เสียงสะท้อนกรณี‘ทีดีอาร์ไอ’ ประเมินผล รบ.แก้‘โควิด’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ประเมินผลงานรัฐบาลผิดพลาดในการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ควรจะตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้น

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ปกติหน่วยงานทีดีอาร์ไอ มีความเป็นกลางทางการเมือง ได้รับความเชื่อถือ เพราะไม่ใช่หน่วยงานราชการ ได้ทำรายงานเป็นระยะ การเสนอรายงานแบบนี้ก็คงเห็นว่ารัฐบาลล้มเหลว และผู้มีอำนาจควรรับฟัง เพราะมีน้ำหนักจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและประชาชนทั่วไปรับรู้ แต่เรื่องเดียวกันหากเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านออกมาพูดก็คงไม่มีน้ำหนักเท่านี้ อาจถูกมองว่ามีอคติ

Advertisement

ส่วนข้อเสนอการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง อย่าลืมว่าผู้ตั้งกรรมการก็คือรัฐบาล แล้วถามว่ารัฐบาลจะตั้งกรรมการเพื่ดิสเครดิตตัวเองหรือไม่ เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ปฏิบัติตามแนวทางนี้ ส่วนสิ่งที่รัฐบาลจะทำหลังจากนี้ คงไม่ทำให้เห็นว่าเป็นเหตุผลจากข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ หรือการปรับเปลี่ยนบุคคลที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นเพราะทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะ

ขณะที่รัฐบาลได้พยายามปรับเปลี่ยนตัวบุคคล เปลี่ยนผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์โควิดแล้วหลายรอบ ทำให้ประชาชนสับสนพอสมควร ไม่ทราบว่าองค์กรใดจะเป็นหน่วยงานหลัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีกลายเป็นซิงเกิล คอมมานด์ ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลนี้คงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่คงไม่หาเจ้าภาพเพื่อทำให้เห็นว่ามีหน่วยงานไหนที่มีความผิดพลาดในระยะที่ผ่านมา

แต่จะมีแนวทางในการระดมสรรพกำลัง เพื่อจะทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนที่มองว่าสิ่งที่ทำแล้วล้มเหลวรัฐบาลจะออกมาขอโทษประชาชนบ้างหรือไม่ หากจะได้ยินก็คงเป็นชาติหน้า เพราะรัฐบาลไม่เคยออกมายอมรับความผิดพลาด ล่าสุดมีมติให้ฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างยี่ห้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่องค์การอนามัยโลกออกมาแสดงความเห็นที่แตกต่าง หลังจากนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งที่วันก่อนยังบอกว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราฉีด ตกลงจะเอายังไงกันแน่

Advertisement

ส่วนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการสื่อสารสถานการณ์และการทำความเข้าใจ วันนี้คงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก แค่องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่แย่งกันสื่อสาร ไม่ชิงการนำก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว ควรเลิกวิธีการให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนสับสน นักวิชาการบางคนเมื่อก่อนเคยพูดแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหา พอวันนี้ก็พูดไปอีกอย่าง ดูเหมือนฝ่ายปฏิบัติการมีความสับสนในชุดความเชื่อของตัวเอง

ถามว่าโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์หากจะพูดในเรื่องเดียวกันตามหลักทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาจะได้หรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่ได้ เพราะทุกคนมีความเชื่อเป็นของตัวเอง วันนี้แพทย์คงบอกไม่ได้ว่าวัคซีนยี่ห้ออะไรดีที่สุด ตามหลักการก็น่าจะดีเท่าๆ กันใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้ประชาชนสับสนเพราะถูกชี้นำตามความเชื่อส่วนบุคคล

