รายงานหน้า2 : เสียงเอกชน‘คุมเข้ม10จว.’ เร่งเยียวยา-กระตุ้นศก.

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในมุมมอง เคจีไอ

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนและนักวิชาการภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น 10 จังหวัด

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

รัฐบาลจะต้องเร่งเยียวยากลุ่มร้านค้ารายย่อยและสถานบริการต่างๆ ที่ถูกสั่งปิดให้บริการโดยด่วน เพราะการช่วยเหลือด้านประกันสังคมที่ออกมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้ไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือลงลึกถึงเรื่องค่าเช่าที่ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของราคาค่าเช่าที่ทั้งหมด แต่ต้องมีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละรายราคาค่าเช่าไม่เท่ากัน เพื่อให้เกิดการประคองการจ้างงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ร้านเสริมสวย และพนักงานร้านอาหาร เป็นต้น ส่วนเรื่องการช่วยเหลือด้านค่าจ้างรัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วยโดยหารเฉลี่ยค่าจ้างทั้งหมดว่า 14 วัน ควรได้รับเงินช่วยเหลือเท่าไหร่ อาทิ หากเป็นพนักงานที่มีวุฒิระดับปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท รัฐอาจจะต้องช่วยเหลือในช่วงนี้เพิ่มเติม 3,500 บาท/ราย เป็นต้น ซึ่งหากรัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็จะถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุดอย่างยิ่ง

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายชื่ออยู่ในระบบของรัฐอยู่แล้ว รัฐบาลอาจจะใช้ข้อเสนอแนะดังกล่าวในการช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้เช่นเดียวกัน หรือจะใช้วิธีใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ส่วนงบประมาณในการช่วยเหลือดังกล่าว ขอเสนอให้รัฐโยกเงินในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือในส่วนนี้ก่อน คาดว่าอาจจะใช้งบประมาณจากส่วนดังกล่าวแค่ประมาณ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น เพราะเป็นการช่วยเหลือเพียง 14 วันเท่านั้น แต่รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนการเยียวและฟื้นเศรษฐกิจในระยะยาวไว้ด้วย ไม่ใช่เตรียมช่วยเหลือแค่ช่วงที่มีการล็อกดาวน์

Advertisement

เศรษฐกิจพังตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในระลอกแรกแล้ว ถ้าเปรียบเหมือนบ้านตอนนี้พังไปครึ่งหลังแล้ว เชื่อว่าการระบาดในระลอกนี้จะไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก แต่ครั้งนี้เปรียบเหมือนรัฐบาลกำลังนำเงินก่อนสุดท้ายมาใช้เพื่อต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้รุนแรงเนื่องจากภาคการส่งออกในขณะนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถอุ้มแรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมส่งออก หรือมีจำนวนเกินครึ่งของทุกอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังแย่กว่าปี 2563 เนื่องจากในปี 2564 มีการล็อกดาวน์หลายรอบส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว

รัฐบาลจะต้องออกมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันประเทศยังมีเงินอยู่ และยังไม่ถึงขั้นบริจาคเงินเดือน 3 เดือน รูปแบบนั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รัฐบาลควรนำเงินทุนสำรอง 2.7-2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรืออยู่ที่อันดับ 12 ของโลก ซึ่งสิ่งนี้เป็นหนึ่งในความเชื่อมั่น หากรัฐจะออกพันธบัตรไปขายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินและป้องกันไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะไม่ว่าอย่างไรในรอบนี้รัฐบาลก็ต้องนำงบประมาณที่มีมาเยียวยาทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวโดยด่วนอีกด้วย

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

Advertisement

รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ 4-5 เรื่องเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และต่อลมหายใจประชาชนทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ยกเว้นเก็บค่าน้ำค่าไฟฟ้าโดยให้ทุกครัวเรือนในพื้นที่สีแดง 1 เดือน 2.เจรจาให้ยกเว้นค่าเช่า 100% สำหรับที่ทำกินของประชาชนฟรี 1 เดือนที่เปิดในพื้นที่อันตรายที่ไม่มีการออกมาใช้จ่ายได้ปกติ และลดค่าเช่าที่ทำกิน 50% สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ปิดกิจการ 3.จ่ายเงินสมทบเยียวยากลุ่มเปราะบาง กลุ่มตกงานและขาดรายได้ต่อเนื่องหลายเดือน คนละ 200-300 บาท/วัน ต่อเนื่อง 1 เดือน โดยให้คนเหล่านี้ต้องอยู่ที่บ้านและมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นในการตรวจสอบ 4.ประสานธนาคารพักหนี้งดเก็บดอกเบี้ย 1-3 เดือนตามความเดือดร้อนของลูกค้า เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งส่วนข้อนี้รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเพียงแต่เป็นการยกเว้นหนี้และชะลอการเป็นเอ็นพีแอลให้ประชาชน เงินที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้ก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและเลี้ยงดูบุตรหลาน ประเมินว่าจะช่วยประชาชนได้ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ก็จะเป็นการเสริมจากที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยา 6 เดือนในวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท

