บอร์ดโรคติดต่อฯ ปรับสูตรวัคซีน เข็ม 2 ฉีดสู้เชื้อกลายพันธุ์

บอร์ดโรคติดต่อฯ ปรับสูตรวัคซีน เข็ม 2 ฉีดสู้เชื้อกลายพันธุ์

หมายเหตุเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊กแถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7/2564 ที่ผู้บริหารระดับสูง สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อหารือการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการระบาดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า และมีแนวโน้มแพร่เชื้อไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง หากไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพ คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 รายต่อวัน หรือสะสมมากกว่า 100,000 ราย ใน 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีการเสียชีวิตเกิน 100 รายต่อวัน จำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรงจะดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ห้ามการรวมกลุ่มคนมากกว่า 5 คน จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ปิดสถานที่เสี่ยง ให้พนักงานเวิร์ก ฟรอม โฮม ให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสสัมผัสโรคลดการเคลื่อนย้าย และลดกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด รวมถึงปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ

Advertisement

“ตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ได้ 1 ล้านคน ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากกลุ่มนี้ หากติดเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-11 กรกฎาคม 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 ราย”

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็น ต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ

1.การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็มที่ 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์

2.การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าโดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

3.แนวทางการใช้แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้แอนติเจน เทสต์ คิท ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์(RT-PCR) ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำกับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ

และ 4.แนวทางการแยกกักที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน หรือคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสมหรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้เครื่อง Oxymeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการจัดทีมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ในพื้นที่กรุงเทพฯ

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยลดการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต ช่วยชะลอการระบาดของโรค ช่วยให้โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพยังคงรองรับผู้ป่วยได้ สิ่งสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามคือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย งดการคลุกคลีใกล้ชิด และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ตามแนวทางและมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กำหนด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
อธิบดีกรมควบคุมโรค

ขณะนี้มีการฉีดวัคซีน 12,569,213 โดส เป็นเข็มแรก 9,301,407 โดส แสดงว่าประชาชนเกินร้อยละ 10 ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ในระยะต่อไป สธ.จะทยอยส่งมอบวัคซีนไปยังจุดฉีดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส และแนวปฏิบัติขณะนี้ เนื่องจากมีการระบาดค่อนข้างมากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้น ใน 2 สัปดาห์นี้จะฉีดผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด เช่น สัปดาห์นี้ จะส่งวัคซีนในกรุงเทพฯ 7 แสนโดส ใน 126 จุดฉีดใน รพ. และ 21 จุดฉีดนอก รพ.

โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ความรู้มีการพัฒนา เชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนก็เหมือนกัน เรามีวัคซีนไม่ถึงปี มีความรู้ต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้น วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงมีมติที่สำคัญ ประการแรก ฉีดวัคซีนโควิด-19สลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งจากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ข้อมูล 3 แหล่งตรงกันว่า ถ้าฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า

โดยการศึกษาได้ฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เป็นตัวเลขในห้องปฏิบัติการได้ชัดเจน เชื่อว่าสามารถต่อต้านสายพันธุ์เดลต้าได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิสูงเร็ว ใกล้เคียงกับได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันสั้นกว่า เดิมฉีดแอสตร้าฯต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ ถึงจะฉีดเข็ม 2แต่ถ้าเราใช้วิธีนี้จะร่นเวลาสร้างภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าฯ เข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังให้ฉีดแอสตร้าเป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิดตรงนี้

อีกประการหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ถึงแม้ว่าวัคซีนที่บุคลากรส่วนใหญ่ฉีดไป คือ ซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ เช่น ที่ จ.ภูเก็ต พบว่าลดการติดเชื้อได้ ร้อยละ 90 เชียงรายลดการติดเชื้อได้ ร้อยละ 80-90 รวมถึงภาพรวมของประเทศไทยในบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อได้ ร้อยละ 70 ลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้มาก

แม้ไม่ 100% ก็ตาม ก็เป็นเหมือนกับทุกวัคซีนในโลกนี้ที่ยังไม่สามารถลดการติดเชื้อได้ 100% ไม่มีวัคซีนตัวไหนลดการเสียชีวิตได้ 100% ขณะที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้วัคซีนที่เราใช้มีประสิทธิภาพลดน้อยลงตามเวลา แนวคิดจึงให้บูสเตอร์ โดส ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองที่พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง คณะกรรมการโรคติดต่อฯจึงมีมติฉีดบูสเตอร์ โดส ให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า จากนี้จะแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

นิมิตร์ เทียนอุดม
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การใช้ชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชนฟรี ไม่ควรมีการเก็บเงิน การตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้น ถือเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นบทบาทของรัฐอยู่แล้วที่ต้องกำกับควบคุมโรคระบาด ดังนั้น การตรวจต้องฟรีและมีแหล่งที่รัฐจัดซื้อได้ถูก ซึ่งในวันที่ 14 ก.ค.นี้ อนุกรรมการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการประชุมเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจนนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรมาเก็บเงิน หลักการต้องฟรี เป็นสิทธิประโยชน์ ทุกคนเข้าถึงการตรวจได้โดยสะดวก ส่วนว่าถ้าคนจะไปหาซื้อด้วยตัวเองก็เป็นไปตามกำลังความสามารถ แต่รัฐต้องจัดฟรี อย่างเพียงพอ

รัฐต้องมีการจัดสรรให้ฟรีในปริมาณที่เพียงพอก่อน และจัดระบบดีๆ บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เรารู้อยู่แล้วว่ามีคนตามทะเบียนบ้าน ตามชุมชนต่างๆ สามารถจัดการได้ หากจะจัดการจริงๆ เช่น ชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้นจะมีผู้นำชุมชน มีอาสาสมัคร มีครัวเรือนชัดเจน ก็แจกจำนวนตามนั้นผ่านระบบอาสาสมัคร ส่วนชุมชนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็จะมีการออร์แกไนซ์ จัดการอยู่ โดยกรรมการชุมชนบางส่วนก็เข้าไป หมู่บ้านจัดสรรก็มีนิติบุคคลที่มีรายละเอียดลูกบ้านว่ามีกี่ครัวเรือน มีประชากรเท่าไร หรือในบริษัท ที่ทำงานจะรู้จำนวนคน ก็จัดสรรตามนั้น ผ่านไปรษณีย์ เป็นต้น ไม่ต้องให้คนเดินมาหา

นอกจากนี้รัฐต้องมีแผนรองรับ เพราะการตรวจดังกล่าว คือการตรวจหาชิ้นส่วนของไวรัส ที่จะบอกได้ว่าร่างกายเคยมีไวรัสเข้าไป หากตรวจเจอผลบวก ไม่มีอาการอะไร ก็ให้ทำระบบดูแลตัวเองที่บ้าน เป็นโฮม ไอโซเลชั่น แต่ระบบนี้ต้องเข้มแข็งกว่านี้ มีคนมอนิเตอร์ ติดตาม มีการส่งยาฟ้าทะลายโจร ตามบ้านได้ แต่ต้องบอกกับทุกคนว่า ในชุดตรวจที่ส่งไปนั้นต้องบอกประชาชนให้ชัดว่าหากมีผลบวกแล้วต้องทำอะไร 1, 2, 3, 4 จะให้กักตัวที่บ้าน หรือในชุมชน หรือคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่นที่ไหน อย่างไร ติดต่อใคร บอกให้ชัด ต้องมีการเตรียมการรองรับตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ทำแค่ชุดตรวจอย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image