หลังจากทีดีอาร์ไอออกมาแนะนำ ขณะนี้ยังมีเวลาเหลือพอสมควรก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลควรเร่งพลิกฟื้นสถานการณ์เพื่อให้เห็นว่ามีความตั้งใจจริงหากมีผลในทางปฏิบัติก็จะเป็นการกอบกู้ศรัทธา ทำให้สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ของทุกฝ่าย หรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านถูกมองเป็นเรื่องการเมือง มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าหากรัฐบาลยังทำเหมือนเดิม ไม่มียุทธศาสตร์ใหม่ ภาระก็จะตกหนักกับรัฐบาลโดยตรง

ดังนั้นต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีหมัดเด็ดหรือไม่ กว่าจะถึงเดือนสิงหาคม ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังมีโอกาสพลิกฟื้นได้ ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงบ้าง หรือวัคซีนมีเพียงพอ หรือถ้ารัฐบาลบอกประชาชนได้บ้างว่าความจริงในสัญญาซื้อขาย สิ่งที่บอกไม่ได้มีอะไรบ้าง ก็พอทำให้น่าเชื่อถือได้บ้างแต่ส่วนตัวยังเป็นห่วงสถานการณ์ที่เชื่อว่าโอกาสที่จะไปถึงคำว่ารัฐล้มเหลว อาจยังมีอยู่จริง

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐบาลควรให้ความสนใจการเสนอรายงานของทีดีอาร์ไอแต่คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะตั้งกรรมการสอบสวนพวกเดียวกันเองเพื่อทำให้เห็นว่ามีการทำสัญญาซื้อวัคซีนอย่างไร ราคาซื้อ ส่วนยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยชี้แจงว่ามีจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำมาโดยตลอด หากมีการสอบข้อเท็จจริง ก็อาจจะได้เห็นข้อผิดพลาด อาจเห็นบางเรื่องที่อาจมีการทุจริตที่มีความบกพร่องอย่างตั้งใจ

แม้ว่ารายงานชิ้นนี้อาจจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งอาจมองว่า ทีดีอาร์ไออาจเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม มีบุคลากรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลพอสมควร

ดังนั้นถ้าหากต้องการความชัดเจน ประชาชนที่มีผลกระทบอาจจะเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครอง ให้สอบถามข้อเท็จจริง แต่เท่าที่ตรวจสอบสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีกลไกที่จะทำให้การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมีความเป็นไปได้จริง

ก่อนที่ทีดีอาร์ไอจะเสนอรายงานสังคมสาธารณะ หลายฝ่ายได้พยายามกระทุ้งรัฐบาลมานานพอสมควร เบื้องต้นหากให้ประเมินรัฐบาลนี้คงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับท่าทีของทีดีอาร์ไอ แต่คงต้องมีแรงกดดันจากสังคม จากหลายองค์กรที่มากกว่านี้ และกว่าจะได้เห็นผลก็คงต้องใช้พลังของประชาชนมากพอสมควร

ส่วนการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล หรือมีการปรับ ครม.ก็คงไม่ทัน เพราะเป็นปัญหาของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ส่วนการปรับ ครม.ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถลงไปล้วงลูกใน 2 พรรคร่วมได้ดังนั้นถ้าปรับ ครม.ก็เสี่ยงมาก เชื่อว่าจะปรับไม่สำเร็จ

สิ่งที่รัฐบาลควรทำ สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็น รัฐบาลต้องหาวัคซีนให้เร็วที่สุด เพราะบางยี่ห้อมีโรงงานผลิตในประเทศ ก็ควรใช้กฎหมายบังคับให้วัคซีนที่ผลิตไม่ถูกส่งออกตามสัญญา และขอให้รัฐบาลลดการจัดซื้อวัคซีนชิโนแวค เนื่องจากองค์การอนามัยโลกไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อ 2 เข็ม นอกจากนั้นรัฐบาลต้องสนใจเร่งประกาศมาตรการเยียวยา ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีควรออกมาสื่อสารกับประชาชน แสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษอย่างจริงใจ ไม่ใช่บอกว่าขอโทษแล้วกันนะ สำหรับสิ่งที่รัฐบาลทำได้อีกอย่าง ก็ควรขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระให้กับประชาชน