การพักหนี้พักดอกเบี้ยอย่างต่ำ 1-3 เดือน นอกจากช่วยประชาชนและธุรกิจมีสภาพคล่องขึ้นบ้างแล้ว ยังเป็นการลดปัญหายอดหนี้สูญ หรือเอ็นพีแอลในอนาคตพุ่ง เพราะการติดเครดิตบูโรเกิดจากไม่จ่ายหนี้ต่อ 3 เดือน ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นผ่อนไม่ตรงงวดมากขึ้น ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม หากเดือนกรกฎาคม บ้างคนไม่อาจจ่ายเดือนที่ 3 ได้ก็เป็นเอ็นพีแอลทันที กลายเป็นผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในอนาคตแต่หลังโควิดหมดลง ก็เป็นปัญหาต่อการทำอาชีพจากนี้ และควรใช้โอกาสจากนี้นิรโทษกรรมให้กลุ่มเอ็นพีแอลที่ยังมีอาชีพแต่ปิดปัญหาสดุดช่วงโควิดระบาดหนักและรัฐออกมาตรการห้ามเปิดบริการได้อย่างปกติ ซึ่งแต่ละมาตรการผมเรียกว่าเป็นมาตรการขวัญและกำลังใจให้ประชาชนไม่ท้อกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อว่าจะอยู่กับเราอีกหลายเดือน อาจถึง 6 เดือนก็ได้ และมาตรการที่เหลือก็สามารถยืดหยุ่นเริ่มจากพื้นที่เสี่ยงสูงสุดก่อน และเพิ่มจำนวนวันที่ให้การช่วยเหลือ บางเรื่องรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณ เพียงดึงเจ้าของธุรกิจมาให้ความช่วยเหลือมากขึ้น

รัฐควรเร่งเยียวยากลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่กำลังรักษาตัวและรักษาหายแล้ว แต่ไม่อาจเข้าทำงานได้ตามปกติ โดยการจัดหาอาหาร ของใช้จำเป็นต่อชีวิตประจำวันให้ต่อเนื่อง รวมถึงเงินเยียวยาจนกว่าจะมีอาชีพ หรือหารายได้ได้อีกครั้ง กลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน จะช่วยเหลือได้เท่าไหร่ ก็ดูจากรายชื่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งเชื่อว่าเกือบ 90% เป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหากเตียงรักษาไม่เพียงพอ และกลุ่มใกล้ชิดสุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อแต่ต้องกักตัวที่พัก รัฐประกาศว่าจะดูแลทุกคนทั้งของกินของใช้และเงินเยียวยาบ้างส่วน เชื่อว่าประชาชนก็จะไม่ไปนอนกันริมถนน หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ง่าย อีกเรื่องคือรัฐน่าจะใช้แอพพลิเคชั่นจัดคิวตรวจคัดกรอง ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นนี้อยู่แล้ว และจัดสถานที่เพื่อตรวจคัดกรองขนาดใหญ่เพียงพอ เช่น สนามหลวง หรือสถานที่ทางราชการต่างๆ แล้วรีบแยก กักตัว รักษา เร่งฉีดวัคซีน ทำเข้มข้นทุกวัน เชื่อว่าไม่ถึง 14 วัน ก็จะรู้ถึงจำนวนการติดเชื้อและป้องกันได้ทันที

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ภาครัฐจะต้องเร่งนำเข้าวัคซีนที่เพียงพอต่อการฉีดให้กับประชาชน ทั้งจำนวนที่มากขึ้น เพื่อเตรียมฉีดเข็ม 2 และ 3 เพื่อย้ำภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน รวมถึงนำเข้าวัคซีนที่หลากหลายมากขึ้น และต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ เนื่องจากทางออกของการระบาดโควิดคือ การฉีดวัคซีนให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยมองว่ากว่าที่วัคซีนจะเข้ามาครบและหลากหลายมากกว่านี้ อาจต้องรอถึงช่วงปลายปี 2564 ทำให้ตอนนี้การควบคุมโควิดยังเอาไม่อยู่และทรงตัวต่อไป รวมถึงโอกาสในการกระจายของเชื้อก็ยังมีอยู่ สามารถขยายตัวได้อีก

