภาคการส่งออกเองหากหยุดผลิตเป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลให้ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image