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาข้อเท็จจริง อาจต้องนำประเด็นเรื่องหลักการในการจัดการวิกฤตเป็นตัวตั้ง หากมีการสอบสวนสามารถมองได้ 2 แง่ได้แก่ 1.ความผิดพลาดในการตัดสินใจเชิงบริหาร ในทางการเมือง หมายถึงเรื่องของความโปร่งใส แต่สถานการณ์ที่เจอในปัจจุบัน คือเรื่องของความผิดพลาดในการจัดการวิกฤต 2.เรียนรู้ข้อผิดพลาดเพื่อวางแผนเผชิญหน้าสิ่งที่เจอในปัจจุบันและอนาคตด้วย โดยอย่างหลังควรต้องทำให้สมดุลกับอย่างแรก

ในทางการเมือง และการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญคือการจัดการกับความเชื่อมั่นของคน เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่น ต่อให้เปลี่ยนตัว หรือแผนงานดีขึ้น สถานการณ์ก็อาจไม่ดีขึ้น

ส่วนที่มีผู้กังวลว่าถ้าเปลี่ยนตัว จะวุ่นวายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าประเด็นอยู่ที่ความเชื่อมั่นในตัวระบบ โดยเฉพาะในทางการเมือง ต้องมีความเชื่อมั่นในด้านความโปร่งใส การตัดสินใจในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยระบบการจัดการวิกฤตต้องเสถียร

ปัจจุบัน เรื่องวัคซีน หรือข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ มีการเผยแพร่ออกมามากมาย ในฐานะประชาชน เกิดความสับสน อยากให้รัฐบาลจัดการวิกฤตโดยน่าจะมีศูนย์ประมวลแหล่งความรู้ที่ผลิตออกมาเพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นเรื่องราว นักวิทยาศาสตร์อาจมีข้อมูลโต้แย้งกัน แต่ประชาชนอย่างเราไม่เข้าใจ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลจะต้องย่อยข้อมูล สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลในแต่ละด้าน และทำให้เห็นว่าอยู่ในสถานะไหนของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญมากคือการเยียวยา แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือใดๆ ได้เลย รัฐบาลต้องดูแลคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านั้นด้วย

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เห็นด้วยกับการประเมินของทีดีอาร์ไออยู่แล้ว เพราะตอนนี้มีการนำคลิปของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล มาเปิดตอบข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคุณอนุทินพูดเองว่า ในไตรมาส 3 ของปีนี้ วัคซีนจะเข้ามาฉีดเต็มแขนของคนไทย และแอสตร้าเซนเนก้าจะเต็มไปหมด

แต่ 1.สภาพความเป็นจริงก็คงเห็นกันอยู่ว่า อย่างนี้ล้มเหลวหรือไม่

2.สัญญาระหว่างบริษัท รัฐบาลไทย กับบริษัทแอสตร้าฯ ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้

3.เราไม่มีตัวเลือกอื่น ถึงที่สุดก็ใช้วัคซีนระบบค็อกเทล (cocktail) ผสมกันไปหมด

โดยหลักก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ใช้มานานแล้ว อาจจะเปลี่ยนยี่ห้อ แต่กรณีนี้เป็นการข้ามเทคโนโลยี และเป็นวัคซีนใหม่ที่อนุมัติใช้ฉุกเฉิน จึงไม่ควรมิกซ์แอนด์แมตช์กันก่อน

ตอนนี้ไม่ควรตั้งคณะกรรมการอะไร ควรมีการตั้งเรื่องฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์กันได้แล้ว อันนี้ผมพูดจริงๆ เพราะว่า ถ้าเราเปรียบเทียบ เหมือนกรณีคุณยิ่งลักษณ์เคยถูกฟ้องร้อง “คดีจำนำข้าว” ว่าทำให้ประเทศเสียหายเท่าไหร่ อย่างไร เอาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารวัคซีน จัดการโรคติดต่อ มากางดูว่า