หากประเมินหลัง 14 วันแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง มีโอกาสที่รัฐบาลจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ 100% แบบเดือนเมษายน 2563 หรือไม่ เบื้องต้นยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะคุมโควิดอยู่หรือไม่ จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการควบคุมออกมาเข้มข้นมากกว่านี้แน่นอน แต่อาจออกมาดีกว่าช่วงเดือนเมษายน 2563 ได้ เพราะตอนนั้นถือเป็นการรับมือกับไวรัสระบาดครั้งแรก ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทุกอย่างยังมึนงงว่าจะไปทางไหนต่อดี แต่ตอนนี้มีประสบการณ์แล้ว ทำให้มาตรการที่ออกมาอาจเป็นรูปแบบการคุมเข้มเฉพาะในพื้นที่ระบาดรุนแรงสีแดงเข้มเท่านั้น ไม่ได้เป็นมาตรการที่ปิดทุกอย่างทั่วประเทศเหมือนปีก่อนหน้านี้ อาทิ โรงงานยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมีการป้องกันการระบาดสูงสุด เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป รวมถึงปีนี้ถือว่ามีปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการส่งออกที่ฟื้นตัวมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะเติบโตได้ประมาณ 10% หรือเกินกว่านี้แน่นอน การใช้งบประมาณของภาครัฐในโครงการเบิกจ่ายต่างๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล อาทิ คนละครึ่ง ม33เรารักกัน ที่ประเมินว่าจะสนับสนุนให้จีดีพีไทยเติบโตได้ประมาณ 1% แน่นอน

หากประเมินภาพเปรียบเทียบกับการระบาดในยุโรป คาดว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะทรงตัวต่อไปในไตรมาส 3/2564 และเริ่มคลายตัวได้บ้างในไตรมาส 4/2564 แต่หากจะหลุดพ้นจริงๆ คงต้องรอในช่วงไตรมาส 2/2565 เพราะกว่าวัคซีนจะฉีดให้ประชาชนครบโดสที่เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น ต้องรอถึงปลายปี 2564 และกว่าตัวเลขติดเชื้อจะทยอยลดลงต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 1/2565 หากโชคดีจะเป็นแบบนี้ เพราะกรณีที่ประเมินนี้เป็นการประเมินในกรณีที่ดีที่สุดแล้ว

สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมคือ การเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม เพราะคนลำบากมากขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเพิ่มวงเงินในการช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลจะต้องปรับปรุงความยืดหยุ่นวินัยทางการเงินและการคลัง ที่กำหนดไว้ 60% ควรขยายขึ้นเกินได้อีก เพื่อเตรียมหาเงินในการใช้เยียวยาประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงโครงการเยียวยาจากรัฐบาลจะต้องช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในตอนนี้ และการช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ถูกกระทบซ้ำๆ หรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยเลือกช่วยเหลือในโซนสีแดงจัด ไม่ได้ช่วยเหลือทั้งประเทศ เพื่อลดเม็ดเงินที่จะใช้ให้ได้ผลสูงสุด ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยภาคธุรกิจสามารถยืนอยู่ไหว รวมถึงการผ่อนปรนเรื่องภาษี และการสนับสนุนให้แรงงานได้รีสกิลและอัพสกิลเพิ่มด้วย

เรื่องที่รัฐบาลต้องเดินหน้าอย่างเร่งด่วน คือ การเร่งหาวัคซีนเข้ามาให้มากที่สุด นำเข้ามาทุกยี่ห้อ และควรร่วมมือกับทุกองคาพยพ เพื่อให้การควบคุมโควิดสามารถทำได้เร็วที่สุด และต้องเร่งการส่งออกให้มากขึ้น เพราะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังเดินต่อได้ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับแรงงานไทย การนำงบประมาณที่มีอยู่ออกมาใช้จ่ายแบบเร่งรัดเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งต้องนำมาพัฒนากระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อีกครั้ง และรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ในการขอความร่วมมือจากประชาชน ให้งดการออกนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ เพราะขณะนี้ยังเห็นการจัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นยังจัดอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image