1.เศรษฐกิจถดถอยกี่เปอร์เซ็นต์

2.วัคซีนที่นำเข้ามาเป็นวัคซีนหลักในช่วงหลัง ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่ก็ยังดันทุรังซื้อ

เช่นนี้ หากมองในทางกฎหมาย เป็นลักษณะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผลการวิจัยมีหลายฉบับที่ออกมาแล้วว่า วัคซีนนั้นไม่มีประสิทธิผล (effective) แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลถึงดึงดันเอาเข้ามา 10.9 ล้านโดส 6,000 กว่าล้านบาท เงิน 6,000 ล้านบาท ตรงนี้ คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐแล้ว เพราะวัคซีนที่เอาเข้ามาไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย ตอนแรกบอก “กันตาย ไม่กันติด” ตอนหลังจะบอกว่า “กันตาย” ก็ไม่ได้

กรณีนี้ผมมองว่าควรจะมีกรรมการที่ตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ถึงที่สุดต้องมี “กระบวนการฟ้องร้อง” ได้แล้ว พูดตรงๆ แรงๆ หน่อย ถ้าเรายังปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารต่อ ผมว่าเราพินาศกันหมดแน่ๆ

เราเคยได้รับการยกย่องว่าระบบสาธารณสุขดี แต่เราต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ระบบสาธารณสุขของเรานั้น สามารถเข้าถึงได้ทุกส่วน (access) เช่น ผ่านโครงการ 30 บาท ไม่เหมือนต่างประเทศที่ต้องมีการนัดคิว

แต่อีกด้าน “อินฟราสตรัคเจอร์” ของเรา ไม่เพียงพอการที่เราปรับปรุง คือพยายามให้คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสาธารณสุขเข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่พอวิกฤตเข้ามาจริง เรายังหลงอยู่ในอดีต ยุคของคุณทักษิณ ว่าระบบสาธารณสุขของเรา ดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ แต่พอมาจริง เราเอาไม่อยู่ ถ้าดูจากงบประมาณที่เบิกจ่าย ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตั้งใจซื้อเครื่องช่วยหายใจ 6,000 เครื่อง เบิกจ่ายได้จริง 200 เครื่อง เช่นนี้ ถามว่าอีก 5,800 เครื่อง หายไปไหน คือปัญหาของระบบราชการ ที่ต้องยอมรับว่าต่อให้ไม่มีวิกฤต “การตรวจสอบ” ขององค์กรผู้ตรวจสอบจะต้องไม่หยุดไปด้วย

พูดกันตามตรง เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ในมือ สามารถงดใช้ระเบียบพัสดุ ในหัวข้อที่เป็นอุปสรรคไปก่อนได้หรือไม่ โดยออกอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ให้งดเว้น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ไปก่อนบางส่วน หรืออาจจะให้ใช้วิธีพิเศษ หรือเลือกเอกชนที่เคยทำสัญญา มีประวัติกันมาก่อน โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการด้วยการตั้งคณะกรรมการ ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีใครพูดกัน

สิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินคือ 1.เราจะพ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร 2.เมื่อไหร่ 3.รัฐบาลกำลังทำอะไร ในการช่วยเหลือประชาชน

หลายคนบอกว่าเปลี่ยนม้ากลางศึกซึ่งผมก้ำกึ่งว่าเห็นด้วย แต่ก็ควรจะมีคนอื่นมาทำหน้าที่ “นำแทน” พล.อ.ประยุทธ์ได้แล้ว

และต้องปรับทั้งหมด บรรดากระทรวงสาธารณสุขก็ต้องปรับเปลี่ยน “กระบวนการสื่อสาร” จะเอาอย่างไร เอาให้แน่ ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกอีกอย่างหนึ่ง สาธารณสุขไทยบอกอีกอย่าง ประชาชนก็เคว้งคว้าง จะเอาอย่างไรกับชีวิต ต้องสื่อสารให้ประชาชน “เข้าใจ” และ “เชื่อใจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image